November 21, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 813

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 10976

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 810

มทร.กรุงเทพสรุปแผน 5 ปี ประกาศความพร้อมรองรับTHAILAND 4.0

September 28, 2017 3158

นิตยสาร MBA ได้สัมภาษณ์ ดร.สาธิต พุทธชัยยงค์  อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ (มทร. กรุงเทพ)

กล่าวถึงความพร้อมของมหาวิทยาลัยในการรองรับไทยแลนด์ 4.0 พร้อมสรุปนโยบายเพื่อส่งมอบไปยังอธิการบดีท่านใหม่ ดร.สุกิจ นิตินัย ที่เข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 15  กันยายน 2560

อย่างไรก็ตามในช่วงรอยต่อที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลนั้น ในบทบาทของสถาบันการศึกษาที่เป็นวส่วนหนึ่งของกลไกสำคัญ ในการบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้ ความสามารถ ทันกับสถานการณ์นั้น ดร.สาธิต กล่าวถึงการปูทางเตรียมความพร้อมของมหาวิทยาลัย เพื่อการรองรับนโยบาย ของภาครัฐ ด้วยการกำหนดพันธกิจ 4 ด้านหลักๆ คือ Thailand 4.0, Creative Economy, Silver Economy และ Gig Economy ทั้งนี้เพื่อตอบโจทย์ โดยใช้ความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัย และเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคม

 

Thailand 4.0 New S-Curve

สำหรับการปรับตัวของมทร. กรุงเทพ เพื่อเพิ่มสาขาวิชา ที่เป็นดาวเด่นและถือว่าได้รับการตอบรับดี จนเป็นที่จับตาของธุรกิจในแวดวง New S-Curve  ได้แก่สาขาอากาศยาน ที่เป็นที่กล่าวถึงกันอย่างมาก  อีกทั้งสอดคล้องกับแนวโน้มของศาสตร์การศึกษาในปัจจุบัน ที่หลายๆศาสตร์ต้องมีการ Diversify เพื่อการตอบโจทย์ในอนาคต

“เราพูดกันมามากเรื่องของการก้าวข้ามกับดักรายได้  ซึ่งวันนี้สามารถคิดเป็นตัวเลขได้ที่ 12,000 USD/ปี/คน  หรือประมาณ  32,000 บาท /เดือน/คน  จึงต้องมามองว่าคนที่น่าจะก้าวข้ามได้ก่อนคือบัณฑิตที่จบปริญญาตรี เพราะหากบัณฑิตเหล่านั้นก้าวข้ามไม่ได้ ประชาขนทั่วไปก็คงไม่มีหวัง

อย่างไรก็ตามเด็กจบใหม่ตอนนี้ต่อปี มีจำนวนถึง 15,000 -20,000 คนโดยประมาณ  ซึ่งเด็กจำนวนนี้กว่าจะได้เงินเดือนถึง 32,000 บาท ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5-6 ปี ต่อให้เงินเดือนขึ้นปีละ 10% ซึ่งไม่เป็นอย่างนั้นในทุกกรณี

ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ว่านักเรียนที่เราผลิตออกไป ทำอย่างไรจะมีรายได้ใกล้เคียงกับ 1,000USD/เดือน  ไม่เช่นนั้นเราจะเผชิญภาวะเดิมๆ ที่คนรวย 4-5 ตระกูลรวยมาก  ในขณะที่คนข้างล่างยังจนมากอยู่ต่อไป จะทำอย่างไรให้แชร์กันตรงกลาง จุดที่จะทำได้คือต้องเริ่มจากนักเรียน

จากแนวคิดนี้ จึงได้มามองกันว่าอะไรเป็นทางเลือก ซึ่งสิ่งแรกที่มองคือ "อากาศยาน" ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ทำยาก แต่ถ้าทำได้สำเร็จจะเป็นคำตอบ  เราสามารถเริ่มจากนักเรียนมัธยม 6 ที่มาเรียนเป็นเวลา 2 ปี  และได้ Certificate recognition by EASA เงินเดือนเบื้องต้นที่ประมาณ 20,000 บาทเศษ  แต่ทำงานจนครบ 2 ปี กลับมาได้รับ License เมื่อครบ 4 ปีจะเท่ากับปริญญาตรี รายได้ 2,000USD ซึ่งเป็นอัตราที่เท่ากันทั่วโลก  

ดังนั้นในมุมมองของการศึกษา เราจึงต้องหันมามองของที่มีมูลค่า ตรงกับที่โลกต้องการ ซึ่งจะสอดคล้องกับที่เคยพูดว่า เป็นการวางรากฐานที่เราไม่เน้นดีกรี (Non Degree) ซึ่งน่าจะมีบทบาทสำคัญในอนาคต การ Diversify ลักษณะนี้จะลดปัญหาของสถาบันการศึกษา เรื่องที่ปริมาณเด็กน้อยลง เพราะเป็นการเรียนการสอนที่ตอบสนองความต้องการของตลาด จำนวนเด็กลดลง เพราะเด็กเกิดลดลงปีละถึง 10,000 กว่าคน  

การสอบคัดเลือกจึงอาจจะไม่มีผลแล้วก็เป็นได้ ยกตัวอย่างคณะวิศวะกรรมศาสตร์  มีปีละประมาณ 1,200 คน ถ้าเราหันมาทำอากาศยาน ต่อให้จำนวนเด็กลดลงไป 10% หรือประมาณ 120 คน รายได้ของมหาวิทยาลัยก็ยังคงเท่าเดิม เพราะรายรับจากการเรียนนั้นสูงกว่าประมาณ 12 เท่าจากค่าเทอมปกติ  อาจจพะทำให้มองว่ามีแต่คนรวยมาเรียน ถึงแม้จะไม่อาจปฎิเสธได้ แต่ถ้าภาครัฐเห็นว่ามีความสำคัญและให้ทุนกู้ยืมเรียนของกยส. ที่สาขาวิชานี้ จะถือเป็นการส่งเสริม

ดังนั้นการนำศาสตร์ใหม่เข้ามา จะทำให้เด็กมีโอกาสได้เรียนอย่างทั่วถึง และน่าจะเป็นทางออกอีกทางหนึ่งให้กับทุกฝ่าย

ปัจจุบันเราผลิตสาขาอากาศยานได้เพียงปีละไม่เกิน 100 คนเท่านั้น แต่วันนี้เรามีโมเดลใหม่ที่แอร์เอเชียขยายฝูงบิน และขาดบุคคลากร จึงมาร่วมมือกันสร้างหลักสูตรขึ้นมา โดยเป็นหลักสูตรที่ออกแบบเฉพาะระหว่าง สถาบัน แอร์เอเชียและบีเอซี ผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าศึกษา ในหลักสูตรนี้ จะเข้ารับการฝึกอบรมทักษะ ด้านงานซ่อมบำรุงอากาศยานพื้นฐานที่สถาบันการบินของ มทร. กรุงเทพ เป็นเวลา 6 เดือน และฝึกภาคปฏิบัติกับบีเอซีเป็นเวลา 3 เดือน จากนั้นจะเป็นการฝึกปฏิบัติกับเครื่องบินจริงของสายการบินไทยแอร์เอเชียเป็นเวลา 3 เดือน รวมทั้งหมด 12 เดือน ซึ่งในระหว่างฝึกจะได้รับเงินเดือนเสมือนเป็นพนักงาน ของสายการบินไทยแอร์เอเชีย

Creative Economy  



มทร. กรุงเทพได้ริเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2552 โดยเน้นที่ 5 F ได้แก่ Food, Fashion, Fighting, Film และ Festival เป็นตัวตั้ง เป็นการโดยส่งเสริมเพื่อให้ตรงกับคณะและสาขาที่มีอยู่ทั้งด้านอาหาร สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีการอาหาร, สาขาวิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ด้านแฟชั่น ผ่านสาขาวิชาเทคโนโลยีเสื้อผ้าและแพตเทิร์น  ฟิล์ม สาขาวิชาเทคโนโลยีการถ่ายภาพและภาพยนตร์ สาขาการท่องเที่ยว และเฟสติวัล ผ่านสาขาวิชาการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาไทย                                

ด้าน Food หรืออาหาร เป็นเรื่องของอาหารไทย-ฮาลาล ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายใหญ่ ทางมหาวิทยาลัยได้ส่งอาจารย์ไปศึกษาที่มาเลเซียซึ่งเป็นประเทศต้นแบบ มีการสร้างครัวใหม่แยกขึ้นมา สร้างร้านอาหารใหม่ชื่อว่าครัวพระนครใต้ เนื่องจากเรามองเป้าหมาย 300 ล้านคนในอาเซี่ยนว่า ถ้ามาที่ประเทศไทยประมาณ 10 ล้านคน ขอแค่เพียง 10% จาก 2 ล้านที่มากรุงเทพฯ คือประมาณ 2 แสนคน เป็นลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งไม่จำเป็นต้องเป็นมุสลิมที่เป็นนักท่องเที่ยว คนไทยเองก็เป็นกลุ่มเป้าหมายที่เราอยากนำเสนออาหาร  ที่ทำถูกกระบวนการฮาลาล นอกจากนั้นอีกวัตถุประสงค์เบื้องหลังคือต้องการนำเสนอ Culture ของไทยด้วยคือการทำอาหารฮาลาลแบบไทยๆ จึงเป็นการนำสองแนวคิดผนวกเข้าด้วยกัน  สำหรับความคืบหน้าวันนี้อยู่ระหว่างรอการรับรอง (Certify) จากสำนักงานคณะกรรมการอิสลามกลาง ซึ่งหลังจากที่ครัวและร้านอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องการความร่วมมือจากอีกหลายฝ่าย เช่นวัตถุดิบต้องมาจากแหล่งที่ได้รับการรับรอง ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องยาก จึงอยากให้มั่นใจว่าทำถูกต้องในทุกกระบวนการ

สำหรับในส่วนแฟชั่น ที่อยู่ในกระแสความต้องการนั้น มหาวิทยาลัยฯ เป็นตัวแทนเทรนด์สีโลก 1 ใน 16 ประเทศ ซึ่งเป็นมาตั้งแต่มีเพียง 13 ประเทศ 9 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งปัจจุบันยังมีความร่มมือกับสถาบันวิจัยแฟชั่น Lasara ของเกาหลีใต้ทั้งการจัดกิจกรรม และสัมมนาร่วมกัน

เตรียมรับ Silver Economy ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

Silver Economy หรือเศรษฐกิจสีดอกเลา ซึ่งก็คือสังคมผู้สูงวัย ดังที่ทราบว่าประเทศไทยเรานั้นมีคนสูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยดูที่การแบ่งมีหลักการเป็น 3 ระดับ

ระดับแรกคือถ้ามีจำนวนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป 7% ของประชากรทั้งหมดเราเรียกว่าสังคมผู้สูงวัย

ระดับที่สอง คือถ้ามีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปจำนวน 14% จะเรียกว่าสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์  

แต่ถ้าระดับที่สามคือ 20% ขึ้นไปต่อจำนวนประชากรทั้งหมดเรียกว่าสังคมสูงวัยอย่างสุดยอด

สำหรับประเทศไทยนั้นจะมีจำนวนประชากรสูงวัยเกิน 20% ในอีกไม่เกิน 10 ปี ในขณะที่ญี่ปุ่นอีก 11 ปี เรียกว่าไทยมาถึงก่อนใครเพื่อน ใกล้เคียงกับเกาหลีใต้ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหากไปถึงเวลานั้น ในปี 2551 ตามตัวเลขสถิติ แรงงานไทย 6.1 คนจะแบกผู้สูงวัยไว้จำนวน 1 คน แต่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สัดส่วนแรงงานหนุ่มสาว 2.4 คน จะรับผิดชอบผู้สูงวัยจำนวน 1 คน คนหนุ่มสาวที่กล่าวถึงนั้นก็คือ Gig economy  

และสำหรับคนสูงวัยในวันนี้และในอนาคตจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มแรกคือ ผู้สูงวัยติดสังคม กลุ่มนี้ยังต้องการเข้าสังคม เป็นกลุ่มที่ไม่น่าเป็นห่วงเท่าไรนัก และยังสามารถหาทางใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ คนเหล่านี้ยังต้องการเรียนรู้ หรือการท่องเที่ยว ดังนั้นทั้งธุรกิจต่างๆ และสถาบันการศึกษาต้องคิดให้ออกว่าจะทำอย่างไรกับคนกลุ่มนี้  ตั้งแต่การเปิดคอร์สระยะสั้น อาชีพเสริม หรือไอที ให้มีการพบปะ ให้มีสังคม

กลุ่มที่สอง คือ ผู้สูงวัยติดบ้าน กลุ่มนี้ชอบอยู่บ้าน จึงต้องมีธุรกิจที่ตอบโจทย์เรื่องเหล่านี้ทั้งเรื่องอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับการใช้ชีวิตภายในบ้าน  

และกลุ่มที่สาม คือผู้สูงวัยติดเตียง ซึ่งจะเป็นเรื่องของการแพทย์และการพยาบาลต่างๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ ดร. สุกิจเสริมว่าในส่วนของมหาวิทยาลัยเองมองว่าสามารถนำเทคโนโลยี และการคิดค้นอุปกรณ์ในทุกศาสตร์เข้าไปรองรับได้ตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย เช่น เก้าอี้ เบาะ เทคโนโลยีใหม่ๆสำหรับอุปกรณ์ความปลอดภัย ดังนั้นทุกสาขาต้องวิเคราะห์เพื่อตอบโจทย์ให้ได้ โดยการนี้การบริหารต่างๆ ไม่ใช่เพียงเพื่อการพาณิชย์แต่เพียงอย่างเดียว แต่เพื่อการช่วยเหลือสังคมด้วยเช่นกัน

 Gig Economy

ปัจจุบันเรื่อง Gig economy ถือเป็นเรื่องใหญ่ทั่วโลก ในประเทศสหรัฐอเมริกามีจำนวน Gig economy อยู่ถึง 52 ล้านคน  

จากความเชื่อในอดีตของเจนฯ เบบี้บูม ที่มองว่าเรียนจบต้องทำงานราชการ และถัดมาเจนฯเอ็กซ์ตั้งเป้าทำงานในบริษัทเอกชนที่มีชื่อเสียงมั่นคง ซึ่งตำแหน่งงานในบริษัทดีๆตอนนี้จึงเหลือไม่มาก เพราะถูกเจนฯ อื่นๆครอบครองไปหมดแล้ว  

ในจุดนี้เองที่เรียกได้ว่า เจนฯใหม่จึงเริ่มเบนเข็มมาที่ฟรีแลนซ์ แต่เป็นลักษณะที่ไม่มีอาชีพเดียว ต้องการเรียนรู้เฉพาะที่อยากรู้ เนื่องจากมองว่าการจบปริญญาตรี มีรายได้ที่ไม่เพียงพอสร้างความมั่นคงในชีวิตได้ เป็นยุคที่คิดเองเป็น  เห็นว่าอัตราเงินเดือนขึ้นไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถสร้างตัวได้ และการไต่เต้าในองค์กรมีโอกาสเติบโตยากมาก

คนกลุ่มนี้จึงตั้งเป้ามาที่สตาร์ทอัพ เพื่อตอบโจทย์ความท้าทาย อยากเป็นเจ้าของ และบริหารเวลาของตนเอง  ดังนั้นเมื่อเราต้องรองรับเด็กในเจเนอเรชั่นนี้  จึงต้องมาคิดให้มหาวิทยาลัยมีทางเลือกให้กับเด็กมากกว่าที่มีอยู่ เช่นมหาวิทยาลัยมีวิชาจากทุกสาขา ทุกคณะทั้งหมดจำนวนเท่าไร และการจบปริญญาตรีต้องใช้จำนวนกี่หน่วยกิจในหมวดใดบ้าง  เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้เด็กสามารถเลือกวิชาที่ต้องการเรียน  ไม่ต้องจำใจเรียนวิชาที่ไม่ต้องการเรียน เพราะเราจะต้องตอบโจทย์ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป อาจารย์ในวิชาชีพเองก็ต้องปรับตัวให้ทันเช่นกัน

ซึ่่งในแนวคิดนี้ ในส่วนของกระทรวงฯ อยู่ในระหว่างส่งเรื่องเข้าเสนอครม.เพื่อพิจารณา  และในความเป็นจริงสามารถประยุกต์ใช้ได้โดยไม่จำกัดเฉพาะปริญญาตรี เช่นที่เห็นว่าจบปริญญาตรีมาแล้ว ก็มาลงเรียนอากาศยานเพื่อเป็นทางเลือกในอาชีพด้วย

ปัจจุบันเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในส่วนของคณะบริหารธุรกิจ ซึ่งเป็นทางเลือกโดยอิสระ ให้นักศึกษาที่ต้องการทั้งในรูปแบบวิชาชีพเดิมหรือแบบข้ามศาสตร์เพื่อความได้เปรียบ  สำหรับคณะวิศวะกรรมศาสตร์อาจจะยากเนื่องจากมีวิชาที่ต่างกัน ต้องใช้เวลาในการปรับอีกระยะ

หาคำตอบใหม่จากปัญหาเดิม        

 ดร.สุกิจ นิตินัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ

ดร. สาธิตกล่าวทิ้งท้ายถึงยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยว่าภาพใหญ่ยังคงเป็น Creative เพราะยังหาคำตอบใหม่จากปัญหาเดิมเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น โดยกล่าวย้ำว่า เราไม่จำเป็นต้องทำในทุกด้าน แต่ละมหาวิทยาลัยต้องเลือกตามความถนัดของตนเอง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งมารองรับ  ที่สำคัญคือเราต้องเคลื่อนตัวให้เร็ว ถึงแม้ความเสี่ยงจะมีมากเช่น 50/50 แต่ก็ต้องรีบทำ เพราะอะไรที่วิเคราะห์ว่าไม่เสี่ยงเลย ทำแล้วสำเร็จแน่นอนเช่น 70/30 ทุกคนก็ทำไปแล้วทั้งนั้น

นอกจากนี้ทั้งมหาวิทยาลัยและ อาจารย์เองก็ต้องปรับตัว ส่วนของมหาวิทยาลัยก็ต้อง lean คือลดความสูญเปล่า  เช่น หากมีอาจารย์ลาออกก็ไม่รับเพิ่ม อัตราที่มีอยู่ก็ต้องรองรับได้ ต้องมีการการปรับโครงสร้างบางคณะ จะต้องมีการควบรวมเพื่อ pooling Facility ต่างๆ มีหลายมุมที่ต้องวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน เช่น สัดส่วนอาจารย์ต่อนักเรียนในปัจจุบันที่ไม่สมดุลย์ อาจารย์มีจำนวนมากกว่านักเรียนในบางคณะ จึงต้องมีการปรับเรื่องการควบรวม ต้องรวิเคราะห์ต้นทุนให้เหมาะสม

อย่างไรก็ตามการจะไปได้หรือไม่ได้ เราไม่ได้มองแต่ต้นทุนเพียงอย่างเดียว เพราะเราเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ต้องดูแลนักเรียนที่ไม่มีรายได้สูงเหมือนมหาวิทยาลัยเอกชน จึงต้องพึ่งภาครัฐด้วยเช่นกัน

ในการนี้จากแผนงานเพื่อ 5 ปีในอนาคตที่ทำร่วมกันมากับอธิการบดีท่านใหม่ ดร. สุกิจ ผู้รับช่วงนโยบายมาสานต่อ กล่าวว่าเป็นสิ่งที่ท้าทาย และมองว่าการวัดความสำเร็จจะวัดกันที่บัณฑิตที่จบไปมีงานทำ รายได้สูงขึ้น  ไต่เต้าไปถึงจุดที่วางเป้าหมาย  จึงจะเป็นตัวชี้วัดที่ดีมาก เพราะเราต่างทราบกันดีว่าปัจจุบัน อัตราการตกงานของประเทศสูงมากขึ้นเรื่อยๆ  แต่เด็กจากมหาวิทยาลัยชองเรายังได้งานทำทั้งหมด ซึ่งก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ยังคงต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับสถานประกอบการที่มีทางเลือก และเงื่อนไขมากขึ้น

โดยหลักใหญ่ที่ต้องเริ่ม คือ จากอาจารย์ที่ปรับตัว อาจารย์ต้องเป็นวิชาชีพ ต้องทำให้ได้ก่อน แม้จะมีการเรียนการสอนทางออนไลน์ได้ในสมัยนี้ แต่ก็ยังไม่มีโปรแกรมที่รองรับการใช้ศาสตร์ทางวิชาชีพได้ ดังนั้นอาจารย์จึงต้องเน้นทางวิชาชีพเพื่อจะได้ถ่ายทอดให้นักศึกษา มีความเพื่อสถานประกอบการที่มีความต้องการในตลาด

นอกจากนี้ในด้านของงานวิจัย ทางมหาวิทยาลัยฯ เน้นเป็น Appropriate Technology คืองานวิจัยที่เหมาะสม มูลค่าไม่สูงมาก แต่ใช้งานได้จริง เช่นจากงานที่ไปแสดงที่ผ่านมา คือ ทำอย่างไรให้มีน้ำสะอาดไว้ใช้ในชนบท โดยชาวบ้านหาวัตถุดิบในท้องถิ่นมาประดิษฐ์ให้ใช้งานได้  ไม่ใช่เน้นแต่การวิจัยระดับสูงเพียงอย่างเดียว ต้องทำเป็นสัดส่วนที่พอเหมาะ นอกจากนี้ยังมีโครงการให้นักศึกษาคิดสร้างแอพพลิเคชั่นง่ายๆในโทรศัพท์มือถือ เพื่อการช่วยเหลือต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและสังคมด้วยเช่นกัน

 

 

 

 

Last modified on Tuesday, 19 November 2019 06:59
X

Right Click

No right click