กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ เตรียมปลดล็อก 4 ธุรกิจ ออกจากบัญชีสามท้าย พ.ร.บ ต่างด้าวฯ ได้แก่ ธุรกิจบริการโทรคมนาคม สำหรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่ 1 ธุรกิจศูนย์บริหารเงิน ธุรกิจบริการซ่อมบำรุงอากาศยาน และ ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง ส่งผลให้นักธุรกิจต่างชาติไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ 4 ประเภทอีกต่อไป คาดดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้าไทยเพิ่มขึ้น ลดความซ้ำซ้อนในการกำกับดูแลของภาครัฐ ลดอุปสรรคในการทำธุรกิจ สร้างสภาพแวดล้อมที่น่าลงทุนเพื่อประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์) ได้มอบหมายให้เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาทบทวนประเภทธุรกิจ ตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เมื่อวันพุธที่ 25 กันยายน 2562 โดยผลของการประชุมฯ เบื้องต้น เตรียมเสนอคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ปลดล็อค 4 ธุรกิจ ออกจากบัญชีท้ายฯ ได้แก่ 1) ธุรกิจบริการโทรคมนาคม สำหรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่ 1 (ไม่มีโครงข่าย) 2) ธุรกิจศูนย์บริหารเงิน (Treasury Center) 3) ธุรกิจบริการซ่อมบำรุงอากาศยาน ที่ได้รับใบรับรองหน่วยซ่อมประเภทสอง สำหรับบำรุงรักษาส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน และประเภทสาม สำหรับบำรุงรักษาบริภัณฑ์และชิ้นส่วนของอากาศยานตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ และ 4) ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนต่างชาติลดภาระค่าใช้จ่าย ระยะเวลา และลดความยุ่งยากซ้ำซ้อนในการขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐ ก่อให้เกิดความรวดเร็วและความคล่องตัวด้านการประกอบธุรกิจในประเทศไทย สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการประกอบธุรกิจช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุน และผู้มีความสามารถจากต่างประเทศให้สนใจเข้ามาลงทุนส่งเสริมในการพัฒนาประเทศมากขึ้น”
“ธุรกิจท้ายบัญชี 3 ที่กระทรวงฯ เตรียมถอดออกนั้น ส่วนหนึ่งเป็นธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะกำกับอยู่แล้ว จึงเป็นการลดความซ้ำซ้อนในการกำกับดูแลของภาครัฐ เช่น ธุรกิจบริการโทรคมนาคม สำหรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่ 1 มีกฎหมายเฉพาะกำกับ คือ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 โดย กสทช. และ ธุรกิจศูนย์บริหารเงิน มีกฎหมายเฉพาะกำกับ คือ พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งกำหนดว่าธุรกิจศูนย์บริหารเงินต้องได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจจากกระทรวงการคลัง และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนด รวมถึง ธุรกิจบริการซ่อมบำรุงอากาศยานฯ ซึ่งมีกฎหมายเฉพาะกำกับ คือ พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 โดย สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)”
รองอธิบดีฯ กล่าวต่อว่า “ทั้ง 4 ธุรกิจ เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับสภาพการทางเศรษฐกิจและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม และคนไทยมีความพร้อมในการแข่งขันการประกอบธุรกิจกับคนต่างชาติ อีกทั้งเห็นว่า การเปิดเสรีในธุรกิจดังกล่าวจะเป็นการดึงดูดให้บริษัทต่างชาติเข้ามาตั้งศูนย์การพัฒนาและซ่อมบำรุงในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่คนไทย ส่งเสริมให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เป็นการสร้างโอกาสในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนไทย ซึ่งจะสามารถยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในระดับสากล
“นอกจากนี้ ยังเป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับสภาพการทางเศรษฐกิจและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม โดยธุรกิจบริการซ่อมบำรุงอากาศยาน และธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง จะสอดคล้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลในการเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ของประเทศ ประเภทอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ด้านการบินและโลจิสติกส์ (ธุรกิจบริการซ่อมบำรุงอากาศยาน) และด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล (ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์) ดังนั้น การปลดล็อก 4 ธุรกิจดังกล่าว จึงเป็นการขานรับนโยบายรัฐบาลทั้ง Thailand Plus Package และ Thailand 4.0 โดยเป้าหมายสำคัญ คือ การอำนวยความสะดวกแก่ชาวต่างชาติในการประกอบธุรกิจ พร้อมลดอุปสรรคด้านการลงทุน ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าเดินทางเข้ามาลงทุนเป็นลำดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชียและของโลก อีกทั้ง ลักษณะของภูมิประเทศและชัยภูมิที่เหนือกว่าประเทศอื่น และมีโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของอาเซียนได้ไม่ยาก” รองอธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย
นิตยสาร MBA ได้สัมภาษณ์ ดร.สาธิต พุทธชัยยงค์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ (มทร. กรุงเทพ)