ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมจัดงานสัมมนาและเจรจาธุรกิจ“ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์พลัสวัน สู่ความเป็นไปได้ทางความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่น” มุ่งส่งเสริมความร่วมมือในธุรกิจอุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ CLM โดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง
ศูนย์ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งมหานครโตเกียวสำนักงานประเทศไทย (Tokyo SME Support Center) ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมจัดงาน The 4th Business Connecting 2019 “ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์พลัสวัน สู่ความเป็นไปได้ทางความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่น” ขึ้นในวันจันทร์ที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ณ ห้องฟูจิ ชั้น ๔ โรงแรมนิกโก้ กรุงเทพฯ วัตถุประสงค์เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญในการสร้างความร่วมมือทางธุรกิจของทั้งสองประเทศ โดยให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการทำธุรกิจในประเทศ CLM เนื่องด้วย supply chain ของอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศดังกล่าวยังขาดความพร้อมด้านเทคโนโลยีและทักษะงานช่าง จึงมีความเหมาะสมที่จะพัฒนาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของทุกประเทศให้มีความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป โดยภายในงานแบ่งออกเป็น ๒ องค์ประกอบหลัก คือ
ช่วงที่ ๑ เป็นสัมมนาสรุปผลการสำรวจโอกาสทางธุรกิจในพื้นที่เศรษฐกิจของประเทศกัมพูชา ลาวและพม่า ภายใต้การบรรยายหัวข้อ “บริษัทไทยและญี่ปุ่นควรร่วมมือกันอย่างไรในการพัฒนาธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของ CLM” โดยบริษัท เอ็นอาร์ไอ คอนซัลติ้งแอนด์โซลูชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด และการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์พลัสวันของบริษัทเด็นโซ่” โดยบริษัท เด็นโซ่ อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชีย จำกัด มาร่วมแชร์ประสบการณ์การทำธุรกิจทั้งในประเทศไทย กัมพูชาและพม่า หลังจากนั้น
ช่วงที่ ๒ เป็นการเปิดเวทีให้กับผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่น ๒๕ บริษัทได้ทำการเจรจาจับคู่ธุรกิจกับผู้เข้าร่วมงานกว่า ๓๐๐ ราย คาดว่าจะก่อให้เกิดการเจรจาธุรกิจระหว่างกันกว่า ๑๐๐ คู่
รายชื่อบริษัทญี่ปุ่นมีดังนี้
a-Sol (Thailand) Co.,Ltd., Fuji Testing Machine (Thailand) Co.,Ltd., Hakko (Thailand) Co.,Ltd., Iguchi Kiko Co.,Ltd., Kamakura Seisakusho Co.,Ltd., Kawamasa Industry Inc., Kyosei Factory (Thailand) Co.,Ltd., Nihon Seikoh Giken Co.,Ltd., Nippon Fusso (Thailand) Co.,Ltd., Seikowave K.K., Social Area Networks Co.,Ltd., Tokuabe (Thailand) Co., Ltd., Tokyo Hardfacing Inc., Unika Co.,Ltd., Yuki Precision Co.,Ltd.
รายชื่อบริษัทสัญชาติไทยมีดังนี้
Almet Thai Limited., CGA Co.,Ltd., I.M.E. Revolution Co.,Ltd., Magna Automotive (Thailand) Co.,Ltd., Menam Stainless Wire Public Co.,Ltd., O.E.I Parts Co.,Ltd., Quality Gauge & Tool Co.,Ltd., Robot System Co.,Ltd., Thairungrueang Foam Co.,Ltd., Thamaruk Auto Parts Co.,Ltd.
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าประเทศไทยและญี่ปุ่นนั้นมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันอย่างแนบแน่นยาวนานในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้า การลงทุนและอุตสาหกรรม จนกล่าวได้ว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ซึ่งเห็นได้จากตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ นักลงทุนชาวญี่ปุ่นยังคงเป็นลำดับที่ ๑ ตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน ปี๒๕๖๒ มีการยื่นขอ BOI กว่า ๕๙,๑๘๗ ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ ๒๔ ของจำนวนโครงการลงทุนต่างชาติทั้งหมด กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างยิ่ง โดยในช่วง ๓ เดือนหลังจากที่ผมเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีได้เดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นถึง ๒ ครั้ง โดยมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม รับฟังความคิดเห็น เพื่อนำมาปรับปรุงนโยบายการส่งเสริมการลงทุนให้ตรงกับความต้องการของนักลงทุนชาวญี่ปุ่น
ซึ่งการจัดสัมมนาในหัวข้อ “Thailand Plus One” ถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ทำให้เล็งเห็นโอกาสทางการค้าและการลงทุน สามารถสร้างความตระหนักให้กับภาคเอกชนทั้งสองฝ่าย เป็นการเน้นย้ำความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่น อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสทางความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านของเรา กระทรวงอุตสาหกรรมและ Tokyo SME Support Center จะช่วยสนับสนุนและผลักดัน การเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศ ในฐานะกระทรวงอุตสาหกรรม ผมขอยืนยันกับนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นที่ลงทุนในประเทศไทยแล้วหรือที่วางแผนจะมาลงทุน ว่าจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี และหากท่านประสบอุปสรรคใดๆ ในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรมยินดีที่จะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่
นายมาซาฮิโกะ โฮซากะ ประธานศูนย์ส่งเสริมฯ ประจำประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่าตลอดระยะเวลาการดำเนินภารกิจกว่า ๕๐ ปี ในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการด้านการบริหารธุรกิจ การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ การเจาะขยายช่องทางตลาด รวมถึงถ่ายทอดการดำเนินธุรกิจสู่รุ่นต่อไปนั้น มีความต้องการขยายตลาดสู่ประเทศไทยซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาเซียนเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่ก่อตั้งสำนักงานประเทศไทยมา ปีนี้ได้เข้าสู่ปีที่ ๕ ซึ่งมีผู้ประกอบการมาใช้บริการขอรับคำปรึกษาด้านกฏหมาย การบัญชี การตลาด ยุทธศาสตร์การบริหารบริษัท ฯลฯ รวมถึงเข้าร่วมสัมมนาภายในและใช้บริการจับคู่ธุรกิจกว่า ๑,๐๐๐ รายทุกปี โดยเฉพาะภายหลังจากการลงนาม MOU ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ก่อเกิดความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนเครือข่ายผ่านการจัดงานร่วมกันกว่า ๑๕ ครั้งในระยะ ๔ ปีที่ผ่านมา อาทิการร่วมออกงานแสดงสินค้าไทยแลนด์อินดัสเตรียลแฟร์ กิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ ณ ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์และการเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมอาหารไทย ตามนโยบายไทยแลนด์ ๔.๐ ผ่านบริการเจรจาจับคู่ธุรกิจ งานแลกเปลี่ยนเครือข่ายระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่น เป็นต้น
โดยงานสัมมนาในวันนี้ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ถูกจัดขึ้นทุกปี เพื่อสร้างเวทีให้กับผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่นให้เกิดความร่วมมือและแลกเปลี่ยน สานสัมพันธ์ทางธุรกิจและการค้าซึ่งกันและกัน ซึ่งหัวข้อที่จัดขึ้นในปีนี้ ได้มุ้งเน้นหาความเป็นไปได้ทางความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่นในประเทศ CLM เนื่องด้วยประเทศไทยซึ่งล้อมรอบไปด้วยกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจกำลังพัฒนาอย่างโดดเด่นกำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในฐานะฐานและศูนย์กลางของผู้ผลิตสินค้า ทำให้ทางศูนย์ส่งเสริมฯ เล็งเห็นถึงความเป็นไปได้และประสิทธิภาพของความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจในแต่ละประเทศให้เติบโตยิ่งขึ้น นอกจากนี้ในปี ๒๕๖๓ กรุงโตเกียวในฐานะเจ้าภาพการจัดงานแข่งขันกีฬาโอลิปิค ยังได้รับความสนใจจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก จึงถือเป็นโอกาสอันดีในการสร้างเวทีการแลกเปลี่ยนทางธุรกิจของทั้งสองประเทศผ่านบริการของศูนย์ส่งเสริมฯ