อเบอร์ดีนมองตลาดหุ้นไทย โดนปัจจัยทั้งในและนอกประเทศรุมเร้า คาด downside ใกล้จบหลังดัชนีลดลงมากกว่า 200 จุด

November 02, 2023 1220

นางสาวดรุณรัตน์ ภิยโยดิลกชัย หัวหน้าฝ่ายการลงทุนตราสารทุน บลจ.อเบอร์ดีน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลงมาเนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างประเทศเช่นเดียวกันตลาดอื่นๆ ทั้งประเด็นสงคราม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (บอนด์ยีลด์) ที่ปรับตัวสูงขึ้น และภาวะเศรษฐกิชะลอตัวแบบ Soft Landing ขณะที่ปัจจัยในประเทศ การปรับประมาณกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ). ลงอย่างต่อเนื่องของนักวิเคราะห์ที่ยังไม่สิ้นสุด กดดัชนีลง ประกอบกับช่วงเลือกตั้งและหลังเลือกตั้งยังไม่มีการใช้จ่ายหนุนเศรษฐกิจ โดยมอง Downside ดัชนีหุ้นไทยแถว 1,300-1,350 จุด ซึ่งระดับ 1,300 จุด กรณีที่สงครามอิสราเอลและกลุ่มฮามาลขยายวงกว้างมากขึ้น

สำหรับการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์นี้คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ย และรอดูการส่งสัญญาณอัตราดอกเบี้ย โดยประเด็นที่ต้องติดตาม คือ การรายงานตัวเลขเศรษฐกิจ ตัวเลขการจ้างงาน ที่จะเป็นทริกเกอร์ว่าเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลงและราคาหุ้นก็จะปรับตัวลง ซึ่งจะเป็นจังหวะให้เข้าซื้อ

"อเบอร์ดีนมองราคาหุ้นไทยลงมามาก เป็นจังหวะทยอยสะสม จากช่วงก่อนเลือกตั้งดัชนีอยู่แถว 1,570 จุด ตอนนี้ลงมากว่า 200 จุด หลักๆ จากกำไรบจ.ที่ถูกหั่นลง กดดัชนีปัจจุบันอยู่แถว 1,370-1,380 จุด อยู่ในระดับที่น่าสนใจมากกว่าเดิม ขณะที่ P/E ตอนนี้ 14 เท่า เมื่อเทียบกับในอดีต 17-18 เท่า ซึ่ง Discount เยอะมาก มอง Dowside ไม่มากแล้ว ซึ่ง 6 เดือนข้างหน้าต้องติดตามกำไรบจ. เป็นหลัก"นางสาวดรุณรัตน์ กล่าว

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนโฟกัสที่ปัจจัยพื้นฐาน หุ้นต้องเติบโตไปต่อได้ ไม่มีความเสี่ยงหรือได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงหรือหากต้นทุนเพิ่มขึ้นสามารถส่งผ่านไปได้ โดยมองกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาล ซึ่งคาดว่าผลประกอบการในไตรมาส 3/66 จะออกมาค่อนข้างดี เพราะคนไข้ที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้นจากการระบาดของไข้หวัด และหากดูมูลค่าหุ้ Valuation มากกว่าครึ่งของกลุ่มใน SET ทั้งหมดเทรดต่ำกว่า PE ค่าเฉลี่ย 10 ปี ที่ระดับ 30-50% แล้ว

นอกจากนี้ในกลุ่มท่องเที่ยว จากประมาณการณ์นักท่องเที่ยวปี 2566 ทั้งหมด 28 ล้านคน อาจลดลงเล็กน้อย จากนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาในประเทศน้อยกว่าที่คาดไว้ แต่ยังมีนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่น ๆ เข้ามาชดเชย เช่น อินเดีย รัสเซียและมาเลเซีย รวมทั้งจากการพูดคุยกับผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจยังเห็นการเติบโตของค่าห้องพัก และยังไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามในตะวันออกกลาง เนื่องจากมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวจากอิสราเอลค่อนข้างน้อยมาก

ขณะที่กลุ่มโรงไฟฟ้า อาจต้องหลีกเลี่ยงไปก่อน เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการลดค่าครองชีพ ส่งผลให้รายได้กลุ่มโรงไฟฟ้าถูกจำกัด ในขณะที่ต้นทุนยังผันผวนอยู่ ยังมีความเสี่ยงในเรื่องของการทำกำไร ส่วนกลุ่มค้าปลีกจากประมาณการของนักวิเคราะห์ยังไม่ได้ให้น้ำหนักกับนโยบาย Digital Wallet กับกลุ่มที่เป็นบริษัทจดทะเบียน เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนในนโยบาย ซึ่งมองว่าหากมีการปรับเงื่อนไขและใช้วงเงินน้อยลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 4-5 แสนล้านบาท และมีการลงทุนระยะยาวเพื่อผลักดันจีดีพีเติบโตน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี

"อเบอร์ดีนมองว่าราคาหุ้นที่ลงมาถึงระดับหนึ่ง นักลงทุนต่างชาติจะกลับเข้ามาลงทุน และเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นเอเชียถือว่าหุ้นไทยไม่ได้แพง เมื่อเทียบกับเสถียรภาพโดยรวม แต่ต้องรอดูจุดขายของรัฐบาลเพื่อดึงดูดนักลงทุนหรือหากรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นข่าวดี ดัชนีน่าจะมี Sentiment ที่ดี โดยอเบอร์ดีนปรับประมาณการ 6-12 เดือนข้างหน้า จากเดิมกรอบดัชนีอยู่ที่ 1,530-1,663 จุด เป็น 1,444-1,560 จุด กรณี Best Case อยู่ที่ 1,494-1,618 จุด"นางสาวดรุณรัตน์ กล่าว

พร้อมกันนี้แนะนำกองทุน ABSM ลงทุนหุ้นไทยขนาดกลางและเล็ก ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตของกำไรที่ดี โดยกองทุนจะเน้นลงทุน 4 ธีม ท่องเที่ยว เฮลธ์แคร์ EV อาหารและเครื่องดื่ม

ด้านนายจอช ดิวทซ์ รองหัวหน้าทีมโกลบอลเอคควิตี้ อเบอร์ดีน เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวแบบ Soft landing เงินเฟ้อเริ่มลดลง สถานการณ์ดีขึ้นเมื่อเทียบปีก่อนที่กังวลเศรษฐกิจอาจเกิด Hard landing ขณะที่สงครามในตะวันออกกลางมีความกังวลอยู่บ้าง แต่มองกำไรบริษัทจดทะเบียนเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีและคาดว่าไตรมาส 4/66 กำไรน่าจะดีขึ้น ในแง่ของการลงทุนมองราคาหุ้นที่ปรับตัวลงมาเป็นโอกาสลงทุน โดยเฉพาะหุ้นปันผล

สำหรับกองทุนเปิดอเบอร์ดีน โกลบอล ไดนามิค ดีวิเดนด็น ฟันด์ (ABGDD) เน้นลงทุนหุ้นปันผลทั่วโลก ซึ่งกองทุนเน้นหุ้น Value มากกว่าหุ้น Growth เนื่องจากมีความสม่ำเสมอและมีความมั่นคง ซึ่ง 3 ปีล่าสุดราคาหุ้นปรับตัวลงมาเมื่อเทียบ หุ้น Growth เมื่อเทียบหลายวิกฤตที่ผ่านมาหุ้น Value มักจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ซึ่งรอบนี้หุ้น Growth ปรับตัวขึ้นมามากจากหุ้นบิ๊กเนม 7 ตัว มีขนาด 1 ใน 3 ของมาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นสหรัฐดึงหุ้นกลุ่มเทคขึ้นมา แต่มองในฝั่งหุ้น Value โอกาสในการลงทุนกำลังมา

"อเบอร์ดีนมองโอกาสลงทุนหุ้นปันผลดี สม่ำเสมอและมีโอกาสเติบโต จากสถิติหุ้นตัวไหนที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอและโอกาสเติบโตได้ ภาพระยะยาวจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้นตัวที่ลดการจ่ายเงินปันผลหรือไม่จ่ายปันผล สะท้อนภาพ 10 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งการลงทุนหุ้นปันผลยังเป็นการกระจายความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ และหากเลือกหุ้นที่ดีมีโอกาสเพิ่มผลตอบแทนจากเงินปันผล เป็นความเซ็กซี่ของหุ้นกลุ่มนี้ ขณะที่ราคาหุ้น Value ปรับตัวลงมามาก ถึงจุดน่าสนใจ โดยเฉพาะเมื่อเทียบอดีตใกล้เคียงช่วงก่อนเกิดโควิด จึงมองเป็นจังหวะเข้าลงทุนหุ้นดี ราคาเหมาะสมและถูก"นายจอช กล่าว

นอกจากนี้ในภาวะตลาดขาลง หุ้น Value ก็ปรับตัวลงน้อยกว่าตลาด เนื่องจากบริษัทที่มีการจ่ายเงินปันผลระดับสูงมักมีโมเดลธุรกิจที่มีความมั่นคง กระแสเงินสดดี งบดุลแข็งแกร่งและบริษัทมีการบริหารจัดการภายใน เพื่อเตรียมเงินไว้จ่ายปันผล ซึ่งจากสถิติหุ้นที่มีการจ่ายปันผลดี สม่ำเสมอและมีโอกาสเติบโตให้ผลตอบแทนที่ดีและความเสี่ยงต่ำกว่าหุ้นอื่นๆ

นายจอช กล่าวว่า ภาพรวมมูลค่าการจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกเพิ่มขึ้นตอเนื่องอยู่ที่ 1.93 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 8.4% ต่อปี ซึ่งเติบโตทุกภูมิภาค ส่วนหนึ่งมาจากหลายบริษัทมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง กระแสเงินสดดีสามารถจ่ายเงินปันผลได้และมีแนวโน้มการเติบโต

สำหรับกองทุน ABGDD เน้นลงทุนหุ้นพื้นฐานดีที่ปันผลสม่ำเสมอและมีโอกาสเติบโต สัดส่วน 95% ของพอร์ต ส่วน 5% ที่เหลือมองหาเงินปันผลที่มากกว่ากองทุนอื่นๆ โดยจะหาหุ้นบริษัทที่ดีเพื่อเข้าซื้อหุ้นก่อนขึ้นเครื่องหมาย XD และบางจังหวะจะใส่เงินเพิ่มเพื่อรับเงินปันผลเพิ่มมากขึ้น หรือหาหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผลแบบพิเศษ ซึ่งบางบริษัทอาจปรับโครงสร้างงบดุลภายในให้สถานการณ์ดีหรือมีการขายสินทรัพย์หรือบริษัทลูกมีเงินสดเข้ามาก็สามารถจ่ายเงินปันผลพิเศษได้

"กองทุน ABGDD มุ่งสร้างผลตอบแทนจากเงินปันผลอยู่ 7% ต่อปี เพื่อให้ Stable มั่นคงและยั่งยืน สะท้อนได้จากการจ่ายเงินปันผลทุกเดือน ในอดีตสามารถปันผลได้ในระดับ 5-7% ต่อปีและในปี 2565 ที่ตลาดปรับตัวลงกองทุนยังสามารถจ่ายผลตอบแทนได้ 8.04% เนื่องจากบริษัทที่ลงทุนแม้จะจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ แต่มีรายได้จากยุโรปและเอเชียด้วย"นายจอช กล่าว

X

Right Click

No right click