December 22, 2024

กลุ่ม BBGI จับมือ SCGC และ QTC ผลักดัน Green Innovation สำหรับผลิตและทดสอบคุณภาพน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพเชิงพาณิชย์

March 09, 2023 640

บริษัท บีบีจีไอ ไบโอดีเซล จำกัด บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC และ บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ลงนามสัญญาความร่วมมือเชิงพาณิชย์ในโครงการพัฒนาและผลิตน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ (Bio Transformer Oil) เพื่อทดลองผลิตครั้งแรกของประเทศไทยและพร้อมต่อยอดสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ตอบรับนโยบายเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy)

นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) (“BBGI”) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินการทดลองผลิตน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพระยะที่ 2 นี้ ได้ขยายกำลังการผลิตจากระดับห้องวิจัยสำเร็จ และตรวจสอบคุณสมบัติสำคัญของน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ อาทิ ค่าความหนืด ค่าคุณสมบัติความเป็นฉนวนไฟฟ้า และค่าจุดติดไฟ โดยผลการตรวจสอบผ่านตามมาตรฐานน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้า พร้อมทั้งได้นำไปทดสอบใช้งานน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพที่ผลิตในหม้อแปลงไฟฟ้าจริง พบว่า สามารถผ่านการทดสอบตามมาตรฐานหม้อแปลงไฟฟ้าเช่นกัน โดยบีบีจีไอและพันธมิตรพร้อมลงนามสัญญาความร่วมมือ เพื่อการผลิตและทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพก่อนออกสู่ท้องตลาด หรือ Pre-marketing พร้อมศึกษาการลงทุนส่วนต่อขยายโรงงานไบโอดีเซลเดิม เพื่อต่อยอดสู่การผลิตเชิงพาณิชย์

ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ รองผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า SCGC เดินหน้าสร้างสรรค์นวัตกรรมเคมีภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน โดยนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนและเมกะเทรนด์มาเป็นแนวทางการพัฒนาสินค้าและบริการ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดียิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมตามแนวทาง ESG  สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการทำงานแบบ Open Innovation ซึ่งบริษัทเท็กซ์พลอร์ (Texplore) ในกลุ่มธุรกิจ SCGC ได้นำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีตัวเร่งปฏิกิริยา (Catalyst) มาพัฒนาเป็นเทคโนโลยีการผลิตน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพจากผลิตภัณฑ์พลอยได้ (by product) ของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันโดยประยุกต์เข้ากับกระบวนการผลิตของบริษัทบีบีจีไอฯ และนำไปสู่การทดลองใช้งานจริงในหม้อแปลงไฟฟ้าของบริษัทคิวทีซีฯ  นับเป็นก้าวสำคัญต่อเศรษฐกิจชีวมวล (Bio-Economy) เนื่องจากเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่สามารถผลิตน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพได้เองภายในประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้าอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพที่ได้จากนวัตกรรมดังกล่าว ยังสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ (biodegradable) จึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางดินและทางน้ำ สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (low carbon economy) ถือเป็นนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Innovation) อย่างแท้จริง

นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (“QTC”) ผู้ผลิต จัดจำหน่ายและให้บริการหม้อแปลงไฟฟ้า กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการทดสอบใช้งานน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพที่ผลิตได้เบื้องต้น  พบว่ามีคุณสมบัติเทียบเคียงผู้ผลิตในตลาดจากต่างประเทศ และยังมีความได้เปรียบในด้านค่าความหนืดที่ใกล้เคียงกับน้ำมัน Mineral Oil ซึ่งสามารถนำมาใช้ทดแทน Mineral Oil ได้ทันทีโดยที่ไม่จำเป็นต้องออกแบบหม้อแปลงไฟฟ้าให้มีคุณลักษณะที่เปลี่ยนไปจากมาตรฐานเดิม สำหรับน้ำมันชีวภาพที่ผลิตได้ในเฟส Pre-marketing นี้ QTC จะเป็นลูกค้ารายแรกที่ซื้อมาใช้จริงและจำหน่ายให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีความสนใจหม้อแปลงไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในราคาพิเศษ  ซึ่งคาดว่าจะพร้อมผลิตและจำหน่ายในช่วงกลางปี 2566 นี้ และมั่นใจว่าการร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม

โครงการน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ของภาครัฐ และมาตรการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากปาล์มน้ำมันของคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติที่ต้องการกระตุ้นปริมาณความต้องการใช้น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพในประเทศไทย ทำให้ความต้องการในการใช้น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และการผลิตน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพในเชิงอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรกในประเทศไทยนั้นจะช่วยลดต้นทุนการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าของผู้ประกอบการจากการนำเข้าจากต่างประเทศได้ บีบีจีไอ และพันธมิตร มั่นใจว่าโครงการพัฒนาและผลิตน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ และจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับพืชผลทางการเกษตรของประเทศ ตลอดจนเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน ควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

Related items

X

Right Click

No right click