December 22, 2024

ธนาคารกสิกรไทย เคแบงก์ ไพรเวทแบงก์กิ้ง และลอมบาร์ด โอเดียร์ ร่วมขับเคลื่อนประเทศ ตามแนวคิด RETHINK SUSTAINABILITY

February 29, 2024 496

ผลักดัน 4 อุตสาหกรรมหลัก เพื่อปฏิวัติและปฏิบัติสู่ความยั่งยืน

ธนาคารกสิกรไทย โดย เคแบงก์ ไพรเวทแบงก์กิ้ง และลอมบาร์ด โอเดียร์ ร่วมจัดงานเสวนาด้านความยั่งยืน ‘RETHINK SUSTAINABILITY: A CALL TO ACTION FOR THAILAND’ เพื่อผลักดันและเร่งให้เกิดการลงมือทำเพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน จากการเล็งเห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนร่วมกัน ทั้งจากภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการลงทุน เพื่อสร้างเศรษฐกิจและเพิ่มการลงทุนในธุรกิจที่สามารถสร้างความยั่งยืนแห่งอนาคต ครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อาหารและการเกษตร ปิโตรเคมี และพลังงานหมุนเวียน พร้อมตอกย้ำบทบาทสำคัญของนักลงทุนในการสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งชี้โอกาสในการลงทุนเพื่อความยั่งยืนด้วยเม็ดเงินในการกระจายการลงทุนมูลค่ามหาศาลถึง 34 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (หรือกว่า 1.2 พันล้านล้านบาท) ภายในปีพ.ศ. 2573[1]

การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ถือเป็นความท้าทายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความพยายามในการทำให้อุณหภูมิโลกไม่เพิ่มเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส รวมถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปีพ.ศ. 2593 ดังนั้นทุกภาคส่วนทั้งภาคธุรกิจและประชาชนจะต้องปรับตัวเพื่อมุ่งไปสู่ความยั่งยืนร่วมกัน

RETHINK SUSTAINABILITY: A CALL TO ACTION FOR THAILAND’ งานเสวนาด้านความยั่งยืนแห่งปี จึงจัดขึ้นเพื่อมุ่งเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เศรษฐกิจประเทศไทยก้าวไปสู่ความยั่งยืน ตาม แนวคิด‘RETHINK SUSTAINABILITY’ เพื่อกระตุ้นให้ประเทศไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเพื่อมุ่งไปสู่ความยั่งยืน ด้วยการยึดโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนและ CLIC® Economy  มาเป็นแกนหลักในการเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในระยะยาว ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ สร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาว ตลอดจนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่าปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืน ประกอบด้วย 4 แรงขับเคลื่อนสำคัญ ได้แก่ การกำหนดนโยบายและกฎเกณฑ์จากภาครัฐ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการเลือกลงทุนของนักลงทุน แต่ละภาคส่วนล้วนมีบทบาทที่แตกต่างกันในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และต้องอาศัยความร่วมมือจึงจะบรรลุเป้าหมายในการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อก้าวไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง ในฐานะสถาบันการเงิน ธนาคารกสิกรไทยมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยเพื่อก้าวสู่ Net Zero อย่างจริงจัง ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการจัดงานเสวนาในครั้งนี้ ที่เชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน เพื่อร่วมกันผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง”

นาย อูแบร์ เคลเลอร์  Senior Managing Partner, Lombard Odier กล่าวว่า “ลอมบาร์ด โอเดียร์ เชื่อว่าธรรมชาติเป็นสินทรัพย์ที่ถูกมองว่ามีมูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริง ทั้งๆ ที่ทรัพยากรธรรมชาติเป็นสินทรัพย์ที่มีความจำเป็นและสำคัญต่อเศรษฐกิจในการสร้างผลผลิตรวมถึงโอกาสการลงทุนได้อย่างมหาศาล ตอนนี้เรากำลังมองไปที่การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ครั้งใหม่ ที่วางให้ธรรมชาติเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจ ดังนั้น เราจึงต้องให้ความสำคัญและหันมาสร้างคุณค่าจากธรรมชาติให้มากขึ้นและยังต้องสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตที่ยั่งยืน”

งานเสวนาแห่งปี RETHINK SUSTAINABILITY: A CALL TO ACTION FOR THAILAND’ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานสำคัญทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมกันสร้างแรงขับเคลื่อนความยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะเป็น กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)  บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) รวมถึงหน่วยงานระดับโลกอย่าง Systemiq และ The Alliance to End Plastic Waste                     ที่มาร่วมแบ่งปัน แลกเปลี่ยนมุมมอง แนวคิด ตลอดจนบทบาทและแนวทางปฏิบัติ เพื่อหารือร่วมกันในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน  ครอบคลุมประเด็นต่างๆ ได้แก่

การปรับตัวให้ทันเศรษฐกิจโลก เพื่อสร้างโอกาสการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจไทย

เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจโลก รวมถึงประเทศไทยเพื่อมุ่งไปสู่ความยั่งยืน ตลอดจนความท้าทายและโอกาสจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero ในเรื่องนโยบายและกฎเกณฑ์จากทางภาครัฐ การสร้างระบบนิเวศและแพลตฟอร์มที่จำเป็นในการเปลี่ยนผ่านเพื่อนำมาซึ่งประโยชน์กับทั้งสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม

สร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการเป็นต้นตอของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึงร้อยละ 8 จากจำนวนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด[2]  จึงเป็นเรื่องสำคัญในการระดมความคิด เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา เปลี่ยนแปลงวิถีการท่องเที่ยวให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น  พร้อมคว้าโอกาสในการลงทุนจากอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการสร้าง GDP รวมของโลกได้สูงถึงร้อยละ 10[3]  

ระบบอาหารแห่งอนาคต บริโภคอย่างยั่งยืน เพื่อโลกที่ยั่งยืน

ปัจจุบันทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น คาดว่าภายในปี 2593 จะมีจำนวนประชากรเพิ่มราว 1 หมื่นล้านคน นำไปสู่ความต้องการด้านอุปโภค บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 60-100[4] การเสวนานี้เน้นเจาะลึกประเด็นด้านการเกษตร ห่วงโซ่อาหาร และแนวทางการผลิตรูปแบบใหม่ที่ใช้ทรัพยากรน้อยลง แต่สร้างผลิตผลที่เพิ่มขึ้นด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีการผลิตใหม่ที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

พลาสติกหมุนเวียน อุตสาหกรรมเคมีแห่งอนาคต

อุตสาหกรรมเคมีในการผลิตพลาสติกรูปแบบใหม่ ผ่านแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน  ซึ่งเป็นแนวทางที่จะสร้างความยั่งยืนแก่สิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าในอนาคต พลาสติกจะเป็นสินทรัพย์แห่งอนาคตโดยต้องอาศัยเม็ดเงินลงทุนด้านนี้ราว 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี พ.ศ.2583[5]

อนาคตพลังงานทางเลือกของประเทศไทย กับโอกาสในการลงทุน

ก๊าซเรือนกระจกกว่าร้อยละ 73 มาจากการเผาไหม้ถ่านหิน  น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ[6]  ดังนั้นการปรับเปลี่ยนรูปแบบของพลังงานดังกล่าวมาเป็นพลังงานไฟฟ้าจึงมีความสำคัญ  ในช่วงนี้จะเป็นการแบ่งปันองค์ความรู้และแนวทางในการปรับเปลี่ยนไปสู่การใช้พลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่ เพื่อโลกที่สะอาดและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า “การเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนถือเป็นภารกิจระดับโลก ประเทศผู้นำที่มีความพร้อมสามารถกำหนดนโยบายด้านความยั่งยืนที่อาจส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อทุกประเทศ  และเป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างความท้าทายเป็นอย่างมากต่อประเทศไทย งานเสวนาด้านความยั่งยืนในครั้งนี้จึงเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของธนาคารกสิกรไทยในการเป็นองค์กรที่เพิ่มอำนาจให้ทุกชีวิตและธุรกิจของลูกค้า (To Empower Every Customer’s Life and Business) เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนผ่านบทบาทในการส่งเสริมเงินทุนเพื่อสนับสนุนธุรกิจที่ยั่งยืน โดยเชื่อมั่นในการร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น”

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า “เราเชื่อมั่นว่าในอนาคตการลงทุนในธุรกิจที่ยั่งยืน ไม่ว่าองค์กรเหล่านั้นจะเป็นกลุ่มธุรกิจที่นำเสนอแนวทางและผลิตภัณฑ์ที่ช่วยแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Solution Providers) หรือกลุ่มธุรกิจที่ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต และ/หรือ รูปแบบการดำเนินธุรกิจเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero (Transition Candidates)  กลุ่มเหล่านี้เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไปสู่ความยั่งยืนได้ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของลอมบาร์ด โอเดียร์ ที่ผลักดันแนวคิด CLIC® Economy เพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero ดังนั้น  เคแบงก์ ไพรเวทแบงก์กิ้ง ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำแนะนำการลงทุนจึงมุ่งส่งเสริมให้นักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ ให้เป็นแกนนำสำคัญในการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงโลกอย่างยั่งยืน ผ่านการลงทุนด้วยกลยุทธ์ที่เหมาะสม เน้นลงทุนในธุรกิจและสินทรัพย์ที่มีการสนับสนุนเศรษฐกิจที่สร้างความยั่งยืนแก่โลก”

งานเสวนา “RETHINK SUSTAINABILITY: A Call to Action for Thailand" เป็นงานเสวนาด้านความยั่งยืนแห่งปี ภายใต้ความร่วมมือ ระหว่างธนาคารกสิกรไทย  เคแบงก์ ไพรเวทแบงก์กิ้ง บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด และลอมบาร์ด โอเดียร์ เพื่อร่วมกันผลักดันประเทศไทยให้เปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมแห่งความยั่งยืนในอนาคต อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของงาน RETHINK SUSTAINABILITY: A CALL TO ACTION FOR THAILAND ได้ที่ : https://www.kasikornbank.com/en/News/Pages/rethink-sustainability-forum.aspx 


[1] https://www.nationthailand.com/blogs/special-edition/sustainability/40035437

[2] https://www.lombardodier.com/contents/corporate-news/responsible-capital/2023/august/journeying-to-a-better-world-sus.html

[3] https://www.lombardodier.com/contents/corporate-news/responsible-capital/2023/august/journeying-to-a-better-world-sus.html

[4] https://www.kasikornbank.com/en/News/Pages/rethink-sustainability-forum.aspx

[5] UNEP (2023) ‘Turning off the Tap: How the world can end plastic pollution and create a circular economy’.

[6] https://am.lombardodier.com/professional/asset-classes/alternatives/plastic-circularity-strategy.html

X

Right Click

No right click