ตลอดจนสานเครือข่าย SE ให้เข้มแข็ง มี SE มากกว่า 100 กิจการ ที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการฯ และนำประสบการณ์ที่ได้รับจากโครงการฯ ผนวกกับจุดแข็งและโอกาสที่มีไปต่อยอดธุรกิจของตัวเองจนสามารถบรรลุเป้าหมายในมิติต่างๆ เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การพัฒนาการตลาดและสร้างแบรนด์จนมีชื่อเสียง การแตกไลน์ตลอดจนขยายสเกลธุรกิจ เป็นต้น ขณะเดียวกัน ข้อผิดพลาดหรือบทเรียนระหว่างการทำธุรกิจของ SE แต่ละรายก็เป็นสิ่งที่โครงการฯ ได้ติดตามเพื่อเป็น Case Study สิ่งเหล่านี้เปรียบเหมือน “คลังสมบัติ” ที่ตีมูลค่าไม่ได้ แต่สร้างพลังได้อย่างมากเมื่อเหล่าบรรดา SE มากประสบการณ์และ SE มือใหม่ในครอบครัว BC4C ได้โอกาสมารวมตัวกัน
ในปี 2564 นอกจากโครงการ BC4C จะยังคงเดินหน้าจัดกิจกรรมบ่มเพาะทักษะผู้ประกอบการรุ่นที่ 10 ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยนำองค์ความรู้และผู้รู้เข้ามาร่วมปูแนวทางให้กลุ่มผู้ประกอบการ SE มีความพร้อมในการเดินหน้าสู้กับสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว ยังเพิ่มกิจกรรมพิเศษ “SE Online Meet-up” เป็นครั้งแรก โดยเชิญรุ่นพี่ในเครือข่าย BC4C มาส่งมอบความรู้ ให้คำปรึกษา และแชร์ประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพ สร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งให้กลุ่มกิจการเพื่อสังคม พร้อมมุ่งเน้นการสนับสนุนเหล่าผู้ประกอบการให้บรรลุเป้าหมายที่ยั่งยืน ทั้งในแง่ของการสร้างผลกำไร และการสร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคม กิจกรรมนี้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่เรียนรู้จากรุ่นพี่ มองเห็นโอกาสและเชื่อมโยงการทำงานเพื่อสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการ SE ไปด้วยกัน
นายรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสาย สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ในปีที่ 10 ของโครงการ BC4C บ้านปูและ ChangeFusion ร่วมกันจัดกิจกรรมบ่มเพาะผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมในรูปแบบออนไลน์มาตลอดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงปัจจุบัน กิจกรรมล่าสุดอย่าง SE Meet Up นั้นทำให้บ้านปูในฐานะองค์กรเอกชนที่ดำเนินโครงการฯ ต่อเนื่องมาจนครบทศวรรษได้เห็นถึงความแข็งแกร่งของเครือข่ายชาว SE ที่ต่างช่วยกันเติมเต็มทักษะประสบการณ์ให้กันและกัน ด้วยเป้าหมายเดียวกัน คือการที่กิจการเพื่อสังคมนั้นสามารถไปต่อได้ในโลกแห่งความเป็นจริงทางธุรกิจ และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม หรือ Social Impact ได้อย่างแท้จริง การได้เห็นผู้ที่เคยเข้าร่วมโครงการฯ กลับมาแบ่งปันความรู้ให้แก่รุ่นน้องรุ่นที่ 10 ทำให้เราเชื่อว่าที่เราตั้งใจปลุุก passion ปั้นเครือข่าย หนุน SE นั้น สามารถก่อให้เกิดพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้จริง ซึ่งเราหวังว่าจะได้เห็นความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมจากการนำความรู้ที่ได้ไปใช้ดำเนินกิจการของ BC4C รุ่นที่ 10 ในไม่ช้านี้"
กิจกรรม SE Online Meet-up ในปีนี้จัดขึ้นรวม 3 ครั้ง โดยแต่ละครั้งก็จะมีวิทยากรรับเชิญที่เป็นรุ่นพี่ในโครงการ หรือเป็นรุ่นพี่ในแวดวง SE มาแชร์ประสบการณ์และมุมมองที่เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การขยายผลจากโครงการสู่กิจการ ที่ทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมองเห็นโอกาสในการขยายการเติบโตทางธุรกิจ (Scaling up) และพัฒนาจากไอเดียธุรกิจไปสู่การสร้างกิจการในระยะเริ่มต้น จากลูกค้าจากรายย่อยสู่ลูกค้าองค์กร หรือจากเอกชนสู่ภาครัฐ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นรุ่นน้องเห็นโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าอีกกลุ่มที่เป็นองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่มีกำลังซื้อและมีความตั้งใจที่จะสนับสนุนกิจการ SE ผ่านมุมมองของรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์การติดต่อธุรกิจกับองค์กรขนาดใหญ่มาก่อน รวมไปถึงการสร้างผลกระทบทางสังคมจากระดับเล็กสู่เชิงระบบ ที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในเป้าหมายการสร้างผลกระทบทางสังคมของกลุ่มกิจการ SE รุ่นใหม่ กระตุ้นให้พวกเขาทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์จากกิจการของพวกเขาเองมากขึ้น จนไปถึงการร่วมเป็นส่วนหนึ่งและเข้าถึงคนในชุมชนที่เป็นกลุ่มผู้ผลิต เหล่าผู้ประกอบการ SE ที่เข้าร่วมโครงการ BC4C ในรุ่นที่ 10 และได้มาร่วมกิจกรรม SE Online Meet-up มีความเห็นอย่างไรกันบ้าง ลองไปฟังกัน
ลักขณา แสนบุ่งค้อ BC4C รุ่นที่ 10 ผู้ประกอบการ Banana Land กิจการเพื่อสังคมที่ดึงจุดเด่นของชุมชนมาเพิ่มมูลค่า กล่าวว่า “เดิมเราได้พัฒนาชุมชนบ้านหนองบัว ตำบลภูหอ จังหวัดเลย จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบกับธุรกิจท่องเที่ยวอย่างมาก การเข้าร่วมโครงการ BC4C จึงเป็นเหมือนเข็มทิศนำทางที่ช่วยทำให้เรามีความเข้าใจโลกของธุรกิจและรู้จักหาทางออกโดยปรับตัวตามสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ในเครือข่ายของโครงการฯ ผ่านกิจกรรม SE Online Meet-up ช่วยสร้างแรงบันดาลใจและทำให้เราได้นำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้กับกิจการของเรา อย่างเช่น เมื่อธุรกิจท่องเที่ยวชุมชนต้องหยุกชะงักในช่วงนี้ เราได้นำสินค้าชุมชนมาทำการตลาดและจัดจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ส่วนหนึ่งเพื่อหารายได้ แต่ประโยชน์อีกส่วนคือแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของคนในชุมชน สร้างความมั่นใจในธุรกิจให้กับกลุ่มลูกค้าและช่วยกระตุ้นให้พวกเขากลับมาที่ชุมชนของเราเมื่อธุรกิจท่องเที่ยวสามารถเดินต่อได้อีกครั้ง ความรู้ความเข้าใจในเรื่องของธุรกิจที่ได้รับจากโครงการช่วยเสริมรากฐานให้ธุรกิจของเรามีความแข็งแรง และพร้อมที่จะขยายความมั่งคงและยั่งยืนไปสู่ชุมชนต่อไปได้”
ส่วนตฤณ รุจิรวณิช BC4C รุ่นที่ 10 ผู้ประกอบการ Food Loss Food Waste กิจการที่เปลี่ยนขยะอินทรีย์ให้มีมูลค่า พร้อมเดินหน้าอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “กิจกรรม SE Online Meet-up ของโครงการฯ ทำให้ผมได้เรียนรู้มุมมองและประสบการณ์ที่กลั่นกรองมาแล้ว โดยที่ไม่ต้องเสียเวลามาลองผิดลองถูกเอง สุดท้ายประโยชน์ที่ได้รับนั้นมีส่วนช่วยทำให้งานของเรามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ประหยัดเวลามากขึ้น รวมถึงได้รับทราบปัญหาของกิจการอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดโอกาสในการช่วยเหลือ แบ่งปัน และต่อยอดธุรกิจร่วมกันระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้องในโครงการ เช่น การที่ผมได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานกับภาครัฐที่ได้จากคุณสมศักดิ์ Local Alike และจากคุณสุรเสกข์ Toolmorrow ผมภูมิใจและดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย BC4C ในปีที่ 10 นี้ ซึ่งนับว่าเป็นปีที่มีความท้าทายอย่างยิ่ง ลำพังเพียงการบริการธุรกิจก็ยากแล้ว แต่ธุรกิจ SE ก็ต้องสร้างประโยชน์ให้สังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ฉะนั้น การรวมพลังเพื่อเป้าหมายใหญ่ที่มีร่วมกันจึงสำคัญมาก”
แม้ว่ากิจกรรม SE Online Meet-up นี้ จะถูกจัดในรูปแบบออนไลน์ด้วยข้อจำกัดของสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ก็สามารถเพิ่มพูนความรู้ให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม สร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้องในโครงการฯ และสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ SE ในประเทศไทยให้เติบโตแข็งแรงยิ่งขึ้นได้
ทางด้านสมศักดิ์ บุญคำ รุ่นพี่ BC4C รุ่นที่ 2 ผู้ประกอบการ Local Alike กิจการเพื่อสังคมด้านการท่องเที่ยวที่เน้นการพัฒนาชุมชนแบบยั่งยืน กล่าวว่า “การกลับมารวมตัวและถ่ายทอดวิชาความรู้และประสบการณ์ให้กับรุ่นน้องในโครงการ BC4C นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก ผมได้เห็นการพัฒนาการ ความเปลี่ยนแปลงในแต่ละรุ่น รวมถึงช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ก็ทำให้บริบทในการทำธุรกิจและการสร้างผลกระทบทางสังคมต่างไปด้วย เราเองก็ได้เรียนรู้วิธีการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ จากพี่ๆ น้องๆ ในโครงการด้วยเหมือนกัน โครงการ BC4C มีความตั้งใจในการมอบสิ่งดีๆ ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการมาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน กิจกรรมต่างๆ ที่โครงการจัดขึ้นเอื้อให้เกิด connection ในแวดวง SE ด้วยกัน และผมในฐานะรุ่นพี่ก็พร้อมที่จะมาช่วยรวมพลังระดมความคิดเพื่อช่วยให้ทุกคนสามารถฝ่าทุกวิกฤติไปได้ ผมคิดว่าการช่วยเหลืออุ้มชูกันภายในเครือข่ายผู้ประกอบการมีส่วนช่วยอย่างมาก ทำให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ในช่วงเวลาเช่นนี้”
สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงการโอบอุ้มกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กโดยองค์กรใหญ่ ที่มองลึกถึงผลบวกที่จะตามมาเมื่อกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคมเหล่านี้มีรากฐานที่มั่นคง ย่อมจะส่งผลกลับคืนสู่สังคมเพื่อสร้างความยั่งยืนในมิติต่างๆ และหลังจากการการเข้าร่วมกิจกรรมบ่มเพาะผู้ประกอบการที่เข้มข้นนี้ ผู้ร่วมโครงการ BC4C รุ่นที่ 10 จะได้นำความรู้ไปปรับพัฒนาแผนธุรกิจของตนเองให้มีประสิทธิภาพ และนำเสนอแผนธุรกิจกับทางโครงการอีกครั้ง เพื่อการคัดเลือกสุดยอดกิจการเพื่อสังคมรุ่นที่ 10 จำนวน 5 ทีม ที่จะได้รับเงินทุนสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อการต่อยอดธุรกิจต่อไป ผู้ที่สนใจสามารถร่วมให้กำลังใจ และติดตามเรื่องราวดีๆ ของกิจการเพื่อสังคมในโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่องสังคม หรือ BC4C ได้ที่ www.facebook.com/banpuchampions