เพื่อเฉลิมฉลองวัน Earth Day ในปีนี้ ลอรีอัลได้ประกาศสามโครงการที่ได้รับทุนจากกองทุน L’Oréal Fund for Nature Regeneration ได้แก่โครงการ NetZero, ReforesTerra และ Mangroves.Now โดยได้รับเลือกจากแนวทางการคิดค้นนวัตกรรมในการดักจับคาร์บอนในดิน การฟื้นฟูสภาพป่า และการฟื้นฟูป่าชายเลน รวมไปถึงศักยภาพของโครงการที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่นในวงกว้างได้
จากการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (COP15[1]) สิ่งมีชีวิตหนึ่งล้านสายพันธุ์กำลังเผชิญความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ และ 75% ของพื้นผิวโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตามที่คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change – IPCC) เรียกร้องให้มีการร่วมมืออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในระดับโลก[2] มากขึ้น ลอรีอัลจึงมุ่งมั่นสานต่อพันธกิจในด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่มีมาอย่างยาวนานให้ไปไกลกว่าห่วงโซ่มูลค่าเดิม ลอรีอัลได้ร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรมและป่าชายเลน ตลอดจนการฟื้นฟูพื้นที่ทางทะเลและป่าไม้ผ่านกองทุนนี้ โดยปัจจุบันได้ช่วยสนับสนุนโครงการต่าง ๆ แล้วเป็นมูลค่ากว่า 22 ล้านยูโร (ประมาณ 830 ล้านบาท)
โครงการเหล่านี้ได้รับคัดเลือกผ่านการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะ (Due Diligence) และเกณฑ์การประเมินที่สำคัญ ได้แก่ ความพร้อมของรูปแบบธุรกิจ ศักยภาพทางเศรษฐกิจ และผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม:
NetZero เป็นบริษัทร่วมทุนด้านสภาพอากาศของฝรั่งเศสที่ดำเนินงานในพื้นที่เขตร้อน เช่น ประเทศแคเมอรูนและประเทศบราซิล โดยมีความเชี่ยวชาญด้านการกำจัดคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศในระยะยาวจากการใช้ถ่านชีวภาพ (Biochar) ที่ทำจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ถ่านชีวภาพนี้เป็นคาร์บอนที่เสถียรและไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการปรับปรุงดินที่เสื่อมโทรมได้ และได้รับการยอมรับจาก IPCC ว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ใช้ได้จริง จากความสามารถในการขจัดการปล่อย CO2 จำนวน 1-2 พันล้านตันจากชั้นบรรยากาศของโลกได้ในแต่ละปี
ReforesTerra ตั้งเป้าหมายที่จะฟื้นฟูพื้นที่ 2,000 เฮกตาร์ (ประมาณ 12,500 ไร่) ที่เสื่อมโทรมลงจากทุ่งเลี้ยงสัตว์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่ป่าดิบชื้นแอมะซอนกำลังเผชิญอยู่ โครงการนี้จะร่วมมือกับกับเกษตรกรรายย่อยโดยตรงในการปลูกต้นไม้ใหม่และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นฟูธรรมชาติในลุ่มน้ำ Rio Jamari ทางตอนล่างของรัฐฮงโดเนีย (Rondônia) ซึ่งครอบคลุม 75 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่โครงการ ส่วนอีก 25 เปอร์เซ็นต์จะเป็นผลลัพธ์ที่ได้จากการวางกลยุทธ์การปลูกต้นไม้เป็นกลุ่มขนาดเล็ก ซึ่งจะดึงดูดสัตว์ป่าให้ขยายพันธุ์ป่าเพิ่มตามธรรมชาติ และโครงการนี้ยังเป็นหนึ่งในโครงการปลูกป่า (Afforestation, Reforestation and Revegetation -- ARR) ที่ใหญ่ที่สุดในบราซิลอีกด้วย
Mangroves.Now เป็นโครงการช่วยเหลือโครงการฟื้นฟูป่าชายเลนในระดับท้องถิ่นในประเทศแถบเอเชียใต้ เช่น ประเทศบังคลาเทศ อินเดีย และศรีลังกา ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากการตัดไม้ในพื้นที่ป่าชายเลนมากที่สุดในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา Mangroves.Now จะช่วยโครงการขนาดเล็กในด้านเงินทุนร่วมกับองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรในท้องถิ่น โดยมีเป้าหมาย คือ การฟื้นฟูพื้นที่ที่เคยเสื่อมโทรมประมาณ 20,000 เฮกตาร์ (ประมาณ 125,000 ไร่) และจัดสรรผลประโยชน์กับชุมชนท้องถิ่นอย่างเท่าเทียมต่อไป
“ที่ลอรีอัล กรุ๊ป ภารกิจด้านสิ่งแวดล้อมของเราต้องไปไกลกว่าธุรกิจของเรา มันเป็นความรับผิดชอบของเราที่จะต้องดำเนินงานเป็นปัญหาที่เร่งด่วนที่สุดในปัจจุบัน เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพที่ร่อยหรอ รวมไปถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในสังคมและระบบนิเวศของเรา” ราเชล แบรร์ ผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อมของ ลอรีอัล กรุ๊ป กล่าว “กองทุน L’Oréal Fund for Nature Regeneration เป็นตัวแปรสำคัญสำหรับภารกิจของเราในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนขึ้นสำหรับทุกคน ด้วยโครงการใหม่ที่เราให้ทุนไป เป้าหมายของเราจึงเป็นการช่วยฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของโลกและรักษาระบบนิเวศที่สมบูรณ์เอาไว้”
“เป้าหมายในการสร้างมูลค่าของเรา คือ การที่ผลการดำเนินงานด้านการเงินและผลกระทบเชิงบวกด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมนั้นเชื่อมโยงไปด้วยกันอย่างแท้จริง” มูรีล เอเทยส ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของ ลอรีอัล กรุ๊ป กล่าวเพิ่มเติม “กองทุน L’Oréal Fund for Nature Regeneration เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการสร้างมูลค่าที่ยั่งยืนผ่านทุนเอกชน ทำให้เราสามารถเร่งแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและผลประโยชน์ในระยะยาวได้ และด้วยกลยุทธ์การลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบ (Impact investing) ของเรา เราจะมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพร่วมกับพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่นั้นได้”
กองทุน L’Oréal Fund for Nature Regeneration เกิดขึ้นในปี 2020 และได้มอบเงินสนับสนุนจำนวน 50 ล้านยูโร (ประมาณ 1.8 พันล้านบาท) สำหรับการลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบ โดยในปี 2021 ลอรีอัลได้ประกาศรายชื่อผู้รับทุนสองรายแรก ได้แก่ Real Wild Estates Company (RWEC) ซึ่งเป็นธุรกิจฟื้นคืนธรรมชาติ (Rewilding) รายแรกของสหราชอาณาจักร และ RIZE Carbon Financing ซึ่งช่วยผลักดันภาคการเกษตรของฝรั่งเศสไปสู่การเพาะปลูกที่ยั่งยืนได้ กองทุนนี้บริหารโดย Mirova Natural Capital บริษัทในเครือของ Natixis Investment Managers ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการลงทุนในทุนธรรมชาติ (Natural Capital)
[1] การประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (UN Convention on Biological Diversity -- COP15) เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา เดือนธันวาคม ปี 2022
[2] รายงาน ‘Climate Change 2022: Impacts, Adaptation and Vulnerability’ จากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change -- IPCC) เดือนกุมภาพันธ์ 2022