December 22, 2024

เมย์แบงก์แนะนักลงทุนควรพิจารณาบาลานซ์พอร์ตรับมือปี 66

February 28, 2023 1646

บมจ. หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) หรือ MST ผู้นำด้านการลงทุน

ถือหุ้นโดย เมย์แบงก์ ธนาคารอันดับ 1 ของมาเลเซีย เปิดเผยมุมมองต่อการบริหารจัดการพอร์ตการลงทุนเพื่อรับมือกับสถานการณ์โลกในปี 2566 โดยอ้างอิงข้อมูลด้านผลตอบแทนการลงทุนที่ผ่านมา โดยแนะให้นักลงทุนพิจารณาถึงความสำคัญของการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน ผ่านทรรศนะของ 2 นักวางแผนการลงทุนจาก บีเอ็นวาย เมลลอน (BNY Mellon) และ เมย์แบงก์ ประเทศไทย

คาร์เรน ชาง Head of Asia ex Japan Client Solutions บีเอ็นวาย เมลลอน ที่ปรึกษาการลงทุนระดับโลกและพันธมิตรของเมย์แบงก์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า พอร์ตการลงทุนแบบ 60/40 เป็นที่นิยมใช้กันแพร่หลายทั่วโลก จนกลายเป็นมาตรฐานของการจัดสรรพอร์ตการลงทุน อย่างไรก็ตาม ปี 2565 เป็นปีที่ไม่ปกติที่ทั้งตลาดตราสารทุนและตลาดตราสารหนี้ ให้ผลตอบแทนที่เป็นลบค่อนข้างมาก กลยุทธ์จัดพอร์ต 60/40 ให้ผลตอบแทนที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551 โดยหากมองย้อนกลับไป 80 – 100 ปีที่แล้ว มีเพียง 4 ครั้งเท่านั้น ที่พอร์ต 60/40 ทำผลงานได้แย่กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2551 และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)

สาเหตุหลักของผลตอบแทนการลงทุนที่เป็นลบค่อนข้างมากในปีที่แล้วมาจาก อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนถึงเดือนธันวาคม 2564 ตลาดคาดการณ์ว่าปัญหาเงินเฟ้อจะเป็นเพียงปัญหาชั่วคราว แต่กลับไม่เป็นไปตามคาด ดังนั้น เพื่อลดปัญหาเงินเฟ้อในระดับสูง ธนาคารกลางส่วนใหญ่จึงเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วจากที่เคยอยู่ในระดับต่ำใกล้ 0% ทำให้มีผลกระทบทางลบอย่างมากต่อทั้งตลาดตราสารทุนและตราสารหนี้

จนมาถึงปี 2566 ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารกลางสหรัฐฯ อยู่ที่ 4.5% - 4.75% และมีแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยที่ชะลอตัวลงกว่าปี 2565 ซึ่งนับเป็นข่าวดีสำหรับการลงทุนในตราสารทุนและตราสารหนี้ นอกจากนี้แล้วเศรษฐกิจยุโรปที่กลับมาฟื้นตัวดีขึ้น ถึงแม้ว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังคงดำเนินต่อไป รวมไปถึงการดำเนินนโยบายโควิด 19 ของจีนที่มีการเปิดประเทศ ส่งผลดีต่อตลาดการลงทุนโดยรวม และยังช่วยลดแรงกดดันต่อห่วงโซ่อุปทานของโลก ที่มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปีที่ผ่านมาอีกด้วย อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์หลายฝ่ายยังคงคาดการณ์ถึงสภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในโลกและในสหรัฐฯ ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลลบต่อการลงทุนในตลาดตราสารทุนต่อไปอีกในปีนี้

“อย่างไรก็ดีนักลงทุนสามารถลดผลกระทบของตลาดและความผันผวนในระยะสั้นได้ โดยเลือกใช้วิธีกระจายความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายการลงทุนในระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม” คาร์เรน ชาง กล่าวสรุป

ด้านเมย์แบงก์ ประเทศไทย โดย คุณอภิญญา องค์คุณารักษ์, CFA, CAIA กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายงาน Investment Management มีมุมมองการลงทุนสำหรับปี 2566 ที่มุ่งเน้นในเรื่องของการจัดพอร์ตการลงทุน ที่มีการกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสมเช่นกัน เนื่องจากสถานการณ์การลงทุนที่ยังคงมีความผันผวน และความไม่แน่นอน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ตลาดการจ้างงานที่ยังเติบโตอย่างร้อนแรงเกินคาด ทำให้ธนาคารกลางประเทศต่างๆจำเป็นที่จะต้องดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวด และขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีก นอกจากนั้นแล้วผลประกอบการของบริษัทต่างๆโดยรวม ออกมาไม่เป็นที่น่าพอใจ รวมถึงการให้มุมมองในอนาคตที่ไม่สดใสเท่าที่ควรเช่นกัน

ทาง บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) แนะนำให้นักลงทุนกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนไปในหลากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มตลาดพัฒนาแล้ว และกลุ่มตลาดประเทศเกิดใหม่ เนื่องจากตลาดการลงทุนในแต่ละประเทศมีวัฏจักรทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากัน การกระจายการลงทุนไปยังภูมิภาคที่หลากหลายจะช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนได้

นอกจากนี้แล้ว แนะนำกระจายการลงทุนไปในกลุ่มสินทรัพย์ทางเลือก ที่นอกเหนือจากสินทรัพย์พื้นฐานทั่วไป เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนให้ดียิ่งขึ้นไปอีกเช่น กองทุนสินค้าโภคภัณฑ์ กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ สินทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์ หรือ ตราสารที่มีความซับซ้อน เช่นหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง โดยสินทรัพย์ทางเลือกเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของราคาตราสารหนี้ และตราสารทุนในระดับที่แตกต่างกันไป ซึ่งจะสามารถช่วยลดความผันผวน และสามารถสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มให้กับพอร์ตการลงทุนได้

โดยทาง บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ได้มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย รวมถึงมีบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในการลงทุนในสินทรัพย์ในหลากหลายประเทศ รวมถึงสินทรัพย์ทางเลือกประเภทต่างๆ ที่สามารถให้คำแนะนำ และช่วยให้นักลงทุนสามารถบริหารจัดการพอร์ตการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

X

Right Click

No right click