December 23, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

AIA Employee Engagement

August 04, 2017 3462

องค์กรทุกองค์กรล้วนขับเคลื่อนด้วยบุคลากรที่อยู่ภายในองค์กร การจะทำให้องค์กรเติบโตก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ปัจจัยสำคัญที่ทุกองค์กรให้ความสำคัญคือการสร้างความผูกพันต่อองค์กรให้เกิดขึ้นในหมู่พนักงาน ซึ่งในธุรกิจครอบครัวมีสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว สมาชิกในครอบครัวรู้จักนิสัยใจคอกันและกันมาตั้งแต่เกิด ความผูกพันจึงเกิดมาพร้อมกับการเป็นสมาชิกของครอบครัว พร้อมกับความรู้สึกเป็นเจ้าของ

แต่สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีระบบบริหารจัดการที่แตกต่างกัน การคัดเลือกพนักงานที่มีภูมิหลังแตกต่างกันทั้งด้าน ถิ่นที่อยู่ การศึกษา ประสบการณ์การทำงาน มาร่วมกันทำงาน หน้าที่ขององค์กรจึงต้องสร้างความผูกพันต่อองค์กรให้เกิดขึ้นในใจของพนักงาน

การบริหารงานบุคคลซึ่งเป็นหน้าที่ของแผนกทรัพยากรบุคคลหรือ HR เดิมเคยใช้มาตรวัดในรูปแบบความพึงพอใจของพนักงานที่มีต่อองค์กร แต่เวลาก็พิสูจน์แล้วว่า วิธีเช่นนั้นยังไม่สามารถรักษาบุคลากรที่องค์กรต้องการเก็บไว้ได้ดีเท่าที่ควร แนวคิดเรื่องการสร้างความผูกพันต่อองค์กรของพนักงาน จึงเป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน

เอไอเอ ประเทศไทยเป็นอีกองค์กรหนึ่งที่เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างความผูกพันในองค์กรโดยมีการดำเนินการเรื่องนี้มาแล้วกว่า 3 ปี ศรัณยา เทียนถาวร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ให้ข้อมูลว่าเรื่องดังกล่าวทางทีมบริหารให้ความสำคัญเทียบเท่ากับผลประกอบการทางธุรกิจของบริษัท เนื่องจากต้องการให้พนักงานรู้สึกผูกพันกับองค์กรจากภายในของตัวเอง มีความกระตือรือร้นในการมาทำงาน มีความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน และพร้อมจะร่วมทุกข์ร่วมสุขกับองค์กรไม่ว่าธุรกิจจะอยู่ในขาขึ้นหรือขาลง และสามารถนำเอาศักยภาพของแต่ละบุคคลสร้างผลงานที่มีคุณภาพ ซึ่งจะสะท้อนออกมาเป็นการบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ

ศรัณยาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า 3 ปีที่ผ่านมามีการขอความร่วมมือจากพนักงานให้ทำแบบสำรวจความผูกพันต่อองค์กรที่จัดทำโดยแกลลัป เพื่อสำรวจทัศนคติและระดับความผูกพันที่พนักงานมีต่อองค์กร จากผลที่ได้จะนำมาใช้วิเคราะห์ปรับปรุงนโยบายการดูแลพนักงาน เพื่อเพิ่มระดับความผูกพันต่อองค์กรเอไอเอ

จากผลสำรวจซึ่งมีคำถามทั้งสิ้น 12 ข้อ รวมกับคำถามด้านความพึงพอใจอีก 1 ข้อ ทำให้ เอไอเอกำหนดกลยุทธ์ 2 ประการในการสร้างความผูกพัน ด้วย หนึ่ง การสร้างการรับรู้ เกี่ยวกับเรื่องความผูกพันต่อองค์กรให้พนักงานเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญว่าเกี่ยวข้องกับทุกคน และ สอง การแต่งตั้งตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงที่เรียกว่า Non-HR Sponsor เพื่อทำงานพร้อมกับฝ่ายทรัพยากรบุคคลในการกำหนดนโยบายและแนวทางการส่งเสริมการสร้างความผูกพันของพนักงานที่มีต่อองค์กร เพื่อตอกย้ำว่าการสร้างความผูกพันต่อองค์กรไม่ใช่เป็นเรื่องของแผนก HR เท่านั้น หากเป็นเรื่องที่ต้องร่วมกันสร้างทั้งองค์กรในทุกระดับ

อนุชา เหล่าขวัญสถิต ผู้จัดการทั่วไปและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายลงทุน เอไอเอ ประเทศไทย คือผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง Non-HR Sponsor กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เป็นความท้าทายของ เอไอเอประเทศไทย ที่มีพนักงานกว่า 2,000 คนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่จะให้เกิดความผูกพันต่อองค์กรเกิดขึ้น โดยเรื่องดังกล่าว จำเป็นจะต้องอาศัยกำลังของพนักงานทุกคน สิ่งสำคัญที่อนุชามองเห็นในการสร้างความผูกพันต่อองค์กร คือ การสื่อสารกับพนักงานให้เข้าใจในเรื่องดังกล่าว ผ่านหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน เพื่อให้เข้าใจเป้าหมายของบริษัท และร่วมกันหาวิธีปฏิบัติให้บรรลุผล

ศรัณยา เพิ่มเติมว่า มีตัวแทนพนักงานเป็น Engagement Champions ในทุกหน่วยงาน (ปัจจุบันมี 24 คนและกำลังเพิ่มจำนวนให้ลงไปในระดับหน่วยย่อยลงไปอีก) เพื่อเข้าถึงพนักงานทุกกลุ่ม และเสริมสร้างระบบการมอบอำนาจการตัดสินใจ (Empowerment) และความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของในหมู่พนักงาน โดย Engagement Champions จะมีบทบาทในการประสานนโยบายและกลยุทธ์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดผ่านการทำ Impact Plan ที่มุ่งหวังให้แผนแต่ละแผนมีการนำมาปฏิบัติให้เกิดผล โดยให้พนักงานในหน่วยงานร่วมกันเสนอแผนงานขึ้นมาตามหน้าที่ที่รับผิดชอบ

ตัวอย่างของแผน Impact Plan เช่นในฝ่ายทรัพยากรบุคคล มีการประชุมพูดคุยกันและพบปัญหาคือปริมาณงานที่ล้นเกินจำนวนคนในแผนก จึงมีการมองหาสาเหตุของเรื่องเหล่านี้ และจัดทำเป็นแผนงานการทำงานที่ช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว การทำเช่นนี้ทำให้พนักงานมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการทำงาน ขณะที่องค์กรได้ประโยชน์จากประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น พนักงานก็ได้ประโยชน์จากการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นไปพร้อมกัน 

ความรู้สึกร่วมกับการเป็นเจ้าภาพนี้คือคำตอบของการสร้างความผูกพัน การสื่อสารจึงเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจเพื่อให้เกิดระบบการมอบอำนาจการตัดสินใจในขอบเขตของอำนาจหน้าที่ของแต่ละบุคคล 

ผลของการปฏิบัติตามกลยุทธ์ที่วางเอาไว้ อนุชายกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ ว่า ในโปรแกรมที่ให้พนักงานซื้อหุ้นของบริษัทซึ่งจะเปิดปีละครั้ง จากเดิมที่มีจำนวนพนักงานซื้อหุ้นของบริษัทไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ในปี 2557 ที่ผ่านมา พนักงานถึงหนึ่งในสามที่ร่วมโปรแกรมนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่าพนักงานมีความมั่นใจในบริษัทและตัวผู้บริหาร

ศรัณยาสรุปว่า กิจกรรมของทางบริษัทที่ใช้วิธีรับอาสาสมัครเข้าร่วมกิจกรรมก็มีพนักงานเข้าร่วมเพิ่มขึ้น ทั้งนี้การสร้างความผูกพันจะช่วยองค์กรในหลากหลายเรื่อง เช่น การลาออกของพนักงานที่ลดลง การดูแลพนักงานที่แตกต่างกันในแต่ละรุ่นได้ดีขึ้น ช่วยให้พนักงานมีเส้นทางการเติบโตในองค์กรมีผู้บริหารที่ได้รับการคัดเลือกจากภายในเพิ่มขึ้น สะท้อนออกมาเป็นผลการดำเนินงานที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น ทั้งนี้ความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรที่มีเพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลต่อองค์กร โดยเอไอเอเชื่อว่า หากเสนอสิ่งที่ถูกต้องให้กับลูกค้า ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ด้วยคนที่เหมาะสม สร้างบรรยากาศการทำงานให้ทุกคนมีส่วนร่วม พัฒนาคนอย่างต่อเนื่อง จนทำให้พนักงานรู้สึกผูกพันและพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท ซึ่งจะส่งผลต่อผลประกอบการและความยั่งยืนขององค์กรต่อไป

เรื่อง : กองบรรณาธิการ

 

Last modified on Thursday, 26 September 2019 04:26
X

Right Click

No right click