ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) หรือเอไอ เป็นคำพูดติดปากของใครหลายๆ คนที่งานจัดแสดงเทคโนโลยีสื่อสารไร้สาย​ Mobile World Congress 2024 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ขณะที่ประเด็นเสวนาในปีก่อนนั้นมุ่งเน้นไปที่เรื่อง 5G เป็นหลัก สาระสำคัญของงานในปีนี้ (ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 26 – 29 กุมภาพันธ์) กลับอัดแน่นไปด้วยหัวข้อเสวนาและความเคลื่อนไหวสำคัญเกี่ยวกับเอไอ ทำให้ดูเหมือนว่าเส้นแบ่งระหว่างอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและโทรคมนาคมนั้นกำลังค่อยๆ จางลงเรื่อยๆ

ในงานผมได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้นำจากภาครัฐและตัวแทนภาคอุตสาหกรรมหลายท่าน ก่อนจะเดินทางกลับมายังประเทศไทยด้วยความเชื่อมั่นว่าเอไอจะเป็นประตูแห่งโอกาสสำหรับเราทุกคนในการรับมือกับความท้าทายทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และนี่คือสามประเด็นที่ผมมองว่าเราควรให้ความสำคัญ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากศักยภาพของเอไอและก้าวไปแข่งขันอย่างทัดเทียมบนเวทีโลก

จริยธรรมปัญญาประดิษฐ์

ท่ามกลางกระแสร้อนแรงของเอไอ บ่อยครั้งเราได้ยินข้อถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์และการใช้งานเอไออย่างมีความรับผิดชอบ ขณะเดียวกัน เริ่มมีหลายฝ่ายออกมาเรียกร้องถึงมาตรการกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ให้มีความโปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งบริษัท Microsoft ได้ใช้เวทีโมบายล์ เวิลด์ คองเกรสในปีนี้ ในการประกาศแนวทางปฏิบัติด้านธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ พร้อมชูความร่วมมือกับสตาร์ทอัพสัญชาติฝรั่งเศส Mistral ในฐานะพันธมิตรหลักด้านเอไอรายที่สองถัดจาก OpenAI นับเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้นักพัฒนาสามารถเข้าถึงโมเดลปัญญาประดิษฐ์ของไมโครซอฟท์ได้เป็นวงกว้างยิ่งขึ้น

ทรู คอร์ปอเรชั่น เป็นองค์กรไทยขนาดใหญ่แห่งแรกที่มีการประกาศใช้จริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการด้านธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ (AI Governance Committee) ซึ่งจะทำหน้าที่ตรวจสอบโครงการด้านเอไอสำคัญๆ ของทรูทั้งหมด ความพยายามเหล่านี้ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของเราในการส่งเสริมการใช้งานเอไออย่างมีความรับผิดชอบ พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าของเราว่าทรูนั้นเคารพต่อความเป็นส่วนตัวของข้อมูล โดยเราเดินหน้าทำงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งจากภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้จริยธรรมปัญญาประดิษฐ์นั้นกลายเป็นบรรทัดฐานของประเทศไทย

อีกประเด็นหนึ่งซึ่งยึดโยงกับเรื่องจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์และมีความร้อนแรงไม่แพ้กัน ก็คือประเด็นด้านสภาพภูมิอากาศ ในวันที่สามของงานโมบายล์ เวิลด์ คองเกรส สมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA) ได้เปิดเผยรายงาน Net Zero Report ซึ่งระบุว่าอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในโครงข่ายของผู้ให้บริการเครือข่ายทั่วโลกนั้นลดลง 6% ในระหว่างปี 2562 ถึงปี 2565 แม้ว่าการใช้งานอินเตอร์เน็ตจะเติบโตกว่า 2 เท่าก็ตาม อย่างไรก็ดี การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเอไอก็นำไปสู่คำถามที่ว่า ความต้องการใช้พลังงานมหาศาลของเอไอในการประมวลผลจะทำให้ความพยายามทั้งหมดที่ผ่านมานี้สูญเปล่าหรือไม่

ในด้านดี เทคโนโลยีเอไอมีศักยภาพช่วยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อันถือเป็นอีกวาระเร่งด่วนสำหรับประเทศไทย บนเวทีโมบายล์ เวิลด์ คองเกรส ผมในฐานะตัวแทนของ ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้บอกเล่าเกี่ยวกับโซลูชันเอไอที่เราพัฒนาขึ้นเองภายในองค์กรเพื่อช่วยลดการใช้พลังงานในโครงข่ายของเรา ที่ผ่านมา โซลูชันดังกล่าวทำให้เราสามารถลดการใช้พลังงานในโครงข่ายลง 15% นี่นับเป็นอีกก้าวสำคัญสำหรับทรู ภายใต้เจตนารมณ์ในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน​ภายในปี 2573

ความเร็วอาจไม่สำคัญเท่าความพร้อม

ท่ามกลางกระแสความตื่นเต้นเรื่องเอไอ ถึงเวลาที่ผู้นำอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องย้อนกลับมาประเมินถึงความพร้อมและเร่งจัดการกับความท้าทายด้านดิจิทัลภายในองค์กร เช่น การยกระดับทักษะดิจิทัลของพนักงาน การนำข้อมูล (data) มาร่วมขับเคลื่อนการตัดสินใจของผู้บริหารในระดับ C-suite การดึงดูดและรักษาบุคลากรดิจิทัล (digital talent) ไว้ ไปจนถึงการสร้างความแข็งแกร่งของกลไกการปกป้องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล

เทเลนอร์ ในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคมระดับโลกซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศนอร์เวย์ และเป็นผู้ถือหุ้นร่วมของทรู คอร์ปอเรชั่น ได้จัดเวทีเสวนาร่วมกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมจากภูมิภาคเอเชียจำนวนสามราย ซึ่งล้วนเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในตลาดและมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในประเทศของตน โดย ยาซีร์ อัซมาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Grameenphone (บังกลาเทศ) อิดดัม นาวาวี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Celcom Digi (มาเลเซีย) และตัวผมเอง ได้ร่วมกันหารือถึงความจำเป็นเร่งด่วนขององค์กรธุรกิจในภูมิภาคเอเชียในการจัดการกับความท้าทายด้านดิจิทัล ก่อนที่จะนำเทคโนโลยีเอไอมาใช้งานในองค์กร

ที่ทรู คอร์ปอเรชั่น เรามีแผนสร้างบุคลากรของเราจำนวน 2,400 คนให้เป็น digital citizen ภายในปี 2567 โดยหัวใจความสำเร็จของเราคือการตั้งเป้าหมายที่สามารถวัดผลได้จริง เช่น การนำระบบออโตเมชันมาใช้กับงานพื้นฐานประจำวันที่มีกฎชัดเจนให้ได้ 100% ภายในปี 2570 และเพื่อติดปีกธุรกิจไทยให้เติบโตสู่ยุคเอไออย่างแข็งแกร่ง ทรูยังได้สร้างระบบนิเวศโซลูชันและบริการเพื่อรองรับการใช้งานเอไอ นับตั้งแต่ Open API ไปจนถึงแพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูล และหลักสูตรด้านดิจิทัลจาก True Digital Academy

จากสถานีฐานสู่ดาต้าเซ็นเตอร์

ในยามที่ประเด็นสนทนาหลักในงานโมบายล์ เวิลด์ คองเกรส นั้นแปรเปลี่ยนจากเรื่อง 5G ไปสู่ปัญญาประดิษฐ์​ ในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานเอง ดูเหมือนว่าสีสันของงานในปีนี้จะไม่ได้อยู่ที่อุปกรณ์ส่งสัญญาณ 5G รุ่นล่าสุดที่ถูกนำไปติดตั้งบนสถานีฐานอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของด้าตาเซ็นเตอร์ (data center) ​และความสามารถในการประมวลผล

ประจวบเหมาะกับที่เมื่อเร็วๆ นี้ ตัวแทนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ได้ร่วมหารือกับผู้บริหารบริษัท Huawei เกี่ยวกับการลงทุนในคลาวด์และดาต้าเซ็นเตอร์ อีกทั้งก่อนหน้านี้ ทางรัฐบาลไทยได้ประกาศความร่วมมือขยายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานกับบริษัท Google และไมโครซอฟท์

แต่การก้าวไปเป็นศูนย์กลางด้านปัญญาประดิษฐ์และดาต้าเซ็นเตอร์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นยังคงเป็นหนทางอีกยาวไกลสำหรับประเทศไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (K-Research) คาดว่าการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยจะมีมูลค่ากว่า 7.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในระหว่างปี 2567 – 2570 แต่ยังเป็นรองมาเลเซียที่จะมีมูลค่าการลงทุนสูงกว่าไทยราว 3 เท่า โดยหนึ่งในอุปสรรคสำคัญคือการขาดแคลนแหล่งพลังงานสะอาด

ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่าปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาเป็นตัวเร่งสำคัญที่นำไปสู่การทลายเส้นแบ่งระหว่างอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและเทคโนโลยี เมื่อไม่นานมานี้ เทเลนอร์ได้ประกาศพันธมิตรกับ NVIDIA เพื่อร่วมลงทุนประมาณ 9.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐในโครงสร้างพื้นฐาน อันจะทำให้เทเลนอร์สามารถเข้าถึงฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เอไอสำหรับธุรกิจที่ทันสมัยที่สุดของเอ็นวิเดีย โดยมีเป้าหมายคือการสร้าง use case ปัญญาประดิษฐ์ในประเทศนอร์เวย์เป็นที่แรก ก่อนจะขยายไปสู่ประเทศอื่นๆ ใน ภูมิภาคนอร์ดิก

ที่ทรู เราเชื่อเช่นเดียวกันว่าโครงข่ายอัจฉริยะนั้นเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถส่งมอบประสบการณ์ใช้งานเครือข่ายที่เหนือกว่าสำหรับลูกค้าของเรา โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เราได้เปิดตัวศูนย์ปฏิบัติการเครือข่ายอัจฉริยะ (Business and Network Intelligence Center: BNIC) พร้อมปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความเชื่อมั่นเครือข่าย 5G, 4G และอินเทอร์เน็ตบ้าน และส่งมอบบริการวอยซ์และดาต้าความเร็วสูง สำหรับลูกค้าจำนวนกว่า 50 ล้านคนทั่วประเทศของเรา นอกจากนั้นแล้ว โครงข่ายอัจฉริยะยังจะช่วยยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเราอีกด้วย

ประเด็นเสวนาหลักของงานโมบายล์ เวิลด์ คองเกรส ในไปนี้ ทำให้เราเห็นถึงศักยภาพของเอไอในการส่งมอบเทคโนโลยีที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น ซึ่งทรูนั้นมีเจตนารมณ์ในการนำศักยภาพของเอไอมาสร้างสรรค์โซลูชันสำหรับสังคมไทย ให้พร้อมรับมือกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ช่องว่างด้านทักษะ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเติบโตและก้าวไปแข่งขันได้อย่างสง่างามบนเวทีโลก


บทความนี้เขียนโดย ชารัด เมห์โรทรา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เมื่อเร็วๆ นี้คุณชารัดได้เข้าร่วมงาน Mobile World Congress 2024 ที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน

กว่าจะเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงกับหลากบททดสอบสุดหิน

สำหรับวันสตรีสากล (International Women’s Day: IWD 2024) ปีนี้ จัดขึ้นภายใต้ธีม #InspireInclusion โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจต่อสังคมเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและบทบาทของสตรีในมิติต่างๆ ท่ามกลางอุปสรรคและข้อจำกัดทางเพศ รวมถึงส่งต่อเรื่องราวแห่งแรงบันดาลใจจากผู้หญิงถึงผู้หญิงด้วยกัน เพื่อสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน การมีส่วนร่วม และเสริมสร้างศักยภาพของสตรีด้วยกัน โดยมีเป้าหมายใหญ่เพื่อร่วมกันสร้างโลกให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น

ทรู คอร์ปอเรชั่น ขอนำเสนอเรื่องบันดาลใจของ 5 ผู้นำหญิงแห่งทรู คอร์ปอเรชั่น ประกอบด้วย 1. ศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล 2. ยุภา ลีวงศ์เจริญ หัวหน้าคณะผู้บริหาร (ร่วม) ด้านการเงิน 3. ณัฏฐา พสุพัฒน์ หัวหน้าสายงานโมบายล์โพสต์เพย์ 4. อรอุมา วัฒนะสุข หัวหน้าสายงานสื่อสารองค์กรและการประชาสัมพันธ์ และ 5. ภรรททิยา โตธนะเกษม หัวหน้าฝ่าย Digital Growth Strategy บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด

ภายใต้เป้าหมายการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ Telco-Tech Company ผู้บริหารหญิงทั้ง 5 ท่านคือส่วนหนึ่งของบุคลากรในทรู คอร์ปอเรชั่น ที่มีบทบาทสำคัญต่อภารกิจดังกล่าว ทั้งการขับเคลื่อนผ่านวัฒนธรรมองค์กร การเตรียมความพร้อมทางการเงินและการลงทุน การนำทัพบุกตลาดเพื่อการเติบโต การสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง และการสร้างกลไกการเติบโตใหม่ๆ บนสมรภูมิดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม กว่าผู้บริหารหญิงเหล่านี้จะก้าวมาสู่แถวหน้า ขับเคลื่อนองค์กรและฝ่าวิกฤตต่างๆ ต้องผ่านร้อนผ่านหนาว และเผชิญกับอุปสรรคนานัปการ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลเกี่ยวเนื่องจากความไม่เท่าเทียมทางเพศที่ปรากฏขึ้นในสังคมแบบดั้งเดิม เช่น ข้อจำกัดทางเพศสภาพ อคติทางเพศ การเหมารวมทางเพศ และการคุกคามทางเพศ ฯลฯ

ทั้งนี้ จากเรื่องราวของผู้บริหารหญิงแกร่งท้ัง 5 ท่าน พบว่า กว่าจะประสบความสำเร็จ ขึ้นแท่นนักบริหารและได้รับความไว้วางใจทำหน้าที่แบกภาระอันใหญ่ยิ่ง พบจุดร่วมเชิงปัจเจกนิยมที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 

  1. การตั้งเป้าหมายและมีความมุ่งมั่น (Ambition and Commitment) ผู้หญิงสามารถประสบความสำเร็จได้ทั้งชีวิตการงานและครอบครัว โดยไม่จำเป็นต้องเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ขอเพียงแต่ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนและวางแผนตระเตรียมปัจจัยแวดล้อมให้พร้อมต่อการทำหน้าที่ทั้ง 2 มิติ
  2. การมีระเบียบวินัย (Discipline) แม้ผู้หญิงจะมีอุปสรรคทางกายภาพ ตลอดจนกรอบทางสังคม ทำให้ต้องใช้ความพยายามในการทำสิ่งต่างๆ มากขึ้น แต่การมีระเบียบวินัยต่อตนเอง คือหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้ผู้หญิงฝ่าฟันกับอุปสรรคเหล่านั้นได้
  3. การแบ่งปัน (Sharing) แม้ปัจจุบัน สถานการณ์ความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทยจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกัน ยังมีผู้หญิงอีกจำนวนมากที่ยังติดหล่มความไม่เท่าเทียมทางเพศ ทั้งการเข้าถึงการศึกษาและแหล่งทุน ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงการขาดต้นแบบ (Role Model) ที่เป็นผู้หญิงด้วยกัน เขาเหล่านั้นมีการจัดสรรเวลาให้แก่สังคม โดยร่วมแบ่งปันความรู้ของเธอแก่เด็กผู้หญิงและผู้หญิงที่ขาดโอกาส เพื่อการพัฒนาศักยภาพในตัวเอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเชิงโครงสร้าง ยังพบปัญหาอีกหลายอย่างที่เกิดจากข้อจำกัดทางเพศ จากงานวิจัยของ Career after Babies ธุรกิจเพื่อสังคมสัญชาติอังกฤษ ได้จัดทำสำรวจความคิดเห็นของแม่ลูกอ่อนจำนวน 848 คนในอังกฤษ ในปี 2565 พบว่า

  • 85% ของผู้หญิงตัดสินใจออกจากงานประจำในช่วง 3 ปีแรกของการมีบุตร และ 19% ออกจากงานด้วยเหตุผลที่นายจ้างไม่สามารถให้ความยืดหยุ่นในการทำงานได้
  • ผู้หญิงในระดับบริหารมีสัดส่วนลดลงถึง 32% ภายหลังการมีบุตร ขณะที่สัดส่วนของผู้หญิงที่ทำงานในระดับปฏิบัติการและธุรการเพิ่มขึ้น 44% ตัวเลขดังกล่าวแสดงถึงภาวะจำยอมที่ผลักดันให้ผู้หญิงทำงานให้ตำแหน่งที่ต้องการความเชี่ยวชาญน้อยลง

ขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลกและ UNICEF ได้ออกคำแนะนำเกี่ยวกับการให้นมบุตร โดยกำหนดให้เด็กควรได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียวต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน (Exclusive Breastfeeding) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางสมองและการเจริญเติบโตของบุตร อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจของสถาบันแห่งชาติ เพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า เด็กไทยสัดส่วนน้อยกว่า 20% ได้รับนมแม่อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งปัจจัยหลักมาจากการที่แม่ต้องกลับเข้าสู่การทำงาน และขาดการสนับสนุนพื้นที่จากองค์กรต่างๆ

ศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว ความแตกต่างและข้อจำกัดของผู้หญิงต่อการเข้าสู่สนามการทำงาน ตลอดจนบทบาทของผู้หญิงต่อการพัฒนาองค์กรและสังคม ทรู คอร์ปอเรชั่น จึงกำหนดนโยบายและอำนวยความสะดวกในองค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อการทำหน้าที่แม่ เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ตลอดจนบทบาทสตรีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

  1. พนักงานหญิงสามารถลาคลอดบุตรได้สูงสุด 6 เดือน โดยได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน
  2. พนักงานชายจะได้รับสิทธิในการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้ปีละ 7 วัน
  3. พนักงานและสมาชิกในครอบครัว สามารถใช้บริการฟิตเนสเซ็นเตอร์ได้ฟรี
  4. ทรู คอร์ปอเรชั่น จัดหา “ห้องให้นมบุตร” (Breastfeeding Room) ซึ่งเป็นสถานที่ที่อำนวยความสะดวกสำหรับพนักงานหญิงที่มีลูกอยู่ในชั้นปฐมวัย แบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วน ถูกต้องตามหลักอนามัย ทั้งยังจัดหาตู้เย็นสำหรับจัดเก็บนมแม่ เพื่อรักษาไว้ซึ่งคุณภาพที่เหมาะสม

นอกจากนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังได้กำหนดนโยบายให้ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทจะต้องมีสัดส่วนเป็นผู้หญิงอย่างน้อย 30% ขณะเดียวกัน ยังกำหนดให้การมีส่วนร่วมของผู้หญิงในองค์กรเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ในองค์กรอีกด้วย

“ที่ทรู คอร์ปอเรชั่น เราเข้าใจถึงความต้องการของพนักงานในมิติต่างๆ รวมถึงพนักงานหญิงที่หลายคนต้องทำหน้าที่ทั้งแม่และพนักงาน ซึ่งถือเป็นภาระอันหนักหน่วง เราจึงกำหนดนโยบายและจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกที่จะลดอุปสรรคทางเพศให้ได้มากที่สุด เพราะเราเชื่อมั่นในศักยภาพของทุกคนที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ Telco-Tech Company และการพัฒนาประเทศชาติต่อไป” ศรินทร์รา กล่าว

พร้อมติดตามเรื่องราวชีวิตอันเข้มข้นผ่านเลนส์ 5 หญิงแกร่งแถวหน้า กว่าจะเป็นผู้นำในวันนี้ได้ ต้องเผชิญกับอุปสรรค การตัดสินใจ และแนวทางการใช้ชีวิตอย่างไร ติดตามได้ที่ True Blog ตลอดเดือนมีนาคมนี้

ประกาศ 3 กลยุทธ์หลัก ปูทางเติบโตอย่างยั่งยืน ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ

Page 1 of 5
X

Right Click

No right click