November 22, 2024
CSR

โครงการ ไฟ-ฟ้า เพื่อชุมชน โดยมูลนิธิทีทีบี จับมือ พอช. พัฒนาเศรษฐกิจ สร้างชุมชนเข้มแข็ง

March 21, 2023 619

สานต่อกิจกรรม “เปลี่ยน” เพื่อชุมชนดีขึ้นอย่างยั่งยืน

โครงการ ไฟ-ฟ้า เพื่อชุมชน โดยมูลนิธิทีทีบี สานต่อกิจกรรม “เปลี่ยน” เพื่อชุมชนดีขึ้นอย่างยั่งยืน ลงนามบันทึกความร่วมมือกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ด้านการ “พัฒนาขบวนองค์กรชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลและภาคตะวันออก มุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนตามความต้องการของชุมชนและผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ ผ่านการดำเนินงานสนับสนุนช่วยเหลือชุมชนในด้านต่าง ๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

โดยในปี 2565 มูลนิธิได้เข้าไปสนับสนุนชุมชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในด้านต่าง ๆ ในเครือข่ายของ พอช. จำนวน 4 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านมั่นคงสวนพลู ชุมชนบ้านมั่นคงใจเดียวกัน ชุมชนบ้านประชารัฐไทยมุสลิมสามัคคี และชุมชนปทุมธานีโมเดล

นางสาวมาริสา จงคงวุฒิ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารกิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืน ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ผู้แทนจากมูลนิธิทีทีบี กล่าวว่า มูลนิธิทีทีบีมุ่งสานต่อกิจกรรมสังคมมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอกย้ำการขับเคลื่อนองค์กรตามแนวคิด Make REAL Change ผ่านกิจกรรม “เปลี่ยน” ชุมชนเพื่อความยั่งยืน (fai-fah for Communities) ที่ให้อาสาสมัครทีทีบีได้รวมพลังกันจากทุกภาคส่วน เพื่อนำความรู้ความสามารถด้านต่าง ๆ อาทิ ความรู้ทางการบัญชีและการเงิน การสร้างแบรนด์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การขายและการตลาด เป็นต้น ช่วยจุดประกายการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายดำเนินงานสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในกรอบสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 9  ปี มีชุมชนเข้าร่วมโครงการ 236 ชุมชน ทั้งนี้ ในปี 2565 มูลนิธิทีทีบีได้พัฒนาชุมชนจำนวน 27 โครงการทั่วประเทศ และมีชาวชุมชนได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมกว่า 40,000 ราย

“ในปี 2566 เรายังคงมุ่งดำเนินกิจกรรม “เปลี่ยน” ชุมชนเพื่อความยั่งยืน โดยร่วมมือกับหลายภาคีเครือข่าย และ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ก็เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนกิจกรรม เพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ผ่านการดำเนินงานสนับสนุนช่วยเหลือชุมชนในด้านต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาองค์ความรู้ ด้านการพัฒนาทักษะอาชีพ ด้านความรู้เรื่องบัญชีการเงิน ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสื่อประชาสัมพันธ์ เป็นต้น เพื่อร่วมกันจุดประกายการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน” นางสาวมาริสา กล่าว

ด้านนางสาวเฉลิมศรี ระดากูล  รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. กล่าวว่า วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ที่สำคัญของ พอช. คือ การเป็นองค์กรของประชาชนที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งของสังคมจากฐานรากด้วยพลังองค์กรชุมชนและประชาสังคมมีบทบาทในการสนับสนุนการพัฒนาความเข้มแข็งองค์กรชุมชนและประชาสังคม ให้เป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนในด้านต่าง ๆ ทั้งการพัฒนาที่อยู่อาศัย สวัสดิการชุมชน เศรษฐกิจชุมชน สภาองค์กรชุมชน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนในเมืองและชนบท ซึ่งด้วยบทบาทภารกิจที่สอดคล้องกัน พอช. มีความยินดีที่ได้ร่วมลงนามกับมูลนิธิทีทีบี ในการดำเนินกิจกรรม “เปลี่ยน” เพื่อชุมชนดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป เพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ โดย พอช. จะเพิ่มบทบาทในการร่วมสำรวจชุมชนและติดตามผลการดำเนินโครงการหลังส่งมอบโครงการ ซึ่งเชื่อว่าการร่วมมือกับมูลนิธิทีทีบีจะเป็นการสนับสนุนต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนได้อย่างยั่งยืน”

นอกจากนี้พิธีลงนามระหว่างมูลนิธิทีทีบี และ พอช. ยังมีตัวแทนชุมชนในเครือข่าย พอช. จำนวนกว่า 20 ชุมชนเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเรียนรู้การดำเนินงานของมูลนิธิทีทีบี และ พอช. เพื่อเป็นแนวทางในการร่วมโครงการต่อไป โดยมีตัวแทนจากชุมชนที่ได้เข้าร่วมเมื่อปี 2565 มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเข้าร่วมกิจกรรมและผลสำเร็จที่ผ่านมา

โดยชุมชนบ้านประชารัฐไทยมุสลิมสามัคคี รังสิต ปทุมธานี กล่าวว่า “ในชุมชนมีสมาชิก 98 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่ทำอาชีพค้าขายและรับจ้างที่มีรายได้น้อย ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้รับผลกระทบมาก ผู้นำและกรรมการชุมชนลองเลี้ยงปลาดุกขายเพื่อสร้างรายได้ แต่ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมต่อไปได้ เพราะไม่มีความรู้และบริหารจัดการไม่ถูกต้อง เมื่อมูลนิธิทีทีบี และ พอช.เข้ามาสำรวจปัญหา รวมถึงความต้องการของชุมชน จึงเลือกเรียนรู้เรื่องการเลี้ยงปลาดุก เริ่มตั้งแต่การเพาะพันธุ์จนถึงการเลี้ยงปลา โดยวิทยากรจากกรมประมง และได้ต่อยอดเรียนรู้เรื่องแปรรูปผลิตภัณฑ์จากปลา พร้อมทั้งการออกแบบบรรจุภัณฑ์และแนะนำวิธีขายออนไลน์ผ่านเพจ Facebook ซึ่งมีปลาเส้นเป็นสินค้าขายดี ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่ม นอกจากนี้ ยังมีความรู้เรื่องการทำบัญชี เพื่อคำนวณต้นทุนและกำไรให้เหมาะสม รวมถึงมีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน สร้างอาชีพและมีรายได้โดยไม่ต้องออกไปใช้แรงงานข้างนอก ทำให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

ด้านตัวแทนจากชุมชนบ้านมั่นคงใจเดียวกัน เขตบางพลัด กรุงเทพฯ ที่เกิดจากการรวมตัวกันของ 5 ชุมชนที่มีปัญหาที่พักอาศัย มีสมาชิก 37 ครัวเรือน เล่าว่า สมาชิกส่วนใหญ่ทำอาชีพรับจ้างและค้าขาย ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 หลายครัวเรือนขาดรายได้ จึงร่วมกันปลูกผักสวนครัวในชุมชนเพื่อลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้เล็กน้อย ซึ่งเมื่อมูลนิธิทีทีบีเข้ามาได้ช่วยพัฒนาขยายผลไปสู่การสร้างโรงเพาะเห็ดในชุมชน โดยจัดกิจกรรมเรียนรู้การเพาะเห็ดกับผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญ ตั้งแต่กระบวนการเริ่มเพาะเห็ด การแปรรูปเห็ด ไปจนถึงการกำจัดถุงหัวเชื้อเห็ดที่ใช้แล้วอย่างไรไม่ให้เกิดมลพิษ นอกจากนี้ ยังให้ความรู้เรื่องการทำบัญชี ที่สำคัญการมีกิจกรรมร่วมกันทำให้ชุมชนเกิดความสัมพันธ์อันดีและมีรายได้เสริม ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งจากการขายผลิตภัณฑ์ จะนำมาเป็นเงินกองทุนสำหรับช่วยเหลือดูแลคนในชุมชน เกิดเป็นชุมชนเข้มแข็งที่พึ่งพาตัวเองได้”

ปิดท้ายที่ชุมชนบ้านมั่นคงสวนพลู เขตสาทร กรุงเทพฯ กล่าวว่า “สมาชิกส่วนใหญ่ในชุมชนที่มีอยู่ 249 ครัวเรือน ประกอบอาชีพค้าขาย ซึ่งมูลนิธิทีทีบีได้เข้ามาช่วยด้านการแนะนำและออกแบบตราสินค้าให้ชุมชน ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น แหนมหมู แคปหมู ขนมนางเล็ด และยาดม นอกจากนี้ ให้ความรู้เรื่องวิธีการขายสินค้าบนช่องทางออนไลน์ สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนเพิ่ม ในขณะที่ผู้สูงอายุได้มีกิจกรรมทำร่วมกับคนอื่น ส่งผลให้มีสุขภาพจิตที่ดี และเกิดความสามัคคีขึ้นในชุมชน มีการแบ่งปันความรู้ในการทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมทั้งทำให้มีความรู้เรื่องการทำบัญชีต้นทุน-กำไร ซึ่งสิ่งที่ภาคภูมิใจ คือ ตอนนี้ชุมชนได้มีตราสินค้า ได้รับความสนใจและเป็นที่รู้จักมากขึ้น มีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาดูงานอย่างต่อเนื่อง”  

Related items

X

Right Click

No right click