November 24, 2024

เมื่อความฝันของเด็กรุ่นใหม่ เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องเปิดใจรับฟัง และความท้าทายบทใหม่ของการศึกษาในยุค New normal

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใด ส่งผลต่อกลไกต่างๆ บนโลกไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงระบบการศึกษา ดังที่ ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (UTCC) สรุปให้กับ MBA ฟังว่า

หลังจากโลกยุคสังคมเกษตรก็มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม เกิดการฝึกฝนทางด้านวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น ลักษณะการเรียนการสอนจากยุคกรีกโรมันที่เป็นการสอนแบบ 1 ต่อ 1 หรือ 1 ต่อไม่กี่คนเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบการมีสถาบันการศึกษาที่ชัดเจน เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนในด้านต่างๆ และเมื่อมีเรื่องของอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น รูปแบบการเรียนการสอนก็เชื่อมโยงกับภาคธุรกิจ เพื่อผลิตบุคลากรที่สามารถปฏิบัติงานได้จริงในอุตสาหกรรมต่างๆ การศึกษาในยุโรปจะเน้นไปที่กระบวนการทำงานได้จริงเพิ่มขึ้น ขณะที่การศึกษาในสหรัฐอเมริกาจะเน้นการเรียนในห้องเรียน แต่มีระบบการทำวิจัย ส่งเสริมการตีพิมพ์ผลงานต่างๆ

ในโลกยุคปัจจุบันซึ่งเรียกได้ว่าเป็นโลกยุคดิจิทัล เทคโนโลยีการสื่อสารมีส่วนเปลี่ยนแปลงโลกอย่างชัดเจน จากยุค 2G สู่ยุค 5G ที่ความสามารถในการส่งและรับข้อมูลได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว รูปแบบการเรียนการสอนก็มีการปรับเปลี่ยนตามไปด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันเมื่อเราต้องการรู้เรื่องอะไร สิ่งแรกที่เราทำคือการสืบค้นข้อมูลจากเครื่องมือค้นหาในอินเทอร์เน็ต รูปแบบการเรียนการสอนของทั้งโลกก็ปรับไปสู่ระบบออนไลน์เพิ่มขึ้น พร้อมกับแนวคิดการศึกษาที่ผสมผสานกับการทำงานจริงในภาคธุรกิจ และแนวคิดทางด้านนวัตกรรมที่ต่อยอดเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพ

ในประเทศไทยระบบการศึกษาก็อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลง คนไทยรุ่นใหม่ผู้เกิดมาในยุคดิจิทัล เรียนรู้ผ่านโลกออนไลน์เพิ่มขึ้น เราเริ่มเห็นรูปแบบการเรียนการสอนที่ผสมผสานระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ ตลอดจนการต่อยอดใช้เทคโนโลยีเพื่อรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้ที่ทำงานแล้ว

ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่เริ่มตั้งคำถามว่า ยังจำเป็นต้องมีปริญญาหรือไม่? ในเมื่อเขาสามารถหาข้อมูลที่สนใจได้จากทั่วโลกผ่านอินเทอร์เน็ต

อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตอบคำถามนี้ว่าสถาบันอุดมศึกษาสามารถตอบสนองความต้องการคนรุ่นใหม่ด้วยแนวคิดการเรียนการสอนที่จะช่วยสร้างโอกาสให้กับผู้เรียน ผ่านการสร้างนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ ช่วยให้ผู้เรียนสามารถทำงานได้จริง โดยสถาบันการศึกษาสามารถใช้เครื่องมือดิจิทัลช่วยให้ความรู้กับผู้เรียนได้เรียนรู้ข้อมูลจริงที่เป็นปัจจุบัน โดยเราเริ่มเห็นมหาวิทยาลัยที่มีความโดดเด่นทางด้านวิทยาศาสตร์เพิ่มวิชาทางด้านธุรกิจมากขึ้น เป็นการผสมผสานองค์ความรู้แบบสหวิทยาการ

“ระบบการเรียนการสอนเปลี่ยนจาก Teaching มาเป็น Coaching หรือ Mentoring ระบบ Coaching ก็คือแนะนำ ภายใต้ศักยภาพที่เขามี เหมือนกับต้องโค้ชผู้เรียน 1 ต่อ 1 หรือโค้ชแบบเป็นกลุ่มเป็นก้อนเป็นทีม ซึ่งเราจะเริ่มเห็นกีฬาจะมีโค้ชทีมรุก โค้ชทีมรับ โค้ชทีมพิเศษ โค้ชตัวต่อตัว ดังนั้นระบบการเรียนการสอนจึงเป็นลักษณะ Coaching” ดร.ธนวรรธน์ กล่าวและอธิบายเพิ่มเติมว่า

การเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นอกจากการโค้ชแล้วยังเน้นเรื่อง Mentoring คือใส่ใจกับชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้เรียน เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มีระบบที่ช่วยบ่มเพาะในลักษณะธุรกิจพี่สอนน้อง โดยมีเป้าหมายคือการสร้างผู้ประกอบการ การส่งเสริมให้ธุรกิจสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

รูปแบบการเรียนการสอนจะเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงในโลกธุรกิจ นักศึกษาจะได้เรียนรู้จากผู้ที่ทำงานตัวจริง และหากเป็นการเรียนแบบออนไลน์ก็จะต้องผสมผสานความบันเทิงเข้าไปในด้วย เป็นความท้าทายที่ระบบการเรียนการสอนจะต้องตอบสนองกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้เรียน และความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

“สิ่งที่เราถ่ายทอดไปคือ เด็กต้องมีความสุข ฝ่ายกิจการนักศึกษาก็เริ่มถ่ายทอดกิจกรรมที่เด็กมีความสุข แล้วเราก็ทบทวนตลอดเวลา โอกาสคืออะไรเราเปิดทั้งหมด เช่น เขาอยากเต้นโคฟเวอร์แดนซ์เราก็ติดกระจกมากขึ้น และปล่อยให้เขาแสดงอิสระของตัวเองมากขึ้น เขาจะสนับสนุน LGBT เราก็ไม่ได้ขัด อย่างที่บอก มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คือ มหาวิทยาลัยแห่งโอกาส ทุกคนที่มีพลังบวกเราสามารถให้โอกาสได้ เราดำเนินการในหลายมิติเพื่อให้ใกล้ชิดกับคน Gen Z มากที่สุด เราไม่ใช่มหาวิทยาลัยที่ห่างกับเขา แต่เป็นมหาวิทยาลัยที่เข้าใจและอยู่กับเขา และพร้อมพัฒนาในมิติที่เหมาะสมกับสังคม” ดร.ธนวรรธน์ กล่าว

 

University of Practice

ดร.ธนวรรธน์ ยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่มหาวิทยาลัยหอการค้าเตรียมปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นเพื่อรองรับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้เรียน เช่น ในการสอบต่อไปผู้เรียนอาจจะได้รู้ว่าทำผิดที่ใด ควรแก้ไขอย่างไร การเรียนและการประเมินผลจะต้องเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์

แต่โจทย์ใหญ่สำหรับผู้บริหารสถาบันการศึกษาคือการเปลี่ยนโครงสร้างที่มีมายาวนาน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ใช้วิธีค่อยๆ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนมาอย่างต่อเนื่อง เช่นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เริ่มนำ iPad มาใช้ในการเรียนการสอน ใช้ระบบการเรียนการสอนที่เรียกว่า Digital Hybrid Learning and iTunes U ซึ่งมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีสถิติการใช้งานเป็นอันดับ 2 ของโลก และได้รับรางวัล Apple Distinguished School ติดต่อกัน 4 ปีแล้ว

และเพื่อต่อยอดการเรียนรู้ออนไลน์ของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งคณะวิทยพัฒน์ (Extension School) เพื่อเปิดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ และมีการทำหลักสูตรให้กับธุรกิจต่างๆ รวมถึงเปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีออนไลน์ในหลากหลายสาขาเพิ่มขึ้น

อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่าเป้าหมายต่อไปคือการวางตัวเป็น AR VR Training Center โดยอยู่ระหว่างการวางรากฐาน เพิ่มเติมเทคโนโลยี AR (Augmented reality) เข้าไปในการเรียนการสอน ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ได้อย่างสมจริงแม้จะอยู่ในห้องเรียนภายใน 3-5 ปี

นอกจากได้เรียนรู้เทคโนโลยีต่างๆ แล้ว การเรียนผสมผสานกับการปฏิบัติคือสิ่งที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มุ่งเน้น โดยจัดสภาพแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัยเพื่อรองรับการสร้างผู้ประกอบการ เช่น Innovation Driven Entrepreneurship Center (IDE Center) ซึ่งเป็นหน่วยงานเดียวในประเทศไทยที่ร่วมโครงการ MIT Regional Entrepreneurship Acceleration Program (MIT REAP) โครงการที่มุ่งเน้นการสร้างผู้ประกอบการสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ผ่านนวัตกรรม โดยปัจจุบันมีการสร้างเครือข่ายกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ การร่วมมือกับ Alibaba.com จัดตั้งศูนย์อบรมและดูแลธุรกิจอีคอมเมิร์ชที่จะช่วยผลักดันให้นักศึกษาได้ปฏิบัติการจริงในโลกอีคอมเมิร์ชมากขึ้น

ขณะเดียวกันวิชา IDE 101 ซึ่งเป็นวิชาเกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจ ก็ได้รับการบรรจุให้นักศึกษาปีหนึ่งของมหาวิทยาลัยทุกคน เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ประสบการณ์ทางด้านธุรกิจผ่านการปฏิบัติ มหาวิทยาลัยยังเปิดสอนวิชาใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับผู้เรียนเช่น วิชา Design Your Life เป็นหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดใช้สอนในระดับปริญญาตรี เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ว่าควรจะใช้และกำหนดทิศทางชีวิตอย่างไร

“เพราะเราจะเน้นเรื่องการปฏิบัติจริงมากขึ้น ระบบการเรียนการสอนจะเป็นระบบการเรียนการสอนที่ปฏิบัติจริง” ดร.ธนวรรธน์ กล่าวและเสริมต่อถึงสิ่งที่จะได้เห็นจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยต่อไปว่า

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีวิชาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยจะสนับสนุนให้คณาจารย์ทำวิจัย เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ และเพิ่มพูนประสบการณ์จริงของผู้สอนในโลกธุรกิจ การเรียนการสอนจะมุ่งเน้นที่การปฏิบัติจริง ช่วยให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ในการประกอบอาชีพต่างๆ ตามสาขาที่เรียน เพื่อเตรียมตัวผู้เรียนให้พร้อมกับการออกไปทำงานในโลกธุรกิจจริง และที่สุดคือ ผู้เรียนจะต้องมีคุณธรรม สามารถดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจต่างๆ โดยรู้จักมารยาทและมีคุณธรรมในการทำงานซึ่งจะสอดแทรกไปในการเรียนการสอน

จากความสำเร็จในประเทศไทย อีกเป้าหมายหนึ่งในการบริหารงานของ ดร.ธนวรรธน์ คือ การทำให้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำทางด้านการค้าและบริการของอาเซียน โดยเริ่มจากการเปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาโทในเมียนมา และปัจจุบันเพิ่มหลักสูตรระดับปริญญาตรีและปริญญาเอก ซึ่งมีผลตอบรับที่ดี จัดเป็นมหาวิทยาลัยต่างชาติลำดับต้นๆ ของเมียนมา

“ศิษย์เก่าของเราคือบรรดานักธุรกิจชั้นนำ 200 อันดับแรกของเมียนมา เราต้องการเปิดตลาดไปยังประเทศอาเซียนอื่นๆ เราต้องการเป็นมหาวิทยาลัยอินเตอร์ ซึ่งการเป็นอินเตอร์คือต้องการให้เข้ามาเรียนกับเราและเราออกไปที่ประเทศนั้นๆ” ดร.ธนวรรธน์อธิบาย

มหาวิทยาลัยมีแผนจะเพิ่มจำนวนประเทศที่เปิดการเรียนการสอนมากขึ้น โดยอยู่ระหว่างการศึกษาแผนงานที่จะนำเอาการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยไปสู่ประเทศกัมพูชา และเวียดนาม ต่อไป

สร้างเด็กหัวการค้า

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเตรียมความพร้อมทั้งบุคลากรและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อรองรับการสร้างผู้ประกอบการ การมีหอการค้าไทยเป็นเจ้าของ ทำให้สามารถเชิญผู้ประกอบการตัวจริงมาร่วมให้ความรู้และสร้างบรรยากาศด้านธุรกิจภายในสถาบัน กระตุ้นให้นักศึกษาเกิดแนวคิดแบบธุรกิจเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเรียนในสาขาวิชาใด

ดร.ธนวรรธน์ ยกตัวอย่างว่า “เรียนนิเทศเขาเป็นนิเทศแต่เขามีความคิดความอ่านแบบธุรกิจมากขึ้น ทุกกระบวนวิชาจึงเป็นความคิดแบบธุรกิจทั้งหมด เศรษฐศาสตร์จะต้องต่อยอดไปธุรกิจ มนุษยศาสตร์ก็ใช้ในเชิงธุรกิจ เนื่องจากบรรยากาศเป็นธุรกิจ เราเป็นอธิการบดี เราพูดอะไรในเชิงธุรกิจ เศรษฐกิจ ลงไปที่คณะเราก็ส่งข้อมูลไปว่าเกี่ยวกับธุรกิจ พอไปที่นักศึกษาก็เป็นเศรษฐกิจธุรกิจ เราคงไม่สามารถหล่อหลอมให้ทุกคนเป็นนักธุรกิจได้ แต่โดยส่วนใหญ่เด็กจะใส่เสื้อเด็กหัวการค้าเวลามาทำกิจกรรม หล่อหลอมตัวตนของเขา เป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังไปโดยปริยาย”

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เต็มไปด้วยโอกาส เราเปิดโอกาสให้กับทุกๆ คน ส่วนนี้เป็นเรื่องของดีเอ็นเอ เรื่องระบบนิเวศ และวัฒนธรรมของการทำงานของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แต่เป็นวัฒนธรรมที่ต้องผสมผสานระหว่างคน Gen X กับ Gen Y

อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยระบุว่า การจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการและพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ มหาวิทยาลัยทำมาอย่างต่อเนื่อง ทีมผู้บริหารตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน และเป็นโชคดีของสถาบันที่อาจารย์ทุกคนพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ แล้วค่อยขยายต่อไปทั่วมหาวิทยาลัย

ประกอบกับสไตล์การบริหารงานของ ดร.ธนวรรธน์ ที่ตั้งอยู่บนฐานของการใช้ข้อมูล เน้นการใช้ Data Analytic โดยนำประสบการณ์จากการบริหารงานศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ที่ได้ทำงานใกล้ชิดกับภาครัฐและภาคธุรกิจ จนเป็นที่ยอมรับของสังคมมาปรับใช้ในการบริหารมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยตามเป้าหมายที่จะสร้าง เด็กหัวการค้า

 

 


เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ

X

Right Click

No right click