September 11, 2024

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ได้เข้าร่วมเสวนาในหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้นำทางการแพทย์ รุ่นที่ 1 (ปนพ.1) หัวข้อ “ความสำคัญของประกันสุขภาพ ใน Aging Society” ร่วมกับ นายสาระ ลํ่าซำ ประธานสภาธุรกิจประกันภัยไทย และ นายแพทย์ วุฒิวงศ์ สมบุญเรืองศรี ประธานคณะแพทย์ที่ปรึกษา สมาคมประกันชีวิตไทย เมื่อวันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00 - 10.30 น. ณ ห้องประชุมวชิรเวช ชั้น 14 อาคารมหิตลาธิเบศร แพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหลักสูตรที่จัดขึ้นโดย สถาบันมหิตลาธิเบศร ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า โดยหลักสูตร ปนพ. มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแพทย์ยุคใหม่และบุคลากรในภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นทรัพยากรสำคัญที่จะเติบโตเป็นผู้นำในอนาคต ให้มีความพร้อมทั้งศาสตร์และศิลป์ของการเป็นผู้บริหารที่ทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์ส่วนรวม ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สามารถนำองค์ความรู้ไปปรับใช้แก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในการนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับระบบประกันภัยแก่ผู้เข้ารับการอบรมโดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) มีหน้าที่ในการกำกับดูแลและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย คุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชน โดยทำหน้าที่กำกับเพื่อให้บริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัย มีฐานะการเงินที่มั่นคงเพื่อสร้างความมั่นใจและความน่าเชื่อถือให้กับระบบประกันภัย รวมถึงคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชนและส่งเสริมธุรกิจประกันภัยให้เป็นหนึ่งในองค์กรที่ดูแลประชาชนและเป็นอีกหนึ่งเสาหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับธุรกิจประกันภัยมีการลงทุนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 4 ล้านล้านบาท โดยปัจจุบันธุรกิจประกันภัยสุขภาพมีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงมาก ขณะเดียวกันการเรียกร้องสินไหมก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งเป็นความท้าทายของธุรกิจประกันภัยในการบริหารจัดการความเสี่ยงภัย รวมถึงสำนักงาน คปภ. ในการกำกับดูแลและสนับสนุนให้ธุรกิจประกันภัยพัฒนากรมธรรม์ประกันภัย เพื่อรองรับเรื่อง Aging Society ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม ดังนั้น สิ่งสำคัญคือเมื่อไหร่ก็ตามที่บริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัยยื่นขอความเห็นชอบกรมธรรม์ประกันภัย สำนักงาน คปภ. มีหน้าที่ต้องตรวจสอบอัตราเบี้ยประกันภัย แบบข้อความ ความคุ้มครอง เงื่อนไขต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมที่จะดูแลคุ้มครองประชาชนผู้เอาประกันภัย อีกทั้งสำนักงาน คปภ. ยังได้ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงระบบประกันภัยสุขภาพได้ยากสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่เคยป่วยด้วยโรคร้ายแรงมาก่อนและอยู่ในภาวะโรคสงบแล้ว ด้วยการพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของกลุ่มต่าง ๆ และเพื่อให้บริษัทนำไปใช้พัฒนาต่อยอดกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีรูปแบบใกล้เคียงกันได้

นอกจากนี้ เพื่อให้ระบบประกันภัยสุขภาพมีความยั่งยืนและมีเครื่องมือในการควบคุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งเกิดจากการเคลมด้วยกลุ่มโรคเจ็บป่วยเล็กน้อยทั่วไป หรือการเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลโดยไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์ ในสัญญาประกันภัยสุขภาพแบบมาตรฐานใหม่ จึงได้กำหนดเงื่อนไขการต่ออายุกรณีครบรอบปีกรมธรรม์ (Renewal) ของ New Health Standard ได้กำหนดเป็น Option ให้บริษัทสามารถปรับเงื่อนไขให้ผู้เอาประกันภัยมีส่วนร่วมจ่าย (Copayment) โดยประกันภัยสุขภาพแบบ Copayment จะสามารถชะลอการปรับเพิ่มเบี้ยประกันภัยได้ อีกทั้งจะส่งผลให้ราคาเบี้ยประกันภัยถูกลง อันจะส่งผลให้ประชาชนสามารถเข้าถึงประกันภัยสุขภาพได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

นางสาววสุมดี วสีนนท์ รองเลขาธิการ ด้านกำกับคนกลางและประกันภัยภูมิภาค สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้รับมอบหมายจาก นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ให้เป็นประธานเปิดงาน “โครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ประกันภัยเชิงรุกสู่ระดับภูมิภาคอย่างยั่งยืน ปี 2567” ซึ่งจัดโดยสำนักงาน คปภ. ภาค 3 (ขอนแก่น) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดเลย โดยมีนายอนุพงศ์ คำภูแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ ณ ห้องประชุมชัยพฤกษ์ โรงแรมเลย พาเลซ อำเภอเมือง จังหวัดเลย

ในโอกาสนี้ รองเลขาธิการ คปภ. ด้านกำกับคนกลางและประกันภัยภูมิภาค เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. มีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนทั่วประเทศเข้าถึงระบบประกันภัยและสามารถนำระบบประกันภัยใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม จึงได้จัดโครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ประกันภัยเชิงรุกระดับภูมิภาคอย่างยั่งยืนทั่วประเทศ รวม 9 ภาค และในครั้งนี้ได้เลือกจังหวัดเลย ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน คปภ. ภาค 3 (ขอนแก่น) เป็นพื้นที่จัดโครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ประกันภัยเชิงรุกสู่ระดับภูมิภาคอย่างยั่งยืน ปี 2567 โดยที่ผ่านมาจังหวัดเลยได้เผชิญกับความเสี่ยงภัยในด้านต่าง ๆ เช่น เหตุเพลิงไหม้อาคารพาณิชย์ครั้งใหญ่ใจกลางเมืองเลย และเหตุเพลิงไหม้โกดังโรงงานยางพาราที่อำเภอนาด้วง ส่งผลให้ทรัพย์สินและกิจการได้รับความเสียหาย ธุรกิจหยุดชะงัก ประกอบกับโครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของจังหวัดเลยมีลักษณะผสมกลมกลืนระหว่างภาคอุตสาหกรรมการเกษตรและการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยประชากรส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รองลงมา คือ การรับจ้าง การค้าขาย การอุตสาหกรรม การทำเหมืองแร่ อีกทั้งยังมีผู้ประกอบการรถรับนักท่องเที่ยวเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ

ทั้งนี้ จากสถิตินักท่องเที่ยวในปี 2566 มีจำนวน 3,434,706 คน ดังนั้น เพื่อตอบสนองความต้องการและผลักดันการประกันภัยให้เข้าถึงประชาชนในพื้นที่และใช้ระบบประกันภัยเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนจึงได้ลงพื้นที่ดำเนินโครงการดังกล่าวเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ได้แก่ การประกันภัยอุบัติเหตุ การประกันภัยรถตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 การประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย และการประกันชีวิต ผ่านการจัดกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “ระบบประกันภัย คุ้มครองชีวิต เลย ไม่คิด กังวล” 

โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจาก 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงาน คปภ. ภาค 3 (ขอนแก่น) สมาคมประกันวินาศภัยไทย สำนักงานวิสาหกิจชุมชนขนาดกลางและขนาดย่อมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจังหวัดเลย และเทศบาลเมืองเลย โดยมีผู้ร่วมรับฟังจำนวนกว่า 200 คน ประกอบด้วย กลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กลุ่มผู้ประกอบการรถนำเที่ยว กลุ่มกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และกลุ่มผู้นำชุมชนในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมบูธประชาสัมพันธ์ด้านการประกันภัยกว่า 18 บูธ จากเครือข่ายพันธมิตรด้านการประกันภัย เพื่อแนะนำผลิตภัณฑ์ประกันภัย บริการให้คำปรึกษาด้านประกันภัย และยังมีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดเลยอีกด้วย

นางสาววสุมดี วสีนนท์ รองเลขาธิการ ด้านกำกับคนกลางและประกันภัยภูมิภาค สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ประกันภัยเชิงรุกสู่ระดับภูมิภาคอย่างยั่งยืน ประจำปี 2567 “การประกันภัยกล้วยหอมทอง” โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ ณ หอประชุมอำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา

สำนักงาน คปภ. ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย โดยได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการประกันภัยการเกษตรกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เพื่อพัฒนาระบบประกันภัยให้เป็นกลไกในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยรูปแบบใหม่ ๆ หรือการนำผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีอยู่แล้วมาต่อยอดหรือขยายผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการประกันภัยพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ กล้วยหอมทอง

ดังนั้น ในปี 2567 จึงได้ลงพื้นที่อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อสำรวจแหล่งเพาะปลูกกล้วยหอมทองรายใหญ่ ซึ่งจากข้อมูลในพื้นที่สำนักงาน คปภ. ภาค 4 (นครราชสีมา) พบว่าอาชีพปลูกกล้วยหอมทองเริ่มจากการรวมตัวกันก่อตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในปี 2559 เกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่จากการปลูกมันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มาปลูกกล้วยหอมทอง เนื่องจากกล้วยหอมทองมีราคาดี และกลายมาเป็นบริษัท แปลงใหญ่กล้วยหอมทองสุขไพบูลย์ จำกัด ต่อมาในปี 2564 ผลิตและส่งออกกล้วยหอมทองได้มาตรฐาน GAP รวมถึงมีโรงคัดบรรจุตามระบบ GMP เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และปลอดภัยต่อผู้บริโภค ยกระดับมาตรฐานสินค้าสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรปีละไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่มีความเสี่ยงในเรื่องของราคาจึงสร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกกล้วย ประกอบกับมีบริษัทรับซื้อประกันราคาซื้อขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 19 บาท ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตกล้วยหอมทอง ณ ปัจจุบันยังไม่เพียงพอในการส่งออก กล่าวคือผลิตและส่งออกได้แค่ 5,000 ตัน ในขณะที่ความต้องการมีถึง 8,000 ตัน นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ เช่น ภัยแล้ง ภัยน้ำท่วม และภัยลมพายุ ซึ่งนับวันภัยต่าง ๆ จะทวีความรุนแรงมากขึ้นและยากต่อการป้องกัน ดังนั้น หากเกษตรกรได้นำระบบประกันภัยเข้าไปเป็นกลไกในการบริหารจัดการความเสี่ยงก็จะช่วยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้

การลงพื้นของสำนักงาน คปภ. ครั้งนี้ นอกจากสำรวจแหล่งเพาะปลูกกล้วยหอมทองแล้ว ยังมีกิจกรรมเสวนาความรู้ด้านการประกันภัย หัวข้อ “ชาวสวนกล้วยหอมทองอุ่นใจ ใช้ระบบประกันภัยคุ้มครอง” โดยมีการออกบูธนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัย และให้ความรู้ด้านการประกันภัย จากภาคอุตสาหกรรมประกันภัย โดยมีเกษตรกรและชาวสวน
ผู้ปลูกกล้วยหอมทองในพื้นที่ อำเภอเสิงสาง เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

เพื่อยกระดับบริษัทประกันภัยให้มีการปฏิบัติงานอย่างรอบคอบภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีมีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ร่วมกับ ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย และ นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย ร่วมแถลงข่าวการดำเนินการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัย กรณีบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย โดยมีผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) สมาคมประกันวินาศภัยไทย กองทุนประกันวินาศภัย และสื่อมวลชนเข้าร่วม ณ อาคารสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง ชั้น 2 สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ พร้อมทั้งถ่ายทอดการแถลงข่าวผ่านโซเชียลมิเดียของสำนักงาน คปภ.

เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่า  ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีคำสั่งที่ 1364/2567 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 และคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คณะกรรมการ คปภ.) มีคำสั่งที่ 19/2567 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 แต่งตั้งกองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้ชำระบัญชี บริษัท สินมั่นคงประกันภัยจำกัด (มหาชน) ดังนั้น สำนักงาน คปภ. สมาคมประกันวินาศภัยไทย และกองทุนประกันวินาศภัย จึงร่วมกันกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับไม่ให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยได้รับผลกระทบจากการที่บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย โดยข้อมูล ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2567 บริษัท สินมั่นคงฯ มีสินทรัพย์รวม 4,785.08 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 38,056.34 ล้านบาท โดยมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน 33,271.26 ล้านบาท บริษัทมีสินทรัพย์สภาพคล่องหลังหักภาระผูกพันคงเหลือจำนวน 2,228.28 ล้านบาท มีสินไหมทดแทนค้างจ่าย 484,204 เคลม วงเงิน 32,184.83 ล้านบาท แบ่งเป็นสินไหมทดแทนประกันภัยโควิด 19 จำนวน 356,661 เคลม วงเงิน 30,124.47 ล้านบาท และสินไหมทดแทนค้างจ่ายอื่น (Non-Covid 19) จำนวน 127,543 เคลม วงเงิน 2,060.36 ล้านบาท โดยมีกรมธรรม์ที่มีผลบังคับ 789,477 กรมธรรม์ แบ่งเป็นกรมธรรม์ประกันภัยประเภทรถ (Motor) จำนวน 366,458 กรมธรรม์ และกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่น (Non-Motor) จำนวน 423,019 กรมธรรม์

ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้กำหนดมาตรการเพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้เอาประกันภัยไว้โดยได้เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่สายด่วน คปภ. 1186 อีกทั้งมีการเพิ่มช่องทางพิเศษให้ประชาชนกดหมายเลข 8 เพื่อเข้าปรึกษากรณีบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จากัด (มหาชน) โดยเฉพาะ รวมทั้งจัดทำระบบเสียงอัตโนมัติในส่วนของคำถามที่ประชาชนสอบถามเข้ามาบ่อย ๆ เช่น เอกสารที่ต้องใช้ในการขอรับค่าสินไหมทดแทน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน และได้เพิ่มช่องทางการสื่อสารกับประชาชนผ่าน Application LINE คปภ. รอบรู้ โดยจะมีการตอบคำถามในรูปแบบของ Infographic หรือ ประชาชนประสงค์จะสอบถามข้อมูลโดยตรงจากเจ้าหน้าที่ก็สามารถทำได้เช่นกัน นอกจากนี้ มีการจัดทำข้อมูลเพื่อสื่อสารประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับประชาชน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตลอดจนมีการจัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวกในการคีย์ข้อมูลขอรับชำระหนี้ผ่านสำนักงาน คปภ. ภาค สำนักงาน คปภ. จังหวัด ทั่วประเทศ สำหรับการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นปัญหาฐานะการเงินและการจัดการภายในของบริษัทจึงจะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินหรือสภาพคล่องของบริษัทประกันวินาศภัยอื่น หรือธุรกิจประกันภัยในภาพรวมแต่อย่างใด

ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยถึงมาตรการช่วยเหลือของสมาคมประกันวินาศภัยไทย โดยผู้เอาประกันภัยสามารถติดต่อขอซื้อกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่กับบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการ โดยวันเริ่มต้นความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่ให้ถือว่าเป็นวันสิ้นสุดของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดิม โดยบริษัทที่เข้าร่วมโครงการจะคำนวณเบี้ยประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่ที่มีระยะเวลาความคุ้มครอง 1 ปี และจะคำนวณเบี้ยประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดิมในส่วนที่มีสิทธิได้รับคืนตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ เช่น ต้องการชื้อประกันภัยรถยนต์กับบริษัทที่เข้าร่วมโครงการเบี้ยประกันภัยฉบับใหม่ 10,000 บาท หากคำนวณเบี้ยประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดิมตามระยะเวลาที่มีเบี้ยประกันภัยคงเหลือ 4,000 บาท ดังนั้น ผู้เอาประกันภัยจะต้องชำระเบี้ยประกันภัยให้กับบริษัทที่เข้าร่วมโครงการเพื่อซื้อกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่ 6,000 บาท

ในส่วนแนวปฏิบัติในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีที่ 1 รถของผู้เอาประกันภัยกับบริษัท สินมั่นคงประกันภัยฯ เป็นฝ่ายผิด ให้บริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยรถฝ่ายถูก ดำเนินการจัดซ่อมรถตนเองและไม่ฟ้องไล่เบี้ยผู้เอาประกันภัย แต่จะไปยื่นขอรับชำระหนี้จากกองทุนฯ แทน หรือกรณีที่ 2 รถของผู้เอาประกันภัยกับบริษัท สินมั่นคงประกันภัยฯ เป็นฝ่ายถูก ให้บริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยรถฝ่ายผิด ดำเนินการจัดซ่อมหรือชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยของบริษัท สินมั่นคงประกันภัยฯ ที่เป็นฝ่ายถูก

สำหรับบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือมีจำนวน 9 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท กรุงไทยพานิชประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) บริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เออร์โกประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

ด้านนายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย เปิดเผยว่า ภายหลังจากมีการแต่งตั้งกองทุนประกันวินาศภัย เป็นผู้ชำระบัญชี บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตามคำสั่งที่ 19/2567 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ทางกองทุนฯ ได้ดำเนินการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการและจดทะเบียนเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทสินมั่นคงฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยภายใน 30 วัน นับแต่แต่งตั้งเป็นผู้ชำระบัญชี กองทุนฯ จะได้มีการประกาศลงในหนังสือพิมพ์ 3 ฉบับ ติดต่อกัน 3 วัน และส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงบรรดาเจ้าหนี้เพื่อแจ้งบอกเลิกกรมธรรม์และแจ้งให้เจ้าหนี้ยื่นคำทวงหนี้ โดยจะบอกเลิกกรมธรรม์และสิ้นสุดความคุ้มครอง ภายในวันที่ 8 กันยายน 2567 และจะเปิดให้ยื่นคำทวงหนี้ผ่านระบบ Online ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน-วันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 รวมระยะเวลายื่นคำทวงหนี้ 60 วัน สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่กองทุนประกันวินาศภัย หรือสำนักงาน คปภ. www.oic.or.th หรือสายด่วน คปภ. 1186 หรือผ่านช่องทาง LINE ‘คปภ.รอบรู้ @oicconect’

X

Right Click

No right click