ศ. นพ. อนันต์ ศรีเกียรติขจร คณบดี คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า คณะแพทยศาสตร์ สจล. ร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดโครงการ Doctor Train นำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ การพัฒนาวิจัย และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญ ของ สจล. ผนวกรวมกับศักยภาพของระบบรางรถไฟที่มีเส้นทางครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศของ รฟท. เพื่อยกระดับการบริการด้านสาธารณสุขให้เข้าถึงพื้นที่ห่างไกล และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนไทยทุกภูมิภาคอย่างยั่งยืน
คณะแพทยศาสตร์ สจล. มีเจตนารมย์ต้องการลดความเจ็บป่วยของคนไทย ตามแนวคิด "ป้องกันแทนการรักษา" โดยมุ่งเน้นให้บริการดูแลสุขภาพของประชาชนให้มีสุขภาพที่ดี ผ่านการตรวจสุขภาพและตรวจโรคตั้งแต่ยังไม่มีอาการ พร้อมแนะนำวิธีการดูแลสุขภาพอย่างถูกหลัก เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ และติดตามเฝ้าระวังเพื่อทำการรักษาได้ทันท่วงที ป้องกันการเกิดการลุกลามจนเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง อีกทั้ง ยังช่วยลดค่าใช้จ่าย และความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งแนวคิดดังกล่าวได้เป็นจุดริเริ่มการให้บริการทางการแพทย์ในโครงการ Doctor Train ครั้งนี้
โครงการ Doctor Train ออกแบบให้เป็นคลีนิคเฉพาะทางเคลื่อนที่ไปตามรางรถไฟ ภายใต้แนวคิด การให้บริการแพทย์ดูแลสุขภาพทางไกล (Telehealth) มุ่งดูแลสุขภาพก่อนการรักษา โดยนำทีมแพทย์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ออกเดินทางไปให้บริการทางการแพทย์กับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ นำร่องให้บริการทางการแพทย์ครั้งแรกที่ศูนย์บำรุงทางภาคใต้ สถานีชุมพร จังหวัดชุมพร ให้บริการตรวจโรคหัวใจ ตรวจคัดกรองจอประสาทตา และตรวจโรคทั่วไป โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเมื่อวันที่ 17 – 18 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมาโดยตั้งเป้าให้บริการพี่น้องชาวชุมพรจำนวน 200 คนต่อวัน
ด้าน รศ. ดร.คมสัน มาลีสี รักษาการแทนอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า สจล. เป็นสถาบันการศึกษามุ่งสู่การเป็นผู้นำนวัตกรรมระดับโลก มุ่งมั่นวิจัย พัฒนา สร้างสรรค์นวัตกรรมอยู่เสมอ โดยนำองค์ความรู้ พัฒนาวิจัยต่อยอดการให้บริการด้านสาธารณสุขเพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไทยโดยรวม ในอนาคตวางเป้าหมายสร้างโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร โดยใช้ระบบการให้บริการแพทย์ทางไกล (TeleMedicine) จะให้บริการสอบถามปัญหาสุขภาพทั่วไป การวินิจฉัยโรคเบื้องต้น ติดตามผลการรักษา ตลอดจนให้แนวทางการรักษาโรคผ่านช่องทางการสื่อสารอัตโนมัติ แชตบอต (Chatbot) ที่พัฒนาด้วยระบบเอไอ (AI) ช่วยลดการเสียเวลาเดินทางพบแพทย์ของคนไข้ นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลของคนไข้ ในรูปแบบบิ๊กเดต้า (Big Data) เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลจำนวนมาก ไปวิเคราะห์ ประมวลผล เป็นองค์ความรู้เพื่อนำไปพัฒนารูปแบบการรักษาคนไข้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งโครงการ Doctor Train นี้ จะเป็นหนึ่งในรากฐานการพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยให้ดียิ่งขึ้นต่อไป สจล. ยินดีที่เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะแพทยศาสตร์ สจล. โทรศัพท์ 02-329-8000 หรือเว็บไซต์ http://md.kmitl.ac.th/ หรือติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรมของสถาบันได้ทางเว็บไซต์ https://www.kmitl.ac.th หรือเพจเฟซบุ๊ก www.facebook.com/kmitlofficial