November 22, 2024

ทีเอ็มบีธนชาต มีกำไรสุทธิ 2,359 ล้านบาท ในไตรมาส 3 ปี 2564 เพิ่มขึ้น 46% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปีก่อนหน้า

October 21, 2021 1239

เนื่องจากได้ตั้งสำรองฯ ล่วงหน้าไปแล้วในไตรมาส 3 ปีก่อน ช่วงที่เหลือของปียังเน้นดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบ คงการตั้งสำรองฯ ในระดับสูง เพื่อเสริมสถานะทางการเงินให้แข็งแกร่งในทุกด้าน

ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) แจ้งผลประกอบการไตรมาส 3 และรอบ 9 เดือน ปี 2564 โดยธนาคารมีกำไรสุทธิ 2,359 ล้านบาท ในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น 46% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นผลจากนโยบายการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าที่ได้ทำในปีที่แล้ว ซึ่งธนาคารได้ตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญไปในไตรมาส 3 ปี 2563 เพื่อเตรียมรับมือกับปี 2564 โดยแม้ว่าในปีนี้ธนาคารจะยังคงตั้งสำรองฯ ในระดับสูงกว่าปกติ แต่ก็ยังลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จึงทำให้กำไรสุทธิปรับตัวดีขึ้น สำหรับเป้าหมายทางการเงินด้านอื่น ๆ ยังคงทำได้ตามแผน ไม่ว่าจะเป็นด้านการรวมกิจการ การบริหารจัดการค่าใช้จ่าย และการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ 

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) เปิดเผยว่า “ไตรมาส 3 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเผชิญกับความท้าทายมากขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อและการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างจนนำไปสู่การประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ยังคงเห็นแรงกดดันต่อด้านรายได้อย่างต่อเนื่อง ในสถานการณ์เช่นนี้ การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาเรายังคงทำได้ดี ถึงแม้จะมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรวมกิจการ (Integration) ก็ตาม แต่ด้วยการรักษาวินัยด้านค่าใช้จ่าย ประกอบกับการรับรู้ผลประโยชน์ด้านต้นทุนจากการรวมกิจการได้ตามแผน จึงช่วยให้ค่าใช้จ่ายไม่เพิ่มขึ้น สวนทางกับรายได้ที่ชะลอตัว โดยในไตรมาส 3 ปี 2564 ธนาคารมีรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 15,663 ล้านบาท ลดลง 3.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 7,268 ล้านบาท ลดลงเช่นกันที่ 2.2%

สำหรับค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองฯ อยู่ที่ 5,527 ล้านบาท ยังคงเป็นระดับที่สูงกว่าช่วงเศรษฐกิจปกติ แต่ลดลง 19.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2563 ที่ธนาคารได้วางแผนตั้งสำรองฯ ล่วงหน้าเป็นจำนวน 6,863 ล้านบาท จึงเป็นที่มาของกำไรสุทธิที่ปรับตัวดีขึ้นจากปีที่แล้ว ทั้งนี้ ภายใต้ภาพเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางธนาคารจะยังรักษาระดับการตั้งสำรองฯ ไว้ในระดับสูง และเน้นการประเมินความเสี่ยงของพอร์ตปัจจุบันและการจัดชั้นคุณภาพสินเชื่ออย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นพอร์ตสินเชื่อปกติหรือพอร์ตโปรแกรมให้ความช่วยเหลือ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 12% ของสินเชื่อรวม เพื่อให้มั่นใจว่าการบริหารจัดการและการตั้งสำรองฯ เป็นไปอย่างเหมาะสมและเพียงพอ

ทั้งนี้ หากเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2664 ก็ยังคงเห็นแรงกดดันด้านรายได้อย่างต่อเนื่อง เพราะไตรมาส 3 เป็นช่วงเวลาของการประกาศใช้มาตรการคุมเข้มขั้นสูงสุดก่อนค่อย ๆ ผ่อนคลายลงในช่วงปลายไตรมาส ขณะที่ผลการดำเนินงานรอบ 9 เดือน ปี 2564 ก็จะให้ภาพชัดเจนถึงผลกระทบจากโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมาตลอดตั้งแต่ต้นปี เทียบกับปี 2563 ซึ่งสถานการณ์ในไตรมาส 1 ยังคงเป็นปกติ”

รายละเอียดผลการดำเนินงานไตรมาส 3 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และรอบ 9 เดือน ปี 2564 เทียบปี 2563 มีดังนี้

รายได้จากการดำเนินงานรวมในไตรมาส 3 ปี 2564 มีจำนวน 15,663 ล้านบาท ลดลง 1.5% จากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งจากรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย อย่างไรก็ดีรายได้ค่าธรรมเนียมปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับกลยุทธ์การนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงช่องทางการให้บริการในช่วงที่ผ่านมา ด้านค่าใช้จ่ายยังสามารถบริหารจัดการได้ตามเป้าหมาย โดยค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานมีจำนวน 7,268 ล้านบาท ลดลง 1.8% เป็นผลจากการรับรู้ประโยชน์ด้านต้นทุนจากการรวมกิจการ การมีวินัยด้านค่าใช้จ่าย รวมถึงค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่ลดลงตามปริมาณธุรกรรมที่ลดลงในช่วงล็อกดาวน์ ส่งผลให้อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ทรงตัวอยู่ที่ 46% และจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ธนาคารต้องเลื่อนกิจกรรมและค่าใช้จ่ายบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการรวมกิจการไปในช่วงไตรมาส 4 จึงคาดว่าอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ในไตรมาส 4 จะยังอยู่ในระดับ 47%-49% ด้านค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ อยู่ที่จำนวน 5,527 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.7% จากไตรมาส 2 ส่งผลให้กำไรสุทธิอยู่ที่ 2,359 ล้านบาท ลดลง 6.9% จากไตรมาสที่แล้ว

สำหรับรอบ 9 เดือน ปี 2564 ธนาคารมีรายได้จากการดำเนินงาน 48,406 ล้านบาท ลดลง 5.0% จากรอบ 9 เดือน ปี 2563 ด้านค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอยู่ที่ 22,597 ล้านบาท ลดลง 4.0% และอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้อยู่ที่ 46% เป็นไปตามเป้าหมาย ส่วนค่าใช้จ่ายสำรองฯ มีจำนวน 16,497 ล้านบาท ทรงตัวจากรอบ 9 เดือนปีก่อนหน้า เนื่องจากธนาคารยังคงตั้งสำรองฯ ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องทุกไตรมาส ส่งผลให้มีกำไรสุทธิสำหรับรอบ 9 เดือน ปี 2564 อยู่ที่ 7,675 ล้านบาท ลดลง 13.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2564 อยู่ที่ 1,359 พันล้านบาท ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ชะลอลง 2.4% จากสิ้นปีที่แล้ว เป็นผลจากการที่ธนาคารยังคงเน้นการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง ทำให้ยอดชำระหนี้คืนยังคงสูงกว่ายอดสินเชื่อใหม่ ด้านหนี้เสียอยู่ที่ 44.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 43.5 พันล้านบาท และ 39.6 พันล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 2 และสิ้นปีที่แล้ว ทั้งนี้ จากฐานสินเชื่อที่ชะลอตัวจึงทำให้สัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมขยับมาอยู่ที่ 2.98% ยังคงเป็นไปตามแผนบริหารจัดการหนี้เสียและอยู่ในกรอบเป้าหมายที่วางไว้

ด้านเงินฝากอยู่ที่ 1,325 พันล้านบาท ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ชะลอลง 3.5% จากสิ้นปีที่แล้ว การเคลื่อนไหวด้านเงินฝากเป็นผลจากการบริหารสภาพคล่องให้สอดคล้องกับภาวะสินเชื่อ รวมทั้งเป็นผลจากการปรับโครงสร้างเงินฝากภายหลังการรวมกิจการ โดยการปรับลดสัดส่วนเงินฝากประจำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเน้นการเติบโตของเงินฝากที่เป็นผลิตภัณฑ์หลัก เช่น บัญชี ttb all free ซึ่งยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

ด้านความเพียงพอของเงินกองทุนก็ยังอยู่ในระดับสูงและเป็นลำดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรมธนาคาร โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2564 อัตราส่วน CAR และ Tier I (เบื้องต้น) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 19.7% และ 15.6% ตามลำดับ ยังคงสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 11.0% และ 8.5% 

นายปิติ กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า “สำหรับภาพรวมในไตรมาส 4 นั้น แม้ว่าการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ จะช่วยหนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่การฟื้นตัวไปสู่ระดับก่อนโควิด-19 ยังคงต้องใช้เวลา ดังนั้น เราจึงยังคงเน้นการดำเนินธุรกิจแบบระมัดระวัง ไม่สร้างความเสี่ยงด้วยการเร่งเติบโตสินเชื่อฝ่าคลื่นลมทางเศรษฐกิจ จุดประสงค์หลักก็เพื่อคงสถานะทางการเงินให้แข็งแกร่ง และสร้างชีวิตการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทยทั้งวันนี้และอนาคต ด้วยการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการและดีที่สุดสำหรับลูกค้าแต่ละคน ตลอดทุกช่วงชีวิต พร้อมรับมือกับความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด-19 และรอโอกาสที่จะกลับมาเติบโตเมื่อเศรษฐกิจเอื้ออำนวย นอกจากนี้ การดูแลความปลอดภัยของพนักงานก็ถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญเช่นกัน”

Related items

X

Right Click

No right click