“สุกี้ตี๋น้อย” ร้านสุกี้ที่เติบโตเร็วร้านหนึ่ง แม้ภายใต้สถานการณ์โควิด แต่ยังทำรายได้ – กำไร ในตัวเลขที่แข็งแกร่ง โดยปี 65 คาดการณ์ยอดขายจะพุ่งเฉียด 4,000 ล้านบาท ล่าสุด “นัทธมน พิศาลกิจวนิช” เผยแผนซินเนอร์ยี่กลุ่ม JMART เดินหน้าแล้ว เตรียมจัดทัพขยายสาขาอีกมากกว่า 12 แห่งในปี 66 พร้อมรับดีมานด์ในตลาดต่างจังหวัด
นางสาวนัทธมน พิศาลกิจวนิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด เจ้าของแบรนด์ “สุกี้ตี๋น้อย” เปิดเผยว่า “นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมาก ที่เราได้ปิดดีลความร่วมมือกับ บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) (JMART) และได้เริ่มเดินหน้าแผนงานต่างๆ ที่วางไว้ ภายใต้การสนับสนุนและร่วมมืออย่างดียิ่งกับทางทีมผู้บริหารเจมาร์ท และกลุ่มบริษัทในเครือ โดยจะได้เห็นความคืบหน้าการ Synergy ร่วมกันทันทีในปี 2566 เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ และเติบโตในอนาคต
ปัจจุบันเราอยู่ในธุรกิจอาหารมาแล้ว 5 ปี มีแบรนด์สุกี้ตี๋น้อยจำนวน 42 สาขา จากปี 2564 มี 36 สาขา อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล มุ่งเน้นการตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ชื่นชอบสุกี้บุฟเฟ่ต์ ด้วยอาหารที่มีคุณภาพ รสชาติถูกปาก และราคาคุ้มค่า โดยปัจจุบันสุกี้ตี๋น้อยมีราคา 219 บาทต่อราย วางกลยุทธ์การตลาดที่สามารถครองใจผู้บริโภคจนสามารถสร้างยอดขายกว่า 1,500 ล้านบาทในสิ้นปี 2564 ที่ผ่านมา และในปี 2565 นี้ มั่นใจว่าจะสามารถสร้างการเติบโตรับสถานการณ์โควิดผ่อนคลาย บรรยากาศการรับประทานอาหารในร้านของผู้บริโภคกลับมาคึกคัก สนับสนุนยอดขายปีนี้พุ่งเฉียด 4,000 ล้านบาท
สำหรับเป้าหมายในปี 2566 บริษัทฯ จะไม่ใช่แค่เดิน แต่เราจะเริ่มวิ่ง ด้วยการมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งมาร่วมผนึกกำลัง โดยตั้งเป้าเรื่องสาขาใหม่ในปีหน้าวางแผนจะเปิดเพิ่มไม่ต่ำกว่า 12 สาขา และจะบุกตลาดต่างจังหวัดเป็นครั้งแรก ในอนาคตยังมองตลาดประเทศเพื่อนบ้านที่จะขยายไปได้อีก เพราะหากเรามีระบบที่ดี มีการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุน การจะได้เห็นสุกี้ตี๋น้อยราว 100 สาขา ในอีก 5 ปีจากนี้ มองว่าก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องเป็นการเติบโตอย่างมีคุณภาพด้วยเช่นกัน คุณภาพในที่นี้หมายถึง คุณภาพของอาหาร บริการ รสชาติ และผลประกอบการ ที่จะไปพร้อมๆ กัน และจะนำบริษัทฯ เข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในอีก 2-3 ปีจากนี้ เป็นอีก Chapter การเติบโตของเราที่ยั่งยืน”
ล่าสุด บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป ได้ปิดดีลกับ JMART อย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว โดย JMART เข้ามาถือหุ้นสัดส่วน 30% คิดเป็นเงินลงทุน 1,200 ล้านบาท สนับสนุนให้สุกี้ตี๋น้อย มีมูลค่าบริษัทราว 4,000 ล้านบาท