December 23, 2024
CSR

“โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” ก้าวสู่ปีที่ 35 ซีพีเอฟ มุ่งถ่ายทอดเทคโนโลยี สร้างความมั่นคงทางอาหารให้เยาวชน

November 07, 2022 811

ตลอดระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษ ที่ผ่านมา “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน”

ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ร่วมกันดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเยาวชนและเกษตรกรในชนบทห่างไกลทั่วประเทศ กลายเป็นหนึ่งในโครงการที่ร่วมบรรเทาปัญหาขาดแคลนโปรตีน สารอาหารที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโต ทั้งร่างกายและสมองของเยาวชนในชนบทได้อย่างเป็นรูปธรรม ช่วยสนับสนุนความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการที่ดีแก่เด็กนักเรียน และเดินหน้าสู่เป้าหมายโรงเรือน 1,000 แห่งในโรงเรียนในพื้นที่ชนบทห่างไกลทั่วประเทศ เพื่อผลักดันสู่ห้องเรียนอาชีพจากการเรียนรู้การเลี้ยงไก่ไข่ ขยายผลสู่ชุมชนเป็นคลังเสบียงในวิกฤตโควิด-19

นายสมคิด วรรณลุกขี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจไก่ไข่ ซีพีเอฟ เล่าว่า เครือซีพี ซีพีเอฟ ร่วมกับมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตาม "โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน" สานต่อเป็น "โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน" มาตั้งแต่ปี 2532 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดาร ได้บริโภคไข่ไก่โปรตีนคุณภาพดี ช่วยแก้ปัญหาทุพโภชนาการในเด็กนักเรียน ช่วยเสริมสร้างโภชนาการที่ดี และการเติบโตสมวัยทั้งด้านร่างกายและสติปัญญา จนถึงปัจจุบันมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ 930 โรงเรียน มีนักเรียนมากกว่า 180,000 คน และยังพัฒนาสู่แหล่งเรียนรู้การจัดการอาชีพเกษตรเชิงธุรกิจให้กับครู 12,000 คน และมีชุมชน 1,900 แห่ง ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ จากการได้บริโภคไข่ไก่สดใหม่ในราคาย่อมเยา ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิกฤตโควิด 3 ปีที่ผ่านมา โครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ กลายเป็นคลังเสบียงอาหารของชุมชน ช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้เป็นอย่างดี  

อีกเป้าหมายสำคัญของโครงการฯ คือการมุ่งสนับสนุนให้โรงเรียนสามารถสร้างแหล่งอาหารโปรตีนคุณภาพดีโดยฝีมือของนักเรียน เกิดการพัฒนาระบบการบริหารจัดการผลผลิต นำไปสู่ความยั่งยืนของโครงการฯ โดยมีเป้าหมายขยายโรงเรียนเพิ่มขึ้นปีละ 25 แห่ง คาดว่าภายในปี 2568 จะมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการฯ 1,000 โรงเรียน ขณะเดียวกัน ซีพีเอฟมุ่งถ่ายทอดเทคโนโลยีตอบรับยุคดิจิทัล ทั้งในระบบการเลี้ยง องค์ความรู้การจัดการมาตรฐาน รวมถึงการสื่อสารและการจัดการข้อมูล อย่างเช่นการใช้แอปพลิเคชันไลน์ (LINE) ในการสื่อสารกับโรงเรียนต่างๆเพื่อความสะดวกรวดเร็วและลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการใช้กูเกิลฟอร์ม (Google Form) รวบรวมข้อมูลทางออนไลน์ ทำให้ทราบข้อมูลที่รวดเร็วสามารถการวางแผนการผลิตได้อย่างเหมาะสม ถือเป็นการผลักดันเกษตรแผนใหม่และติดตามผลแบบออนไลน์อย่างเป็นรูปธรรม

ความมุ่งมั่นเพื่อเยาวชนไทยดังกล่าวทำให้หน่วยงานและองค์กรอื่นๆ เห็นความสำคัญของโครงการและเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่าย อาทิ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (Japanese Chamber of Commerce, Bangkok) หรือ JCC ที่สนับสนุนโครงการฯอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2543 รวมถึง บมจ.สยามแม็คโคร ที่ร่วมสนับสนุนโครงการฯ เดินหน้าสู่เป้าหมายการผลักดันให้โครงการฯนี้ กลายเป็นศูนย์เรียนรู้และคลังความรู้ในโรงเรียน ที่พร้อมเปิดรับชุมชนและโรงเรียนที่มีความสนใจ เข้ามาเรียนรู้อาชีพเกษตร เทคโนโลยีการจัดการฟาร์ม และการตลาด เพื่อนำโมเดลธุรกิจเกษตรฉบับย่อไปประยุกต์ใช้ในอาชีพต่อไป

“โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” ถือเป็นหนึ่งในโครงการที่ซีพีเอฟดำเนินการภายใต้ 3 เสาหลัก คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ในข้อ 2 การขจัดความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร และข้อ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคน ทุกช่วงอายุ โดยซีพีเอฟสนับสนุนโรงเรือน อุปกรณ์การเลี้ยง พันธุ์สัตว์ และอาหารสัตว์สำหรับการเลี้ยงรุ่นแรก (ระยะเลี้ยงประมาณ 60 สัปดาห์) โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย มีผู้เชี่ยวชาญของบริษัทให้ความรู้ ด้านเทคโนโลยีการเลี้ยงไก่ไข่ การติดตามผล การดูแลสุขภาพสัตว์ การจัดการโรงเรือน ตามหลักวิชาการและสุขาภิบาล เพื่อให้โครงการฯมีผลประกอบการที่ดี พร้อมให้คำแนะนำการบริหารจัดการผลผลิตและบัญชี พร้อมช่วยบริหารจัดการฟาร์มให้มีกำไรต่อเนื่อง มีเงินเข้ากองทุนสำหรับการเลี้ยงเองในรุ่นถัดไป ส่วนการเลี้ยงไก่ตั้งแต่รุ่นที่ 2 เป็นต้นไป โรงเรียนสามารถซื้อพันธุ์ไก่ไข่และอาหารในราคาพิเศษ โดยส่วนต่างราคาที่เกิดขึ้นมีซีพีเอฟเป็นผู้ให้การสนับสนุน

X

Right Click

No right click