ภาพของอาสาสมัครที่ทยอยมารับถุงมือ หยิบคราด ไม้กวาด ก่อนเดินเรียงแถวเข้าไปที่ชายป่าใกล้ชุมชน แล้วเริ่มกวาดใบไม้แห้งออกไปกองรวมด้านข้าง เปิดทางเป็นแนวกว้าง 6-8 เมตรให้มีแต่พื้นฝุ่นดินให้เป็นแนวยาวตลอดรอบชายป่าสำหรับเป็นแนวกันไฟ อาจดูเหมือนเป็นงานเล็ก ๆ ไม่ได้ยากเย็น แต่สำหรับชุดปฏิบัติการเหยี่ยวไฟและคนในชุมชนใกล้เคียง กิจกรรมเล็ก ๆ นี้คือ กำลังใจอย่างดีที่ช่วยให้พวกเขารู้สึกว่าไม่โดดเดี่ยว และพร้อมทำหน้าที่ดูแลป่าไม้ ป้องกัน และควบคุมไฟป่าต่อไป
นางสาวจันทร์เพ็ญ เกษตรสินธ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่าเชียงใหม่ และหัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวไฟเชียงใหม่ เล่าว่าสถานการณ์ไฟป่าในปี 2566 นี้ มีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากกว่าทุกปี “ปีนี้เราเริ่มเข้าสู่ช่วงเอลนีโญ่ ซึ่งจะวนรอบมาทุก ๆ ประมาณ 4 ปี นับตั้งแต่ต้นปีนี้มา แล้งมาก มีฝนตกแค่ครั้งเดียวเท่านั้น แต่สำหรับพื้นที่ป่าไม้ ป่าสงวนแห่งชาติในพื้นที่รับผิดชอบของเราคือ เชียงใหม่ ปีนี้มีจุด hotspot แล้วเป็นพันจุดตั้งแต่ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงที่ไฟป่ามีความรุนแรงที่สุดของปีคือช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน”
จากสถิติของกรมป่าไม้ พบว่าตั้งแต่เริ่มปีงบประมาณปัจจุบัน จนถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ในภาคเหนือเพียงภูมิภาคเดียว มีการเกิดไฟป่าแล้ว 759 ครั้ง มีพื้นที่ป่าไม้ที่ได้รับผลกระทบ 16,959.21 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นไฟป่าในจังหวัดเชียงใหม่ 344 ครั้ง และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรวม 8,588 ไร่ หรือประมาณครึ่งหนึ่งของทั้งหมด และถ้าเทียบกับปีก่อนหน้านี้ในช่วงเดียวกัน จังหวัดเชียงใหม่เกิดไฟป่า 138 ครั้ง และมีพื้นที่ถูกไฟไหม้ 2,298 ไร่
ไฟป่า เป็นภัยที่เกิดขึ้นทุกปีและส่งผลกระทบโดยตรงต่อป่าไม้ สัตว์ และผลกระทบทางอ้อมต่อชุมชนที่อยู่ใกล้บริเวณที่เกิดไฟป่า รวมทั้งฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ทั่วภูมิภาคในขณะนี้
ฝุ่น PM2.5 เราทราบกันว่าเล็กจนขนจมูกเรากรองไม่ได้ และฝุ่นจะเข้าสู่ร่างกายไปสะสมที่ปอดโดยตรง เท่ากับการตายผ่อนส่ง เจ้าหน้าที่ด่านหน้าของเราที่ต้องเข้าเผชิญไฟโดยตรง ต้องเสี่ยงอันตรายทั้งจากไฟ และจากฝุ่นพวกนี้ทุกวัน ยิ่งช่วงพีคของไฟป่า เราทำงานกันทั้งกลางวันกลางคืน ความเสี่ยงยิ่งมากขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่ที่เกิดไฟป่ามักอยู่ในป่าลึกซึ่งเข้าถึงได้ยากมาก
ไฟป่าเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีเริ่มตั้งแต่ปลายฤดูฝน และตลอดฤดูแล้ง โดยเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ที่สำคัญที่สุด คือ การกระทำของมนุษย์ การเพิ่มจำนวนประชากร ทำให้เกิดความต้องการใช้ทรัพยากรมากขึ้นเพื่อเลี้ยงปากท้อง การที่คนต้องเข้าไปหาของป่ามากขึ้น ทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดไฟป่าเพิ่มขึ้น เช่น การจุดไฟในป่าแล้วดับไม่สนิท ยิ่งในฤดูแล้ง ใบไม้แห้งทับถมกันมาก ยิ่งทำให้ไฟลามเร็วและรุนแรงมากขึ้น
นางสาวจันทร์เพ็ญอธิบายว่า ในระยะ 10 ปีหลังมานี้ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนในการจัดการเชื้อเพลิงและให้ความรู้เกี่ยวกับไฟป่ามีมากขึ้น ทำให้การควบคุมไฟป่ามีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ว่าจำนวนการเกิดไฟป่าจะเพิ่มมากขึ้นก็ตาม
ในระดับนโยบาย ผู้ว่าราชกาจังหวัดรและส่วนราชการต่าง ๆ ได้ประสานงานกัน และได้มีการให้อำนาจแบบ single command แก่หัวหน้าส่วนราชการ ทั้งระดับจังหวัด อำเภอและท้องถิ่นในการสั่งการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทุกแห่ง ทำให้การเฝ้าระวัง ควบคุม และการดับไฟมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการเฝ้าระวังพื้นที่สำคัญเป็นพิเศษ เช่น บริเวณรอบๆ ดอยสุเทพ และพื้นที่ที่เกิดไฟป่าบ่อยครั้ง
นอกจากนี้ ยังมีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน การจัดการเชื้อเพลิงในหลายรูปแบบผสมผสานกัน เช่น การถางทำแนวกันไฟ การ “ชิงเผา” คือการนำใบไม้แห้งไปเผาเสียก่อนที่จะปล่อยให้เกิดไฟป่า ซึ่งต้องมีการควบคุมและดูจนดับสนิทเพื่อลดปริมาณเชื้อไฟตามธรรมชาติ การนำใบไม้กิ่งไม้แห้งไปทำปุ๋ย การเพิ่มมูลค่าเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดความร่วมมือ
แต่ปัญหานี้ แก้ไม่ได้ง่ายๆ เราอาจจะจัดการเชื้อเพลิงได้ แต่ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้และทำให้แก้ปัญหาได้ยาก นั่นคือเรื่องของจิตสำนึก อย่างที่ทราบกันว่าสาเหตุสำคัญของการเกิดไฟป่า คือ มนุษย์ และความเชื่อว่าหลังมีไฟป่าแล้วพืชพรรณจะแตกใหม่มากกว่าเดิม ซึ่งไม่จริงและยังสร้างความสูญเสียในเชิงทรัพยากรมากมหาศาล การแก้ไขที่สำคัญ คือ การสร้างจิตสำนึกให้มากพอที่จะลบล้างความเชื่อเก่า ๆ ซึ่งต้องใช้เวลา ต้องทำให้คนที่เขาไม่เห็นด้วยหรือคิดต่าง ได้เห็นว่าสิ่งที่เขาทำนั้นมีผลกระทบต่อตัวเขาเองอย่างไร
หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จึงได้ร่วมกันให้ความรู้ จัดการฝึกอบรมผ่านสื่อต่างๆ ผ่านกิจกรรมกับประชาชนในทุกระดับ เพื่อให้ทุกคนทราบถึงผลกระทบ และสิ่งที่แต่ละคนจะช่วยได้ รวมถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บุกรุก เผาป่าให้กลายเป็นเครือข่ายดูแลรักษาป่า
ภาคเอกชนเองก็มีความสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหา อาทิ การร่วมกิจกรรมวันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า 24 กุมภาพันธ์ การจัดกิจกรรมอาสาทำแนวกันไฟ การบริจาคอุปกรณ์เครื่องมือในการป้องกันและดับไฟ เช่น นิสสัน ที่ได้ร่วมมือกับดีลเลอร์ในการให้ยืมระกระบะ นิสสัน นาวารา 2 คันสำหรับทีมเหยี่ยวไฟใช้ในช่วงที่ถือได้ว่าเป็นช่วงพีคของการเกิดไฟป่า เพื่อให้เข้าถึงพื้นที่ที่เกิดไฟป่าได้เร็วขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่กันดารต้องอาศัยยานพาหนะที่มีความบึกบึน ทนและสมรรถนะดี สามารถขนอุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็นได้มากขึ้น
อิซาโอะ เซคิกุจิ ประธาน นิสสัน ประเทศไทย กล่าวว่า “นิสสันดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมานานกว่า 70 ปี และถือว่าเราเป็นสมาชิกของสังคมไทยที่มีหน้าที่ปกป้องดูแลทรัพยากรเช่นเดียวกับชาวไทยทุกคน เราตระหนักดีว่าในฤดูแล้งนั้น ไฟป่าเป็นปัญหาระดับชาติที่ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ แต่ยังทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 ที่เป็นภัยต่อสังคมในวงกว้าง การป้องกันและดับไฟที่จุดเกิดเหตุจึงเป็นภารกิจที่สำคัญและต้องอาศัยความกล้าที่จะเผชิญทุกความท้าทายในการระงับปัญหานี้ เราจึงได้สนับสนุนด้วยการให้ยืม นิสสัน นาวารา รถกระบะที่มี DNA แห่งความทนทานพร้อมลุยที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น และได้มอบอุปกรณ์ที่จำเป็น เพื่อช่วยให้คนที่เป็นด่านหน้าสามารถเผชิญและพิชิตไฟป่าได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ในช่วงเวลาที่สถานการณ์ไฟป่ารุนแรงที่สุดของปี”
นางสาวจันทร์เพ็ญกล่าวเสริมว่า “นอกจากความตระหนักแล้ว คนที่ปฏิบัติงานด้านหน้าแค่ต้องการกำลังใจ ขอให้คนในเมืองช่วยเป็นกระบอกเสียงสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับไฟป่า การป้องกัน ขอให้ไม่ทิ้งกัน อย่างน้อยได้ทราบว่าเราทุ่มเทกันมากแค่ไหนเท่านี้ก็พอ”