September 11, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 6847

P2P ไฟฟ้าผ่านบล็อกเชนครั้งแรกในอาเซียน

August 22, 2018 7434

 

แสนสิริ จับมือ บีซีพีจี  ประกาศเริ่มใช้ระบบแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่แบบเพียร์ทูเพียร์ (Peer-to-Peer) ด้วยการทำธุรกรรมโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ในโครงการที่พักอาศัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ที่โครงการทาวน์สุขุมวิท 77 หรือ T77 ก่อนจะเริ่มมีการซื้อขายอย่างเป็นทางการภายในเดือนกันยายนปีนี้

เบื้องหลังข้อตกลงครั้งนี้ อุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เล่าว่า หนึ่งในเป้าหมายของแสนสิริคือการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในทุกโครงการ ประกอบกับในปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคากำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย  จึงได้ริเริ่มนำระบบการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ไปติดตั้งในหลาย ๆ โครงการที่กำลังก่อสร้างอยู่ การจับมือกับบีซีพีจีในฐานะพันธมิตรระดับกลยุทธ์ (Strategic partnership) ในครั้งนี้นับเป็นการผลักดันวาระ Green Sustainable Living ของแสนสิริไปอีกระดับ ด้วยการวางระบบพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แบบเพียร์ทูเพียร์ (Peer-to-Peer) โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในที่พักอาศัย

โดยนับเป็นครั้งแรกของในการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานสำหรับโครงการที่พักอาศัยทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นการแลกเปลี่ยนพลังงานผ่านระบบบล็อคเชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

นอกจากนี้โครงการนี้ยังเป็นการเปลี่ยนผู้บริโภค (Consumer) สู่ ผู้ผลิตและผู้บริโภคในเวลาเดียวกัน (Prosumer) ด้วยการสร้างระบบแลกเปลี่ยนพลังงานโดยก้าวข้ามข้อจำกัดเดิมที่มี

โดยประโยชน์ที่จะเกิดอย่างชัดเจนแก่ลูกบ้านแสนสิริที่อาศัยในโครงการที่มีการวางระบบนี้คือสามารถประหยัดค่าไฟฟ้า โดยไฟฟ้าสะอาดทุกหน่วยที่ผลิตได้จะช่วยประหยัดค่าไฟต่อหน่วยได้ถึง 15% และยังสร้างความภูมิใจให้ลูกบ้านจากการมีส่วนร่วมในดูแลสิ่งแวดล้อมโดยการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ จากกำลังการผลิตพลังงานสะอาดถึง 20% ของปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ใช้ทั้งหมดในโครงการ T77 ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 530 ตันต่อปีโดยประมาณ หรือเท่ากับการปลูกป่า จำนวน 400 ไร่

โครงการทาวน์สุขุมวิท 77 หรือ T77ประกอบด้วยที่พักอาศัยหลากหลายรูปแบบและไลฟ์สไตล์ฮับบนพื้นที่กว่า 50 ไร่ในใจกลางสุขุมวิท 77 โดยระบบพลังงานเซลแสงอาทิตย์บนหลังคามีกำลังการผลิตติดตั้ง 635 กิโลวัตต์ แบ่งสัดส่วนการใช้เป็น 54 กิโลวัตต์สำหรับฮาบิโตะมอลล์ ซึ่งเป็นไลฟ์สไตล์คอมมูนิตี้มอลล์ภายในโครงการ 413 กิโลวัตต์สำหรับโรงเรียนนานาชาติบางกอกเพรพ และ 168 กิโลวัตต์ สำหรับพาร์ค คอร์ท คอนโดมิเนียม รวมถึงโรงพยาบาลฟันที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกในการแลกเปลี่ยนพลังงานภายในโครงการ

นอกจากนั้น ยังจะติดตั้งระบบนี้ในโรงงานผลิตแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปของแสนสิริด้วยกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 150 กิโลวัตต์ โดยภายในปี 2564 แสนสิริมีแผนที่ติดตั้งระบบแลกเปลี่ยนซื้อขายพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ผ่านอินเทอร์เน็ตในโครงการใหม่ ๆ กว่า 31 โครงการ และมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวม 2 เมกะวัตต์

บัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงโครงการความร่วมมือนี้ว่า ร่วมกับพาวเวอร์ เล็ดเจอร์ ผู้บุกเบิกแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนพลังงานทดแทนระดับโลกจากออสเตรเลีย และเป็นก้าวแรกของบีซีพีจีในโครงการที่พักอาศัยของประเทศไทย และเป็นการเปิดใช้แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนซื้อขายพลังงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  

ข้อดีของการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้คือช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนซื้อขายพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดแบบเรียลไทม์ผ่านเครือข่ายแบบเพียร์ทูเพียร์ (Peer-to-Peer)  ผ่านแพลตฟอร์มที่มีความปลอดภัย รวดเร็ว โปร่งใส และปราศจากข้อผิดพลาดในการทำธุรกรรมโดยไม่ต้องมีคนกลาง ด้วยราคาที่ถูกลงและช่วยลดมลภาวะด้วยการใช้พลังงานสะอาด ตามแนวคิด Low Cost, Low Carbon

ในเบื้องต้น ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์รูฟท็อปในแต่ละอาคาร จะนำไปใช้ภายในอาคาร เพื่อให้แต่ละอาคารสามารถใช้ไฟฟ้าในต้นทุนที่ต่ำกว่าไฟฟ้าที่เคยซื้ออยู่ ในกรณีที่มีไฟฟ้าส่วนเกินจากการผลิตใช้ภายในอาคาร แต่ละอาคารสามารถนำไฟฟ้านั้นแลกเปลี่ยนกันภายในแพลตฟอร์ม โดยภายในหนึ่งเสี้ยววินาทีนั้น สามารถเกิดสถานการณ์การใช้และการผลิตไฟฟ้าได้หลายรูปแบบ ทั้งอาคารก็จะผลิตได้เกินความต้องการ หรืออาคารที่ผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ  สำหรับในกรณีที่ไฟฟ้าที่ผลิตได้มีมากกว่าความต้องการที่ใช้เอง ระบบก็จะนำไฟส่วนเกินขายให้ผู้ใช้รายอื่นด้วยระบบ P2P  หากยังมีเหลืออีก ก็จะขายให้ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) เพื่อเก็บไว้ขายในเวลาอื่นๆ และหากระบบกักเก็บเต็ม ไฟฟ้าก็จะถูกส่งขายเข้าระบบของกฟน.  ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงกว่าที่สามารถผลิตได้ ระบบก็จะทำการซื้อจากระบบ P2P  จากระบบกักเก็บพลังงาน และจากกฟน. ตามลำดับ

การดำเนินการทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นได้โดยเทคโนโลยีบล็อกเชนที่นำมาใช้เพื่อประมวลผลถึงความเหมาะสมในการกำหนดผู้ซื้อและผู้ขายในความถี่ระดับเสี้ยววินาที โดยสามารถใช้แอพพลิเคชั่นของบีซีพีจี ได้ทั้งบนคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ

โครงการนำร่องแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้าที่ T77 นี้ ถือเป็นหนึ่งในโครงการขนาดใหญ่ที่สุดของโลกทั้งยังเป็นโครงการอันดับแรก ๆ ของโลก อีกด้วย ในเบื้องต้นคาดว่าโครงการนำร่องนี้จะสามารถผลิตไฟฟ้าให้กับ Community นี้ได้ถึงร้อยละ 20 ของความต้องการใช้ไฟฟ้าโดยรวม ซึ่งนอกจากจะเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้ด้วยตนเอง และสามารถแลกเปลี่ยนซื้อขายได้ด้วยระบบ P2P แล้ว การติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อปยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับแต่ละอาคารหรือแต่ละบ้าน เพิ่มโอกาสในการจัดหาสินเชื่ออีกด้วย

 

ทางด้านเดวิด มาร์ติน กรรมการผู้จัดการและหนึ่งในผู้ก่อตั้งพาวเวอร์ เล็ดเจอร์ ผู้พัฒนาเทคโนโลยีการแลกเปลี่ยนและซื้อขายพลังงานไฟฟ้าในระบบบล็อกเชนเสริมว่า  การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในระบบการแลกเปลี่ยนและซื้อขายพลังงานจะช่วยสร้างแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนและซื้อขายแบบอัตโนมัติสำหรับทั้งอาคารที่พักอาศัยและอาคารเพื่อการพาณิชย์ในการขายพลังงานที่เหลือใช้ให้กับลูกค้าที่สามารถเลือกได้ในราคาที่พอใจ การร่วมมือกับแสนสิริและบีซีพีจีนับเป็นก้าวแรกของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ส่งเสริมให้เกิดการรวมพลังกันระหว่างผู้บริโภค ชุมชน และผู้ผลิตพลังงานเพื่อร่วมกันสร้างอนาคตที่ยั่งยืนทางด้านพลังงาน

สำหรับการแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้าระหว่างอาคารนั้น ทุกฝ่ายสามารถเป็นได้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ผ่านการตกลงกันไว้ล่วงหน้าด้วย smart contract  โดยผู้ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าจะซื้อไฟฟ้าจากผู้ที่ผลิตได้เหลือใช้ด้วยราคาที่ต่ำที่สุด ส่วนผู้ที่ผลิตได้เกินจากความต้องการก็จะขายให้กับผู้ซื้อที่ให้ราคาสูงที่สุด ทั้งนี้ ในการทำธุรกรรมจะใช้ Sparkz Token ซึ่งเปรียบเสมือนกับคูปองในศูนย์อาหาร และเป็นเพียงสัญลักษณ์ในการแลกเปลี่ยนไฟซื้อขายในระบบเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการ cryptocurrency และไม่มีผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนใด ๆ โดยแพลตฟอร์มที่ใช้สามารถแยกระดับการเข้าถึงและการแลกเปลี่ยน  เป็น 2 ขั้นตอน คือระหว่างผู้บริโภคกับบีซีพีจี และระหว่างบีซีพีจีกับพาวเวอร์ เล็ดเจอร์เพื่อปิดความเสี่ยงต่อผู้บริโภคในเรื่อง cryptocurrency

พาวเวอร์เล็ดเจอร์เป็นบริษัทซอฟต์แวร์ผู้พัฒนาโซลูชั่นสำหรับอุตสาหกรรมพลังงาน โดยมีแพล็ตฟอร์มที่ใช้สำหรับการบริหารจัดการพลังงานโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน เริ่มต้นจากการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยระบบ P2P Energy Trading ด้วยแพล็ตฟอร์มที่มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และดำเนินขั้นตอนการแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายและชำระเงินแบบอัตโนมัติ สำหรับใช้ในอาคารที่พักอาศัยและอาคารเพื่อการพาณิชย์ในการจำหน่ายพลังงานเหลือใช้แก่ลูกค้าที่ตนสามารถเลือกได้ ในราคาที่กำหนดเองได้ นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น การซื้อขายไฟฟ้า ผ่านระบบไมโครกริด การซื้อขายคาร์บอน การจัดการรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ก่อนหน้านี้พาวเวอร์ เล็ดเจอร์ มีความร่วมมือกับกับเวสเทิร์นพาวเวอร์และมหาวิทยาลัยเคอร์ตินในออสเตรเลีย และการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์นในชิคาโก สหรัฐอเมริกา

 

X

Right Click

No right click