×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 813

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ออกมาตรการเยียวยาโควิด-19

ศูนย์ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งมหานครโตเกียวสำนักงานประเทศไทย (Tokyo SME Support Center)

ภาคอุตสาหกรรมคือแรงขับเคลื่อนสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย การเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจที่พึ่งพาเกษตรกรรมสู่อุตสาหกรรมของประเทศไทยมีความต่อเนื่องมานับครึ่งศตวรรษ และเมื่อมาถึงจุดที่เทคโนโลยีกำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงไปแทบทุกวงการ อุตสาหกรรมของประเทศไทยก็จำเป็นต้องปรับตัวให้สอดรับกับไทยแลนด์ 4.0 เพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่ รับมือกับโลกที่กำลังเปลี่ยนผ่าน

ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เปิดโอกาสให้นิตยสาร MBA เข้าพบเพื่อรับฟังแนวทางมาตรการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม สร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการผลิตของประเทศเป็นแต้มต่อสำหรับระบบเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

กระทรวงฯ มีนโยบายอย่างไรในการสร้างอุตสาหกรรมที่สามารถทำได้ตั้งแต่ต้นน้ำ พัฒนาองค์ความรู้ออกแบบ ผลิตและจำหน่าย

นโยบายเราชัดเจนอยู่แล้ว และรัฐบาลนี้ทำจริงจัง คือวันนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงสตาร์ตอัพ ต้องเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เร็วที่สุด เพราะฉะนั้น ชุดมาตรการเรามุ่งไปทางนั้น เป้าหมายตอนนี้คือภาครัฐ เช่นกระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์ สสว. ทั้งหลาย ทำงานด้วยกัน เพื่อเปิดทางสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม และมีทักษะที่จะใช้ และรัฐก็ดูแลส่งเสริมให้เขาแข็งแกร่ง เรื่องทุนก็เป็นอีกด้านหนึ่ง ที่จะให้เข้าถึงเครื่องมือเครื่องจักร เป้าหมายเป็นแบบนี้ มาตรการที่ออกมาก็สอดรับกัน เช่น ในเรื่องของการเข้าถึงเทคโนโลยี วันนี้เราลงไปถึงระดับชุมชน เพราะวันนี้อินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นเทคโนโลยีอย่างหนึ่งก็เปิดให้ระดับชุมชนเข้ามาใช้ได้ เราอาจจะดู Simple นั่งอยู่กรุงเทพแต่สำหรับชุมชนสามารถสร้างมูลค่าใหม่ๆ ได้ด้วย ดีไซน์ เครื่องพิมพ์สามมิติ เรื่องดิจิทัลมาร์เก็ตติง

กระทรวงฯ มีการปรับโครงสร้างการสนับสนุนอย่างไร
วันนี้ผมมีศูนย์อุตสาหกรรมภาค ทั้งหมด 10 ศูนย์ทั่วประเทศ รวมถึงกรุงเทพ ที่กล้วยน้ำไท วันนี้เราปรับให้เป็นศูนย์ส่งเสริมการปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ระดับกลุ่มจังหวัด ศูนย์ฯ วันนี้ไม่ได้ทำแต่หน้าที่แค่ออกไปตรวจโรงงาน ควบคุมดูแลเรื่องมลพิษ แต่ที่เสริมเข้ามาใหม่ คือหน้าที่ในเรื่องส่งเสริมเอสเอ็มอีให้เข้าถึงเทคโนโลยี เราเรียกว่าเป็นแล็บหรือโรงงานต้นแบบมีเครื่องมือทั้งหลายไม่ว่าเครื่องพิมพ์ 3 มิติ หรือพวกจักรกล ออโตเมชัน เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้ามาใช้ได้ มีที่ปรึกษา เราก็รู้ว่าในระดับชุมชนมีสินค้าดีๆ เยอะ แต่พอไปแล้วของไทยไปไม่ถึงฝั่งเพราะแพ็กเกจจิ้งของเราสู้เขาไม่ได้ ศูนย์พวกนี้ก็จะมีเครื่องไม้เครื่องมือเรื่องดีไซน์แพ็กเกจจิ้ง และทำต้นแบบให้ดูเลยว่าอย่างนี้นะ สมมติพื้นที่ 150 ตารางเมตรจะมีทุกศูนย์ตอนนี้ทำเสร็จไปครึ่งหนึ่งคือ 5 ศูนย์ เพื่อให้ยั่งยืนเราเชิญชวนผู้-ประกอบการรุ่นใหญ่ Big Brother มา อย่างที่ศูนย์กล้วยน้ำไท เดนโซ่เข้ามา เขาปรับปรุงใหม่หมดเลย เขาเอากระบวนการผลิตจำลองสำหรับเอสเอ็มอีที่เดนโซ่เขาพัฒนาโดยการสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่นมาตั้งเลย เป็นระบบออโต-เมชันซึ่งเดี๋ยวจะโยงไปมาตรการที่สองเรื่องหุ่นยนต์และออโตเมชันและการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ตอนนี้เราไปโยงกับโครงการ Big Brother ประมาณ 50 ราย รวมถึงบริษัทไทยเช่น SCG ปตท. ผมมีศูนย์ 10 แห่งก็เชิญชวนเป็นกลุ่มมาช่วยกัน เหมือนพี่เลี้ยงสปอนเซอร์ให้ศูนย์ขณะที่คนของกระทรวงเข้าทำงานเต็มที่อยู่แล้วแต่ละศูนย์เป็นโรงงานต้นแบบ แต่แตกต่างกันได้ คือเราคุยในพื้นที่ก่อน ไม่ใช่ไปยัดใส่ สภาอุตสาหกรรม หอการค้าต้องการอะไร ถ้าภาคเหนือเขาบอกว่าผมต้องการเป็น Food Valley เครื่องไม้เครื่องมือก็ต้องไปทางนั้น ถ้าอีสานบางที่บอกผมหนักวิสาหกิจชุมชน ดังนั้นเรื่อง Packaging Design เครื่องไม้เครื่องมือก็ไปทางนั้น ถ้าตรงกลางอย่างกล้วยน้ำไท หนักเรื่องกระบวนการผลิต เพราะเอสเอ็มอีแถวนี้ค่อนข้างใหญ่แล้ว ก็ต้องออกไปเรื่องออโตเมชันเยอะหน่อย มิฉะนั้นการเข้าถึงก็จะช้า และวันนี้เทคโนโลยีไปเร็วมากถ้าเอสเอ็มอีต้องไปหาความรู้เอง ก็ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน และไม่กล้าลงทุน

กระทรวงมีมาตรการสนับสนุนด้านทุนแก่ผู้ประกอบการอย่างไร
ก็มามาตรการที่ 2 เรื่องของเงินทุน ถ้าเขาเข้ามาใช้ประโยชน์จากศูนย์ที่เรามี ได้รับคำแนะนำจาก Big Brother เขาก็จะบอกว่าแล้วผมเอาเงินทุนที่ไหนมาปรับเปลี่ยน เรามีมาตรการเงินทุนดอกเบี้ยต่ำพิเศษเพื่อการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี ปล่อยเป็นระดับเอสเอ็มอีใหญ่จนถึงชุมชนระดับแสนเราก็ปล่อย แต่วัตถุประสงค์เดียวกันหมดคือเพื่อการปรับตัวสู่ 4.0 ดังนั้นเงินทุนมีพร้อมแต่ต้องมาคุยกันให้เป็นเรื่องเป็นราว เราจะไม่ให้แต่เงิน เราจะผูก สมมติคุณจะไปซื้อเครื่องจักร เราจะมีพี่เลี้ยงดูแลไปด้วยในช่วง 3-4 ปีว่าเครื่องจักรติดตั้งโอเค และใช้เป็น พี่เลี้ยงก็คือ 50 บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมนั่นเอง

ในเรื่องผลิตภาพ (Productivity) มีแนวนโยบายอย่างไร
เรื่องผลิตภาพเอสเอ็มอีต้องเข้าใจว่า เวลาเราพูดถึงการเข้าถึงเทคโนโลยี จะเอาเทคโนโลยีมาใหม่ ในการผลิต แม้กระทั่งเอสเอ็มอีภาคบริการ สุดท้ายเป้าหมายคือ ยกระดับผลิตภาพของตัวเอง ซึ่งสะท้อนออกมาในด้านที่สำคัญมากๆ เช่น ต้นทุนที่แข่งขันได้ ในยุคของอินเทอร์เน็ต ดิจิทัล การจัดซื้อเปลี่ยน การบริหารจัดการสินค้าคงคลัง (Inventory) เปลี่ยน เอา Enterprise Software สำหรับเอสเอ็มอีมาใช้ และที่สำคัญถ้าพูดถึงกระบวนการผลิตออโตเมชัน ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ (Robotic) ต้องรู้แล้วว่าจะใช้ได้อย่างไร แต่ไม่ใช่ต้องเอามาทุกราย
กระทรวงการมีโครงการใหม่ทำร่วมกับสภาอุตสาหกรรม สถาบันไทย-เยอรมนี กลุ่มสถาบันการศึกษาที่เชี่ยวชาญเรื่อง Robotic Automation ขณะนี้มีประมาณ 8-10 มหาวิทยาลัย แนวทางคือเราเชิญเอสเอ็มอีให้เข้าโครงการ แบ่งเป็นหลายระดับ เราวางเป็นกลุ่มใหญ่ๆ
1. กลุ่มเกษตรแปรรูป เพราะอย่างไรประเทศไทยก็เป็นพื้นฐานเกษตร
2. กลุ่มผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ซัพพลายเออร์ทั้งหลายและมีความพร้อมจะออกสู่ตลาดต่างประเทศด้วยตัวเอง
3. กลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงแต่เราต้องเริ่มวางพื้นฐานให้
เราเอาเข้ามา ที่ปรึกษาเราเข้าไปวินิจฉัยร่วมกันก่อนเลยว่า ของคุณนี่เทคโนโลยีระดับไหนเหมาะ เราก็ขอว่าต้องมาทำด้วยกันนะ มีโปรแกรมมีซอฟต์แวร์ที่จะมาช่วยวินิจฉัยแม้กระทั่งการเงิน เช่นที่เราคิดว่าต้นทุนที่จะลงจำลองขึ้นมาเลย เจ้าของต้องมานั่งกับเราว่าจริงไหม แล้วเครื่องมืออะไร ลงทุนเท่าไร ถ้าสมมติบอก 20 ล้านภายใน 3-4 ปี ถ้าเห็นตรงกัน มาตรการเงินทุนเราก็จะเข้าไปเสริมโครงการผลิตภาพเกิด วินิจฉัย ทุนมา ติดตามดูแล นี่ต้องรับเป็นเงื่อนไข ถ้าไม่อย่างนี้ เราไม่เอา อย่างน้อยต้องปั้นให้ผ่านตรงนี้ และต้องมีเป้าหมาย อย่างโครงการนี้เป้าคือในปีแรก ถ้าพูดถึงต้นทุนต้องลดให้ได้ 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ไม่ใช่ว่าต้องเข้ากี่รายต้องนับว่าทำได้กี่ราย ถึงเวลาต้องปฏิบัติ ก็ตั้งเป้าไว้ว่า 3 ปีแรก น่าจะเชิญชวนเอสเอ็มอีเข้าโครงการนี้ได้ประมาณ 10,000 ราย

กระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณเท่าไร
ผมคิดว่าไม่เกิน 2 เดือนวินิจฉัยแล้ว ภายใน 3-4 เดือน Simulation เสร็จ ก็พอๆ กับแบงก์ แต่เราไม่ได้ไปแทนที่ธนาคาร วัตถุประสงค์เราคือมาเติมเต็ม และเราต้องส่งเสริมเขาว่าสุดท้ายต้องเข้าระบบธนาคาร เข้า VC ได้
ผมโยงไปอีกมาตรการ Financial Literacy เราทำร่วมกับธปท. สภาอุตสาหกรรม หอการค้า ที่สำคัญที่สุดคือสมาคมธนาคารไทย ดังนั้นตามเครือข่ายศูนย์ที่ผมมีเราจับมือกันไป ในพื้นที่ให้นายธนาคารเขามาสนับสนุน ออกไปให้ทักษะ เพราะคนที่สอนเรื่องการเงินดีที่สุดไม่ใช่คนกระทรวง เพราะสุดท้ายเราต้องการให้เขากู้แบงก์ได้ ก็ไปสอนตั้งแต่ทำไมต้องมีบัญชีเดียว เราก็มีเป้าหมายว่า ให้เอสเอ็มอีทำบัญชีเดียว ให้จดนิติบุคคล อย่างเรื่องเงินกู้ไม่จำเป็นต้องเป็นนิติบุคคลทันทีแต่เราจะบอกว่าถ้าเราให้การสนับสนุนขอว่าภายใน1-2 ปีแล้วแต่กรณี จดทะเบียนนิติบุคคล นี่พูดถึงรายเล็กที่ยังไม่ได้จดนะ แล้ววันนี้จดทะเบียนนิติบุคคลกระทรวงพาณิชย์เขาจด 48 ชั่วโมงก็จดได้ และไม่ต้องใช้ 7 คนแล้ว ถามว่าทำไปทำไม เพราะไปสอดรับว่า ในเรื่องการเงินคุณจะเข้าระบบ กระทรวงการคลังก็เป็นระบบในเรื่องฐานภาษี ทุกอย่างก็ไปด้วยกัน

สถาบันการศึกษาจะอยู่ส่วนใดในมาตรการเหล่านี้
กลับไปที่โครงการเพิ่มผลิตภาพ โครงการนี้จะคู่ไปกับโครงการ Robotic and Automation ซึ่งเป็นหนึ่งในคลัสเตอร์เป้าหมายของประเทศ ดังนั้นในโครงการนี้ เราใช้กลไกที่เรียกว่า ศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านโรบอต CORE (Center of Robotic Excellence) แต่ละศูนย์คนที่ดูแลเป็นมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา มี 8 ศูนย์ทั่วประเทศไทย ตรงกลางอาจจะมากหน่อย นี่คือเครือข่าย คนจาก CORE สภาอุตสาหกรรม เอาตัวจริงเข้าไปมีเรื่องของวิทยาการเข้าไป ขณะเดียวกัน CORE ก็กลับไปที่คำถามว่าเมื่อไรคนไทยจะสร้างอะไรเป็น นี่ผมแค่พูดเรื่องใช้ โครงการหุ่นยนต์นี่จะทำเรื่องสร้างด้วย เพราะเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย หมายความว่าคนไทยสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมนั้นๆ ได้เอง วันนี้เรานำเข้าหุ่นยนต์มูลค่าประมาณแสนกว่าล้านบาทที่จำเป็นต้องใช้นะครับ ตรงนี้คนไทยทำได้เองเยอะมากผลิตเครื่องจักร ชิ้นส่วนได้ระดับหนึ่งเลย และสองผลิต System Integrator ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีเป็นบุคคลไม่ใช่บริษัทใหญ่ System
Integrator เป็นคนศึกษาและบอกผู้ประกอบการว่าโรงงานคุณต้องใช้ Automation System ไหนบ้าง จากเจ้าไหนบ้าง เวลาสั่งซื้อของคนนี้เป็นคนสำคัญ วันนี้ประเทศไทยมีอยู่แค่ 400 คน เป้าหมายหนึ่งปีจากนี้ไปเราจะมี 1,200 คน นี่คือการพัฒนาการสร้างหุ่นยนต์ Robotic Automation System ในประเทศ เราเริ่มอย่างนี้แล้ว อย่างน้อยเรามองเรื่องสร้างคนไปพร้อมกัน นี่คือยึดโยงโจทย์สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และเรื่องพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายคู่ขนาน เพราะเอสเอ็มอีจำนวนมากก็อยู่ในคลัสเตอร์ ถ้าเราต้องการส่งเสริมก็ต้องพัฒนาคู่กันเพื่อให้ตอบโจทย์ในระดับหนึ่ง นี่เป็นวิธีที่เราทำวันนี้ เสียเวลานิดหนึ่งตอนแรกที่ต้องมาออกแบบให้ยึดโยงกันและทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

แต่ปัญหาของประเทศไทยที่เราสังเกตมาตลอดคือเรื่อง Content
เราก็ต้องเริ่ม อย่างหุ่นยนต์ CORE เขารู้อยู่เขามีองค์ความรู้ หน้าที่เขาคือมาดูว่าประเทศไทยทำตรงไหนได้อย่างไร และอนาคตจะเอาอย่างไร เซนเซอร์ยังไม่ได้วันนี้ 5 ปีข้างหน้ามาพูดกันสิว่าทำได้ไหม และจะต้องส่งเสริมอย่างไร พูดถึงส่งเสริมก็เป็นองค์ประกอบสำคัญ ทุกคลัสเตอร์เป้าหมาย เราคุยกับ BOI ใกล้ชิดมาก วันนี้มีว่าถ้าบริษัทไหนที่ลงทุนเรื่องหุ่นยนต์ BOI ให้สิทธิพิเศษอย่างไร ก็คือมาทั้งแพ็กเกจ 10 อุตสาหกรรมมีโรดแมปหมด กระทรวงเป็นคนประสาน ผมเอาเข้าครม.หมด ตอนนี้ยังไม่ครบ เข้าครม.เพื่อให้ ครม.เห็นชอบ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ผูกพันที่ต้องสนับสนุน

แนวทางการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมีอย่างไร
สิ่งที่ทำ เอาญี่ปุ่นเป็นเคสจริงๆ เลย รมต. METI พูดเองเลยว่า วันนี้ประเทศไทยอย่างไรเขามองว่าเป็น Strategic Partner ของเขา โดยที่ตั้งโดยความคุ้นเคย แต่ด้วยเทคโนโลยีทั้งหลายทั้งปวง ญี่ปุ่นก็ต้องเปลี่ยนเหมือนกัน เขาก็ต้องดูแลว่าพาร์ตเนอร์ในประเทศไทยรวมถึงระดับเอสเอ็มอีไปด้วยกันนะ เราไม่ได้ดีลกับเขาคนเดียวแต่เราใกล้ชิดเป็นพิเศษ และโดยเทคโนโลยีวันนี้ต้องยอมรับว่านวัตกรรมใหม่ๆ เกิดจาก SME ไม่ใช่รอบริษัทใหญ่ เมื่อก่อนเป็นแบบนั้น บริษัทใหญ่ทุนหนาสร้างนวัตกรรม อย่างที่ว่าเก็บเทคโนโลยีไว้ วันนี้ภาพเปลี่ยนแล้ว เอสเอ็มอีหรือสตาร์ตอัพสามารถคิดของใหม่แล้วขายกลับยังได้เลย เขารู้แล้วว่าเขาต้องมาช่วยบ่มเพาะเอสเอ็มอีในประเทศไทยเหมือนกัน ดังนั้นการแชร์ แน่นอนอาจจะไม่ใช่ 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องเข้าใจว่าเขาลงทุนมาเป็น 10-20 ปี เทคโนโลยีบางอย่างเขาไม่สามารถให้เราได้ทันที แต่วันนี้ผมเชื่อว่าเปิดขึ้น เรามีโครงการอีกโครงการ Technology Transfer ในรูปแบบที่ Practical ภายใต้ข้อตกลงเป็นทางการ ญี่ปุ่นมี แพลตฟอร์มสำหรับเอสเอ็มอีและรายใหญ่เชื่อมกันวัตถุประสงค์ตรงนี้คือแชร์เทคโนโลยี ชื่อ J-GoodTech.com เรากำลังสร้าง ThaiGoodTech.com เป็น B2B ไม่ใช่ B2C แลกเปลี่ยนกันตรง แต่ไม่ใช่แค่เอสเอ็มอีกับเอสเอ็มอี บริษัทใหญ่ที่เราจะเชื้อเชิญ เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน บริษัทใหญ่ทางญี่ปุ่นเขาก็เห็นแล้วเอสเอ็มอีไทยเดี๋ยวนี้หน้าตาเป็นอย่างไร เอสเอ็มอีทางนี้ก็เห็นแล้วว่าเขามีเทคโนโลยีอะไร จะเกิดการแลกเปลี่ยน แต่เมื่อก่อนไม่มีท่อนี้ เขาก็ไม่เห็นเอสเอ็มอีไทยเก่งๆ มีศักยภาพสูง วันนี้จะเห็นเลยเพราะเราเอาข้อมูลขึ้น และเขาติดต่อตรง ThaiGoodTech คาดว่าจะเสร็จในไตรมาส 2 ของปีนี้

ผู้ประกอบการจะเข้าร่วมได้อย่างไร
เราจะเป็นคนเชิญ เรามีอยู่แล้วและนี่ไม่ใช่แต่กรุงเทพ เราสั่งการไปทั่วประเทศ ผ่านศูนย์ ตอนนี้เราทำข้อตกลงกับสภาอุตสาหกรรมกับหอการค้า คัดเข้ามา ที่จะขึ้น ThaiGoodTech รู้อยู่แล้วว่าอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นอย่างไร ในพื้นที่ของท่านอะไรเด็ดก็มาหารือกันก่อน แล้วเชิญต้องโค้ชเขาเหมือนกัน จะขึ้น ThaiGoodTech ติดต่อ J-GoodTech คุณต้องมีข้อมูลอย่างไร คุณต้องระดับไหน เป็นการส่งเสริมในตัวถ้าเราทำให้ติดได้ในแง่การตลาดให้คนอยากขึ้น นี่ B2B นะไม่ได้ให้ขายของ และให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ ระดับเอสเอ็มอีจับมือกันเอง เป็นการกระตุ้นเขาออกสู่ตลาด

เกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการ EEC
EEC ประเด็นที่ผมมักจะคุยกับหลายคนเสมอ คือ EEC เป็นโครงการซึ่งถูกพัฒนาให้ขับเคลื่อนเรื่องการปรับเปลี่ยนประเทศ แล้วว่าทำไมต้องไปทำตรงนั้น เพราะว่าต้องการทำให้เป็นรูปธรรม ตรงนี้ทำได้เพราะมีฐานเดิมอยู่แล้ว แต่เราต้องการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ขึ้น ต่อยอด และเราต้องการสร้างเอสเอ็มอีใหม่ด้วย EEC เป็นก้าวแรกที่จะยกฐานตรงนี้ขึ้นมา

ประเด็นที่สองไม่ใช่เรื่องอุตสาหกรรมเท่านั้น ทุกโครงการใน EEC แม้จะเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายแต่คิดในองค์รวมหมด (Holistic) เป็นเรื่องการสร้างฐานความเจริญ อุตสาหกรรมแน่นอนมีบทบาทสูง สร้างเมืองใหม่สร้างสิ่งแวดล้อมใหม่ เรื่องของคน ผู้ประกอบการเราจะใช้ EEC เป็นพื้นที่สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ขึ้นมา เพราะอุตสาหกรรมต่างๆ อยู่ตรงนั้น สถาบันการศึกษาแข็งๆ มีอยู่เยอะ ดังนั้นเป็นภาพองค์รวม ระบบโครงสร้างพื้นฐานชัดเจนอยู่แล้ว รถไฟไม่ใช่แค่ตัวรถไฟเอง ผ่านตรงไหนเมืองใหม่มีโอกาสเกิด ไม่ใช่ไปรองรับอุตสาหกรรมเฉยๆ และเราคิดโยงกับระบบคมนาคมทั่วประเทศออกสู่เพื่อนบ้าน
ดังนั้น เราเริ่มจาก EEC จะเป็นตัวผลักดันให้เกิดฐานความเจริญใหม่ในหลายๆ ด้าน ประชุมล่าสุดคณะกรรมการที่มีนายกฯ เป็นประธานก็มีมติให้เริ่มขยายพื้นที่ได้แล้ว จะใช้เวลา 4 เดือนทำการศึกษาจังหวัดโดยรอบ สมุทรปราการ ปราจีนบุรี สระแก้ว บางคนถามทำไมสระแก้ว ไม่เห็นมีอุตสาหกรรมเท่าไร นี่คือประเด็นเลย สระแก้วเป็นเรื่องของประชาชนที่เราต้องการช่วยยกระดับความเป็นอยู่ ผมใช้คำว่าครอบคลุมและทั่วถึง สระแก้วไม่ใช่ระยอง ไม่ใช่ฉะเชิงเทราจันทบุรีที่มีอุตสาหกรรมมีผลไม้ แต่ถามว่าสระแก้วต้องเอาเขาเข้ามาไหม ถ้าพูดถึงช่องทางค้าขายลงทุนเขาเป็นทางออกกัมพูชา รถไฟวันนี้เราคิดไปถึงตรงนั้น เส้นนั้นต้องทำแล้ว ฉะนั้นคิดในกรอบใหญ่และคิดแบบ Inclusive นี่คือ EEC ที่กำลังจะเกิด
ขอกลับไปประเด็นเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี ตัวอย่างอุตสาหกรรมหนึ่งที่จะเกิดที่ EEC คือ การบำรุงซ่อมสร้างอากาศยาน MRO (Maintenance Repair Overhaul) แอร์บัสจับมือกับทีจีจะลงทุนสร้าง MRO แต่ไม่เพียงเท่านั้น จะสร้างคู่ขนานคือคลัสเตอร์ของชิ้นส่วน อุปกรณ์อากาศยานซึ่งคนไทยสามารถทำได้เอง นี่คืออีกตัวอย่างหนึ่งที่เขาต้องถ่ายทอดมา เพราะเป็นเงื่อนไขของเราว่าไม่ใช่คุณมาลงทุนแค่ MRO ซึ่งเขาอยากทำด้วยอุตสาหกรรมตรงนี้ นี่เป็นเอสเอ็มอีจะไม่ใช่บริษัทใหญ่ที่จะมาทำ จะเป็นกลุ่มเอสเอ็มอีคลัสเตอร์ที่จะเกิดแถวอู่ตะเภา เราผูกเป็นแพคเกจมาต้องมาด้วยกัน

ICO กับอุตสาหกรรมไทย

ในฐานะที่ ดร.อุตตม มีพื้นฐานการศึกษาและประสบการณ์การทำงานในธุรกิจการเงินมายาวนาน MBA จึงสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับเครื่องมือใหม่ที่กำลังเป็นที่ฮือฮาในโลกทุกวันนี้นั่นคือ ICO (Initial Coin Offering) ว่าจะสามารถนำมาใช้กับภาคอุตสาหกรรมไทยได้ในระดับใด
ดร.อุตตม มองว่า “ผมคิดว่าต้องแยกเป็น 2 เรื่อง หนึ่ง คือพื้นฐานที่ว่า วันนี้ถ้าพูดถึง สตาร์ตอัพ เอสเอ็มอี ผู้ประกอบการใหม่ หลีกไม่พ้นที่ต้องพยายามทำความเข้าใจเทคโนโลยีใหม่ๆ ผมคิดว่าเป็นสิ่งจำเป็นจะมากจะน้อยก็ต้องรู้ เพราะประเดี๋ยวมาเคาะประตูถึงบ้านแล้ว นั่นเรื่องหนึ่งว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเริ่มเข้าใจ
ประเด็นที่สอง คือในเชิงปฏิบัติ ว่า ถ้าเราพูดถึงสตาร์ตอัพ ผู้ประกอบการรายเล็กรายกลาง ก็ต้องการทุนที่จะโต การเข้าถึงทุนวันนี้เปิดกว้างขึ้น VC (Venture Capital) คือแนวทางเดิม แต่วันนี้มี Crowdfunding วันนี้มา Cryptocurrencies ซึ่งวันนี้ต้องพูดกันตามตรงว่ายังมีความสับสน ความไม่เข้าใจอยู่พอสมควร ไม่ใช่แต่ในประเทศไทย ในหลายที่ว่า คืออย่างไรแน่ รู้แต่ว่าน่าจะใช้ระดมทุนได้ และผลตอบแทนดูเหมือนสูงมาก ตรงนี้ผมคิดว่าแน่นอนเปิดโอกาส แต่ประเด็นที่สองอยากจะเรียนคือ ต้องเรียนรู้และใช้ด้วยความระมัดระวัง คือนวัตกรรมเป็นของใหม่ นวัตกรรมมีทั้งที่ดี แต่อาจจะมีผลข้างเคียงมาด้วยต้องระมัดระวังในกรณีนี้ ในการใช้ยังใหม่มาก
อย่างวันนี้ในประเทศไทยเอง ผู้กำกับดูแลก็ยังไม่ได้ประกาศชัดเจนว่าเป็นหลักทรัพย์ประเภทไหน คุณจะระดมทุนระดมทุนด้วยหลักทรัพย์ ยังไม่ชัดเจนว่าประเภทไหน และอะไรในแง่ของมูลค่าที่ Support จริงๆ จะประเมินราคาอย่างไร นี่เป็นเพียงยกตัวอย่างว่ามันมีความซับซ้อนเรื่องนี้อยู่
เพราะฉะนั้นถ้าผมเป็นสตาร์ตอัพเป็นเอสเอ็มอี ผมจะเรียนรู้แต่ไม่ใช่กระโดดใส่เพราะว่า ด้วยความที่เราไม่รู้ Cryptocurrencies โดยธรรมชาติซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าอย่างไรจะนำไปสู่อะไรในอนาคต
ในฐานะภาครัฐ ถามว่าเป็นไปได้ไหม ต้องยอมรับทุกอย่างเป็นไปได้หมดในโลกปัจจุบัน แต่วันนี้ถ้าถามผมว่าควรให้เกิดไหม ผมยังไม่ตอบ เพราะอย่างที่เราคุยกันตอนต้นเราต้องดูให้ชัดว่าความเสี่ยงคืออะไรและวันนี้รัฐกำลังออกกฎเกณฑ์อะไร ถ้าจะให้ตอบว่าควรไหมผมยังไม่ตอบ ควรเข้าไปศึกษาไหมผมว่าควร แต่ถ้าฟันธงว่าทำเลย ผมว่ายังไม่ใช่ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา การดูแลให้รอบคอบเป็นสิ่งสำคัญมาก นวัตกรรมมีประโยชน์แต่นวัตกรรมโดยตัวมันเองต้องดูให้รอบคอบทุกกรณี โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวข้องกับคนหมู่มากและการเงิน
ผมไม่ต่อต้านนะ แต่จากประสบการณ์ บริหาร Private Equity มา แบงก์ก็ผ่านมา มาอยู่ภาครัฐถึงเห็นว่า ต้องดูแลในทุกด้าน แล้วจะไปได้อย่างยั่งยืน”

 

ปัจจุบัน เมอร์เซเดส-เบนซ์ มีโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าอยู่ 6 แห่งใน 3 ทวีปทั่วโลก ล่าสุดจับมือพันธมิตรในไทย คือ ธนบุรีประกอบรถยนต์ ร่วมลงทุนกว่า 100 ล้านยูโรเพื่อขยายโรงงานรถยนต์และสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งใหม่ ยกระดับการผลิตในไทย และรองรับความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นในภูมิภาคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำหรับเม็ดเงินดังกล่าวจะใช้เพื่อขยายโรงงานรถยนต์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และสร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่แห่งใหม่ขึ้นในที่ตั้งเดียวกัน เพื่อเป็นหลักประกันว่าโรงงานในไทยจะมีเทคโนโลยีอันล้ำหน้าไว้พร้อมสำหรับรถยนต์ที่มีระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าและรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เพียงอย่างเดียว (Battery Electric Vehicle – BEV) ที่ผลิตขึ้นที่นี่

 

 

มาร์คุส เชฟเฟอร์ กรรมการบริหาร รถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ ฝ่ายการผลิตและการจัดการห่วงโซ่อุปทาน เปิดเผยถึงโครงการเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าในเครือข่ายการผลิต ทั่วโลกของเมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์ ที่มีความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพในการผลิตสูง และกำลังก้าวรุดหน้าด้วยดีและรวดเร็วอย่างยิ่ง โดยหนึ่งในแผนงานตามกลยุทธ์ คือ การร่วมมือกับพันธมิตรอย่างธนบุรีประกอบรถยนต์ เพื่อเตรียมพร้อมสู่อนาคตแห่งการสัญจรในประเทศไทยที่จะขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า

ซึ่งจากแนวคิดการผลิตแบตเตอรี่ของเราที่มีมาตรฐานเดียวกันและสามารถขยายต่อเติมได้ ทำให้เราเปิดสายการผลิตได้อย่างรวดเร็วในภูมิภาคใดๆ ก็ตามด้วยขนาดโรงงานที่เหมาะสม เช่นเดียวกับโรงงานแบตเตอรี่ในประเทศไทยจะเสริมเครือข่ายการผลิตแบตเตอรี่ทั่วโลกของเราให้มีโรงงานเพิ่มขึ้นเป็น 6 แห่งใน 3 ทวีป

รวมถึงข้อดีของการผลิตที่เป็นมาตรฐานเดียวกันและแนวคิดในการออกแบบโรงงาน แผนงานในการผลิตแบตเตอรี่ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์จึงสามารถปรับขยายได้เพื่อให้เหมาะสมกับการสร้างมูลค่าเพิ่มในระยะต่างๆ และเพื่อให้การดำเนินการตามแผนการผลิตเป็นไปด้วยความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับภาวะตลาดทั่วโลกภายในปี 2565

 

 

ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “เมอร์เซเดส-เบนซ์ ถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลก และเป็นผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของประเทศไทยด้วยผลิตภัณฑ์และบริการมาตรฐานระดับโลก ก่อให้เกิดการลงทุน สร้างรายได้ให้กับประเทศ และนับเป็นหนึ่งในพลังขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศให้เติบโตก้าวหน้าทั้งด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และสังคม

โดยขณะนี้ ทางบริษัทฯ ได้มีการขอขยายการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน (Plug-in Hybrid Electric Vehicles: PHEV) เป็นการตอบรับต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย ที่มีเป้าหมายที่จะก้าวไปสู่การพัฒนายานยนต์แห่งอนาคตและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องที่ใช้พลังงานไฟฟ้า แสดงให้เห็นว่า เมอร์เซเดส-เบนซ์ จากประเทศเยอรมนี ได้เล็งเห็นความสำคัญของประเทศไทย ในการเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในภูมิภาค

อีกทั้งยังเป็นการยกระดับความสามารถคนไทยด้วยการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีที่เหนือกว่าการผลิตชิ้นส่วนทั่วไป ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศก้าวหน้าเป็นอย่างมาก และสามารถสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

บริษัทฯ จะผสานระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าเข้ากับรถยนต์ของเมอร์เซเดส-เบนซ์อย่างทั่วถึง เพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกที่เป็นรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า อย่างน้อย 1 รุ่นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่รถยนต์จากแบรนด์สมาร์ทไปจนถึงรถยนต์อเนกประสงค์ขนาดใหญ่ รวมถึงบริษัทฯ กำลังวางแผนจะนำเสนอรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า  50 รุ่นย่อยอีกด้วย ในขณะเดียวกันเมอร์เซเดส-เบนซ์ยังสนับสนุนการพัฒนารถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดและการแจ้งเกิดของระบบ 48 โวลท์ พร้อมด้วยรถยนต์รุ่นแรกในตระกูล EQ ซึ่งใช้ชื่อว่า EQC ที่จะเข้าสู่สายการผลิตในปี 2562 ที่เบรเมน ประเทศเยอรมนี ทั้งนี้ EQ เป็นแบรนด์เทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของกลยุทธ์ CASE ซึ่งประกอบด้วยเสาหลักเชิงกลยุทธ์ที่ผสานกัน ได้แก่ การเชื่อมต่อ (Connected), การขับเคลื่อนด้วยตัวเอง (Autonomous), ความยืดหยุ่นในการใช้งาน (Shared & Services) และระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (Electric)

 

 

 

 

โรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งที่ 6 ของเมอร์เซเดส-เบนซ์

โรงงานแบตเตอรี่ในประเทศไทย จะเป็นหนึ่งในเครือข่ายการผลิตแบตเตอรี่ทั่วโลกของเมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์ โดยจะผลิตเพื่อรองรับความต้องการในประเทศและเพื่อส่งออก ซึ่งยังมีโรงงานทั้งในเยอรมนี สหรัฐอเมริกา และจีนอีกด้วย เครือข่ายการผลิตแบตเตอรี่นี้จะตอบสนองความต้องการในตลาดอย่างยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับการผลิตรถยนต์

ซึ่งกลยุทธ์นี้จะทำให้มีเทคโนโลยีแบตเตอรี่ อันทันสมัยจากศูนย์กลางการผลิตในแต่ละพื้นที่ ทั้งยุโรป จีน และสหรัฐอเมริกาไว้พร้อมรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นตามแผนงานรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัท ทั้งนี้ โรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทยมีแผนจะเริ่มเดินสายการผลิตภายในปี 2562

 

มั่นใจศักยภาพตลาดรถยนต์นั่งในประเทศไทย

การร่วมลงทุนในครั้งนี้ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์ และธนบุรีประกอบรถยนต์ซึ่งเป็นพันธมิตรในประเทศไทย ส่วนหนึ่งเพื่อการขยายโรงงานผลิตรถยนต์ที่มีอยู่ ซึ่งจะส่งผลให้ศักยภาพการผลิตรถยนต์ของเมอร์เซเดส-เบนซ์เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญด้วยจำนวนรุ่นที่มากขึ้น

ไมเคิล เกรเว่ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว การลงทุนในครั้งนี้สะท้อนความเชื่อมั่นที่เรามีต่อศักยภาพของตลาดรถยนต์นั่งในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่เราทำตลาดอยู่ในปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างสูงจากกลุ่มลูกค้า และเราจะยังคงเดินหน้าเพิ่มความหลากหลายของรถยนต์ที่ผลิตภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2560 มียอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศไทยสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ด้วยจำนวนมากกว่า 14,000 คัน ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตสูงถึงสองหลัก โดยรุ่นที่มียอดจำหน่ายสูงสุดประกอบด้วยรถยนต์ซีดานตระกูล E-Class, C-Class และ CLA ในปัจจุบันเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ทำตลาดรถยนต์ที่ประกอบภายในประเทศรวมทั้งหมด 9 รุ่น

โดยรุ่นที่เป็นรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดได้รับความนิยมอย่างมาก ทั้ง C-Class, S-Class และ GLE ในเวอร์ชั่นปลั๊กอินไฮบริดที่เปิดตัวในช่วงต้นปี 2559 และล่าสุดคือรุ่น E 350e Avantgarde, E 350e Exclusive และ E 350e AMG Dynamic นอกจากนี้ยังครองตำแหน่งผู้นำตลาดรถยนต์ระดับพรีเมี่ยมในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องมาตลอด 17 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2544

ปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ที่ส่งผลต่อความสำเร็จอย่างสูงในประเทศไทยคือความร่วมมืออันใกล้ชิดระหว่างเมอร์เซเดส-เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง  ประเทศไทย และ ธนบุรีประกอบรถยนต์ ในฐานะผู้ดำเนินงานด้านการผลิตในประเทศไทย โดยที่ในปี 2560 เพียงปีเดียว ธนบุรีประกอบรถยนต์ สามารถผลิตได้มากกว่า 12,000 คัน ในปัจจุบันโรงงานแห่งนี้มีพนักงานกว่า 1,000 คน และคาดการณ์ว่าเมื่อโครงการลงทุนครั้งนี้เสร็จสมบูรณ์ โรงงานแห่งนี้จะสร้างงานเพิ่มขึ้นอีกกว่า 300 ตำแหน่ง โดยในจำนวนนี้จะเป็นการจ้างงานในส่วนของการผลิตแบตเตอรี่เกือบ 100 ตำแหน่ง

 

 

อันเดรอัส เลทเนอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึง การขยายโรงงานและการผลิตแบตเตอรี่ที่จะเริ่มขึ้นในอนาคต ณ โรงงานในจังหวัดสมุทรปราการ นับเป็นการกระชับความร่วมมือกับธนบุรีประกอบรถยนต์ให้แข็งแกร่งขึ้นอีกขั้น และยังเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับรูปแบบการสัญจรในอนาคต

นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสสำคัญสำหรับพนักงานของเราที่จะได้รับการฝึกอบรมใช้ทักษะความรู้ขั้นสูง เตรียมพร้อมสำหรับเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า ที่เรามุ่งมั่นที่จะเพิ่มบทบาทในภูมิภาคและสานต่อความร่วมมือกับพันธมิตรในประเทศไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ความร่วมมือทั้งกับธนบุรีประกอบรถยนต์ และกับหน่วยงานภาครัฐของไทยล้วนเป็นไปอย่างดีเยี่ยม โดยได้รับการสนับสนุนให้การดำเนินการผลิตต่อไปของเราประสบความสำเร็จ และให้มั่นใจได้ว่ารถยนต์ทุกคันที่ผลิตในเครือข่าย การผลิตทั่วโลกของเมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์มีคุณภาพสูงตามมาตรฐานของแบรนด์ไม่ว่าจะผลิตจากฐานการผลิตแห่งใดก็ตาม

โดยในช่วงของการเตรียมการเพื่อเริ่มผลิตรถยนต์รุ่นใหม่หรือใช้เทคโนโลยีใหม่ พนักงานในประเทศไทยจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากทีมงานที่มีประสบการณ์สูงเพื่อให้พวกเขาคุ้นเคยกับกระบวนการผลิตใหม่ๆ เหล่านั้นด้วย

 

 

วีระชัย เชาวน์ชาญกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด กล่าวว่า การที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย ได้มอบความไว้วางใจให้ธนบุรีประกอบรถยนต์ เป็นผู้ผลิตอย่างเป็นทางการในการตั้งโรงงานแห่งใหม่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการผลิตแบตเตอรี่ทั่วโลกของเมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์  โดยโรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งใหม่นี้จะตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 30 ไร่ ใกล้กับโรงงานประกอบรถยนต์ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ในปัจจุบัน โดยมีแผนจะเริ่มเดินสายการผลิตในช่วงต้นปี 2562  ซึ่งเราตระหนักเป็นอย่างดีว่าความรู้ความสามารถของพนักงานฝ่ายผลิตมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเครือข่ายการผลิตทั่วโลกของเมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์  ทั้งนี้ ด้วยคำยืนยันของเราที่ว่า “เราเชื่อมั่นในตัวบุคลากร เครือข่าย และการผลิตที่ใช้ทักษะฝีมือขั้นสูง”

ดังนั้นในช่วงของการเตรียมตัวเปิดสายการผลิต พนักงานในประเทศไทยจะได้รับการสร้างเสริมความรู้ความชำนาญในการผลิตและความรู้ทางเทคนิคสำหรับการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด เพื่อให้มั่นใจได้อย่าเต็มเปี่ยมว่าแบตเตอรี่จะมีคุณภาพได้มาตรฐานทัดเทียมกับ แหล่งผลิตอื่นๆ ทั่วโลก

 

กระทรวงอุตสาหกรรมนำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ และคณะนักลงทุนกว่า 300 ราย ลงพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายและการดำเนินโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง 

Page 4 of 5
X

Right Click

No right click