November 22, 2024

บทวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจและการเงิน (ฉบับวันที่ 24 ก.ย. 67) โดย วิจัยกรุงศรี

September 24, 2024 259

เศรษฐกิจโลก: สหรัฐฯเริ่มเข้าสู่วงจรดอกเบี้ยขาลง ด้าน BOJ คงดอกเบี้ยแต่ส่งสัญญาณปรับขึ้นในอนาคต ส่วนจีนคาดว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มอีกครั้งในไตรมาส 4

  • สหรัฐฯ

FED ลดดอกเบี้ย 0.50% เตรียมรับมือเศรษฐกิจชะลอตัว คาดดอกเบี้ยเข้าสู่ขาลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากการประชุมในวันที่ 17-18 กันยายน ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีสู่ระดับ 4.75% - 5.00% โดยเฟดประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโตเฉลี่ยที่ 2.0% ในช่วงปี 2024 ถึง 2027 ส่วนอัตราการว่างงานคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยสู่ 4.4% ในปี 2567 ก่อนลดลงในปี 2569 และ 2570 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะลดลงสู่เป้าหมายที่ 2% ภายในปี 2569 สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดในเดือนสิงหาคม ยอดค้าปลีกขยายตัว 2.13% YoY แม้ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 2.86% แต่โตดีกว่าตลาดคาด ขณะที่ยอดขายบ้านใหม่เพิ่มขึ้น 9.6% MoM เช่นเดียวกับใบขออนุญาตก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น 4.9% ส่วนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ ลดลง 12,000 ราย สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน

เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวในระดับต่ำท่ามกลางความท้าทายจากกิจกรรมการผลิตที่หดตัว ยอดผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงตลาดแรงงานที่ชะลอตัว แต่อย่างไรก็ตาม การบริโภคขยายตัวเช่นเดียวกับภาคบริการที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะถดถอยของสหรัฐปรับลดลง ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีประเมินว่าจากภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจแบบ Soft-landing, อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังสูง, รวมถึง Dot plot ล่าสุด เฟดมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในการประชุมช่วงที่เหลือ 2 ครั้งของปีนี้ โดยปรับลดครั้งละ 0.25% สู่ 4.25-4.50% ภายในสิ้นปีนี้

 

  • ญี่ปุ่น

BOJ คงดอกเบี้ยที่ 0.25% รอจังหวะการปรับขึ้นหากเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเป็นไปตามคาด ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% ตามคาดในการประชุมวันที่ 19 กันยายน และมีมุมมองที่เป็นบวกมากขึ้นต่อการบริโภคในประเทศแม้ความเสี่ยงภายนอกยังสูง จากตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดในเดือนสิงหาคม ยอดส่งออกเติบโต 5.6% YoY ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่โต 10.2% ขณะที่ยอดนำเข้าชะลอลงจาก 16.6% สู่ระดับ 2.3% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นสู่ 3.0% จากเดือนก่อนหน้าที่ 2.8% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยับขึ้นสู่ 2.8% จาก 2.7%

เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากแรงหนุนของการบริโภคภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางค่าจ้างที่ฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิตและการส่งออกยังคงอ่อนแอ นอกจากนี้ ประธาน BOJ คาซูโอะ อุเอดะ ยังคงเน้นย้ำว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตจะขึ้นอยู่กับพัฒนาการของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเป็นหลัก (data dependence) ด้วยเหตุนี้ วิจัยกรุงศรีประเมินว่าแม้เงินเฟ้อญี่ปุ่นจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา แต่ BOJ มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปอีกอย่างน้อย 0.25% ภายในสิ้นปี 2567 เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดการเงินพร้อมกับหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

  • จีน

แม้เศรษฐกิจโดยรวมส่งสัญญาณชะลอตัว แต่ธนาคารกลางจีนประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยคง Loan Prime Rate (LPR) ระยะ 1 ปี และ 5 ปีไว้ที่ 3.35% และ 3.85% ตามลำดับ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน แม้ยอดสินเชื่อใหม่ (Aggregate Financing) ในเดือนสิงหาคมหดตัว 3.1% YoY ขณะที่ค่าเงินหยวนในประเทศ (Onshore Yuan) แข็งค่าสูงสุดในรอบ 16 เดือนเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ 7.07 หยวนต่อดอลลาร์ ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลกำลังพิจารณาผ่อนคลายระเบียบสำหรับผู้ซื้อบ้านที่ไม่ได้มีถิ่นพำนักในพื้นที่ รวมถึงปรับระเบียบการซื้อบ้านที่แตกต่างกันระหว่างบ้านมือหนึ่งและบ้านมือสอง ซึ่งอาจนำไปสู่การลดสัดส่วนเงินดาวน์ และอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน

ยอดสินเชื่อใหม่ที่หดตัวบ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนอาจชะลอตัวรุนแรงขึ้นในระยะข้างหน้า ขณะที่การบริโภคภายในประเทศที่อ่อนแอและความซบเซาในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังกดดันเศรษฐกิจต่อเนื่อง ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนความจำเป็นในการเร่งออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมเพื่อให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ราว 5% วิจัยกรุงศรีประเมินว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ รวมถึงการแข็งค่าของเงินหยวนเปิดทางให้จีนสามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมได้ โดยอาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.10-0.20% ในช่วงไตรมาสที่ 4 ส่วนมาตรการด้านอสังหาริมทรัพย์อาจช่วยบรรเทาความซบเซาได้บ้าง แต่คาดว่ายอดขายบ้านใหม่จะยังคงหดตัวต่อ และราคาบ้านจะยังไม่ได้ผ่านจุดต่ำสุดในช่วงที่เหลือของปี

เศรษฐกิจไทย: วิจัยกรุงศรีคงประมาณการ GDP ปี 2567 เติบโตที่ 2.4% โดยผลบวกจากโครงการโอนเงินช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางอาจถูกลดทอนด้วยผลกระทบจากอุทกภัย

แม้โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มเปราะบางจะช่วยหนุนการบริโภคช่วงปลายปีนี้ แต่ความเสียหายจากน้ำท่วมอาจจำกัดผลบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ  ล่าสุดวันที่ 17 กันยายน ครม. มีมติเห็นชอบโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ (โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเดิม) จำนวน 14.5 ล้านคน คนละ 10,000 บาท โดยอนุมัติงบประมาณ 145,552 ล้านบาท แหล่งเงินจาก 2 ส่วนด้วยกัน คือ (i) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบฯ 2567 ในส่วนของงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ จำนวน 122,000 ล้านบาท และ (ii) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 23,552.40 ล้านบาท) วัตถุประสงค์เพื่อมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยและคนพิการ พร้อมทั้งสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการโอนเงินให้กับกลุ่มเป้าหมายได้ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน ทั้งนี้  กระทรวงการคลัง ระบุการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าวจะส่งผลให้ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 0.35%

ล่าสุดวิจัยกรุงศรียังคงประมาณการอัตราการเติบโตของ GDP ในปี 2567 ไว้ที่ 2.4% แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีจะได้รับแรงสนับสนุนจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มเปราะบาง ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ แต่ผลบวกดังกล่าวอาจถูกลดทอนด้วยผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยที่สร้างความเสียหายในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เบื้องต้นจากการคาดการณ์ในกรณีฐาน (Base Case) วิจัยกรุงศรีคาดว่า พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจะอยู่ที่ประมาณ 8.6 ล้านไร่ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายทางทรัพย์สินมูลค่าประมาณ 3.1 พันล้านบาท และผลผลิตทางการเกษตรเสียหายมูลค่ารวม 43.4 พันล้านบาท เมื่อรวมความเสียหายทั้งหมด คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 46.5 พันล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ -0.27% ของ GDP

การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศยังต้องติดตามการประชุมบอร์ดค่าจ้างครั้งถัดไป จากกำหนดการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างเพื่อพิจารณาถึงการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศทั้งในวันที่ 16 กันยายนและวันที่ 20 กันยายน พบว่ายังไม่มีมติใดๆเนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ จึงทำให้ต้องขยับเลื่อนออกไปอีก ทั้งนี้ ในปี 2567 ประเทศไทยมีการปรับขึ้นค่าจ้างสองครั้งคือเมื่อวันที่ 1 มกราคม ปรับขึ้นทั่วประเทศแบ่งออกเป็น 17 อัตรา โดยอยู่ในช่วง 330 –370 บาทต่อวัน หรือเฉลี่ยปรับขึ้น 2.37% และต่อมาวันที่ 12 เมษายน ปรับค่าจ้างเป็น 400 บาทต่อวัน เฉพาะโรงแรมที่มีลูกจ้างไม่เกิน 50 คนขึ้นไปใน 10 จังหวัดท่องเที่ยวและปรับบางเฉพาะพื้นที่

ปัจจุบันแรงงานที่ได้ค่าจ้างน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำมีสัดส่วนอยู่เพียง 16% ของแรงงานทั้งหมด เทียบกับ 38.8% ในปี 2557 อย่างไรก็ตาม ยังมีธุรกิจที่มีการขยายตัวของผลิตภาพแรงงานในปัจจุบันต่ำกว่าการเติบโตของค่าจ้างที่แท้จริง (Negative productivity-wage gap) อาจเผชิญแรงกดดันมากขึ้นต่อผลกำไรและความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นอาจไม่สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงาน โดยกลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยงมากขึ้นจากการปรับขึ้นค่าจ้าง ได้แก่ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อิเล็กทรอนิกส์ ยางและพลาสติก อาหารและเครื่องดื่ม และยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ธุรกิจบริการอื่นๆ ส่วนใหญ่มีช่องว่างผลิตภาพแรงงานและค่าจ้างเป็นบวก อาทิ การเงิน และการค้า ซึ่งสะท้อนว่าผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่อธุรกิจโดยภาพรวมอาจจำกัด

 

Related items

X

Right Click

No right click