นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิด “งานสัมมนาผู้ประเมินวินาศภัย ปี 2567” ณ ห้องประชุมอัศวิน แกรนด์ A โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยมีนางสาววสุมดี วสีนนท์ รองเลขาธิการ ด้านกำกับคนกลางและประกันภัยภูมิภาค ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) นายปฏิภาณ สุดอารามนายกสมาคมผู้ประเมินวินาศภัย นายราเชนทร์ ดาวเรือง นายกสมาคมการค้าผู้สำรวจและประเมินวินาศภัยไทยผู้ตรวจสอบและประเมินวินาศภัย เข้าร่วมงานดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ประเมินวินาศภัย การให้บริการออกใบอนุญาตผู้ประเมินวินาศภัยทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-licensing) การสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของ ผู้ประเมินวินาศภัย รวมถึงภาพรวม แนวโน้ม และสถิติการประเมินวินาศภัยในปัจจุบันโดยมีวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์บรรยายให้ความรู้เพื่อให้เกิดการพัฒนามาตรฐานของผู้ประเมินวินาศภัยแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน
สำนักงาน คปภ. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการประเมินวินาศภัย เนื่องจากปัจจุบันภาคธุรกิจประกันภัยต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง และความท้าทายจากปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อภาคธุรกิจประกันภัย อาทิ ไฟไหม้ น้ำท่วม และลมพายุ ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียและความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้เอาประกันภัย ดังนั้น การประเมินวินาศภัยจึงถือเป็นกระบวนการสำคัญต่อธุรกิจประกันภัยที่ช่วยให้สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น และกำหนดการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่ได้มาตรฐานและเหมาะสมแก่ผู้เอาประกันภัย ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลต่อการดำเนินงานของบริษัทประกันภัย แต่ยังส่งผลต่อความพึงพอใจของผู้เอาประกันภัย และความยั่งยืนของธุรกิจในระยะยาว นอกจากนี้ ผู้ประเมินวินาศภัยยังนับได้ว่าเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนระบบประกันภัย เนื่องจากผู้ประเมินวินาศภัยถือเป็นคนกลางประกันภัยที่มีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการชดใช้สินไหมทดแทน โดยมีหน้าที่ตรวจสอบ วิเคราะห์สาเหตุและประเมินความเสียหายของวินาศภัย เพื่อให้การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกิดความเป็นธรรมต่อทุกภาคส่วน และยังมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการป้องกันการฉ้อฉลด้านการประกันภัย ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบประกันภัย
ดังนั้น การสัมมนาผู้ประเมินวินาศภัย ปี 2567 ในครั้งนี้ จึงเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประเมินวินาศภัยในตลาดมีมาตรฐานการดำเนินงาน และศักยภาพที่สามารถตอบรับการเปลี่ยนแปลงรวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาความรู้ของผู้ตรวจสอบและประเมินวินาศภัยในสังกัดสามารถตอบสนองการขยายตัวของตลาดประกันวินาศภัย และพร้อมรับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ การสัมมนาดังกล่าวได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญและชำนาญเป็นผู้บรรยายให้ความรู้ โดยมีผู้ประเมินวินาศภัยเข้าร่วมรับการสัมมนากว่า 200 คน
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยและคุ้มครองประชาชนด้านการประกันภัย ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนและพัฒนาการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ตามแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2564-2568) อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความพร้อมรับความท้าทายใหม่ ๆ ในอนาคตโดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. ได้เปิดใช้ระบบการให้บริการออกใบอนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ e-Licensing ซึ่งเป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลของสำนักงาน คปภ. ที่เกี่ยวข้องกับคนกลางประกันภัยเข้าด้วยกัน และเชื่อมโยงกับระบบฐานข้อมูลของภาครัฐอื่น ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการขอรับ/ขอต่ออายุใบอนุญาต อีกทั้งประชาชนยังสามารถเข้าถึงข้อมูลคนกลางประกันภัยได้อย่างครบถ้วน ถูกต้อง สะดวกรวดเร็ว นอกจากนั้นสำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินโครงการ OIC Gateway แพลตฟอร์มให้บริการข้อมูลด้านการประกันภัยอย่างครบวงจร ซึ่งเกิดจากการบูรณาการความร่วมมือระหว่างสำนักงาน คปภ. กับภาคธุรกิจประกันภัย ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลด้านการประกันภัยต่าง ๆ ได้อย่าง สะดวก รวดเร็ว จบในที่เดียว และยังเป็นช่องทางที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนด้วยบริการตรวจสอบใบอนุญาตตัวแทน-นายหน้า ได้อีกด้วย ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186 หรือสำนักงาน คปภ. ภาค/จังหวัด ทั่วประเทศ
บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมสนับสนุนโครงการ คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย จับมือร่วมใจสานฝันน้อง ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมประกันชีวิตไทย โดยนางรุจิรัตน์ ปัญญาเกียรติคุณ (ที่ 2 จากซ้าย) รองผู้อำนวยการ สำนักบริหารแบรนด์องค์กร เป็นผู้แทนบริษัทฯ มอบพัดลมจำนวน 10 เครื่อง รวมทั้งเวชภัณฑ์ที่จำเป็นให้แก่บ้านราชาวดี (ชาย-หญิง) ซึ่งได้รับเกียรติจากนายชูฉัตร ประมูลผล (ที่ 3 จากซ้าย) เลขาธิการ คปภ. เป็นประธานในพิธีรับมอบร่วมกับนายพิสิฐ พูลพิพัฒน์ (ที่ 3 จากขวา) รองอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่น้องๆ บ้านราชาวดี ณ บ้านราชาวดี จังหวัดนนทบุรี เมื่อเร็วๆ นี้
นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัย (OIC Meets CEO 2024) ครั้งที่ 2/2567 ร่วมกับ นายสาระ ลํ่าซำ ประธานสภาธุรกิจประกันภัยไทย นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย และ ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย พร้อมด้วย ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ผู้บริหารสมาคมประกันชีวิตไทย ผู้บริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย และผู้บริหารบริษัทประกันภัย เข้าร่วมประชุม ณ ศูนย์การประชุม อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
ในช่วงเช้าก่อนเริ่มการประชุม สำนักงาน คปภ. ร่วมกับ ภาคธุรกิจประกันภัย จัดกิจกรรม CSR “คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย จับมือร่วมใจกันสานฝันน้อง” โดยร่วมกันบริจาคเงินกว่า 1 ล้านบาท พร้อมสิ่งของอุปโภคบริโภค และหมวกกันน็อค ให้แก่น้อง ๆ ที่อยู่ในความดูแลของบ้านราชาวดี (หญิง) และ บ้านราชาวดี (ชาย) อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยมีนายพิสิฐ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ร่วมด้วย
ต่อมาในช่วงบ่าย ผู้บริหารสำนักงาน คปภ. และผู้บริหารภาคธุรกิจประกันภัย เข้าสู่เวทีการประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัย (OIC Meets CEO 2024) ครั้งที่ 2/2567 โดยได้มีการรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามข้อสรุปที่ประชุม (OIC Meets CEO 2024) ครั้งที่ 1/2567 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-9 มีนาคม 2567 ณ โรงแรมเรเนซองส์ พัทยา รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดชลบุรี ใน 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ ประเด็นแรก การพัฒนามาตรฐานและยกระดับบทบาทของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยและผู้สอบบัญชี ประเด็นที่ 2 การยกระดับมาตรฐานการอนุมัติกรมธรรม์ประกันภัย ประเด็นที่ 3 แนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยสุขภาพ ประเด็นที่ 4 การจัดทำ Service Level Agreement (SLA) มาตรฐานกรอบระยะเวลาสำหรับการให้บริการของธุรกิจประกันภัย และประเด็นที่ 5 การนำส่งข้อมูลในระบบ IBS โดยการดำเนินงานทั้ง 5 ประเด็นดังกล่าวมีความคืบหน้าเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ทุกประการ
ในโอกาสนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบหลักการและให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนระบบประกันภัยให้มีความมั่นคงยั่งยืน ดังนี้ 1. ยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพการส่งสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าด้วยระบบ EWS 2. การนำส่งข้อมูลการรับประกันภัยเข้าสู่ระบบรายงานข้อมูลประกันภัยรถภาคบังคับ (Compulsory Motor Insurance System : CMIS) 3. การดำเนินการส่งเสริมความรู้ด้านการประกันภัยระหว่าง สำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย 4. การส่งเสริมการกำกับดูแลตัวแทนและนายหน้าประกันภัย และ 5. กรณีที่มีกลุ่มบุคคล/บริษัทต่างชาติขายประกันภัยในประเทศไทยโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัยในประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อกำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและเสียหายจากการตกเป็นเหยื่อในการกระทำของกลุ่มบุคคลหรือบริษัทต่างชาติที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัยในประเทศไทย
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบถึงแนวทางเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัยในมิติใหม่ ๆ คือ 1. มาตรการส่งเสริมทางการเงินของภาครัฐ “กองทุนรวมวายุภักษ์” เพื่อสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุนของประเทศ 2. มาตรการส่งเสริมทางการเงินของภาครัฐ โครงการ lgnite Finance เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการเงินระดับโลก โดยมีเป้าหมายที่มุ่งเน้นการปฏิรูปการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจทางการเงิน กำหนดสิทธิประโยชน์รูปแบบใหม่ และเสริมสร้างระบบนิเวศน์ทางการเงินที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ในอัตราที่เหมาะสม 3. แนวทางการแก้ไขเกี่ยวกับการประกาศหรือโฆษณาการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต/วินาศภัย 4. การดำเนินการเกี่ยวกับการกำกับบริษัทประกันภัยแบบรวมกลุ่ม (Group Wide Supervision) 5. การควบคุมคุณภาพในการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยของคนกลางประกันภัย 6. การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (Climate Risk Management) และ7. การขับเคลื่อนการพัฒนาการให้บริการแลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับภาคการเงิน (Open Data for Consumer Empowerment)
การประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัย OIC Meets CEO 2024 ครั้งที่ 2 ในปีนี้ สำเร็จลุล่วง และได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจประกันภัยเป็นอย่างดี ถือเป็นเวทีระดมความคิดเห็นและความร่วมมือระหว่างสำนักงาน คปภ. กับ ภาคธุรกิจประกันภัย เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางในการขับเคลื่อนและพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัยไทยอย่างเป็นรูปธรรม อันจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและการเติบโตอย่างยั่งยืนของระบบประกันภัยไทย