ในด้านของความร่วมมือการใช้มาตรฐานคิวอาร์โค้ดเพื่อการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายบัตรต่าง ๆ ได้แก่ AmericanExpress, JCB International (Thailand), Mastercard, UnionPay International และ VISA พร้อมทั้ง ผู้ให้บริการทางการเงินในไทย ประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย สภาสถาบันการเงินของรัฐ สมาคมธนาคารนานาชาติ สมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ไทย สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ บริษัท National ITMX จำกัด และบริษัท Thai Payment Network จำกัด แถลงความร่วมมือการใช้มาตรฐานคิวอาร์โค้ดเพื่อการชำระเงิน ซึ่งในงานได้มีการจัดบูธสาธิต การชำระเงินด้วย QR Code และการสัมมนา เรื่อง “QR Code มิติใหม่ของการชำระเงิน” อีกด้วย
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ธปท.ได้ผลักดันการพัฒนาระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ
- การผลักดันโครงการ National e-Payment การปรับเปลี่ยนบัตรATM และบัตรเดบิตให้เป็น Chip Card
- การยกระดับความปลอดภัยการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ
- การนำหลักการของ Regulatory Sandbox มาใช้เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมทางการเงิน
- การนำ พรบ.ระบบการชำระเงินมาใช้ในการกำกับดูแลธุรกิจด้านชำระเงิน
นับว่าในวันนี้เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญในการนำมาตรฐานสากล QR Code มาใช้ในการชำระเงินในประเทศไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือครั้งแรกของผู้ให้บริการเครือข่ายบัตรระดับโลกทั้ง 5 แห่ง กับผู้ให้บริการทางการเงินในไทย ที่ตกลงใช้มาตรฐานเดียวกันในการให้บริการ ลดความซ้ำซ้อนในการมี QR Code หลากหลายรูปแบบ ช่วยเสริมต่อแนวทางการพัฒนาระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Payment ในมิติต่าง ๆ
อย่างไรก็ตามการใช้มาตรฐาน QR Code เพื่อการชำระเงิน มีหลักการและประโยชน์สำคัญใน 4 ด้าน คือ
(1) เป็นมาตรฐานกลางที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการสามารถ
เข้าถึงและใช้งานร่วมกันได้ ทั้งรายการชำระเงินในประเทศและต่างประเทศร้านค้ามี QR Code เดียวก็
สามารถรับชำระเงินผ่านช่องทางที่หลากหลายจากลูกค้าได้
(2) เป็นการเพิ่มช่องทางการชำระเงินที่สะดวกและมีต้นทุนต่ำให้แก่ประชาชนและร้านค้า ช่วยให้การจัดทำบัญชีและกระทบยอดเงินเข้า ง่ายกว่าการทำธุรกรรมด้วยเงินสดมาก
(3) เป็นการเพิ่มความปลอดภัยในการชำระเงิน เจ้าของบัตรไม่ต้องให้บัตรหรือข้อมูลบนบัตรแก่ร้านค้า และระบบงานที่รองรับเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจึงมีความปลอดภัย
(4) สามารถต่อยอดนวัตกรรมทางการเงินที่หลากหลายได้โดยง่าย เป็นรากฐานสำคัญของร้านค้าขนาดกลางและขนาดเล็กที่จะเก็บข้อมูลการรับชำระเงินอย่างเป็นระบบ เพื่อให้นำไปใช้ประโยชน์ในหลายด้านรวมถึงการขอสินเชื่อ ซึ่งสถาบันการเงินในหลายประเทศได้เริ่มให้สินเชื่อโดยใช้ข้อมูลชำระเงินเป็นข้อมูลอ้างอิง (Information based lending) แทนการใช้สินทรัพย์ถาวรเป็นหลักประกันแล้ว ช่วยให้ก้าวข้ามผ่านอุปสรรคของการปล่อยสินเชื่อ SME จากเดิมที่ต้องใช้หลักประกันเพียงอย่างเดียว
ด้านผู้ให้บริการเครือข่ายบัตรระดับโลกทั้ง 5 แห่ง มีความยินดีในการร่วมผลักดันและส่งเสริม
การใช้มาตรฐาน QR Code เพื่อการชำระเงินในประเทศไทย เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการชำระเงินทาง
อิเล็กทรอนิกส์ที่ดี เป็นประโยชน์กับทั้งร้านค้าและประชาชน สำหรับผู้ให้บริการชำระเงินในประเทศไทยได้
เห็นพ้องในการนำมาตรฐานกลางนี้มาใช้ในการให้บริการชำระเงิน ซึ่งจะช่วยให้เข้าถึงและเพิ่มทางเลือกใน
การชำระเงิน เป็นการยกระดับการให้บริการแก่ลูกค้าให้การใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมีความทันสมัย สะดวก
รวดเร็ว และปลอดภัย
นายวิรไท กล่าวทิ้งท้ายว่า ในการพัฒนาบริการชำระเงินด้วย QR Code นี้ ธปท. ได้เปิดให้ธนาคารและผู้ให้บริการเสนอโครงการเข้าพิจารณาใน Regulatory Sandbox เพื่อทดสอบให้มั่นใจในความถูกต้องของการทำรายการ และการดูแลผู้ใช้บริการ ซึ่งมีธนาคาร 2 แห่งอยู่ระหว่างการทดสอบ และมีอีก 6 แห่งที่อยู่ระหว่างยื่นคำขอเข้าโครงการ โดยการให้บริการจริงจะทยอยเปิดตามความพร้อมต่อไป