บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น รายงานผลดำเนินการไตรมาส 3/2566 รายได้รวมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากผลจากการเติบโตต่อเนื่องทั้งรายได้บริการและยอดผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น ขณะที่การดำเนินการบูรณาการเป็นไปตามแผนที่วางไว้โดยเฉพาะในเรื่องหลักที่นำไปสู่การผสานร่วมกัน สะท้อนถึงความพยายามที่เห็นผลสำเร็จอีกทั้งการรับรู้ด้านประสิทธิภาพเชิงโครงสร้างนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของ EBTIDA ในไตรมาสที่สามติดต่อกันหลังควบรวมกิจการ
นาย มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ผลประกอบการทางการเงินของทรู คอร์ปอเรชั่น ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่สามภายหลังจากการควบรวมทรูดีแทคผ่านไป 6 เดือน ซึ่งผลประกอบการดังกล่าวไม่เพียงทำได้ตามเป้าหมายแต่นับว่ามากเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ สะท้อนชัดถึงความมุ่งมั่นและความพยายามของเรา การกลับมาของกลุ่มนักท่องเที่ยวและแรงงานต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ได้ส่งผลเชิงบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจระดับมหภาค ขณะที่สถานการณ์ภาพรวมอุตสาหกรรมดิจิทัลเทคโนโลยีคงการแข่งขันต่อเนื่อง โดยผู้ให้บริการโอเปอเรเตอร์ยังคงต่างมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มตอบโจทย์หลากหลายไลฟ์สไตล์ของลูกค้า ทั้งนี้บริษัทยังคงดำเนินการเป็นไปตามแผนการรวมธุรกิจที่วางไว้ โดยเริ่มเห็นผลจากการผสานจุดแข็งของทั้งทรู-ดีแทค ตามที่ได้รายงานผ่านวันพบนักลงทุน (Capital Markets Day) ที่ผ่านมา
ในไตรมาสที่ 3/2566 ผลจากการรวมธุรกิจทำให้เรามีรายได้จากการให้บริการสุทธิ 4.4 พันล้านบาท ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อ (ค่าใช้จ่ายการลงทุน) CAPEX และ EBITDA สำหรับโครงการดำเนินการรวมโครงสร้างเสาสัญญาณภายใต้โครงข่ายเดียว (Single Grid) มีความคืบหน้าเป็นไปตามแผนหลังจากการเริ่มดำเนินการไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยภายในช่วงเวลาเพียงหนึ่งเดือน มีการบูรณาการเสาสัญญาณไปแล้วมากกว่า 300 แห่ง และปรับปรุงจุดที่ซ้ำซ้อน 100 แห่ง ทำให้มีส่วนช่วยลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากประสิทธิภาพการใช้พลังงานดีที่ยิ่งขึ้น อีกทั้งได้บริหารค่าเช่าได้ดียิ่งขึ้น โดยโครงการ Single Grid อัจฉริยะที่เพิ่มจำนวนสถานีฐาน ตอกย้ำความตั้งใจของบริษัทที่มุ่งส่งมอบบริการที่ดียิ่งกว่าให้แก่ลูกค้าของเราที่เติบโตขึ้นผ่านการบริหารจัดการจำนวนสถานีฐานและการขยายเครือข่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการดำเนินการ Single Grid จะเดินหน้าอย่างเต็มที่ในไตรมาสที่ 4 ตามแผนที่กำหนดไว้ ทั้งนี้เรายังคงเดินหน้าตามแผนงานที่สอดคล้องตามกลยุทธ์ของบริษัท บริษัทยังสามารถบรรลุรายได้ของการผสานพลังทรูดีแทคด้วยการนำเสนอบริการที่รวมเทคโนโลยีด้านการสื่อสารทั้งในแบบเคลื่อนที่และประจำที่ (FMC) ส่งผลให้มีผู้ใช้บริการ FMC เพิ่มขึ้น 8% หลังจากการควบรวม และมีรายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้บริการ (ARPU) กลุ่มนี้เพิ่มขึ้น 10% ทรู คอร์ปอเรชั่นยังคงมุ่งมั่นให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ที่จะใช้ประโยชน์สูงสุดจากการผสานความแข็งแกร่งในการดำเนินการทางการตลาดร่วมกันตามแผน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการสร้างมูลค่าให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วน"
นายชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ดีแทคและทรูยังคงเป็นแบรนด์ชั้นนำในใจของนักท่องเที่ยวและกลุ่มแรงงานต่างชาติ โดยเรายังคงนำศักยภาพเทคโนโลยีทั้งการวิเคราะห์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาออกแบบบริการให้ตรงใจเฉพาะแต่ละกลุ่มลูกค้า สามารถตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา ซึ่งเราได้เห็นรายได้เฉลี่ยต่อวันของนักท่องเที่ยวเติบโตขึ้นถึง 3.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และคะแนนความพึงพอใจลูกค้าสูงขึ้นถึง 20% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการรวมธุรกิจ อันเป็นผลจากความพยายามร่วมกันที่จะให้บริการลูกค้ามุ่งเน้นการส่งมอบสิทธิประโยชน์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์เพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันได้มีการแลกสิทธิประโยชน์ไปแล้ว 120 ล้านรายการภายใต้โปรแกรมสิทธิพิเศษของทั้ง ทรูและดีแทค และ ณ สิ้นสุดของไตรมาสที่ 3/2566 ทรู คอร์ปอเรชั่นมีฐานผู้ใช้งานดิจิทัลรวมประมาณ 15 ล้านราย สะท้อนความเป็นผู้นำด้านดิจิทัลที่แข็งแกร่ง
สำหรับการดำเนินงานเชิงพาณิชย์นั้น เราประสบความสำเร็จในการเพิ่มประสิทธิภาพถึง 56% ด้วยการใช้แพลตฟอร์มอันหลากหลายเป็นช่องทางในการให้บริการลูกค้าในรูปแบบ Omni Channel ตามเป้าหมายที่วางไว้ในปี 2566 ทำให้มีจำนวนช้อปที่สามารถนำเสนอสินค้าและบริการทั้งหมดแก่ลูกค้าทั้งดีแทคและทรูเพิ่มขึ้น อันนำไปสู่การยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าที่ดียิ่งขึ้น อีกทั้งนำมาซึ่งประสิทธิผลในการทำงานที่เพิ่มมากขึ้น สามารถบูรณาการได้อย่างไร้รอยต่อ รวมทั้งลดการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อน ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยความครอบคลุมของ 5G 90% และ 4G 99% ภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ทำให้ทรูยังคงเป็นผู้นำเครือข่าย 5G ที่มีสัญญาณครอบคลุมมากที่สุดในประเทศ โดยไตรมาสที่ 3/ 2566 มีจำนวนผู้ใช้งาน 5G มากที่สุดถึง 9.4 ล้านคน สะท้อนให้เห็นว่าเครือข่าย 5G ของทรูเป็นเครือข่ายที่ได้รับการชื่นชอบมากที่สุดในไทย ซึ่งความตั้งใจที่จะเพิ่มประสบการณ์ของลูกค้าอย่างต่อเนื่องนำมาสู่การใช้งานดาต้าทั้ง 4G และ 5G ของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา พร้อมกับการเพิ่มรายได้ ARPU ของลูกค้า 5G มาโดยตลอด"
ดีแทคและทรูยังคงเป็นแบรนด์ที่ลูกค้าไว้ใจอย่างต่อเนื่องทั้งประสบการณ์ใช้งานและตอบสนองความคุ้มค่าตรงความต้องการ ในไตรมาสที่สามนี้ มีจำนวนผู้ใช้บริการมือถือเพิ่มขึ้น 254,000 ราย รวมเป็น 51.4 ล้านราย โดยเพิ่มขึ้น 0.5% จากไตรมาสที่ผ่านมา และ จำนวนผู้ใช้งาน 5G สูงถึง 9.4 ล้านราย เพิ่มขึ้น 13% จากไตรมาสที่ 2/2566 โดยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในการใช้งานและการเพิ่มขึ้นของ ARPU 10-15% โดยมาจากปัจจัยหลักคือการจำหน่ายอุปกรณ์สื่อสารพร้อมกับบริการร่วมกัน
นายนกุล เซห์กัล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บริษัทฯ รายงานผลการดำเนินงานทางการเงินที่ปรับตัวดีขึ้นสำหรับไตรมาสที่ 3/2566 โดยได้แรงหนุนจากรายได้บริการที่เพิ่มขึ้นและจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง EBITDA ที่เป็นมาตรฐานดีขึ้นเป็นไตรมาสที่สามติดต่อกันนับตั้งแต่การควบรวมกิจการ โดยได้ประโยชน์จากการผสานรวมกัน และการริเริ่ม
ดำเนินการสู่การเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องตามแผนที่วางไว้ ตอกย้ำสถานภาพทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัท
รายได้จากการดำเนินงานรวมปรับเพิ่มขึ้น 2.4% จากไตรมาสก่อน โดยได้แรงหนุนจากรายได้จากการบริการและยอดขายผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น รายได้จากการบริการเพิ่มขึ้น 1.4% เมื่อเทียบไตรมาสที่ผ่านมา (QoQ) โดยได้แรงหนุนจากกลุ่มโทรศัพท์เคลื่อนที่และโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (Pay TV) พร้อมกับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของจำนวนผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ การเติบโตแบบแข็งแกร่งส่งผลให้มีจำนวนผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มเป็น 51.4 ล้านเลขหมาย ณ ไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ในขณะที่รายได้จากบริการมือถือเพิ่มขึ้น 1.4% (QoQ) ซึ่งได้ผลดีจากกลุ่มนักท่องเที่ยวและกลุ่มใช้แรงงานข้ามชาติ ควบคู่ไปกับการปรับข้อเสนออย่างเหมาะสม โดยรายได้จากโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (Pay TV) เพิ่มขึ้น 5.8% (QoQ) โดยได้แรงหนุนหลักจากคอนเสิร์ต สำหรับยอดขายผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น 18.7% (QoQ) จากการเปิดตัว iPhone ใหม่ในไตรมาส 3/2566
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (D&A) เพิ่มขึ้น 7.7% จากไตรมาสที่ผ่านมา จากการเพิ่มขึ้นด้านต้นทุนขายควบคู่กับผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น 15.1% ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว (one-time positive impact) ในไตรมาส 2/2566 ทั้งนี้ มีการควบคุมค่าใช้จ่ายส่วนอื่นของการดำเนินงานเป็นอย่างดี จากการริเริ่มด้านประสิทธิภาพของโครงสร้างและประโยชน์จากการผสานรวมกัน ขณะที่การปรับปรุง (Normalized) EBITDA เพิ่มขึ้น 2.0% (QoQ) ซึ่งนับเป็นไตรมาสที่สามติดต่อกันของการเติบโตนับตั้งแต่การควบรวมกิจการ การปรับตัวดีขึ้นของ EBITDA ได้รับแรงหนุนจากรายได้ที่เติบโตขึ้น และการรับรู้ผลประโยชน์จากการผสานรวมอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลอัตรากำไร EBITDA รายได้รวมอยู่ที่ 54.1% โดยขาดทุนสุทธิหลังหักภาษี จำนวน 1,598 ล้านบาท ปรับฟื้นขึ้น 31.1% (QoQ) รวมค่าใช้จ่ายผสานรวมกันในไตรมาส เงินลงทุน หรือ CAPEX ในไตรมาส 3/2566 อยูที่ 3,481 ล้านบาท โดยได้รับประโยชน์จากการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพจากการควบรวมกิจการ ขณะเดียวกัน ในด้านความยั่งยืน ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังคงครองอันดับ 1 ดัชนีความยั่งยืนระดับโลก DJSI กลุ่มสื่อสารโทรคมนาคมของโลก 5 ปีซ้อน และคงสถานะสมาชิกดัชนีความยั่งยืน DJSI ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 แสดงถึงความมุ่งมั่นด้านความรับผิดชอบครอบคลุมทั้ง 3 มิติ ทั้งมิติด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล
สำหรับการคาดการณ์ในปี 2566 บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังคงแนวโน้มสำหรับปี 2566 ซึ่งคิดเป็นระยะเวลา 10 เดือนของการดำเนินงานนับจากวันที่ควบรวมกิจการเสร็จสิ้น โดยคาดว่า EBITDA จะมีการเติบโตที่เป็นตัวเลขหลักเดียวในระดับต่ำ-ปานกลาง (low-to-mid single digit) และยังคงแนวโน้มที่ทรงตัวสำหรับรายได้จากการให้บริการไม่รวมรายได้ค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) ทั้งนี้ เงินลงทุน หรือ CAPEX ประมาณการณ์ไว้ที่ 25,000 – 30,000 ล้านบาท ตามที่เคยประกาศไว้
ตัวเลขสำคัญทางการเงินในไตรมาส 3 ปี 2566
· รายได้จากบริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย หรือ IC (การจัดประเภทใหม่) จำนวน 39,840 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.4% (QoQ)
· EBITDA อยู่ที่ 21,443 ล้านบาท ลดลงราว 3.9% (QoQ)
· อัตรากำไร EBITDA (เมื่อเทียบกับรายได้รวม) อยู่ที่ 54.1%
· ขาดทุนสุทธิ จำนวน 1,598 ล้านบาท