การเดินหน้าให้ความรู้ผู้ประกอบการ SME ผ่านกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ยังคงเป็นพันธกิจหลักที่ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ซีพี ออลล์ ได้ร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น และ สมาคมการค้าปลีกและเอสเอ็มอีทุนไทย จัดกิจกรรมสัมมนาออนทัวร์ ครั้งที่ 2 ที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อให้ SME New Gen ได้มีโอกาสมาเข้าร่วมฟังและอัปเดตเทรนด์ใหม่ๆ นำไปต่อยอดสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้กับธุรกิจ
โดยในครั้งนี้ได้ 2 SME รับเชิญชื่อดังอย่าง นิค-พลากร เชาวน์ประดิษฐ์ เจ้าของแบรนด์ “จอลลี่แบร์” (Jolly Bears) ขนมเยลลี่หมีที่เชื่อว่าคนไทยทุกคนต้องเคยทาน และ เมย์-พรพรรณ เรืองปัญญาธรรม Influencer ชื่อดังจากช่องยูทูป “MayyR” (เมอา) ที่มีผู้ติดตาม 1.74 ล้านคน และยังเป็นเจ้าของร้าน 11AM cafe and Space ร้านคาเฟ่ชื่อดังของ จ.ขอนแก่นที่ไม่ว่าใครก็ต้องแวะเวียนมาที่ร้าน โดยทั้งคู่มาร่วมเผยเคล็ดลับการสร้างตัวตน สู่การสร้างโอกาสทำให้ยอดขายปัง ในหัวข้อ “SME New Gen สร้างตัวตนให้เป็น ยอดขายก็ปัง”
“จอลลี่แบร์” ถือเป็นแบรนด์ขนมขบเคี้ยวสัญชาติไทย ที่ถือหุ้นและบริหารโดยคนไทย 100% มีชื่อเสียงโลดแล่นในตลาดมานานกว่า 50 ปี ผลิตโดย บริษัท พงษ์จิตต์ จำกัด ที่มีจุดเริ่มต้นจากการผลิตลูกอมแบบแข็ง แต่ด้วยสภาพตลาดที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง ทำให้ทายาทรุ่นที่ 2 ที่มารับช่วงต่อต้องมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการเติบโต โดยหันมาผลิตเยลลี่รูปหมีแทน
นิค-พลากร เชาวน์ประดิษฐ์ เจ้าของแบรนด์ “จอลลี่แบร์” ทายาทรุ่นที่ 3 เล่าเรื่องขยายความต่อให้ฟังว่า ต้องยอมรับว่า ในยุคนั้นคนไทยยังไม่ค่อยรู้จักเยลลี่ จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนตัดสินใจซื้อ เลยตัดสินใจทำการตลาดผ่านสื่อโฆษณาในช่องทางหลักอย่าง ทีวี หนังสือ ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในวงกว้าง สินค้าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แม้ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาบริษัทจะไม่ได้สร้างแบรนด์อย่างจริงจังเหมือนเดิม แต่แบรนด์ก็ยังคงสามารถขายสินค้าได้ด้วยตัวของแบรนด์เอง
กระทั่งเมื่อช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา มีผู้เล่นรายอื่นเข้ามาในตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจากต่างประเทศ บริษัทจึงต้องมุ่งสร้างแบรนด์อย่างจริงจังอีกครั้ง เนื่องจากแบรนด์ “จอลลี่แบร์” อยู่ในตลาดมาอย่างยาวนาน ผู้บริโภคที่เป็น Gen ใหม่ๆ อาจไม่สามารถเข้าถึงตัวตนที่แท้จริงของแบรนด์ได้ อีกทั้งรูปแบบการทำการตลาดแบบเดิมๆ ผ่านช่องทางหลักอาจไม่ตอบโจทย์พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคที่ใช้เวลาในโลกโซเซียลมากขึ้น
สำหรับรูปแบบการสร้างแบรนด์และทำการตลาดที่ทางบริษัทใช้ในปัจจุบันคือ การทำผ่าน Offline ควบคู่กับ Online แต่จะเน้นที่ Online เป็นหลัก โดยการใช้ Influencer ทำการตลาดผ่านโซเซียลมีเดียต่างๆ ทั้ง YouTube Facebook TikTok Instagram ในการรีวิวสินค้าช่วยสร้างกระแสก่อให้เกิดการบอกต่อ ทำให้เกิดการมองหาสินค้า ตัวสินค้าเองก็ต้องได้มาตรฐาน เดินหน้าพัฒนาสินค้าให้มีความสดใหม่อยู่เสมอ ทั้งรสชาติใหม่ แพ็กเก็จจิ้งใหม่ หรือหาพันธมิตรในการออกสินค้าใหม่ร่วมกันก็ได้
“การยืนหยัดในตลาดที่มีผู้เล่นจำนวนมาก สิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง เพราะแบรนด์ที่ดีจะช่วยสร้างความความเชื่อมั่น เชื่อใจ และน่าเชื่อถือให้กับองค์กรและสินค้า ซึ่งการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งได้นั้นจะต้องอาศัย 3 ข้อหลักๆ คือ 1.ต้องหาจุดแข็งของสินค้าให้เจอ สำหรับจอลลี่แบร์ก็คือ ความคุ้มค่า มีประโยชน์ มุ่งเน้นความปลอดภัย 2.สร้างมาตรฐานให้กับสินค้า สินค้าต้องได้มาตรฐานสากลในทุกด้าน และ 3.เดินหน้าหาพันธมิตรเพื่อสร้างการเติบโตร่วมกัน อย่างในช่วงหนึ่ง จอลลี่แบร์ได้จับมือแบรนด์รองเท้ากีโต้ เพื่อทำรองเท้าของจอลลี่แบร์ออกมาช่วงหนึ่ง ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดี โดยทั้ง 3 สิ่งนี้ทำให้จอลลี่แบร์ยังคงอยู่ในตลาดได้ พร้อมอัตราการเติบโตด้านยอดขายอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในปี 2566 บริษัทมียอดขายสูงถึง 300 ล้านบาท อยากให้ SME จำไว้ว่า เมื่อไหร่ที่หยุดสร้างแบรนด์ก็จะมีปัญหาเมื่อนั้น เพราะคู่แข่งพร้อมที่จะมาแซงเราอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น แบรนด์ จึงเป็นหัวใจหลักที่เราต้องรักษาและทำให้ดี”
หากเอ่ยชื่อของ เมย์-พรพรรณ เรืองปัญญาธรรม Influencer ชื่อดังจากช่องยูทูป “MayyR” (เมอา) เชื่อว่าบรรดาสาวๆ หลายคนคงรู้จักเธอเป็นอย่างดี เพราะช่องเกิดและโตมาจากการเป็นบิวตี้บล็อกเกอร์ ก่อนที่จะผันมาเป็นช่องท่องเที่ยว และหันมาทำร้านคาเฟ่เพิ่ม แต่ไม่ว่า เมย์ จะเปลี่ยนไปทำช่องในรูปแบบไหน หรือทำอะไรที่แตกต่างจากเดิม ก็ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดหันมาเปิดร้าน 11AM cafe and Space คาเฟ่ชื่อดังของจ.ขอนแก่น ผู้ติดตามก็ยังคงติดตามผลงานของเธออย่างเหนียวแน่นเหมือนเดิม อีกทั้งยังแวะเวียนไปที่ร้านอยู่บ่อยครั้ง นั่นเป็นเพราะ เมย์ สร้างตัวตนของตนเองออกมาได้อย่างชัดเจน และถูกถ่ายทอดออกมาสู่ช่อง MayyR ทำให้ผู้ติดตามเกิดความชื่นชอบ และยินดีที่จะติดตามไปในทุกๆ กิจกรรมที่เมย์ได้ทำ
เมย์ บอกว่า การสร้างตัวตนเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะตัวตนที่ดีจะช่วยสร้างการจดจำที่ดี โดยเฉพาะการสร้างผ่านสื่อโซเซียลมีเดียต่างๆ เพราะเป็นสื่อที่เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ง่าย โดยเริ่มจากการเป็นยูทูบเบอร์ (YouTuber) เรื่องความสวยความงาม ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว และหันมาเปิดร้านคาเฟ่ของตนเองที่บ้านเกิด เพราะไม่อยากทำงานไกลบ้าน แต่ก็ยังคงสร้างตัวตนของร้านผ่านสื่อโซเซียลมีเดียต่างๆอย่างต่อเนื่อง
“ช่อง MayyR ยังคงได้รับการตอบรับที่ดี ผู้ติดตามเก่าก็ยังคงติดตามอยู่ และมีผู้ติดตามใหม่เพิ่มมากขึ้น กระทั่งได้มีโอกาสมาเปิด ร้าน 11AM cafe and Space ซึ่งเป็นร้านคาเฟ่ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทั้งคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวเช่นเดียวกัน ลูกค้าส่วนหนึ่งมาจากผู้ติดตามเดิมในช่อง YouTube และอีกส่วนหนึ่งรู้จักร้านผ่าน Facebook TikTok Instagram ของร้านเอง โดยดึงจุดเด่นของร้านมาเป็นจุดขายในการสร้างตัวตนร้านนั่นคือ การเป็นไลฟ์สไตล์คาเฟ่ที่มาแล้วได้ครบ มีทั้งมุมถ่ายรูป มุมทำงาน ที่สะท้อนความเป็นตัวตนของเมย์ออกมานั่นคือความเรียบง่าย แต่ดูอบอุ่นและมีสไตล์ และเครื่องดื่ม อาหารหลากเมนู เพราะเป็นคนที่ชื่นชอบการทำขนมและอาหาร ชอบคิดสูตรเครื่องดื่มใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนในปัจจุบัน จนทำให้เกิดกระแสการบอกต่อ และอยากมาเห็นของจริง”
การสร้างตัวตนเพื่อยกระดับแบรนด์สามารถใช้ได้ทั้ง “ตัวสินค้าหรือตัวบุคคล” ในการสร้างแบรนด์ ขอเพียงรู้ถึงจุดเด่นของตัวเอง รวมถึงต้องหมั่นพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆอยู่เสมอ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน เพื่อนำมาสร้างเป็นจุดแข็งให้แบรนด์ เพราะแบรนด์ที่แข็งแรงและแข็งแกร่ง จะช่วยทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
“ฉลากอาหาร” ถือเป็น “หัวใจ” สำคัญของสินค้าเพื่อการบริโภค เพราะคือสิ่งที่จะช่วยบ่งบอกถึงรายละเอียดและส่วนประกอบสำคัญในตัวสินค้า ที่จะช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค แต่ฉลากอาหารที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ที่หันมาสนใจในเรื่องของโภชนาการอาหารเพิ่มมากขึ้น ทางกระทรวงสาธารณสุข จึงได้มีการปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติม ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 445-448 เกี่ยวกับฉลากโภชนาการ, อาหารที่ต้องแสดงฉลากโภชนาการ ค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม แบบจีดีเอ (GDA : Guideline Daily Amount), การกล่าวอ้างทางสุขภาพของอาหารบนฉลาก และผลิตภัณฑ์อาหารเสริม โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2567
บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่นอีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ ในฐานะหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนและส่งเสริม SME อย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์ 7 สนับสนุน SME จึงได้จัดสัมมนาพิเศษ “เตรียมความพร้อมด้านฉลากสินค้าตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 445-448”ให้กับผู้ประกอบการ SME และผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่เป็นคู่ค้าและผู้ที่สนใจทั่วไปได้ updateข้อมูล โดยมี นางสาวนฤมล ฉัตรสง่า ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยอาหารและการบริโภคอาหารจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข มาเป็นผู้ให้ความรู้ เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการ ในการปรับตัวให้ทันต่อกฎหมายใหม่ เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการจำหน่ายสินค้า เพราะเมื่อถึงกำหนดบังคับใช้ฉลากอาหารฉบับใหม่แล้วผู้ประกอบการที่ไม่เปลี่ยนฉลาก สินค้าก็จะถูกถอนออกจาก Shelf จำหน่ายโดยอัตโนมัติในทันที
โดยใจความสำคัญของประกาศทั้ง 4 ฉบับ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริโภครับทราบถึงข้อมูลชนิดและปริมาณสารอาหารที่ได้รับจากการบริโภค เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบปริมาณสารอาหารกับอาหารประเภทเดียวกันได้ พร้อมรายละเอียดต่างๆ กำหนดคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ตลอดจนหลักเกณฑ์ในการกล่าวอ้างทางสุขภาพของอาหาร
1.รูปแบบกรอบข้อมูลโภชนาการ : ต้องเป็นกรอบแบบมาตรฐาน (ไม่มีกรอบแบบย่อ) กรณีนอกเหนือจากรูปแบบที่กำหนด ต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารวมถึงมีการปรับข้อความ “หนึ่งหน่วยบริโภค” และ “จำนวนหน่วยบริโภค” เป็น “กินได้.. ครั้งต่อ...” ตลอดจนกำหนดจำนวนรายการสารอาหารบังคับน้อยลง จาก 15 รายการ เป็น 9 รายการได้แก่ พลังงาน ไขมันทั้งหมด ไขมันอิ่มตัว คอเลสเตอรอล โปรตีน คาร์โบไฮเดรตน้ำตาลทั้งหมด โซเดียม และโพแทสเซียมพร้อมกำหนด “โพแทสเซียม” เป็นสารอาหารบังคับเพิ่มเติม
2.ปรับข้อกำหนดเงื่อนไขการแสดงกรอบข้อมูลโภชนาการ : การแสดงกรอบข้อมูลโภชนาการนั้น การแสดงสีของพื้นกรอบข้อมูลให้ใช้สีขาว ตัวอักษรต้องใช้สีที่เห็นและอ่านได้ชัดเจน และต้องเป็นสีเดียวกันสีเส้นกรอบ ขนาดของตัวอักษรต้องมีขนาดดังต่อไปนี้ ส่วนที่ 1 และ 2 ความสูงไม่น้อยกว่า 1.5 มม. ส่วนที่ 3,4 และ 5 ความสูงไม่น้อยกว่า 1 มม. พร้อมแสดงข้อมูลพลังงานและสารอาหารทุกรายการตามที่กำหนด แม้ว่าจะมีปริมาณที่ไม่มีนัยสำคัญก็ตาม การแสดงข้อมูลสารอาหารอื่นนอกเหนือจากที่กำหนดให้แสดงในกรอบข้อมูลโภชนาการ ต้องแสดงตามลำดับก่อนหลังตามเงื่อนไขที่กำหนด กำหนดค่าการแปลงหน่วย (Conversion factors) และการคำนวณค่าพลังงาน, การคำนวณค่าพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตทั้งหมด, ค่าการแปลงหน่วยของวิตามินและแร่ธาตุ ปัดตัวเลขวิตามินและแร่ธาตุกรณีปริมาณไม่มีนัยสำคัญจาก “<ร้อยละ 2” เป็น“น้อยกว่าร้อยละ 5 ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน”ตามมาตรฐานโคเด็กซ์ (Codex : คณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหารFAO/WHO มีหน้าที่กำหนดมาตรฐานอาหารให้เป็นมาตรฐานสากล)
3.วิธีการกำหนดปริมาณอาหารหนึ่งหน่วยบริโภคกับจำนวนหน่วยบริโภคต่อภาชนะบรรจุ: ปรับแก้ไขนิยามของ “หนึ่งหน่วยบริโภค หรือ ปริมาณที่กินต่อครั้ง” โดยเน้นใช้คำว่า “ปริมาณที่กินต่อครั้ง” ให้สอดคล้องกับข้อความที่ใช้ในกรอบข้อมูลโภชนาการ ขยายกลุ่มอาหารจาก 7 กลุ่ม เป็น 14 กลุ่ม พร้อมชนิดอาหาร และปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิง ปรับหลักเกณฑ์การก าหนดปริมาณที่กินต่อครั้ง วิธีการกำหนดจำนวนครั้งที่กินได้ต่อภาชนะบรรจุ ปรับเศษเป็นจำนวนเต็ม ให้ใช้ตามหลักการทางคณิตศาสตร์สากล
4.ปรับชื่อบัญชี : “ค่าอ้างอิงสารอาหารต่อวันสำหรับคนไทย (THAI REFERENCE DAILY INTAKES-THAI RDIs)” เพื่อเป็นค่ากลางสำหรับอ้างอิงการแสดงคุณค่าทางโภชนาการบนฉลากอาหาร ปรับลดช่วงอายุอ้างอิงจาก “อายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป” เป็น “อายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป” ไม่กำหนดค่า Thai RDIs ของฟลูออไรด์
5.ค่าอ้างอิงต่อวันของสารอาหาร : กำหนดค่าอ้างอิงต่อวัน (Thai RDIs) ของสารอาหารจำนวน 33 รายการ พิจารณาบนพื้นฐานของปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวัน (Daily Intake Reference Value, DIRVs) ของประชากรทั่วไปสุขภาพดีในช่วงอายุ 19-50 ปี และค่าพลังงานที่ควรได้รับต่อวัน 2,000 กิโลแคลอรี ปรับลดช่วงอายุอ้างอิงจาก “อายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป” เป็น “อายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป” อ้างอิงตามมาตรฐาน CODEX เพื่อแบ่งกลุ่มประชากรให้ชัดเจน โดยแยกกลุ่มทารกและเด็กเล็ก (อายุ 0-3 ปี) ออกจากกลุ่มประชากรทั่วไป ไม่กำหนดค่า Thai RDIs ของฟลูออไรด์ สอดคล้องกับหลักการพิจารณากำหนดค่า DRIs ของกรมอนามัย
6.เกณฑ์และเงื่อนไขการกล่าวอ้างทางโภชนาการ : ปรับเงื่อนไขการคำนวณปริมาณสารอาหารกรณีอาหารที่มีปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงไม่เกิน 30 กรัม หรือไม่เกิน 2 ช้อนโต๊ะ จากการคำนวณ “ต่อ 50 กรัม” เป็น“ต่อ 2 เท่า ของปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิง” และมีการเพิ่มเงื่อนไขปริมาณ “น้ำตาลทั้งหมด มากกว่า 13กรัม” สอดคล้องกับเงื่อนไขการแสดงข้อความ“เพื่อสุขภาพ” และการกล่าวอ้างทางสุขภาพของอาหาร ปรับเงื่อนไขข้อความกล่าวอ้าง ไขมันอิ่มตัวต่ำ” “โซเดียมน้อย” “ไม่เติมน้ำตาล/ไม่ใส่น้ำตาล” “เป็นแหล่งของ, มี” “สูง, อุดม”กรณีเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารค่าต่ำสุด = 15% THAI RDIs ค่าสูงสุด = ปรับชนิดและปริมาณตามบัญชีแนบท้ายประกาศฯ
สำหรับผู้ประกอบการที่ผลิตอาหารที่ยื่นขออนุญาตแสดงฉลากโภชนาการก่อนวันที่ประกาศฉบับใหม่บังคับใช้ ผู้ประกอบการยังคงสามารถจำหน่ายต่อไปได้ โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวง สาธารณสุข (ฉบับที่ 182) พ.ศ. 2541 เรื่อง ฉลากโภชนาการ แต่ต้องไม่เกินสามปี นับแต่ฉบับใหม่บังคับใช้คือ ไม่เกินวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2570 หลังจากนั้นต้องแสดงฉลากโภชนาการตามประกาศฯฉบับใหม่
อีกหนึ่งบทบาทสำคัญของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัดมหาชน ผู้บริหาร เซเว่น อีเลฟเว่นและเซเว่น เดลิเวอรี่ ที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของอาหารนอกจากสรรหาอาหารคุณภาพมีความปลอดภัยสูงให้กับผู้บริโภคแล้ว ยังจัดให้มีโครงการเสริมความรู้ใหม่ๆ ให้กับคู่ค้าและผู้ประกอบการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยอย่างต่อเนื่อง
ซีพี ออลล์ และบริษัทในกลุ่ม จัดงาน “ประกาศทิศทางนโยบายบรรษัทภิบาล 2024” ปลุกพลังพนักงาน Store Business Partner (SBP) และคู่ค้า ร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรแห่งธรรมาภิบาลตลอดห่วงโซ่คุณค่า คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย “DNA ความดี 24 ชั่วโมง” ตอกย้ำการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมา ภิบาล ร่วมต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ มุ่งมั่นเคียงข้างชุมชน ร่วมสร้างสรรค์สังคมอย่างยั่งยืน ภายใต้ปณิธาน Giving and Sharing
โดยซีพี ออลล์ ได้วางแผนกลยุทธ์ด้านธรรมาภิบาลและเศรษฐกิจ เป็นหนึ่งในแผนพัฒนาความยั่งยืนระยะยาวขององค์กร ครอบคลุมการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2564-2573 ภายใต้การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการพัฒนาความยั่งยืน โดยบูรณาการแนวปฏิบัติสากลและแนวโน้มของโลก (Global Trend) เข้าไปในกระบวนการทางธุรกิจทั้งในระดับองค์กร และตลอดห่วงโซ่อุปทาน ห่วงโซ่แห่งคุณค่า (Supply & Value Chain) พร้อมทั้งประเมินผลการดำเนินงาน และสร้างการรับรู้เรื่องการประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืนไปสู่ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับผ่านการจัดโครงการอบรม ให้ความรู้ และสร้างการมีส่วนร่วมทั่วทั้งองค์กร พร้อมทั้งสร้างจิตสำนึกและการมีจิตสาธารณะให้อยู่ใน DNA ของพนักงานและขยายไปสู่คู่ค้าทางธุรกิจ
นายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่นอีเลฟเว่นและเซเว่น เดลิเวอรี่ เปิดเผยว่า ในฐานะองค์กรขนาดใหญ่ที่มีพนักงานทั้งบริษัทและบริษัทในกลุ่มรวมกว่า 250,000 คน และมีคู่ค้าลำดับที่ 1 มากกว่า 2,200 ราย บริษัทจึงมุ่งมั่นนำเสนอสินค้าคุณภาพและบริการความสะดวกแก่ทุกชุมชน ควบคู่กับการสร้างสรรค์และส่งต่อคุณค่า ตอบแทนคุณประเทศชาติ สังคม ชุมชน พร้อมทั้งต่อต้านการคอร์รัปชันอย่างเคร่งครัด ภายใต้คาถาบรรษัทภิบาล “ซื่อสัตย์ โปร่งใส ยุติธรรม คำนึงถึงชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม”
และในปี 2567 นี้ บริษัทยังคงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจภายใต้นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี ตามหลักบรรษัท ภิบาลขององค์กร กฎหมาย และแนวปฏิบัติสากลที่เกี่ยวข้องภายใต้ 2 กลยุทธ์หลักได้แก่ 1. ปลูกฝัง DNA ความดี 24 ชั่วโมง เพื่อสร้างธรรมาภิบาลจากภายในองค์กร โดยสนับสนุนให้พนักงาน ดำเนินงานอย่างโปร่งใส เป็นธรรม และคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติด้านแรงงาน โดยร้อยละ 100 ของพนักงานทุกระดับได้รับการอบรม (Training) ทบทวน (Refresh Training) และผ่านการทดสอบในหลักสูตรธรรมาภิบาล และการต่อต้านทุจริต การพัฒนาความยั่งยืน การบริหารความเสี่ยงด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ พร้อมทั้งสร้างผู้นำรุ่นใหม่หัวใจ ธรรมาภิบาล หรือ “Mister & Miss Good Governance: MMGG” ต่อเนื่องสู่รุ่นที่ 3 เพื่อสร้างตัวแทนจากทุกหน่วยงานช่วยเป็นกระบอกเสียงไปยังเพื่อนพนักงาน ในการส่งเสริมให้ทุกคนในองค์กรมีส่วนร่วมกับกิจกรรมด้านธรรมาภิบาล
2. ผนึกกำลังภายนอกองค์กร (Change agent) เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและสร้างการตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนให้กับคู่ค้า โดยขับเคลื่อนตามกลยุทธ์ผ่านโครงการประเมินความเสี่ยงและพัฒนา ศักยภาพคู่ค้า "Responsible Supply Chain Management" ตามกรอบแนวทางความยั่งยืน พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนคู่ค้ากลุ่มSMEs ในการเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์แนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชั่นของภาคเอกชนไทย (Thai Private Sector Collective Action Against Corruption: CAC) เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนธุรกิจดูแลช่วยเหลือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคม ชุมชนที่เกี่ยวข้อง
“เป้าหมายของ 2 กลยุทธ์ดังกล่าว คือการสร้าง DNA ความดี 24 ชั่วโมง โดยเรามีพนักงานกว่า 250,000 คน มีร้านกว่า 14,700 สาขา ใน 77 จังหวัด 928 อำเภอ และเกือบทุกตำบล ถือเป็นศูนย์กลางชุมชนที่แท้จริง หิวเมื่อไหร่ก็แวะไปเซเว่นฯ ลืมของเมื่อไหร่ก็แวะไปเซเว่นฯ ต้องการความช่วยเหลืออะไรก็แวะไปเซเว่นฯ จุดแข็งของเรานอกเหนือจากจำนวนร้านสาขา คือเรื่อง “คน” ปีที่ผ่านมาเรามีเคสลูกค้าชื่นชมพนักงานทำความดีกว่า 9,300 เคส สิ่งดีๆ เหล่านี้อาจเริ่มต้นจากเรื่องเล็กๆ ในแต่ละพื้นที่ แต่เราเชื่อว่าเมื่อปลูกฝังให้กลายเป็น DNA ขององค์กร พอรวมกันแล้วก็จะกลายเป็นคุณค่าต่อประเทศชาติ ประชาชน และองค์กร ให้สามารถเติบโตร่วมกันอย่างมีความสุขและยั่งยืน” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
นอกเหนือจาก 2 กลยุทธ์ดังกล่าวแล้ว บริษัทยังคงเดินหน้าให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลกิจการที่ดีในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ 1.การกำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลด้านความยั่งยืนและบรรษัทภิบาล โดยให้ความสำคัญกับสัดส่วนกรรมการอิสระที่เป็นบุคคลภายนอก 2.การทบทวนนโยบายกำกับดูแลกิจการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายและแนวปฏิบัติด้านบรรษัทภิบาลในระดับสากล 3.การมีนโยบายคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส (Whistleblowing Policy) ดูแลด้วยความโปร่งใส ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ได้รับความเสียหาย
ที่ผ่านมา ซีพี ออลล์ ถือเป็นหนึ่งในองค์กรที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนด้านธรรมาภิบาลอย่างจริงจัง จนได้รับการยอมรับและการการันตีจากหลายหน่วยงาน อาทิ ได้รับการประเมินระดับดีเลิศ (Excellence) หรือระดับ 5 ดาว โดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ได้รับการรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบัน ได้รับรางวัล CAC Change Agent Awards จาก CAC ต่อเนื่องถึง 3 ปีซ้อน
กระทรวงอุตสาหกรรม ผนึก ซีพี ออลล์ ผ่านเซเว่นฯ สนับสนุน SMEs ไทยให้เติบโต พร้อมเปิดโอกาสทางการตลาดส่งสินค้า SMEs สู่มือผู้บริโภค พร้อมยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน ผ่านโครงการและกิจกรรมเด่น ตั้งเป้ายกระดับสินค้า นวัตกรรม สู่มาตรฐานสากล
นายณัฐพล รังสิต ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันและสร้างโอกาสทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการและการจัดกิจกรรมการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการ (Kick-off) ร่วมกับ นายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ โดยระบุว่า การลงนาม MOU ในวันนี้ (5 เม.ย.67) ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสนับสนุน SMEs เพื่อเริ่มต้นทำกิจกรรมส่งเสริมผู้ประกอบการร่วมกัน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ในประเทศไทยมีส่วนสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจของไทยอย่างยิ่ง ทั้งก่อให้เกิดการจ้างงาน แหล่งอาชีพ แหล่งสร้างรายได้ให้กับประชาชนในทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ของ SMEs สร้างงาน อาชีพ กระจายรายได้ และเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประชาชน สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริม SMEs ของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน โดยกระทรวงฯดำเนินการสนับสนุนผ่านโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ โดยหวังว่าจะช่วยสร้างโอกาสให้กับ SMEs ให้สามารถผลิตสินค้าได้อย่างมีคุณภาพ มาตรฐานเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค และเมื่อผู้ประกอบการผลิตสินค้าแล้วจำเป็นต้องเชื่อมโยงกับผู้ซื้อ ซึ่งเซเว่น อีเลฟเว่นเป็นร้านสะดวกซื้อที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดีมีสาขามากกว่า 10,000 สาขาทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงคนไทยทุกกลุ่ม จึงมั่นใจว่าการลงนาม MOU ครั้งนี้ จะเป็นโอกาสของสินค้าจากผู้ประกอบการ SMEs ในการเพิ่มช่องทางกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี
“กระทรวงอุตสาหกรรม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล มีนโยบายมุ่งมั่นส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ใน 4 มิติ ก็คือ รายได้ การอยู่ร่วมกันกับชุมชน การลงตัวสอดคล้องกับกติกาสากล และการกระจายรายได้สู่ชุมชน ซึ่งหนึ่งในวัตถุประสงค์ของนโยบายดังกล่าวเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นที่รักของชุมชน ด้วยการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการรายย่อยให้มีโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งของภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยความร่วมมือครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงการเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันระหว่างองค์กรขนาดใหญ่และผู้ประกอบการรายย่อย SMEs รวมถึงผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งช่วยผลักดันให้สินค้า หรือผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการของกระทรวงอุตสาหกรรมมีโอกาสร่วมกับผู้ค้าปลีกรายใหญ่ของประเทศส่งผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง สร้างรายได้ สร้างโอกาส ให้แก่ผู้ประกอบการได้เติบโตและดำเนินธุรกิจภายใต้สภาวะการแข่งขันของตลาดที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น พร้อมทั้งขยายไปยังหน่วยอื่น ๆ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโตควบคู่กับการกินดีอยู่ดีของผู้ประกอบการรายย่อยและชุมชนอย่างยั่งยืน โดยในรอบนี้มีผู้ประกอบการที่ผ่านโครงการของ อก. ที่ได้รับโอกาสในการเชื่อมโยงกับเซเว่น อีเลฟเว่น กว่า 50 ราย คาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทต่อปี” นายณัฐพล กล่าว
ด้าน นายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวว่า เซเว่น อีเลฟเว่น ในฐานะหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนและส่งเสริม SMEs มาโดยตลอด ตามนโยบาย “SMEs โตไกลไปด้วยกัน” ผ่านกลยุทธ์ 3 ให้ ประกอบด้วย 1.ให้ช่องทางขาย 2.ให้ความรู้ และ 3.ให้การเชื่อมโยงเครือข่าย จึงได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อ SMEs มาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ได้ร่วมลงนามความร่วมมือครั้งสำคัญกับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับขีดความสามารถผู้ประกอบการ พร้อมสร้างโอกาสการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนให้กับ SMEs ในอนาคต
“การลงนามความร่วมมือกันระหว่าง บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นภาคเอกชนกับ กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะภาครัฐ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการเดินหน้าสนับสนุน ส่งเสริม SME อย่างจริงจังในทุกรูปแบบและทุกช่องทาง สอดคล้องกับวิสัยทัศน์การเติบโตของทั้ง 2 หน่วยงานคือ ต้องการสร้างการเติบโตแบบองค์รวมทั้งในภาคของเกษตรกรและผู้ประกอบการ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนให้กับ SMEs และระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศในอนาคตให้พร้อมแข่งขันในระดับสากล” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
สำหรับบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างโอกาสทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน พัฒนา เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชนและเกษตรกร เพื่อยกระดับสินค้าและบริการให้เติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานในการปฏิบัติทางการค้าที่ดี (Code of Conduct) นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายและพันธกิจในการสร้างอุตสาหกรรมที่อยู่ร่วมกับชุมชนและสังคมของทั้งสองฝ่ายได้เป็นอย่างดี เพิ่มศักยภาพและพัฒนาบุคลากรผ่านการดำเนินโครงการ หรือ กิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดสัมมนา การฝึกอบรม การให้คำปรึกษาแนะนำ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ เสริมสร้างทักษะที่จำเป็นในการประกอบธุรกิจ ตลอดจนเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะเป็นประโยชน์ในการยกระดับสถานประกอบการและประสิทธิภาพกระบวนการผลิต และร่วมมือกันดำเนินงานด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้ประกอบการ ให้ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา (Feedback) ให้ความรู้เชิงวิชาการ เพื่อพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง และสร้างโอกาสทางการตลาดการประชาสัมพันธ์ผ่านการจัดกิจกรรมการทดสอบตลาด ตลอดจนกิจกรรมสนับสนุนต่าง ๆ เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ให้แก่บุคคลทั่วไปในชุมชนและสังคม