“ชิมิซุ” เป็น “ธนาคารท้องถิ่น” ของประเทศญี่ปุ่น ที่มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านล้านสามหมื่นเยน และมีประวัติที่ยาวนานถึง 90 ปีในญี่ปุ่น โดยเริ่มก่อตั้งนับแต่ปี ค.ศ. 1928 มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมือง
ชิมิซุ จังหวัดชิสุโอกะ มีสาขาทั้งหมดถึง 79 สาขา
จากแนวโน้มของกลุ่มลูกค้านักธุรกิจญี่ปุ่น ที่มีการขยายธุรกิจและสาขาเข้ามาทำตลาดในไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้ธนาคารชิมิซุเล็งเห็นโอกาสของนักธุรกิจญี่ปุ่นที่วางแผนจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย จึงเข้ามาเปิดสำนักงานผู้แทนในประเทศไทย รวมทั้งการลงนามในสัญญาเป็นพันธมิตรกับธนาคารกรุงเทพ
ยูคิโอะ โมโรตะ Chief Representative เดอะ ชิมิซุ แบงค์ ลิมิเต็ด บอกว่า ความร่วมมือครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมทางการค้าให้ลูกค้านักธุรกิจญี่ปุ่นที่ขยายการลงทุนเข้ามาที่ประเทศไทย ในรูปแบบข้อมูลและการเผยแพร่ข่าวสารท้องถิ่นในประเทศไทย เช่น การรวบรวมแนวโน้มเศรษฐกิจ และแนวโน้มตลาด และสภาพแวดล้อมการลงทุน การแนะนำในด้านของการจับคู่กับคู่ค้า รวมถึงการเป็นพันธมิตรกับสถาบันการเงินในประเทศ ทำให้การกู้เพื่อการลงทุนต่างๆ ของลูกค้านักธุรกิจญี่ปุ่นมีความง่ายและสะดวกขึ้น
เรียกว่า เป็นการส่งเสริม ทั้งฐานลูกค้าเดิมในญี่ปุ่นที่อยู่ในอุตสาหกรรม
การค้าและการเกษตร ซึ่งในปีนี้ธนาคาร
ชิมิซุ กำลังฉลองครบรอบ 1 ปีในการก่อตั้งสำนักงานผู้แทนในประเทศไทย โดยเรามีฐานลูกค้าอยู่ที่ประมาณ 70 บริษัท แบ่งสัดส่วนประมาณ 50% อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ส่วนที่เหลือประมาณ 20% จะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักร
อย่างไรก็ตามธนาคารฯ ยังเล็งเห็นถึงโอกาสใหม่ ในการเพิ่มฐานลูกค้าในอนาคต ที่กำลังวางแผนจะเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยเร็วๆ นี้
โมโรตะ บอกว่า ลูกค้าใหม่ที่จะมาทำธุรกิจในไทยในวันนี้ มีความแตกต่างจากฐานลูกค้าเดิม
“ที่ผ่านมาลูกค้าของสำนักงานผู้แทนในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่วันนี้พบว่าส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้ประกอบการระดับ SME จากธุรกิจกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งความคืบหน้าตอนนี้เริ่มมีการติดต่อเข้ามาเพื่อขอรับคำปรึกษากับธนาคารฯ ทั้งการเปิดร้านอาหาร และลงทุนธุรกิจในกลุ่มอาหารแปรรูป เช่น ชาเขียว และทูน่า”
โอกาสในการขยายสาขาของธนาคารชิมิซุ นอกจากประเทศไทยแล้ว เรายังมองไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีหลายประเทศมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี เช่น เวียดนาม จีน และอินเดีย ซึ่งมีลูกค้าของธนาคารเข้าไปลงทุนในประเทศเหล่านี้เป็นจำนวนมากเช่นกัน
ดังนั้นการที่ธนาคารตัดสินใจเปิดสำนักงานผู้แทนในกรุงเทพฯ เป็นแห่งแรกนั้น เพราะเรามองเห็นถึงศักยภาพของการให้บริการ ที่ครอบคลุมเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ไปลงทุนในประเทศอื่น และในภาคพื้นเหล่านี้ด้วย
ในทางกลับกันสำหรับนักธุรกิจไทยที่วางแผนจะไปลงทุนในจังหวัดชิสุโอกะ พบว่ามีจำนวนไม่น้อย เพราะชิสุโอกะเป็นเมืองอุตสาหกรรม ที่มีโรงงานทั้งขนาดเล็กและใหญ่จำนวนมาก และจากความพร้อมนี้เอง ที่เป็นปัจจัยหลักทำให้ธุรกิจต่างๆ ที่มีแนวโน้มกำลังเติบโต ต่างเบนเข็มเข้ามาลงทุนที่นี่ เช่น บริษัทระบบของการผลิตไฟฟ้าของโซล่าเซลล์ (Solar Cell System) และผลิตแผงโซล่าร์ เป็นต้น
ถือว่าการเข้ามาตั้งฐานการผลิตในจังหวัดชิสุโอกะของนักลงทุนเหล่านี้ เป็นโอกาสในการรุกขยายฐานลูกค้าของธนาคารที่เรากำลังเร่งการประชาสัมพันธ์การบริการ รวมทั้งการให้คำปรึกษา และการให้ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการลงทุน
นอกจากนี้ชิสุโอกะยังเป็นเมืองที่มีสภาวะอากาศไม่หนาวเย็น และยังมีพื้นที่ว่างอีกมากเพื่อรองรับการปลูกสร้างโรงงาน รวมทั้งนโยบายของเมืองก็มีแผนการพัฒนาธุรกิจในท้องถิ่น ตั้งแต่โครงสร้างเพื่อรองรับขนาดของอุตสาหกรรมที่ใหญ่ขึ้น ทั้งการพัฒนาท่าเรือ และสนามบิน จึงพร้อมรับการเติบโตทางอุตสาหกรรมที่หลากหลาย
ซึ่งในมุมมองของคุณโมโรตะนั้น อุตสาหกรรมที่มีโอกาส และแนวโน้มเติบโตในจังหวัดชิสุโอกะในอนาคตนั้น จะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะการลงทุนโรงงานผลิตอาหารฮาลาล
“เรามองว่าการผลิตอาหารฮาลาล ยังมีโอกาสในการขยายอีกมาก เพราะผู้ผลิตในประเทศญี่ปุ่นยังมีจำนวนไม่มากเพียงพอ ที่จะรองรับกับแนวโน้มดีมานด์การเติบโตของนักท่องเที่ยวชาวอินโดนีเซีย และมาเลเซีย จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุนขยายธุรกิจของคนไทยในประเทศญี่ปุ่น”