โดย ดร.วัชรพจน์ ทรัพย์สงวนบุญ หัวหน้าศูนย์ STECO ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณวิศรุต เอื้ออานันท์ Chief Digital MarTech Officer โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ในกิจกรรม STECO Online Forum ครั้งที่ 15 ในหัวข้อ “การยกระดับความสามารถทางการแข่งขันองค์กรด้วย Digital Transformation”
คุณวิศรุตได้พูดถึงความสำคัญของธุรกิจ Healthcare กับ Digital technology ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป เช่น ผู้คนออกจากบ้านน้อยลง พฤติกรรมลดการปฏิสัมพันธ์กันและมีความกังวลใจที่จะเดินทางมาโรงพยาบาล อีกทั้งผู้รับบริการในต่างประเทศไม่สามารถเดินทางข้ามประเทศได้ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์จึงได้ประยุกต์ใช้ Digital Technology เข้ามาช่วยปรับรูปแบบการให้บริการทางการแพทย์ เช่น นวัตกรรมการรักษาโรคเนื้องอกเต้านมด้วยความเย็นติดลบ ซึ่งร้อยละ 10 ของผู้หญิงเป็นโรคนี้ โดยโรงพยาบาลรำรุงราษฎร์เป็นที่แรกของประเทศไทยที่นำนวัตกรรมนี้มาใช้ในการรักษาโรค การตรวจวิเคราะห์ทางพันธุกรรม (DNA Scientific Wellness Panels) ทำให้เราทราบถึงโอกาสเสี่ยงของปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ ซึ่งเมื่อเราทราบความเสี่ยงจะช่วยให้เราสามารถวางแผนเพื่อปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ถูกทาง หรือเหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคในอนาคตได้ และการสร้างแอปพลิเคชัน Bumrungrad โดยมีจุดเด่นในการค้นหาแพทย์และเข้าถึงข้อมูลสุขภาพได้ง่ายขึ้นแทนการเดินทางเพื่อมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 สามารถจัดการนัดหมายด้วยตนเองได้อย่างง่ายดาย อีกทั้งผู้ใช้บริการจะพกบัตรสมาชิก Digital Loyalty Card ภายในแอปพลิเคชันแทนการพกบัตรแบบเดิม ซึ่งสอดรับกับไลฟ์สไตล์วิถีใหม่ “New Normal” รวมถึงผู้ใช้งานผ่านแอปพลิเคชันสามารถรับบริการซื้อแพ็กเกจสุขภาพล่วงหน้า ลดขั้นตอนการลงทะเบียนและชำระเงิน เมื่อรับบริการเสร็จสามารถกลับบ้านได้ทันที พร้อมมอบสิทธิประโยชน์อื่นๆ เพิ่มเติมได้อีกด้วย
การนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในโรงพยาบาลช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้รับบริการ สามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ทุกที่ทุกเวลา สามารถใช้งานได้จากทั่วทุกมุมโลก นั่นหมายถึงความสามารถในการสร้างรายได้จากทั่วทุกมุมโลกตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงสามารถสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ผู้รับบริการ เพื่อรองรับความต้องการและพฤติกรรมของผู้รับบริการที่เปลี่ยนแปลงไป ในขณะเดียวกันโรงพยาบาลก็สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เพิ่มขึ้น รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ลดต้นทุนและลดจำนวนการใช้บุคคลากรลงได้
ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้ Digital Transformation ในโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ประสบความสำเร็จ คือ การเปลี่ยนความคิด “Digital Transformation ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด เพื่อหนีตาย” เมื่อเปลี่ยนความคิดแล้วก็ต้องมีการวางแผนและลงมือทำ โดยใช้หลักการบริหารการเปลี่ยนแปลงเข้ามาช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างมีระบบ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งที่ท้าทายที่สุดของทำ Digital Transformation นั้นคือการเปลี่ยนแปลงความคิด ทัศนคติของคนในองค์กรให้ยอมรับและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยผู้บริหารจะต้องสร้างวัฒนธรรมและค่านิยมองค์กรให้พนักงานไม่ต้องกลัวที่จะผิดพลาด ให้อิสระในการตัดสินใจ สามารถทดลองสิ่งใหม่ๆ เพื่อให้พนักงานลดความกังวลใจและสนุกกับการทำงาน สร้างแรงบันดาลใจและความท้าทายในการทำงาน อีกทั้งยังมีการให้ความรู้พนักงาน เมื่อพนักงานมีความรู้มากพอ จะทำให้มีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น
สำหรับข้อควรระวังของธุรกิจปัจจุบัน คือ Digital Disruption สภาวะที่ธุรกิจถูกทำให้หยุดชะงักในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าสำหรับธุรกิจโรงพยาบาลนั้นถือว่าไม่น่าเป็นกังวลมากนัก เนื่องจากเป็น 1 ในปัจจัย 4 ผู้คนมีความจำเป็นต้องใช้บริการจึงยากที่จะถูก Digital Disruption แต่ก็มีหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจและไม่อาจมองข้ามไปได้ คือ การถูก Disrupt จาก FAMGA ซึ่งเป็นเหล่าบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก 5 บริษัท ประกอบด้วย F (Facebook), A (Amazon), M (Microsoft), G (Google) และ A (Apple) ที่ปัจจุบันได้เข้ามาในตลาด Healthcare แล้ว ความน่ากังวล คือ การที่กลุ่มบริษัทเหล่านี้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากกว่าเรา ดังนั้น องค์กรจำเป็นจะต้องสร้างทีมที่มีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาระบบดิจิทัล เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนให้เกิด Digital Technology ภายในองค์กรได้จริง ตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้สร้างทีม MarTech ขึ้นมา ซึ่งเป็นการรวมกันระหว่างทีมงานฝั่ง Digital และฝั่ง Technology เชื่อมโยงคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันมาทำงานร่วมกันภายในทีมเดียวกัน โดยมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายร่วมกัน
สุดท้ายคุณวิศรุตได้ฝากข้อคิดไว้ว่า การนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานขององค์กร สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ การสร้าง Platform Digital ให้ตอบโจทย์ธุรกิจและตอบสนองความต้องการของลูกค้า แก้ไขปัญหาที่แท้จริงของลูกค้า ยกตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์คิดค้นนวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งในเด็กโดยใช้หน้ากากที่ออกแบบเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ มาใช้ในการเข้าเครื่องสแกนสมอง แทนการใส่หน้ากากแบบปกติและวางยาสลบ เพื่อเปลี่ยนประสบการณ์และแก้ไขปัญหาที่เด็กมีความวิตกกังวลในการเข้าเครื่องสแกนสมองและลดค่าใช้จ่ายในการวางยาสลบ ส่วนสิ่งสำคัญ คือ ทัศนคติ การรู้จักตนเอง รู้จักคู่แข่งและรู้จักลูกค้าให้ดี ค้นหาสิ่งที่องค์กรมีความแตกต่างจากคู่แข่ง และเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการ เพื่อให้องค์กรสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
สำหรับผู้ที่สนใจพัฒนาตนเองและเรียนรู้องค์ความรู้ที่สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://steco.kmutt.ac.th หรือติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 02-470-9644 หรือ e-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.