ตามที่ได้มีการโพสต์ในโซเชียลมีเดีย เรื่องการประกาศขายข้อมูล SCB บนเว็บไซต์แห่งหนึ่งนั้น ธนาคารไทยพาณิชย์ได้รับทราบเหตุการณ์ดังกล่าวตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยตรวจพบการโพสต์ขายข้อมูลที่ระบุว่าเป็นของธนาคารไทยพาณิชย์ในเว็บไซต์มืด (Dark Website) แห่งหนึ่ง อย่างไรก็ดี ธนาคารได้ทำการตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวแล้ว พบว่า ข้อมูลที่ประกาศขายไม่ใช่ข้อมูลของธนาคาร โดยไม่มีข้อมูลใดๆ เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงินของลูกค้าธนาคาร รวมถึงไม่ปรากฏช่องโหว่ที่จะนำมาซึ่งการรั่วไหลของข้อมูลธนาคารได้

สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ไม่มีผลกระทบต่อลูกค้าและไม่มีความเสียหายทางการเงินแต่อย่างใด พร้อมกันนี้ธนาคารได้แจ้งความดำเนินคดีแก่ผู้ที่โพสต์ขายข้อมูลในเว็บมืดดังกล่าวแล้ว

ธนาคารขอยืนยันว่า เรามีมาตรการรักษาความปลอดภัยและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าขั้นสูงสุด หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ SCB call center หมายเลขโทรศัพท์ 02-777-7777 หรือสามารถติดตามข่าวสารจากเว็บไซต์ www.scb.co.th ช่องทางเฟซบุ๊ค SCB Thailand และช่องทางทวิตเตอร์ scb_thailand

----------------------------

ไทยพาณิชย์ หนุนร้านอาหารแก้เกมส์ธุรกิจพลิกฟื้นรายได้ด้วยกลยุทธ์การตลาด

ถอดเคล็ดลับ ZEN Group - Phoenix Lava ต่อยอดจุดแข็งสร้างโอกาสใหม่อย่างทรงพลัง

 กิจการร้านอาหารเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และถึงแม้ประเทศไทยจะผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ให้ผู้บริโภคสามารถนั่งรับประทานอาหารที่ร้านได้แล้ว แต่การพลิกฟื้นยอดขายและรายได้คงไม่สามารถกลับมาเป็นเช่นเดิมตราบใดที่สถานการณ์โควิดยังคงมีต่อเนื่อง การปรับแผนธุรกิจและทบทวนกลยุทธ์การตลาดให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันและเทรนด์ในอนาคตอาจจะเป็นหนทางพลิกวิกฤตสู่โอกาสให้กับธุรกิจอย่างที่คาดไม่ถึง

 นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ภาพรวมของธุรกิจร้านอาหารส่วนใหญ่ซบเซาลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้ประกอบการร้านอาหารมียอดขายและรายได้ที่ลดลงอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันมีธุรกิจร้านอาหารอีกส่วนหนึ่งที่กลับมียอดขายเพิ่มขึ้น ธุรกิจเติบโตจนต้องขยายสาขาเพื่อตอบสนองความต้องการให้กับลูกค้า ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นได้เพราะเจ้าของธุรกิจไม่อยู่นิ่งเฉย แต่พยายามปรับแผนธุรกิจให้เท่าทันกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจร้านอาหารขนาดเล็ก กลาง และขนาดใหญ่ ล้วนต่างต้องปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดในวันนี้และพร้อมที่จะก้าวต่อไปในวันข้างหน้าได้อย่างแข็งแกร่ง ธนาคารไทยพาณิชย์มีตัวอย่างร้านอาหารที่สามารถดึงจุดแข็งของตัวเองมาใช้เพื่อการปรับแผนธุรกิจและพัฒนากลยุทธ์การตลาดจนประสบความสำเร็จ จากประสบการณ์จริงของ บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของเชนร้านอาหารแบรนด์ชั้นนำของไทย และร้าน Phoenix Lava ซึ่งปัจจุบันมีสาขามากกว่า 10 แห่ง โดยร่วมถอดประสบการณ์ในเวทีสัมมนา “เปิดสูตรลับ ปรับกลยุทธ์ธุรกิจอาหารต้องรอด” ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ได้จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้

 นายศิรุวัฒน์ ชัชวาลย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจแบรนด์ไทย บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เล่าว่า ธุรกิจของเซ็นกรุ๊ปได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากถึง 80% เนื่องจากร้านอาหารส่วนใหญ่อยู่ในห้างและยอดขายจากบริการเดลิเวอรี่ทำได้เพียง 20 - 30% จากที่เคยขายได้ ในวิกฤตครั้งนี้แบรนด์ “เขียง” เป็นเหมือนฮีโร่ของกลุ่มเพราะยังสามารถทำยอดขายได้ดีสวนกระแส มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขยายสาขาแล้วมากกว่า 100 สาขา และตั้งเป้าหมายที่จะขยายสาขาให้ได้ 5 - 6 สาขาต่อเดือน มีร้านอาหารหลากหลายแบรนด์ที่อยู่ภายใต้เซ็นกรุ๊ป ซึ่งเราประเมินแล้วว่าการแก้เกมส์ในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้คงไม่สามารถใช้ยาตัวเดียวแก้ปัญหาให้กับทุกแบรนด์ได้ เพราะแต่ละแบรนด์มีลักษณะตัวตนและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำอย่างแรกคือ 1) ทำความเข้าใจลูกค้าของตัวเองให้ชัดเจน แล้วจึงปรับกลยุทธ์ธุรกิจให้สอดคล้อง เช่น ร้านตำมั่วได้ปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นปลาร้า และแจ่วบองบรรจุขวด เพื่อให้ลูกค้าทำส้มตำเองที่บ้านได้รสชาติอร่อยเหมือนที่ร้าน ส่วนร้านเขียง

ซึ่งเป็นร้านข้าวแกงยุคใหม่ใช้กลยุทธ์การเร่งเปิดสาขาเพราะสาขายิ่งใกล้บ้านลูกค้ามากเท่าใด ค่าส่งอาหารอาจจะฟรีหรือเสียน้อยมาก แต่ถ้าเขียงยังมีสาขาน้อยค่าส่งอาจแพงกว่าค่าอาหาร ซึ่งอาจเป็นผลให้ลูกค้าเลือกที่จะไม่สั่งสินค้าของเรา 2) วิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันและมองภาพอนาคตหลังวิกฤต การแก้เกมส์ในช่วงโควิดเจ้าของร้านอาหารต้องใจเย็นและไม่ทำตามกระแส เราควรศึกษาข้อมูลเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ว่าโควิดจะอยู่อีกนานเพียงใด ธุรกิจของเราควรอยู่นิ่งๆ หรือลุกขึ้นมาออกผลิตภัณฑ์และสร้างแบรนด์ใหม่ ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานหากโควิดจบลงก่อนก็จะเป็นการใช้พละกำลังอย่างสูญเปล่า หรือหากคาดว่าโควิดจะอยู่อีกยาวก็จะต้องคิดวางแผนอย่างรอบคอบ กรณีของเซ็นกรุ๊ปเราวิเคราะห์แล้วว่า เขียงเป็นแบรนด์ที่มีศักยภาพจึงวางกลยุทธ์ให้เขียงมีสาขาที่กระจายให้ลูกค้าเข้าถึงได้มากที่สุดและต้องทำให้เร็วที่สุดเพื่อสร้างรายรับมาหล่อเลี้ยงบริษัทอย่างเพียงพอในสถานการณ์เช่นนี้

 สิ่งสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นยอดขายให้ร้านอาหารได้อย่างดีคือการจัดโปรโมชั่น โดยเซ็นกรุ๊ปยึดแนวทางว่า 3) ทุกแคมเปญต้องตั้งต้นที่ลูกค้า ด้วยหลักคิดแบบ Outside-In เราเชื่อว่าการจัดโปรโมชั่นหรือให้ของแถมในสิ่งที่ลูกค้าอยากได้ผลลัพธ์มักออกมาดีเสมอ ในทางตรงข้ามหากนำอาหารที่ขายไม่ดีมาจัดโปรโมชั่นเพียงเพราะต้องการจะระบายสินค้าผลลัพธ์ก็จะออกมาไม่ดีและไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง การให้ในสิ่งที่ลูกค้าต้องการจะสร้างผลลัพธ์แบบ Win Win แต่ทั้งนี้ร้านจะต้องคำนวณปริมาณการขายที่คุ้มทั้งคนซื้อและคนขาย หากแบรนด์ต้องการเป็นที่รักของสังคมจังหวะนี้จึงควรหยิบยื่นโอกาสถ้าพอแบ่งปันได้ เมื่อสถานการณ์กลับมาปกติลูกค้าจะกลับมาหาเราอย่างแน่นอน

 นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างการปรับตัวของธุรกิจร้านขนมที่สามารถรักษาการเติบโตของยอดขายได้อย่างดีตลอดช่วง โควิด-19 นายปริญญ์ สุขสมิทธิ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Phoenix Lava เล่าว่า ยอดขายที่ดีในวันนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลลัพธ์จากการปรับตัวเมื่อครั้งธุรกิจต้องเผชิญกับวิกฤตตั้งแต่ช่วง 3 - 4 ปีที่แล้ว เดิม Phoenix Lava มีสินค้าเป็นซาลาเปาเพียงอย่างเดียวและได้รับความนิยมอย่างมาก แต่วันหนึ่งเมื่อกระแสหมดไปยอดขายก็ตกลงอย่างหนัก เราจึงเริ่มปรับกลยุทธ์การทำธุรกิจใหม่และวางโมเดลธุรกิจให้สอดรับกับตลาดกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น ด้วยการเพิ่มผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย และเจาะตลาดลูกค้าในกลุ่มเดลิเวอรี่มากขึ้น ดังนั้นเมื่อเกิดโควิด-19 ธุรกิจของเราจึงยังไปต่อได้ แต่เรายังคงปรับตัวต่อเนื่องและทำยอดขายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องด้วยหลักดังต่อไปนี้ 1) เพิ่มรายได้จากทรัพยากรที่มีอยู่เดิม กล่าวคือลองสร้างสรรค์เมนูใหม่จากวัตถุดิบประเภทเดียวกัน ทางร้านจึงออกเมนูใหม่มาเป็น ข้าวแกงกระหรี่ ซึ่งมีการใช้เนยเป็นวัตถุดิบหลักเช่นเดียวกับซาลาเปา จึงสามารถใช้เครื่องจักรร่วมกันได้ และใช้สาขา Phoenix Lava ทำเป็นครัวเล็กๆ ด้านหลังและเป็นช่องทางกระจายสินค้าให้กับไรเดอร์และจำหน่ายหน้าร้านได้ด้วย 2) ขยายพันธมิตรสร้างโอกาสให้ธุรกิจ การทำธุรกิจเพียงลำพังให้อยู่รอดในภาวะแบบนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เราลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีการขยายความร่วมมือทั้งการทำ Cloud Kitchen ในร้านอาหารและโรงแรมต่างๆ ทำให้เราอยู่ในพื้นที่ที่ใกล้ลูกค้ามากขึ้น และปัจจุบันยังได้ต่อยอดสู่การขายแฟรนไชส์สำหรับจัดหาวัตถุดิบโดยเฉพาะ รวมถึงการนำแกงกะหรี่ไปให้กับโรงแรมและร้านอาหารพันธมิตรช่วยเป็นช่องทางการขาย ซึ่งส่งผลให้มียอดขายเติบโตค่อนข้างดี 3) จัดสรรพื้นที่หน้าร้านให้ตอบโจทย์กับเทรนด์ปัจจุบัน ด้วยเทรนด์รักษาระยะห่างอย่างในปัจจุบัน พื้นที่ Full Service หน้าร้านอาจไม่จำเป็นเสมอไป เราจึงลองปรับขนาดพื้นที่หน้าร้านให้เล็กลงเน้นการบริการสำหรับการขายแบบ Grab and Go และ Delivery

อย่างละ 50% โดยการขยายสาขาแฟรนไชส์ที่ตั้งเป้าหมายไว้เดือนละ 1 สาขาก็จะเดินไปในแนวทางนี้ ซึ่งมีประโยชน์ในการลดต้นทุนเปิดร้านและค่าเช่าพื้นที่ได้ด้วย รวมถึงการทดลองโมเดลใหม่ๆ เพื่อพัฒนารูปแบบธุรกิจที่มีต้นทุนในระดับที่ต่ำกว่าที่เคยทำให้ได้ เพื่อความสำเร็จในการต่อสู้กับเกมส์ที่ยังไม่รู้จุดสิ้นสุด

 ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถติดตามข้อมูลเคล็ดลับธุรกิจ และกิจกรรมงานสัมมนาที่จะเป็นประโยชน์สำหรับธุรกิจจากธนาคารไทยพาณิชย์และพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ตลอดทั้งปี ผ่านช่องทางเว็บไซต์www.scbsme.scb.co.th Facebook: www.facebook.com/groups/scbsme/ หรือ ติดต่อสอบถามข้อมูลธุรกิจได้ทาง SCB SME Business Call Center โทร.02 7222222

 ###

บล.ไทยพาณิชย์ มองวัฏจักรเศรษฐกิจกำลังจะเปลี่ยนจากภาวะ Reflation เข้าสู่ Stagflation (เศรษฐกิจชะลอตัวแต่เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น) โดยประเมินระดับเหมาะสมของ SET Index ปี 2565 อิงกับปัจจัยพื้นฐานอยู่ที่ 1,600 จุด แนะนำกลยุทธ์การลงทุน ถือครองหุ้นขนาดใหญ่และกลุ่มหุ้นเชิงรับที่กำไรมีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่งและงบดุลแข็งแรงเพื่อลดความผันผวนและป้องกันผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด หุ้นแนะนำใน 4Q21 คือ BEM KCE OSP SECURE และ ZEN

 

นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ Chief Research Officer บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) กล่าวว่าวัฏจักรเศรษฐกิจกำลังจะเปลี่ยนจากภาวะ Reflation สู่ภาวะ Stagflation (เศรษฐกิจชะลอตัวแต่เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น) ตลาดปรับลดมุมมองเกี่ยวกับการเติบโตลงโดยมีสาเหตุมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา และการเติบโตของจีน ในขณะที่ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสืบเนื่องมาจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานองค์ประกอบความกังวลที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง คือ ความเสี่ยงจากไวรัสสายพันธุ์เดลต้าและบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจีนรวมถึงการปรับลดวงเงิน QE ของเฟด ทั้งนี้คาดเฟดจะประกาศลด QE จริงใน 4Q21 การปรับลดวงเงินมาตรการซื้อสินทรัพย์ (QE tapering) อาจจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงและเพิ่มความเสี่ยงให้กับสินทรัพย์ทางการเงิน เมื่อสินทรัพย์รวมของธนาคารกลางปรับตัวลดลง ผลตอบแทนของตลาดจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ส่วนความกังวลจากประเทศจีน คือ กฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นของสถาบันการเงินส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ ตัวอย่างเช่น กรณีของบริษัท Evergrande ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับสองในจีนมีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ นอกจากนี้เมื่อ yield curve เปลี่ยนเป็น Bear หรือ Bull flattening ผลตอบแทนโดยรวมของสินทรัพย์เสี่ยง (รวมถึง SET) ยังคงเป็นบวกแต่จะลดลงสู่ตัวเลขหลักเดียว

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ตัวเลขเศรษฐกิจไทยล่าสุดแสดงถึงการปรับตัวดีขึ้นบ้างหลังจากยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เริ่มปรับตัวลดลงตามลำดับ ในขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ระดับมากกว่า 500,000 คนต่อวัน ส่งผลทำให้รัฐบาลประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในจังหวัดพื้นที่สีแดง อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนก.ค. ส่งสัญญาณถึงการปรับตัวแย่ลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ ดังนั้นเราจึงยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยไว้ที่ ประมาณ 1% ในปีนี้ ลดลงจากที่ คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 2% โดยมีสาเหตุมาจากมาตรการล็อกดาวน์รอบล่าสุด เราเชื่อว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 และการทยอยกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกับโมเดลของSCBS

 

แนวโน้มตลาดหุ้นไทยไตรมาสที่ 4/64 โดยปกติแล้วไตรมาส 4 เป็นไตรมาสที่แข็งแกร่งและผลตอบแทนเป็นบวก โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ย4% และปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 60%ในช่วงเวลาดังกล่าว เมื่ออิงกับข้อมูลในอดีต นอกจากนี้ไตรมาส 4 ยังเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดสาหรับหุ้นที่มี beta สูง เช่น หุ้นขนาดเล็ก หุ้นคุณค่า และหุ้นวัฏจักร แต่ครั้งนี้อาจจะแตกต่างออกไป โดยมีสาเหตุมาจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะ stagflation แรงกดดันด้านมาร์จิ้น QE tapering และความเสี่ยงด้านการเมืองที่สูงขึ้นซึ่งอาจทำให้ตลาดเกิดความผันผวนในไตรมาสนี้ ดังนั้น เพื่อเตรียมรับมือกับความผันผวนที่เพิ่มขึ้น จึงแนะนำให้คงการถือครองหุ้นขนาดใหญ่และกลุ่มหุ้นเชิงรับที่กำไรมีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่งและงบดุลแข็งแรงเพื่อลดความผันผวนและป้องกันผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด

 

หุ้นเด่นไตรมาสที่ 4/64 แนะนำหุ้นที่มีลักษณะเฉพาะ 1) เป็นหุ้นเชิงรับ 2) ได้ประโยชน์จากการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 3) เป็นหุ้นที่มีอำนาจในการกำหนดราคาสูง และ 4) เป็นหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงจากปัจจัยเศรษฐกิจมหภาค หุ้นแนะนำคือ BEM, KCE, OSP, SECURE และ ZEN

 

 

· BEM : เป็นหุ้นที่อิงกับปัจจัยภายนอกประเทศน้อย คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตามการคลายมาตรการ COVID-19 หลังจากกรุงเทพมีการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นและจำนวนผู้ป่วยลดลง ส่วนปริมาณจราจรบนทางด่วนมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นยังมีความน่าจะเป็นในการชนะการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

· KCE : กำไรของบริษัทมีแนวโน้มเติบโต HoH และ YoY ในครึ่งปีหลังของปี 2564 ภาพอุตสาหกรรมมีการเติบโตในระดับสูง บริษัทสามารถส่งผ่านต้นทุนไปยังลูกค้าได้ เนื่องจากความต้องการสินค้าของบริษัทอยู่ในระดับที่สูงและมีปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนค่อนข้างจำกัด ค่าเงินบาทจะเป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนการเพิ่มขึ้นของกำไร

· OSP : เป็นหุ้นที่มีลักษณะเชิงรับและมีความผันผวนต่ำ เป็นบริษัทที่ได้ประโยชน์จากการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งการฟื้นตัวของตลาดภายในประเทศของสินค้าจำเป็นและเครื่องดื่มจะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาดพม่าที่คิดเป็น 10% ของรายได้

· SECURE : เป็นหุ้นขนาดเล็กที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีอย่าง Cybersecurity (ความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์) ที่คาดว่าจะมีความต้องการและลงทุนในกลุ่มนี้ค่อนข้างสูงในอีก 3 ปีข้างหน้า และเป็นหุ้นที่เข้าในธีมธุรกิจใหม่ที่มี S-curve ในระยะยาว

· ZEN : การทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ช่วยสนับสนุนให้ผลประกอบการเริ่มฟื้นตัวและผ่านจุดต่ำสุด กลยุทธ์ในการเร่งขยายธุรกิจแฟรนไซส์มากกว่า 30 สาขาในครึ่งหลังของปี 2564 จะส่งผลให้อัตราการทำกำไรเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง โดยเราประเมินว่าผลประกอบการจะมีกำไรในปี 2565

SCB Tech X บริษัทในกลุ่มไทยพาณิชย์ (SCB Group) ประกาศแต่งตั้ง ตรัยรัตน์ สุวรรณประทีป ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปักธงสู่การเป็นผู้นำด้านฟินเทคระดับภูมิภาค

 

กรุงเทพฯ ประเทศไทย 4 ตุลาคม 2564 - บริษัท เอสซีบี เทคเอกซ์ จำกัด (SCB Tech X) บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ดำเนินธุรกิจด้านแพลตฟอร์ม (Platform-as-a-Service) ให้บริการนวัตกรรมที่เกี่ยวกับการธนาคารและไม่เกี่ยวกับการธนาคารแบบครบวงจรแก่กลุ่มลูกค้าองค์กร และกลุ่มลูกค้าทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกาศแต่งตั้ง นายตรัยรัตน์ สุวรรณประทีป ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร รับภารกิจสำคัญในการเป็นหัวเรือใหญ่นำ SCB Tech X เพื่อช่วยผลักดันสถาบันการเงินพัฒนาบริการต่าง ๆ ให้ตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้าในโลกยุคดิจิทัล

 

SCB Tech X บริษัทในกลุ่มไทยพาณิชย์ (SCB Group) ประกาศความพร้อมให้บริการด้านเทคโนโลยีแบบครบวงจร มุ่งให้คำปรึกษา ตลอดจนพัฒนาแพลตฟอร์มและโซลูชันทางดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งาน พร้อมทั้งสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจของลูกค้าในระยะยาวท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ

 

นายตรัยรัตน์ สุวรรณประทีป ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เทคเอกซ์ จำกัด กล่าวว่า “ผมมีความตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ SCB Tech X ในครั้งนี้ โดยมุ่งหวังที่จะนำเสนอนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ที่ตอบโจทย์ความต้องการทางธุรกิจ พร้อมทั้งสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับกลุ่มเป้าหมายของลูกค้า รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลกอย่างทัดเทียมให้กับลูกค้า ทั้งนี้ เรามีเป้าหมายสู่การเป็นผู้นำด้านฟินเทคแพลตฟอร์มในภูมิภาคอาเซียนภายใน 5 ปี”

 

นายตรัยรัตน์ สุวรรณประทีป เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ มากด้วยประสบการณ์ที่เชี่ยวชาญด้าน Technology Operations and Platforms โดยร่วมงานกับธนาคารไทยพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2554 มีโอกาสได้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง และมีบทบาทสำคัญในการร่วมวางโครงสร้างทางด้านเทคโนโลยีให้กับธนาคาร ก่อนหน้าร่วมงานกับธนาคารไทยพาณิชย์ นายตรัยรัตน์ มีโอกาสได้ร่วมงานกับองค์กรขนาดใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ในตำแหน่ง Executive IT Specialist มากว่า 21 ปี และ บริษัท ABB ประเทศไทย จำกัด ในตำแหน่ง Project Engineer ด้านการศึกษา นายตรัยรัตน์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

###################

X

Right Click

No right click