เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC ร่วมกับ เทศบาลเมืองมาบตาพุด สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ขับเคลื่อนการจัดการขยะมูลฝอยผ่านภาคการศึกษา เพื่อปลูกฝังและพัฒนาเยาวชนต้นแบบด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในระดับมัธยมศึกษา เน้นให้เยาวชนได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง โดยบูรณาการบทเรียนด้านการจัดการขยะของโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร พร้อมจัดตั้งธนาคารขยะให้เป็นพื้นที่กิจกรรม และเรียนรู้เส้นทางของขยะรีไซเคิล รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการคัดแยกและรวบรวมขยะรีไซเคิล เพื่อหมุนเวียนกลับมาสร้างประโยชน์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน นอกจากนี้ ยังจะนำเว็บแอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” (KoomKah) ระบบดิจิทัลซึ่งพัฒนาโดย SCGC มาใช้ในการบริหารจัดการธนาคารขยะให้มีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มปริมาณการรีไซเคิล ลดการฝังกลบ และส่งเสริมแนวทางโรงเรียนเชิงนิเวศ หรือ Eco School ในจังหวัดระยองอย่างเป็นรูปธรรม
นายมงคล เฮงโรจนโสภณ รองผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่สายงานปฏิบัติการ บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC กล่าวว่า “SCGC ให้ความสำคัญกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งเสริมและเผยแพร่หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่ชุมชน เพื่อเพิ่มปริมาณขยะรีไซเคิล และลดการฝังกลบ ผ่านการให้ความรู้ด้านการจัดการขยะภายใต้โครงการ ‘ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ’ และพัฒนาเว็บแอปพลิเคชัน ‘คุ้มค่า (KoomKah)’ เพื่อช่วยบริหารจัดการข้อมูลให้แก่ธนาคารขยะ และได้ต่อยอดสู่โครงการ ‘ถุงนมกู้โลก’ เพื่อให้เยาวชนในระดับอนุบาลและประถมศึกษาได้เรียนรู้การจัดการขยะถุงนมที่มีจำนวนมากอย่างถูกต้อง โดยนำถุงนมใช้แล้วไปอัปไซเคิลเป็นเก้าอี้โรงเรียน ทำให้เยาวชนได้เห็นตัวอย่างจริงของการหมุนเวียนทรัพยากรอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งคาดหวังว่าโครงการต่างๆ จาก SCGC จะช่วยสร้างพฤติกรรมการจัดการขยะอย่างถูกต้องตั้งแต่วัยเด็ก และถ่ายทอดสู่ครอบครัวและชุมชนต่อไป”
“ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นการขยายผลโครงการด้านการจัดการขยะร่วมกับหน่วยงานราชการและโรงเรียนในพื้นที่ โดยเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมโรงเรียนเชิงนิเวศ หรือ Eco School มุ่งเน้นที่เยาวชนระดับมัธยมศึกษา เพื่อสร้างเยาวชนและโรงเรียนต้นแบบด้านการจัดการขยะและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยก่อนหน้านี้ SCGC ได้นำผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการคัดแยกขยะแก่นักเรียนและบุคลากรของโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคารแล้ว และจะต่อยอดด้วยการนำวัสดุรีไซเคิลโดยเฉพาะพลาสติกไปหมุนเวียนสร้างประโยชน์ พร้อมทั้งนำระบบดิจิทัล ‘คุ้มค่า (KoomKah)’ เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการของธนาคารขยะในโรงเรียนอีกด้วย ซึ่งเยาวชนสามารถเรียนรู้ได้จากการลงมือปฏิบัติจริง”
นายถวิล โพธิบัวทอง นายกเทศมนตรีเมืองมาบตาพุด เผยว่า “เทศบาลเมืองมาบตาพุด ร่วมมือกับหลายภาคส่วนในการขับเคลื่อนโครงการและกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดการขยะ เพื่อสร้างชุมชนที่สะอาดปลอดภัย ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมเล็งเห็นความสำคัญของการปลูกฝังเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชุมชนและประเทศในเรื่องการจัดการขยะ ในความร่วมมือครั้งนี้ ทางเทศบาลเมืองมาบตาพุด จะเข้ามาให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะแก่เยาวชนร่วมกับ SCGC พร้อมติดตามผลเพื่อพัฒนาปรับปรุงการให้ความรู้ รวมถึงจัดทำสถานีขยะอินทรีย์ เพื่อให้ขยะเศษอาหารและขยะอินทรีย์ได้ไปหมุนเวียนสร้างประโยชน์เป็นปุ๋ย ไม่ไปปนเปื้อนกับขยะอื่น ๆ ที่ยังสามารถนำไปรีไซเคิลได้ มุ่งสร้างกระบวนการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดปัญหาขยะในชุมชน และเพิ่มการรีไซเคิล”
นายฉกาจ พัฒนศรี ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด กล่าวว่า “สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด พร้อมให้การสนับสนุนโครงการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการจัดการขยะแก่เยาวชน โดยร่วมสนับสนุนอุปกรณ์การคัดแยกขยะ อาทิ ถุงใส่ขยะ และอุปกรณ์คัดแยกขยะอินทรีย์ เป็นต้น เพื่อให้เยาวชนและทางโรงเรียนได้ใช้ประโยชน์ ส่งเสริมการเรียนการสอนผ่านการลงมือปฏิบัติจริง และสนับสนุนธนาคารขยะในโรงเรียนให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าเยาวชนจะเป็นกำลังสำคัญในการสื่อสาร และส่งต่อพฤติกรรมการจัดการขยะให้แก่ชุมชนภายนอกต่อไป”
นายวิชัย ยิ่งประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร กล่าวเสริมว่า “SCGC ได้มาอบรมให้ความรู้พื้นฐานเรื่องการคัดแยกขยะภายในโรงเรียนให้นักเรียนและบุคลากรได้มีความรู้ความเข้าใจในการคัดแยกวัสดุต่าง ๆ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ความร่วมมือของภาครัฐ และเอกชน ร่วมกับทางโรงเรียนในครั้งนี้ ถือเป็นการบูรณาการความรู้ทั้งในและนอกห้องเรียนให้เยาวชนได้ต่อยอด เกิดการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ ค่ายการจัดการขยะ การศึกษาดูงานบ่อขยะและธนาคารขยะชุมชน กิจกรรมเรียนรู้การแยกขยะกับธนาคารขยะ เป็นต้น มุ่งสร้างเยาวชนที่มีความรู้ความเข้าใจพร้อมเป็นเยาวชนต้นแบบ สามารถสื่อสารถึงความสำคัญ กระบวนการ และผลลัพธ์ของการจัดการขยะอันเป็นหัวใจสำคัญของหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนแก่สาธารณะได้”
โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร จ.ระยอง มีนักเรียนจำนวนกว่า 3,000 คน ซึ่งเป็นนักเรียนในระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย และมีบุคลากรในโรงเรียนกว่า 180 คน สำหรับขยะภายในโรงเรียนที่พบเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ ขยะเศษอาหาร ขวดน้ำดื่มพลาสติก และภาชนะกระดาษ