บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในงาน Thailand – U.S. Trade and Investment Conference 2024: Building on a Longstanding Partnership ที่จัดขึ้นเพื่อสานความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนจากประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา แลกเปลี่ยนข้อมูล สร้างเครือข่ายสัมพันธ์และการลงทุน พร้อมหารือถึงโอกาส รวมถึงความท้าทายในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยนายชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในฐานะตัวแทนบริษัทพลังงานชั้นนำของโลก ได้ร่วมชูกลยุทธ์ขับเคลื่อนพลังงาน ที่สะอาดขึ้น ปลอดภัย และเชื่อถือได้ สู่ความมั่นคงทางพลังงานของไทยในอนาคต โดยในงาน ได้รับเกียรติจากผู้นำของหลากหลายอุตสาหกรรม รวมถึงตัวแทนภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมงาน ณ บีดีเอ็มเอส คอนเน็ค เซ็นเตอร์ โรงแรมเมอเวนพิค บีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท
งาน Thailand – U.S. Trade and Investment Conference 2024: Building on a Longstanding Partnership ประกอบไปด้วยเวทีเสวนาในประเด็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อหารือแนวทางเสริมศักยภาพของประเทศในก้าวถัดไป ซึ่งนายชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นบนเวที Powering Progress: Securing Thailand’s Position in the New Energy Era ขับเคลื่อนความก้าวหน้า เปิดเส้นทางสู่ยุคพลังงานแห่งอนาคตให้กับประเทศไทย ร่วมกับผู้บริหารจาก บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท Cheniere Energy, Inc.
“เชฟรอนเชื่อว่าพลังงานแห่งอนาคต คือการสร้างความสมดุลระหว่างการจัดหาพลังงานที่มั่นคงในราคาที่เข้าถึงได้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ความต้องการใช้พลังงานจะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย จึงทำให้มีความต้องการใช้พลังงานจากแหล่งที่หลากหลายมากขึ้น และความต้องการใช้พลังงานฟอสซิล หรือ Traditional Energy จึงจะยังคงความสำคัญต่อไปอีกหลายทศวรรษ เชฟรอนในฐานะผู้นำธุรกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจึงจำเป็นต้องมีการปรับให้กระบวนการผลิตสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยหนึ่งในเทคโนโลยีที่เชฟรอนมองว่าจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ คือเทคโนโลยี CCS เพื่อดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เชฟรอนเองมีประสบการณ์ในการทำ CCS จากทั่วโลก อาทิ โครงการกอร์กอน ในประเทศออสเตรเลีย และโครงการเควสท์ ในแคนาดา และเรายังได้สนับสนุนการพัฒนาและนำ CCS มาใช้ในอ่าวไทย อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการลงทุนในระยะยาว รวมถึงการสร้างนโยบายและกรอบกฎหมายที่ชัดเจน จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้ไทยสามารถนำเทคโนโลยี CCS เข้ามาใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม” นายชาทิตย์ กล่าว
ทั้งนี้ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ตั้งเป้าหมายสู่ Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) ในขอบเขตที่ 1 และขอบเขตที่ 2 ของธุรกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในเครือบริษัทเชฟรอน คอร์ปอเรชั่น ทั่วโลก ตอกย้ำการให้ความสำคัญกับกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคสังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อสร้างความมั่นคงของพลังงานไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน