หลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวที่เน้นการบริหารธุรกิจด้วยกฎหมายสำหรับผู้นำองค์กรชั้นนำ

จับมือพันธมิตรเสริมแกร่งทักษะ ‘ภาษา-บิสิเนส’ กุญแจสู่ความสำเร็จในอาชีพ

ช่วยลดปัญหาแรงงานลาออกเพื่อศึกษาต่อ เผยหลักสูตรยืดหยุ่น เรียนจบเร็ว พร้อมมีทุนการศึกษาจากภาคเอกชน

ปัจจุบันเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence)  ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กว่าปีเศษที่มีการใช้งาน Generative AI อย่างแพร่หลาย ทั้ง Chat GPT (Generative Pre-trained Transformer) รวมทั้ง AI ตัวอื่นอย่าง Gemini (ชื่อเดิม Bard) Copilot และ AI ตัวอื่น ๆ ถูกนำมาเป็นตัวช่วยในการทำงานต่าง ๆ ให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันหลายองค์กรเริ่มลดกำลังคนและนำ AI มาแทนที่มนุษย์ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้และใช้งาน AI เพื่อให้สามารถปรับตัว อยู่ร่วมและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ได้อย่างเต็มที่

ผศ.ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการทำงานของเทคโนโลยี AI มีความก้าวหน้าไปอย่างก้าวกระโดด มีการนำมาใช้งานในภาคส่วนต่าง ๆ มากมาย เราจะพบว่า AI มีความสามารถต่าง ๆ อย่างที่เราคาดไม่ถึงมากมาย เช่น การสร้างตัวตนเสมือน การวาดรูป การแต่งนิยาย การสร้างภาพวิดีโอ การแต่งเพลง การสร้างภาพสถาปัตยกรรม การสร้างผลงานทางศิลปะ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การแปลภาษา จึงเริ่มมีการนำ AI มาใช้งานต่าง ๆ ทั้งที่ซับซ้อนและไม่ซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ด้านการเกษตรที่นำ AI ช่วยดูแลฟาร์มทั้งระบบ หรือการใช้ AI มาช่วยนำเข้าข้อมูลโดยอัตโนมัติในสำนักงานต่าง ๆ  หรือ ด้านการเงินที่นำ AI ช่วยวิเคราะห์ซื้อขายสินทรัพย์ ด้านการธนาคารที่นำ AI มาประเมินการปล่อยกู้ หรือ ด้านสาธารณสุขที่ใช้ AI ในการวิเคราะห์โรค หรือ ด้านการขนส่งที่นำ AI มาขับเคลื่อนรถยนต์อัตโนมัติ เป็นต้น กล่าวได้ว่า AI สามารถเข้าไปอยู่ได้แทบจะทุกวงการรอบตัวเรา ดังนั้นเราจึงต้องปรับตัว อยู่ร่วมและเรียนรู้การใช้เทคโนโลยี AI ที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามการใช้ AI เสมือนเป็นดาบสองคม กล่าวคือ AI สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการทำงานได้ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากข้อมูลหรือผลลัพธ์ที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจาก AI ก็อาจจะเรียนรู้ข้อมูลที่ผิดหรือไม่ถูกต้องหรือละเมิดมาได้ ดังนั้นเราต้องประมวลและตรวจสอบให้ได้ว่าผลลัพธ์ที่ได้จาก AI มีอะไรที่ไม่ถูกต้องและอย่างไร ซึ่งต้องอาศัย Core Knowledge ของเราเองนั่นเอง เพื่อให้สามารถใช้งาน AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพและนำหน้า AI เปรียบเสมือนว่าเราคุยเรื่องใดเรื่องหนึ่งกับใครสักคน แล้วเรารู้ว่าคนที่เรากำลังคุยด้วยกำลังให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง !!

“แน่นอนที่องค์กรต่าง ๆ ต้องเริ่มมีการใช้งาน AI เพิ่มมากขึ้น  ในการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อเป้าหมายการให้บริการหรือผลประกอบการที่ดีขึ้น รวมทั้งการแข่งขันทางธุรกิจ แต่ AI ก็เป็นดาบสองคมเช่นกัน เช่น การสร้างข้อมูลลวง หรือ Deep fake หรือการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล หรือการสร้างผลงานด้วย AI โดยไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องและขัดเกลา รวมทั้งการคัดลอกผลงานหรือละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หรือการใช้ AI เพื่อส่งคำสั่งซื้อขายสินทรัพย์ต่าง ๆ จนผู้เล่นรายเล็กไม่เหลือรอด หรือการใช้ AI หาและใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ที่มีอยู่ หรือการส่งข้อมูลต่าง ๆ ที่ให้ลูกค้าโดยอัตโนมัติจาก AI โดยไม่มีการตรวจสอบ เป็นต้น ดังนั้นเพื่อป้องกันการใช้งานที่ไม่เหมาะสมหรือเสี่ยงต่อการคุกคามรวมทั้งเพื่อสร้างความปลอดภัย การมีกฎหมายเพื่อกำหนดกรอบหรือควบคุมการใช้งาน AI ให้อยู่ในกรอบที่ควรจะเป็น อะไรที่ไม่ควรให้ AI ทำงาน เป็นต้น ทั้งนี้ควรมุ่งเน้นแนวทางการใช้งานและผลลัพธ์ที่ถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญ ภาครัฐรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรตระหนักถึงเรื่องนี้”

ผศ.ดร.ชัยพร  กล่าวด้วยว่า เด็กยุคใหม่ควรเรียนรู้และใช้งาน AI ให้เป็นทักษะหนึ่งติดตัว เพื่อให้สั่งการ ใช้ประโยชน์ หรือเป็นผู้ตรวจสอบการทำงานของ AI ได้ ทั้งนี้ที่วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ หรือ CITE DPU ได้พยายามติดอาวุธให้นักศึกษา โดยอาจารย์ผู้สอนได้สอดแทรกความรู้เกี่ยวกับการใช้งานสั่งการหรือ prompt ตัว Generative AI ในทุกหลักสูตร เพื่อให้นักศึกษาใช้เป็น Soft Skill ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังมีการจัดอบรมอัพเดทการใช้งานสั่งการ Generative AI อาทิ การใช้ Chat GPT เป็นต้น แต่หากต้องการมุ่งเน้นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ก็สามารถเลือกเรียนหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ทั้งระดับ ปริญญาตรี-โท-เอก ที่มีเนื้อหา AI อยู่ในหลักสูตรแล้ว โดยในอนาคต CITE DPU ก็มีแผนพัฒนาหลักสูตรที่มีอยู่ให้สามารถสร้างและประยุกต์การใช้งาน AI ให้ลุ่มลึกมากยิ่งขึ้น โดยจะมีการแยกออกมาเป็นหลักสูตรวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ เพื่อรองรับสายอาชีพด้าน AI ต่อไป

“จากมุมมองของผู้ประกอบการในสายอาชีพวิศวกรรม หากเรามี Skill การใช้งานสั่งการ Generative AI ได้จะทำให้ได้เปรียบมากกว่าคนที่ทำงานด้วยวิธีเดิม ๆ ในการทำงาน ช่วยเพิ่มความเร็วในการทำงาน แต่ก็มีข้อควรระวังและต้องใช้งานให้เป็น แต่หากเราไม่ปรับตัวเราก็อาจถูก AI แทนที่ได้” ผศ.ดร.ชัยพร กล่าวทิ้งท้าย

วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ร่วมกับ  กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเวทีประชันคนรุ่นใหม่ “โครงการแข่งขันเกมจำลองบริหารธุรกิจนวัตกรรมและความยั่งยืน” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปีการศึกษา 2567 ครั้งที่ 2 จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ ปั้นคนรุ่นใหม่สู่สุดยอดนักกลยุทธ์ ติดอาวุธผู้ประกอบการในอนาคต เผยทีม Leppard โรงเรียนวารีเชียงใหม่คว้าแชมป์ไปครอง

ดร. รชฏ ขำบุญ คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในฐานะสถาบันการศึกษามุ่งมั่นในการพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้มีทักษะความเป็นผู้ประกอบการ และ ทักษะการตัดสินใจ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การจัดแข่งขันเกมจำลองบริหารธุรกิจนวัตกรรมและความยั่งยืน ครั้งที่ 2 ในปีนี้ทางวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  (DPU) ได้ร่วมกับ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานถ้วยรางวัลแก่ทีมชนะเลิศ โดยการแข่งขันที่จัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567  ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

โดย CIBA และกรมพัฒนาธุรกิจการค้าฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาเยาวชนของประเทศให้มีทักษะการเป็นผู้ประกอบการ โดยร่วมมือร่วมใจกันจัดงานวันนี้ เพื่อเป็นเวทีให้กับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา และอาชีวะศึกษา ได้ฝึกทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ผ่านโปรแกรม MonsoonSim

ดร. วรัญญู ศรีเชียงราย หัวหน้าหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) DPU และในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าวว่า CIBA จัดเวทีแข่งขันเกมจำลองบริหารธุรกิจนวัตกรรมและความยั่งยืน ครั้งที่ 2 เป็นเวทีที่ชวนน้อง ๆ ม.4-6, ปวช. 1-3 หรือเทียบเท่า มาร่วมเปิดประสบการณ์การทำธุรกิจ และพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur)

ในปีนี้มีน้อง ๆ จากทั่วประเทศให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมการแข่งขันมากถึง 38 ทีม โดยแบ่งออกเป็นทีมละ 3 ซึ่งเป็นการแข่งขันที่ใช้ทั้งความรู้ ความสามารถ ทักษะการคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจ การใช้เหตุผล และการทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นทักษะของการก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการในอนาคต ผ่านเกมจำลอง (Business Simulation) MonsoonSim ซึ่งเกมนี้เป็นการช่วยฝึกทักษะนักวางแผนโลกเสมือนที่สร้างความรู้ ความเข้าใจการดำเนินธุรกิจ และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ

“เกมจำลองนี้สามารถนำธุรกิจในโลกปัจจุบันมาให้น้อง ๆ ได้ฝึกคิด วิเคราะห์ดาต้า และวางแผนได้อย่างดี ทำให้เกิดการเรียนรู้ในกระบวนการซัพพลายเชน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ บริการต้นทุนอย่างไร และคู่แข่งขันเป็นใครบ้าง ซึ่งก็ได้ให้โจทย์ให้พัฒนาแผนกลยุทธ์เพื่อเจาะตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ดร. วรัญญู กล่าว

สำหรับการตัดสินใช้ตามเกณฑ์ชี้วัดทางธุรกิจ แบ่งเป็น Operation Expense, Space Utilization, Market Share, Revenue และ Net Profit โดยการแข่งขันเกม MonsoonSIM จะแบ่งเป็น 2 รอบ ๆ ละ 100 คะแนน  รวมเป็น 200 คะแนน

โดยรางวัลชนะเลิศในปีนี้ได้แก่ ทีม Leppard โรงเรียนวารีเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปีการศึกษา 2567 ครั้งที่ 2, รองชนะเลิศอันดับ 1 ทีม Blue Horizon โรงเรียนวารีเชียงใหม่, รองชนะเลิศอันดับ 2 ทีม BualoyMhoogrob โรงเรียนเทพศิรินทร์ นนทบุรี , รองชนะเลิศอันดับ 3 ทีม We Bare Bears โรงเรียนราชวินิต บางเขน กรุงเทพฯ

ส่วนทีมที่ได้รับรางวัลชมเชยได้แก่ ทีม FWB (friend with business) โรงเรียนวชิรธรรมสาธิต กรุงเทพฯ , ทีม LIPTON โรงเรียนเทพศิรินทร์ จ.นนทบุรี และ ทีม SB school โรงเรียนสว่างบริบูรณ์วิทยา จ.ชลบุรี

“การแข่งขันจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 มีความตั้งใจให้น้อง ๆ ได้เรียนรู้โลกธุรกิจก่อน โดยไม่ต้องรอจนกว่าจะเรียนจบแล้วออกไปทำงาน วันนี้ทุกคนที่เข้าร่วมการแข่งขันมีโอกาสใช้ทุกทักษะความรู้ด้านการตลาด การขาย และการบริหารจัดการต้นทุนสินค้าผ่านเกมจำลอง (Business Simulation) MonsoonSim ซึ่งเป็นการบ่มเพาะความรู้ก่อนที่น้อง ๆ ได้เข้าเรียนในระดับปริญญาตรี”  ดร. วรัญญู กล่าว

 ด้านทีม Leppard ที่คว้ารางวัลชนะเลิศ “โครงการแข่งขันเกมจำลองบริหารธุรกิจนวัตกรรมและความยั่งยืน” ครั้งที่ 2 ประกอบด้วย นายธนัท น่วมอนงค์ (จ๊อบ) , นายภูณภัฑฐ จูฑะพุทธิ (ภู) และ นายรอนนี่ นริศ สตุดวิค (รอนนี่)  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ห้อง IDIP (International Digital Innovation Program จาก โรงเรียนวารีเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

โดยผู้ชนะจากทีม Leppard ทั้ง 3 คน ร่วมกล่าวเปิดใจว่า “รวมทีมและเตรียมความพร้อมกันประมาณ 1 เดือนก่อนวันแข่งขันจริง และ เมื่อการแข่งขันเริ่มต้นได้รับโจทย์ให้วางแผนการทำตลาดน้ำผลไม้ ทำตลาดในเอเชียก็เริ่มวางแผนกันในเกม พร้อมกับแบ่งหน้าที่กันทำงาน ได้แก่ การนำเข้าส่งออกสินค้า การกำหนดราคา และการตลาด จากนั้นก็ช่วยกันวิเคราะห์ และกำหนดกลยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมอีเวนท์ การปรับราคาในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงการเลือกใช้มีเดีย ซึ่งจุดแข็งของทีมที่สามารถชนะในปีนี้ได้นั้น คิดว่าเป็นการวางแผนเพื่อลดต้นทุนและการกำหนดราคา  รวมทั้งการสื่อสารในทีมที่ทำกันได้ดี ตั้งใจว่าจะนำประสบการณ์ที่ได้รับในการร่วมแข่งขันนี้ไปใช้กับการทำธุรกิจในอนาคต”

โครงการแข่งขันเกมจำลองบริหารธุรกิจนวัตกรรมและความยั่งยืน ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปีการศึกษา 2567 เป็นอีกหนึ่งเวทีพัฒนาทักษะและแผนงานธุรกิจอย่างสร้างสรรค์ สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจยุคใหม่ที่ทุกคนต้องเตรียมพร้อมปรับตัวทางเทคโนโลยีและการสื่อสาร

“การพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้มีทักษะการวางแผน วิเคราะห์ ตัดสินใจ และการสื่อสาร พร้อมรับกับความท้าทายใหม่ ๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี AI ที่จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากกับการทำธุรกิจในอนาคต ซึ่งเป็นแนวทางการเรียนการสอนของ CIBA ที่เปิดโอกาสของการเรียนรู้ และมีประสบการณ์จริงระหว่างการศึกษา เพื่อให้ได้ฝึกคิดกลยุทธ์ แล้วหาคำตอบผ่านเกมจำลอง เพื่อปูทางสู่การเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในอนาคต” ดร. วรัญญู กล่าวเสริมในตอนท้าย

Page 2 of 8
X

Right Click

No right click