November 08, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 6847

สิงห์เปิดตัว BevChain Ligistics รุกซัพพลายเชน

September 07, 2018 5202

 หากสังเกตตามร้านค้าปลีกที่มีอยู่ทั่วประเทศไทยทั้งในเมืองและชนบท เราจะพบว่ามีสินค้าของบริษัทไม่กี่แห่งที่สามารถรุกเข้าไปวางอยู่ทั่วประเทศอย่างเห็นได้ชัด หนึ่งในนั้นคือสินค้าของบุญรอดบริวเวอรี่ จากประสบการณ์ด้านการกระจายสินค้าที่ทำมากว่า 80 ปีของบุญรอด รวมถึงการมีศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ระดับอาเซียนเป็นของตนเอง เมื่อคิดจะรุกธุรกิจโลจิสติกส์สิงห์จึงเริ่มด้วยการผนึกกำลังกับบริษัทลินฟ้อกซ์อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป พีทีวาย ลิมิเต็ด บริษัทขนส่งเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแปซิฟิก และบริษัทขนส่งทางถนนอันดับ 2 จากประเทศออสเตรเลีย ร่วมกันเปิดธุรกิจให้บริการทางด้านซัพพลายเชนในชื่อ บริษัท บีอาร์เอส โลจิสติคส์ จำกัด ภายใต้แบรนด์ BevChain Logistics ซึ่งเป็นแบรนด์โลจิสติคส์ที่ประสบความสำเร็จของลินฟ้อกซ์

 ปิติ ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีอาร์เอฟ โลจิสติคส์ จำกัด  เปิดเผยว่า หลังจากพูดคุยกันประมาณ 8 เดือนก็ได้ข้อสรุปการร่วมมือกันระหว่าง 2 บริษัท โดยแต่ละบริษัทจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่เพื่อใช้ในการร่วมทุนครั้งนี้ประกอบด้วย บริษ้ทบุญรอด ซัพพลายเชน จำกัด และบริษัท ลินฟ้อกซ์ โฮลดิ้งส์ 2018(ประเทศไทย) จำกัด ร่วมลงทุนฝั่งละ 50 เปอร์เซ็นต์ โดยมีทุนจดทะเบียนเบื้องต้น 250 ล้านบาท

ปิติ กล่าวว่า การร่วมทุนกับ บริษัท ลินฟ้อกซ์ โฮลดิ้งส์ 2018 (ประเทศไทย) เกิดจากความต้องการสร้างเครือข่ายการขนส่งที่ทันต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและภูมิภาค ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ ด้วยการผสานกับความรู้ความเชี่ยวชาญของทั้ง 2 บริษัท  โดยบุญรอดฯ จะใช้จุดแข็งและศักยภาพที่มีตลอด 85 ปีในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะเครือข่ายการค้า ตัวแทนจำหน่าย ซึ่งหมายถึงการที่บริษัทสามารถส่งสินค้าและบริการเจาะถึงตั้งแต่ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่(โมเดิร์นเทรด) ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ระบบเอเย่นต์ตัวแทนจำหน่ายในทุกๆ จังหวัด ลงลึกถึงระดับอำเภอมากกว่า 200 ราย ไปจนถึงร้านค้าย่อยทั่วทั้งประเทศ  เมื่อผสานกับความเชี่ยวชาญทางด้านโลจิสติคส์ของ BevChain Logistics เชื่อว่าบริษัทสามารถนำเสนอโซลูชั่นปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของลูกค้า โครงสร้างการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยลดต้นทุน เพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาด สร้างการเติบโตของธุรกิจในอนาคตร่วมกับลูกค้า ช่วยเพิ่มศักยภาพธุรกิจการค้า เพิ่มโอกาสในการทำตลาดเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายปลายทางหรือ Last mile ได้มากยิ่งขึ้น

ปิติ ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีอาร์เอฟ โลจิสติคส์ จำกัด และ ปีเตอร์ ฟ้อกซ์ ประธานบริษัท ลินฟ้อกซ์อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป พีทีวาย ลิมิเต็ด

ในขณะที่จุดแข็งของลินฟ้อกซ์ คือ ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการสินค้าและการขนส่ง ถือเป็นบริษัทให้บริการด้านโลจิสติคส์เอกชนที่ใหญ่ที่สุดในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค มีธุรกิจครอบคลุมตลาดใน 12 ประเทศ มีคลังสินค้ากว่า 200 แห่ง มีพนักงาน 24,000 คน และมีการให้บริการส่งสินค้าไปยังตลาดทั่วโลก ครอบคลุมหลากหลายเซ็กเตอร์ เช่น สินค้าอุปโภค-บริโภค ธุรกิจค้าปลีก อุตสาหกรรมเหมืองแร่ และอุตสาหกรรมปิโตรเคมีฯ โดยมีมูลค่ารวมกว่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนในประเทศไทยนั้นลินฟ้อกซ์ให้บริการด้านขนส่งสินค้ามานานถึง 25 ปี มีความเข้าใจถึงความต้องการของตลาดในประเทศไทยเป็นอย่างดี

 BevChain Logistics ในประเทศไทย จะเน้นให้บริการที่เป็นมาตรฐานเดียวกับในประเทศออสเตรเลีย ได้แก่ การให้บริการทางด้านการบริหารจัดการคลังสินค้า การให้บริการทางด้านจัดส่งสินค้า แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปสำหรับ BevChain Logistics ในประเทศไทย คือ การเจาะกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะโฟกัสกลุ่มลูกค้าที่เป็นธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ขนาดปานกลางถึงขนาดย่อม และลูกค้ากลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มต่างๆ ที่ต้องการป้อนสินค้าและบริการถึงลูกค้าเป้าหมายปลายทาง

ปิติเสริมว่า ในช่วงแรกจะใช้บริษัทใหม่นี้ดูแลสินค้าในกลุ่มบุญรอดทั้งด้านเครื่องดื่มและอาหาร ขณะเดียวกันก็เปิดรับลูกค้าทุกอุตสาหกรรม ทุกขนาดไปพร้อมกัน โดยมองว่า จะช่วยลดต้นทุนด้านซัพพลายเชนให้กับผู้ใช้บริการและเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งมอบสินค้ามากขึ้น นอกจากนี้การที่บุญรอดมีการลงทุนด้านดิจิทัลที่ตนดูแลอยู่ก็สามารถนำมาช่วยเสริมในด้านการวิเคราะห์ข้อมูลให้กับลูกค้าได้อีกด้วย ขณะที่ความเชี่ยวชาญจากลินฟ้อกซ์ก็จะทำให้มีระบบขนส่งที่ปลอดภัยติดตามได้ เป็นการขยายเครือข่าย จากการที่เริ่มใช้งานบริการมาประมาณ 1 ปี ช่วยให้บุญรอดประหยัดเรื่องการขนส่งสินค้าไปได้ประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์เป็นตัวอย่างตัวเลขที่ปิติเปิดเผยให้ฟัง

ทั้งนี้เขาวางเป้าหมายว่า ภายใน 3 ปี BevChain Logistics  จะเจาะตลาดระดับภูมิภาคอาเซียน รองรับการเติบโตของตลาดโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอีกทั้งยังเป็นตลาดสำคัญของสินค้าและบริการจากประเทศไทย เมื่อแบรนด์ต่างๆเข้าไปขยายตลาด ทำให้ต้องการบริการด้านโลจิสติกส์ตามไปด้วย และบริษัทพร้อมตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกอุตสาหรรม ทุกขนาด ทั้งบริษัทเล็ก กลาง ใหญ่ เพื่อเติบโตไปด้วยกัน ปิติให้ตัวเลขประมาณการว่าในปีนี้บริษัทใหม่น่าจะมีรายได้ประมาณ 2,500 ล้านบาท โดยเป้าหมายใน 3 ปีวางไว้ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาท

 ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการเปิดตัวด้วยการทำ B2B ก่อนแต่มีแนวโน้มว่าแผนต่อไปที่จะตามมาคือการทำขนส่งแบบ B2C ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไปว่า การดึงจุดแข็งของ 2 องค์กรใหญ่ใน 2 ประเทศจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวงการโลจิสติคส์ไทยได้ในระดับใด

ปัจจุบันภาพรวมธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศไทย ธุรกิจโลจิสติกส์รวมปี 2018 (215,000 ล้านบาท) แบ่งเป็นธุรกิจขนส่งสินค้าทางบกในปี 2018 มีมูลค่า 145,100 – 147,300 ล้านบาท  ธุรกิจคลังสินค้า ปี 2561 มูลค่า 75,500 – 76,700 ล้านบาท

ตลาดขนส่งสินค้าทางบกเติบโต +5.3-7% PY(137,700 ล้านบาท) คลังสินค้า + 5.3 – 7% PY (71,700 ล้านบาท) ด้วยปัจจัยจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ การลงทุนของภาครัฐและเอกชน การขยายตัวของ E-commerce ปัจจัยการปรับรูปแบบจาก Offline platform to Online platform ทำให้มีความต้องการคลังสินค้าพรี่เมี่ยมมากขึ้น

X

Right Click

No right click