November 08, 2024

คุยกับ Daddy G จากรั้วเด็กหัวการค้า

August 26, 2021 1582

เมื่อความฝันของเด็กรุ่นใหม่ เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องเปิดใจรับฟัง และความท้าทายบทใหม่ของการศึกษาในยุค New normal

หลังจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยเอกชนที่มีจุดชูโรงของตัวเองในเรื่องการสร้าง “เด็กหัวการค้า” ผ่านสื่อมาตลอดหลายปี ได้ส่งภาพยนตร์โฆษณาชุด FOLLOW YOUR DREAMS”  ออกมาพร้อมกับ Key Message ที่พูดถึง “การทำตามฝัน” คือการเสนอมุมมองที่ต่างออกไป และชวนให้เด็กรุ่นใหม่ตั้งคำถามว่า “แล้วทำไมไม่ทำตามฝันของตัวเอง” จนสร้างยอดวิวถล่มทลายกว่า 4 ล้านวิวจากทุกช่องทาง ในช่วงเวลาเพียงเดือนเศษ ๆ ทั้งหมดนี้เริ่มจากการคิดริเริ่มที่จะฉีกกรอบการสื่อสารเดิม ๆ และเริ่มที่จะเปิดใจรับฟังเสียงของคนที่สำคัญที่สุดของมหาวิทยาลัย นั่นคือ “นักศึกษา”

บทสัมภาษณ์ต่อไปนี้คือคำบอกเล่าจาก ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หรือที่เด็กหัวการค้าต่างขนานนามว่า “Daddy G” ถึงโจทย์การทำงานของมหาวิทยาลัยอย่างสร้างสรรค์ และความท้าทายบทใหม่ของมหาวิทยาลัยไทยในยุค new normal ที่จะต้องรับมือกับค่านิยมการศึกษาของเด็ก Gen Z ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

ความฝันที่เป็นจริง ต้องบริหารจัดการอย่างมีแผน

Daddy G เริ่มแบ่งปันแนวคิดหนึ่งจากชีวิตส่วนตัวที่สอดคล้องกับเรื่องของการทำตามความฝันว่า “การจะทุ่มเททำอะไรสักอย่างตามความฝันแล้วบรรลุสู่เป้าหมายได้ หัวใจสำคัญคือการที่เราต้องบริหารจัดการได้อย่างมีแผนการ อย่างส่วนตัวผมรู้ตัวตั้งแต่เด็ก ๆ ว่าผมฝันอยากเป็นอะไร แล้วต้องหาวิธีการไปถึงเป้าหมายให้เจอ จนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่ก็มีเรื่องการวางแผนครอบครัว อย่างการมีลูกก็ดี ผมอยากมีลูกสามคน บนเงื่อนไขของเวลาที่จะไม่กระทบกับสุขภาพของภรรยาเมื่อเธออายุมากขึ้น หรือแม้กระทั่งเรื่องการเรียนของลูก ๆ ผมตั้งใจว่าลูก ๆ ของผมต้องเรียนจบภายในเวลาที่เหมาะสมคือก่อนผมอายุ 60 สิ่งที่ผมจะบอกผ่านมุมมองจากชีวิตส่วนตัวก็คือ ความฝันที่ดีและสำเร็จที่เป็นรูปธรรม คือการสร้างเงื่อนไขด้านเวลาให้ตัวเอง แล้วลงมือทำอย่างจริงจัง ถึงจะเป็นความฝันแต่ก็ต้องเป็นสิ่งที่บริหารจัดการได้”

ความฝันของเด็ก เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องเปิดใจรับฟัง

อย่างช่วงที่ลูกผมต้องตัดสินใจเข้าเรียนมหาวิทยาลัย หรือเริ่มต้นชีวิตการทำงาน ผมมีมุมมอง คำแนะนำที่ดีพอจะให้เขาได้ ว่าควรเรียนต่อสาขาอะไร มหาวิทยาลัยไหน หรือจะเข้าทำงานบริษัทไหนดี แต่สุดท้ายถ้าเขาไม่ได้คิดอย่างที่เราแนะนำ เราฐานะพ่อ ก็ต้องเปิดใจว่าชีวิตเขาต้องการอะไร อยากเรียนอะไร เพราะการตัดสินใจมันจะอยู่กับเขา ผมเอาแนวคิดด้านชีวิตส่วนตัวมาประยุกต์ใช้กับการทำงาน ในวันที่เราต้องเข้ามาบริหารมหาวิทยาลัย เราก็ตั้งโจทย์ใหม่ให้กับ ม.หอการค้าไทยว่า ภารกิจสำคัญของมหาวิทยาลัยเอกชนอย่างเราคือนอกจากจะต้องให้ความรู้ ให้การศึกษาแก่เด็ก ๆ ในเชิงวิชาการแล้ว ขณะเดียวกันความที่เราเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน เราคือสถาบันการศึกษาที่แสวงผลกำไรและความยั่งยืนในแบบที่องค์กรธุรกิจหนึ่งเป็น เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมีแนวคิดการบริหารมหาวิทยาลัยผสมผสานกับการบริหารธุรกิจร่วมด้วย ถ้าโจทย์ของการทำธุรกิจคือการทำให้ลูกค้ามีความสุข  ต้องเป็น Top of mind brand ที่เข้าไปอยู่ในใจของลูกค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็มีแนวทางแบบนั้นเช่นกัน ลูกค้าที่หมายถึงนักศึกษา ต้องมีความสุข รู้สึกได้ถึงความใส่ใจดูแลจากมหาวิทยาลัย  นักศึกษาจึงเป็นคุณค่าอันดับ 1 เสมอ ดังนั้น ภารกิจที่สำคัญของเราคือ เด็กที่เรียนกับเราต้องมีความสุข เหมือนกับที่ธุรกิจสินค้า บริการอย่างใดอย่างหนึ่งจะมอบประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า ซึ่งเราเริ่มจากการฟังเสียงของเด็กเป็นอย่างแรก”

บทบาทของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อ “ความฝัน” สำคัญพอ ๆ กับ “ความรู้”

“ตัวอย่างจากการทำหนังโฆษณา FOLLOW YOUR DREAMS ช่วยให้เห็นว่าจินตนาการและความฝันเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวเด็กทุกคน นี่คือจุดเริ่มต้นที่เราตีความสารของคำว่า “FOLLOW YOUR DREAMS” ก็คือ message ที่เราอยากส่งสารไปยังเด็กรุ่นใหม่ว่า มหาวิทยาลัยจะเปิดกว้างพอสำหรับความฝันของพวกเขา ให้อิสระทางความคิดในการสร้างสรรค์งานชิ้นนี้อย่างเต็มที่ เด็ก ๆ อยากเห็นซอมบี้ เราก็ปล่อยให้เขาทำหนังซอมบี้ เพราะผมเชื่อว่านั่นคือสิ่งที่เขาฝันอยากจะทำ เป็นโฆษณาที่เด็ก ๆ ไม่ได้อยากให้มุ่งขายของ ขายข้อดีของ มหาวิทยาลัย แต่เราใช้การเล่าเรื่องแบบ Story telling ตามที่เด็ก ๆ อยากให้เป็น”

ความเด่นชัดอีกอย่างเกี่ยวกับบทบาทของ ม.หอการค้าไทย คือการสร้าง Dream Space โดยเรายกอาคารให้ฝ่ายกิจการนักศึกษาไปเลยหนึ่งอาคาร ซึ่งทั้งอาคารเราตกแต่งด้วยแนวคิด Colorful & Joyful คือมีสีสันขณะเดียวกันต้องสนุกสนานด้วย แนวทางการเรียนการสอนก็เช่นกัน เราใช้แนวคิด Plearn ที่ผสมผสานระหว่างคำว่า Play and Learn  เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้ในทางวิชาการไปพร้อม ๆ กับประสบการณ์ใน Lab รูปแบบ “Sandbox” ที่ไม่ใช่เพียงสนามเด็กเล่นที่ให้แต่ความสนุก แต่เราให้ทั้งความรู้พร้อมกับประสบการณ์ทำงานจริง ด้วยการจำลองการทำงานในรูปแบบบริษัทขึ้นมา นักศึกษาจะได้ใช้องค์ความรู้ที่ได้จากการเรียนในสาขาวิชาของตัวเองมาร่วมบูรณาการกับสนามจำลองการทำงานที่ไม่มีความเสี่ยง และสนุกไปกับประสบการณ์ที่เรามอบให้โดยมีบริษัทจำลองดังกล่าวเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ

ความท้าทายของมหาวิทยาลัย ในยุค New normal

อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้คำชี้แนะทิ้งท้ายถึงความท้าทายธุรกิจการศึกษาไว้อย่างน่าสนใจ “ใบปริญญาไม่สำคัญ เรามีข้อพิสูจน์ให้เห็นกันมานานจากผู้นำทางธุรกิจระดับโลกอย่าง มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก บิลเกต หรือสตีฟจ๊อบ บุคคลเหล่านี้ประสบความสำเร็จโดยไม่ผ่านกระบวนการการศึกษาเพื่อรับใบปริญญา นักธุรกิจสตาร์ทอัพบางคนก็มองข้ามเรื่องใบปริญญา ดังนั้นเด็กยุคใหม่ในแถบบ้านเราจะเริ่มมีแนวคิดที่คล้ายคลึงกับคนแถบตะวันตกมากขึ้น คือไม่วิ่งหาปริญญาเป็นอันดับแรก แต่เขาจะเริ่มจากการสะสมประสบการณ์ ค้นหาและสร้างตัวตนก่อน จึงค่อยคิดเรื่องเรียนเพื่อเอาใบปริญญา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในบ้านเราอย่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ก็เริ่มมีนโยบายสนับสนุนแนวคิดเด็กรุ่นใหม่ คือให้เด็กสามารถลงทะเบียนเรียนสะสมหน่วยกิต ควบคู่ไปกับชีวิตประจำวันที่สามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานได้พร้อมกัน ต่อเมื่อต้องการสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี ก็เข้าสู่ระบบของมหาวิทยาลัย 1 ปี ก็สำเร็จการศึกษา บางมหาวิทยาลัย เปิดโอกาสให้เด็กเรียนปริญญากันตั้งแต่ยังเรียน ม.ปลาย แล้วก็ได้ใบปริญญาในช่วงเวลาที่เร็วขึ้นกว่าเด็กสมัยก่อน อีกความท้าทายคือการตั้งคำถามของคนบางกลุ่มว่าทำไมเด็กถึงต้องเรียนมหาวิทยาลัยโดยใช้เวลาถึง 4 ปี ทั้งที่ยุคนี้สื่อออนไลน์มีองค์ความรู้เพื่อประกอบวิชาชีพมากมายโดยที่เด็กสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็วและนำความรู้ที่ได้ไปใช้งานจริงได้ทันที นี่คือความท้าทายที่มหาวิทยาลัยจะต้องวางกลยุทธ์เพื่อทานกระแสโลกที่เปลี่ยนไปเช่นนี้ รวมถึงอัตราการเกิดของเด็กรุ่นใหม่ที่ลดลงเรื่อย ๆ นำไปสู่จำนวนของเด็กที่จะเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาที่น้อยลงเช่นกัน เพราะฉะนั้นความท้าทายของเราคือการเริ่มตั้งคำถามแล้วว่าเราควรวางหลักสูตรระยะสั้นโดยให้เด็กสามารถเรียนรู้ สร้างประสบการณ์ทำงานไปพร้อมกับการสะสมหน่วยกิตได้อย่างไร ขณะที่โจทย์ท้าทายอีกข้อหนึ่งคือเราจะทำอย่างไรให้ใบปริญญาที่นักศึกษาจะได้รับ มีความคุ้มค่าพอที่เด็กจะทุ่มเทเวลาให้ และยิ่งเด็กรุ่นใหม่ Gen Z ที่ให้ความสำคัญกับปริญญามีจำนวนที่น้อยอยู่แล้ว รวมถึง Gen Y ที่ทุ่มเทเวลาไปกับการทำงานตามช่วงวัย การให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อระดับวิทยฐานะที่สูงขึ้น ก็น้อยลงไปอีก”

“ผมมองว่านี่เป็นความท้าทายยุคใหม่ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ต้องเผชิญไม่ต่างกัน และต้องสร้างกลยุทธ์ที่ยืดหยุ่นไปกับการเปลี่ยนของกระแสสังคมเพื่อสร้างแรงจูงใจคนรุ่นใหม่ และที่สำคัญคือต้องนึกเสมอว่า มหาวิทยาลัยมีหน้าที่มอบอะไรแก่นักศึกษา อย่างที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทำอยู่ก็คือ ฟังความต้องการของเด็ก แล้วปล่อยให้เขาลงมือทำอย่างมีอิสระทางความคิดและความฝัน”

Last modified on Thursday, 26 August 2021 10:28
X

Right Click

No right click