Lord David Cameron อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 53 แห่งสหราชอาณาจักร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศแห่งสหราชอาณาจักร พร้อมด้วย นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษาระดับอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้าเยี่ยมชมห้องแล็บวิจัยด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพและชีววิทยาสังเคราะห์ ณ บริษัท ไบโอม จำกัด อาคารมหาวชิรุณหิศ (ชั้น11) คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. อลิสา วังใน Chief Technology Officer ของบริษัท ไบโอม จำกัด ให้การต้อนรับ ซึ่งบริษัทไบโอม เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างจุฬาฯ และบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) (BBGI) ที่ได้วิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีชีวภาพแห่งแรก

ด้าน นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BBGI กล่าวว่า พร้อมผนึกความแข็งแกร่ง ร่วมต่อยอดสร้างมูลค่างานวิจัยกับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อเสริมฐานผู้นำอุตสาหกรรมกลุ่มผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูงในภูมิภาคเอเชีย ในการวางเป้าหมายใช้ไทยเป็นฐานในการส่งต่องานวิจัยผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง สู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ไปยังตลาดโลก

นอกจากนี้ BBGI ยังได้รุกธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง (CDMO) ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลก ภายใต้บริษัทร่วมทุน BBFB (BBGI Fermbox Bio) ซึ่งเป็นโรงงานเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง (Precision Fermentation) เชิงพาณิชย์แห่งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย คาดโรงงานแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2568 นับเป็นการตอกย้ำ BBGI แข็งแกร่งเตรียมพร้อมสู่โอกาสในอนาคต

คุณกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ (แถวบนที่ 3 จากซ้าย) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BBGI ผู้นำอุตสาหกรรมพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ และกลุ่มบริษัทบางจาก ร่วมพิธีลงนามในสัญญาก่อสร้างหน่วยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF ระหว่าง บริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด กับ บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) เพื่อเดินหน้าก้าวสู่การเป็นผู้นำพลังงานแห่งอนาคต ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน SAF จากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว รายแรกและรายเดียวในประเทศไทย สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรมการบิน ตอบโจทย์ BCG Economy Model ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ, เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตควบคู่กับการพัฒนาสังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมบูรณ์และยั่งยืน โดยงานดังกล่าวจัดขึ้น ณ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566

บริษัท บีบีจีไอ ไบโอดีเซล จำกัด บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC และ บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ลงนามสัญญาความร่วมมือเชิงพาณิชย์ในโครงการพัฒนาและผลิตน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ (Bio Transformer Oil) เพื่อทดลองผลิตครั้งแรกของประเทศไทยและพร้อมต่อยอดสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ตอบรับนโยบายเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy)

นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) (“BBGI”) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินการทดลองผลิตน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพระยะที่ 2 นี้ ได้ขยายกำลังการผลิตจากระดับห้องวิจัยสำเร็จ และตรวจสอบคุณสมบัติสำคัญของน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ อาทิ ค่าความหนืด ค่าคุณสมบัติความเป็นฉนวนไฟฟ้า และค่าจุดติดไฟ โดยผลการตรวจสอบผ่านตามมาตรฐานน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้า พร้อมทั้งได้นำไปทดสอบใช้งานน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพที่ผลิตในหม้อแปลงไฟฟ้าจริง พบว่า สามารถผ่านการทดสอบตามมาตรฐานหม้อแปลงไฟฟ้าเช่นกัน โดยบีบีจีไอและพันธมิตรพร้อมลงนามสัญญาความร่วมมือ เพื่อการผลิตและทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพก่อนออกสู่ท้องตลาด หรือ Pre-marketing พร้อมศึกษาการลงทุนส่วนต่อขยายโรงงานไบโอดีเซลเดิม เพื่อต่อยอดสู่การผลิตเชิงพาณิชย์

ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ รองผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า SCGC เดินหน้าสร้างสรรค์นวัตกรรมเคมีภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน โดยนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนและเมกะเทรนด์มาเป็นแนวทางการพัฒนาสินค้าและบริการ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดียิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมตามแนวทาง ESG  สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการทำงานแบบ Open Innovation ซึ่งบริษัทเท็กซ์พลอร์ (Texplore) ในกลุ่มธุรกิจ SCGC ได้นำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีตัวเร่งปฏิกิริยา (Catalyst) มาพัฒนาเป็นเทคโนโลยีการผลิตน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพจากผลิตภัณฑ์พลอยได้ (by product) ของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันโดยประยุกต์เข้ากับกระบวนการผลิตของบริษัทบีบีจีไอฯ และนำไปสู่การทดลองใช้งานจริงในหม้อแปลงไฟฟ้าของบริษัทคิวทีซีฯ  นับเป็นก้าวสำคัญต่อเศรษฐกิจชีวมวล (Bio-Economy) เนื่องจากเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่สามารถผลิตน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพได้เองภายในประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้าอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพที่ได้จากนวัตกรรมดังกล่าว ยังสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ (biodegradable) จึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางดินและทางน้ำ สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (low carbon economy) ถือเป็นนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Innovation) อย่างแท้จริง

นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (“QTC”) ผู้ผลิต จัดจำหน่ายและให้บริการหม้อแปลงไฟฟ้า กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการทดสอบใช้งานน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพที่ผลิตได้เบื้องต้น  พบว่ามีคุณสมบัติเทียบเคียงผู้ผลิตในตลาดจากต่างประเทศ และยังมีความได้เปรียบในด้านค่าความหนืดที่ใกล้เคียงกับน้ำมัน Mineral Oil ซึ่งสามารถนำมาใช้ทดแทน Mineral Oil ได้ทันทีโดยที่ไม่จำเป็นต้องออกแบบหม้อแปลงไฟฟ้าให้มีคุณลักษณะที่เปลี่ยนไปจากมาตรฐานเดิม สำหรับน้ำมันชีวภาพที่ผลิตได้ในเฟส Pre-marketing นี้ QTC จะเป็นลูกค้ารายแรกที่ซื้อมาใช้จริงและจำหน่ายให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีความสนใจหม้อแปลงไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในราคาพิเศษ  ซึ่งคาดว่าจะพร้อมผลิตและจำหน่ายในช่วงกลางปี 2566 นี้ และมั่นใจว่าการร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม

โครงการน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ของภาครัฐ และมาตรการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากปาล์มน้ำมันของคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติที่ต้องการกระตุ้นปริมาณความต้องการใช้น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพในประเทศไทย ทำให้ความต้องการในการใช้น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และการผลิตน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพในเชิงอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรกในประเทศไทยนั้นจะช่วยลดต้นทุนการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าของผู้ประกอบการจากการนำเข้าจากต่างประเทศได้ บีบีจีไอ และพันธมิตร มั่นใจว่าโครงการพัฒนาและผลิตน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ และจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับพืชผลทางการเกษตรของประเทศ ตลอดจนเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน ควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

X

Right Click

No right click