บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด จัด “กิจกรรม TSI-The Wisdom Workshop รู้ครบ… จบทุกปัญหาธุรกิจ” ครั้งที่ 3 “ตอนยอดขายร่วง ต้นทุนจม” ณ กลุ่มตัดเย็บเสื้อโปโล ฮาร์ท โอทอป จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อเร็วๆ นี้
โดยที่ผ่านมา ได้มีการจัดกิจกรรมไปแล้ว 2 ครั้ง ที่จังหวัดสระบุรี และขอนแก่น ซึ่งได้รับการตอบรับเข้าร่วมกิจกรรมเป็นอย่างดี จากกลุ่มประชาชนผู้ทำธุรกิจ SME ในท้องถิ่น เข้ารับฟังแนวทางการเรียนรู้ของระบบการผลิตแบบโตโยต้า (TPS) และหลักการไคเซ็น เพื่อนำไปเป็นแนวทางสำหรับประยุกต์แก้ไขปัญหา ปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ สู่การทำธุรกิจแบบมืออาชีพ ลดต้นทุน ลดความสูญเสีย และเพิ่มกำไรอย่างต่อเนื่อง
คุณสานิต ชุนชี ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการผลิตแบบโตโยต้า กล่าวว่า แนวคิด “ไคเซ็น” เป็นแนวคิดสำคัญที่โตโยต้า ตั้งใจถ่ายทอดสู่ชุมชน คำว่า “ไคเซ็น” มาจากภาษาญี่ปุ่น 改善 ซึ่งแปลว่า “การปรับปรุง โดยคำนี้มาจากคำว่า 改 – Kai ที่แปลว่า “การเปลี่ยนแปลง” และ 善 – Zen ที่แปลว่า “ดี” แนวคิด Kaizen จึงหมายถึงหลักในการปรับปรุงและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น เมื่อผสานกับหัวใจการผลิตของโตโยต้าคือ ส่งมอบของที่ใช่ ด้วยปริมาณที่ใช่ ในเวลาที่ต้องการ ควบคุมต้นทุนคุณภาพให้เหมาะสม ซึ่งจะนำไปสู่ความพึงพอใจของลูกค้า รายได้มั่นคงของพนักงาน และผลประกอบการที่ยั่งยืน
และสำหรับครั้งที่ 3 ณ กลุ่มตัดเย็บเสื้อโปโล ฮาร์ท โอทอป จังหวัดกาญจนบุรี ได้มีการวิเคราะห์ถึงปัญหาของธุรกิจก่อนเข้าร่วมโครงการ โดยคุณภูริตา จงไมตรีพร ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ บริษัท ฮาร์ท สปอร์ตแวร์ จำกัด กล่าวว่า ปัญหาที่ผ่านมาของการผลิต เกิดจากการ คิดเอง กะเอง เนื่องจากไม่รู้สถานการณ์จริงของธุรกิจ อาทิ เช่น
- สีไหนลูกค้าสั่งเยอะ, สีไหนกำลังมาแรง = น่าจะขายดี สั่งซื้อวัตถุดิบเพิ่ม
- ขนาด, ไซส์ใด มีปริมาณน้อยลง = น่าจะขายดี สั่งผลิตเพิ่ม
- สต็อกไว้ทุกสี ทุกไซส์ = เผื่อลูกค้าต้องการแบบไหนจะได้มีให้หมด
ซึ่งผลที่ได้จากการคิดเอง กะเอง ได้แก่
- เกิดสต็อกสะสม 29,000 ตัว/เดือน
- ต้นทุนจมกว่า 3.7 ล้านบาท/ปี
- สต็อกค้างทิ้งไว้นาน ชำรุดเสียหายจนขายไม่ได้
- สต็อกเยอะเกินความจำเป็น กินพื้นที่จัดเก็บ 100%
หลังจากการเข้าร่วมกิจกรรมกับทางโตโยต้า กลุ่มตัดเย็บเสื้อโปโล ฮาร์ท โอทอป จังหวัดกาญจนบุรี ได้มีการประยุกต์แก้ไขปัญหา และปรับปรุงโดยเริ่มจากการ ขจัดปัญหาแบบไม่ต้องเดา แค่เก็บ “ข้อมูล/สถิติ” ด้วยการ
- ทำรายงานความเคลื่อนไหวของสต็อก ควบคุมการทำงานและสินค้าเข้า-ออก
- ใช้สต็อกการ์ดที่ระบุข้อมูล เช่น รุ่น สี และขนาดเสื้อ เป็นตัวกำหนดจำนวนสินค้าที่ต้องมีและผลิต
นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม คือ
- รู้ข้อมูลยอดขายแต่ละวัน สีไหนขายดี แบบไหนขายได้
- รู้สต็อกปัจจุบันมีเท่าไร ควรลดหรือสต็อกอะไรเพิ่ม
- ลดสินค้าค้างสต็อกเหลือ 7,615 ตัว/เดือน
- ลดเงินจมเหลือ 1 ล้านบาท/ปี
- ลดพื้นที่การจัดเก็บสต็อกลง 70%
“จากการประยุกต์แนวทางการทำงาน มีการใช้เครื่องตรวจตำหนิของผ้า ทำให้ย่นระยะเวลา การทำงาน เพิ่มเวลาการผลิต ลดของเสีย ทำให้ส่งสินค้าได้ทันระยะเวลา อีกทั้งปัจจุบันได้มีการพัฒนารูปแบบของสินค้า ตามความต้องการของลูกค้า ด้วยนวัตกรรมที่ทำให้มีรูปแบบของดีไซน์ทันสมัย โดดเด่น และตอบโจทย์มากยิ่งขึ้น” คุณภูริตา กล่าว
ทางด้าน คุณบรรยง ชาญพิพัฒนชัย ผู้เชี่ยวชาญด้าน Lean & Six Sigma ได้ให้ความรู้เรื่องการจัดการระบบเพื่อกำจัดส่วนเกิน (ความสูญเปล่า) และทำความเข้าใจว่าการตรวจสอบสินค้า สร้างความสูญเปล่าได้อย่างไร เพื่อลดค้นทุนหลักในกระบวนการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพได้อย่างสูงสุด
ทั้งนี้ในกิจกรรมการอบรม ทางโตโยต้ายังต่อยอดและส่งต่อความรู้สู่ความยั่งยืน ให้กับธุรกิจชุมชนในพื้นที่ และทั่วประเทศ ด้วยการจัดสัมมนาแบบไฮบริด (เรียนผ่านออนไลน์ด้วยระบบ Zoom และเข้าร่วมสัมมนาที่ศูนย์การเรียนรู้ โตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์) ที่เหลืออีกจำนวน 3 ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ 4: วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน 2566 ณ องค์อร เฟอร์นิเจอร์ จังหวัดเชียงราย
ตอนงานซ้อน เงินจม ตัวการใหญ่ฉุดธุรกิจ เรียนรู้การจัดการทางการเงิน เพื่อสภาพคล่องที่ดี
ครั้งที่ 5: วันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน 2566 ณ บริษัท 42 เนเจอรัลรับเบอร์ จำกัด จังหวัดสงขลา
ตอนจบปัญหาสินค้าดี แต่ไม่มีตลาด เรียนรู้เทคนิคการเพิ่มช่องทางการขาย ให้ธุรกิจขนาดเล็ก
ครั้งที่ 6: วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม 2566 ณ บริษัท บริบูรณ์ คราฟท์ จำกัด จังหวัดชลบุรี
ตอนต้นทุนสูง กำลังผลิตต่ำ เรียนรู้กลยุทธ์การสร้าง Productivity สำหรับ SME
อย่างไรก็ตามการจัดกิจกรรม TSI-The Wisdom Workshop รู้ครบ… จบทุกปัญหาธุรกิจ เป็นการต่อยอดจากส่วนหนึ่งของแผนการดำเนินงานภายใต้พันธกิจใหม่ของบริษัทฯ ในโอกาสการดำเนินงานในประเทศไทยครบรอบ 60 ปีที่ผ่านมา นอกจากได้เปิด “ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” ครอบคลุมพื้นที่ครบทั้ง 6 ภูมิภาคทั่วประเทศแล้ว ยังมุ่งมั่นส่งต่อความรู้ให้แก่สังคมไทย เพื่อขับเคลื่อนความสุขสู่ผู้คนและส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนของสังคมภายใต้ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยโตโยต้ามุ่งหวังให้ศูนย์การเรียนรู้ฯ ทั้ง 6 แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนในประเทศไทย ผ่านการถ่ายทอดแนวความรู้ในการปรับปรุงธุรกิจ ส่งเสริมให้เกิดสังคมแห่งการแบ่งปันความรู้ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กลุ่มธุรกิจชุมชนทั่วประเทศสามารถนำไปต่อยอดในการขับเคลื่อนธุรกิจของตนเองและสร้างเสถียรภาพแก่เศรษฐกิจของประเทศต่อไป