January 22, 2025

ทิศทางค้าปลีก-ค้าส่งไทย... ในวันที่ไม่เหมือนเดิม

July 05, 2019 3801

TMB Analytics ประเมินว่าในปี 2562 ธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งจะเติบโต 5% โดยธุรกิจค้าส่งคาดว่าเติบโตในระดับต่ำ ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีกคาดว่าจะพอเติบโตได้ แต่การเติบโตกระจุกตัวอยู่ในช่องทางผ่านร้านโมเดิร์นเทรดและช่องทางออนไลน์ แนะหากต้องการอยู่รอดอย่างยั่งยืน ต้องเร่งปรับตัวนำเทคโนโลยีมาใช้

ทุกวันนี้ธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ มีสัดส่วนถึง 16% ของจีดีพี โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2551-2561) เติบโตเฉลี่ยกว่า 6.8% ต่อปี และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยในช่วง 15 ปีหลังจากมีการใช้อินเทอร์เน็ตในภาคธุรกิจ ทำให้การแข่งขันทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากโมเดลการค้าแบบดั้งเดิมเริ่มเปลี่ยนแปลงไป เกิดช่องทางการตลาดที่ต้นทุนต่ำลง เนื่องจากเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตทำให้การเชื่อมต่อผู้ผลิตไปยังผู้บริโภครายย่อยได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดการค้าผ่านระบบ E-Commerce ซึ่งผู้บริโภคสามารถชำระค่าสินค้าผ่านระบบ E-Payment ได้อย่างสะดวก นอกจากนี้ผู้ผลิตและผู้ค้ายังสามารถส่งสินค้าไปยังลูกค้ารายย่อยได้รวดเร็วและตรงเวลาผ่านการใช้บริการของบริษัทขนส่งโลจิสติกส์ เทรนด์นี้ก่อให้เกิดการเติบโตของจำนวนร้านค้าปลีกออนไลน์ที่ไม่มีหน้าร้านมากขึ้น นอกจากนี้ในตัวธุรกิจเองก็มีการแข่งขันที่สูงพิจารณาจากจำนวนสาขาของร้านโมเดิร์นเทรดประเภทต่างๆ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินว่าปี 2562 จีดีพีการค้าปลีกและการค้าส่งจะขยายตัว 5% ชะลอตัวลงจากปีก่อนที่ขยายตัว 8.5% โดยยอดขายธุรกิจค้าส่งจะเติบโตได้ต่ำ เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวลง สินค้าที่เติบได้ยังคงเป็นกลุ่มสินค้าไม่คงทนเป็นหลักได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค อาหาร ยารักษาโรคและเวชภัณฑ์ ในขณะยอดขายธุรกิจค้าปลีกคาดว่าจะขยายตัวได้ราว 3-5% โดยช่องทางค้าปลีกที่เติบโตจะอยู่ในร้านค้าโมเดิร์นเทรด ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งมีจุดเด่นเป็นแหล่งรวบรวมสินค้าประเภทต่างๆ ให้ผู้บริโภคได้จับจ่ายใช้สอย นอกจากนี้ ร้านค้าปลีกออนไลน์ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เติบโตและเป็นที่นิยมสูงจากผู้บริโภคในยุคนี้

สำหรับร้านค้าปลีกที่คาดว่าจะไม่สามารถเติบโตได้อย่างในอดีตคือ ร้านค้าปลีกดั้งเดิม รวมไปถึงร้านค้าปลีกสินค้าเฉพาะอย่าง อาทิเช่น ร้านค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องใช้ในครัวเรือน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป นิยมซื้อของผ่านร้านโมเดิร์นเทรด หรือซื้อผ่านร้านค้าออนไลน์มากขึ้น

โดยรวมแล้ว แม้ปีนี้แนวโน้มธุรกิจค้าปลีกและการค้าส่งภาพรวมจะพอขยายตัวได้บ้าง แต่หากแยกตามประเภทของผู้ค้าพบว่า แนวโน้มผู้ค้าส่งดูไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก ข้อบ่งชี้ที่เห็นได้ชัดเจน ได้แก่ การรุกทำตลาดของผู้ผลิตที่เริ่มใช้กลยุทธ์ลดสัดส่วนการขายผ่านผู้ค้าส่งหันไปขายผ่านร้านค้าปลีกรายย่อยแทน รวมไปถึงใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อเชื่อมกับผู้บริโภคออนไลน์เพิ่มขึ้น ผลที่เกิดขึ้นคือ ยอดขายผ่านการค้าส่งลดลงต่อเนื่อง และหากมองในแง่ของระดับการทำกำไรใน 5 ปีที่ผ่านมาพบว่าอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ยอยู่ในระดับทรงตัวอยู่ที่ 3.4-3.9% ในขณะที่ผู้ค้าปลีกก็มีกำไรสุทธิทรงตัวเช่นกันอยู่ที่ 4.7-4.8% แต่ยอดขายผู้ค้าปลีกยังขยายตัวได้อยู่

ศูนย์วิเคราะห์ฯ ประเมินผลกระทบจากเทรนด์ดังกล่าว “ผู้ค้าส่งจะเป็นกลุ่มที่ได้รับกระทบสูงที่สุด” เนื่องจากผู้ผลิตเริ่มมองการปรับกลยุทธ์ขายสินค้าไปยังร้านค้าปลีกมากขึ้น ด้าน “ผู้ค้าปลีกมีแนวโน้มที่จะถูกแข่งขันจากร้านค้าปลีกที่เพิ่มขึ้น รวมถึงผู้ค้าปลีกออนไลน์ที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก” ฉะนั้นโจทย์สำคัญของผู้ค้าปลีกและค้าส่ง คือ “จะทำอย่างไรให้ลูกค้าพึงพอใจในสินค้าและการบริการและเพิ่มช่องการขายออนไลน์มากขึ้นภายใต้ต้นทุนที่แข่งขันได้” เรามองว่ากลุ่มผู้ค้าส่งเป็นกลุ่มที่น่าห่วงที่สุด ต้องเร่งปรับตัวด้วยการอาศัยจุดแข็งความได้เปรียบด้านสถานที่ตั้ง มีสถานที่เก็บสินค้าของตนเอง และมีความเชี่ยวชาญในระบบขนส่งสินค้า ซึ่งสามารถต่อยอดด้วยการนำเทคโนโลยีระบบการจัดการสินค้าคงคลังมาใช้เพื่อบริหารจัดการปริมาณสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม นอกจากนี้ผู้ค้าส่งอาจต้องพิจารณาเพิ่มช่องทางการขายปลีกของตนเองเพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดมากขึ้น จะเห็นว่าธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง ในวันนี้และพรุ่งนี้ “เป็นธุรกิจที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และจำเป็นต้องเร่งปรับตัวด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้”

X

Right Click

No right click