November 22, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

วรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา ความท้าทายของ สดช.

August 13, 2018 4025

ประเทศไทยเตรียมความพร้อมรองรับการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลด้วยการจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเมื่อปี 2559 โดยมีหน่วยงานใหม่ในระดับกรมที่เกิดขึ้นตามมาคือ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ซึ่งมีภารกิจในการจัดทำร่างนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตามเป้าหมายที่คณะกรรมการชื่อเดียวกันซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกำหนด และจะเป็นแผนระดับประเทศในการขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

สำนักงานนี้ยังมีหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์เพื่อทำข้อเสนอแนะในการกำหนดนโยบายและทิศทางการเงิน การคลัง การลงทุน รวมถึงมาตรการทางภาษีและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องหรือเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมไปถึงมาตรการในการจัดหาพัสดุและจัดซื้อจัดจ้างที่ขจัดปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

อีกบทบาทที่สำคัญคือเป็นศูนย์กลางประสานงานในการพัฒนา สำรวจเก็บรวบรวมข้อมูล รวมถึงวิเคราะห์วิจัยด้านการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงหน้าที่ตามที่คณะกรรมการกำหนด 

แม้จะเป็นหน่วยงานใหม่แต่บทบาทของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมีหน้าที่ที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนประเทศ ท่ามกลางกลางเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมุ่งเป้าหมายให้ประชาชนทุกคนในประเทศสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

เมื่อมีโอกาส MBA จึงขอสัมภาษณ์ วรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ในฐานะผู้นำหน่วยงานใหม่แห่งนี้ เกี่ยวกับภารกิจและความท้าทายที่รออยู่ของสำนักงานใหม่ระดับกรมแห่งนี้

สดช.คือใคร

วรรณพร บอกว่าในอดีตไม่เคยมีนโยบายเรื่องดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมาก่อน สำนักงานนี้เกิดขึ้นมาเพื่อดูแลเรื่องเหล่านี้ โดยมีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ โครงสร้างพื้นฐานของประเทศด้านดิจิทัล เช่น ไฟเบอร์ออปติก เคเบิ้ลใต้น้ำ สัญญาณWiFi รวมถึงดาวเทียม 

วรรณพรอธิบายสิ่งที่กำลังทำอยู่โดยยกตัวอย่างเรื่องบอร์ดแบน ประเทศไทย ที่จะทำให้คนไทยทั่วประเทศสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ภายในปีนี้ ด้วยความเร็ว 30/10 ซึ่งเมื่อประชาชนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้แล้วก็จะมีการเข้าไปสอนให้ใช้อินเทอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์ สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ของภาครัฐได้

ด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สำนักงานมุ่งเป้าหมายไปที่การเข้าสู่เวทีโลก โดยวัดจากส่วนแบ่งของเศรษฐกิจดิจิทัลในจีดีพีของประเทศ โดยจะมีการจัดทำข้อมูลเพื่อหาตัวชี้วัดและเตรียมไว้สำหรับการวางแผนขับเคลื่อน 

ด้านสังคม มีเป้าหมายจะใช้ศูนย์ดิจิทัลชุมชนที่มีอยู่ทั่วประเทศ เป็นศูนย์กลางการให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตให้ถูกทาง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการค้า การเกษตร ฯลฯ รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นในการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชน รู้ทันภัยคุกคามทางไซเบอร์

และอีกโครงการที่กำลังทำคือ การสร้าง Intelligent Data เป็นข้อมูลที่สามารถให้หน่วยงานต่างๆ นำไปใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจต่างๆ ได้ เช่น หากสามารถทราบได้ว่าข้อมูลที่ประชาชนค้นหาจากการใช้เน็ตประชารัฐในแต่ละพื้นที่คือเรื่องใดก็สามารถนำไปใช้วางนโยบายในการให้บริการประชาชนได้ตรงความต้องการเพิ่มขึ้น

“ถ้าเราหาได้ว่าข้อมูลบางจังหวัดดูเรื่องสุขภาพ จังหวัดนี้มีประเด็นอะไรไหม ผู้สูงอายุ บางจังหวัดดูเรื่องปวดหัวตัวร้อนปวดเท้า เป็นโรคอะไร ข้อมูลสามารถบอกได้ว่าคนเอาไปใช้อะไรจากโครงสร้าง
พื้นฐานที่เราลงไป ก็สามารถนำมาใช้วางนโยบายของรัฐในเรื่องดูแลสุขภาพคนได้ อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะได้ข้อมูลจากพื้นที่โดยตรง”

 

นโยบายเร่งด่วน

วรรณพรเล่าถึงนโยบายเร่งด่วนที่กำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำ ในด้านโครงสร้างพื้นฐานปัจจุบันมีเรื่องที่เข้า ครม.ไปแล้วคือ Landing Rights Satellite ที่จะอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติเข้ามาให้บริการในประเทศไทยได้ ถัดไปคือนโยบายดาวเทียมดวงต่อไป รวมถึงเรื่องการบริหารจัดการคลื่นความถี่ 

ด้านเศรษฐกิจที่จะนำประเทศไทยก้าวเข้าไปสู่เวทีโลกด้วยดิจิทัล อยู่ระหว่างการเตรียมจัดทำ Digital GDP โดยจะร่วมกับ OECD สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร-ศาสตร์ (NIDA) เพื่อให้รับทราบสัดส่วนทางเศรษฐกิจที่ดิจิทัลเข้าไปมีบทบาทของประเทศ

ด้านสังคมเรื่องที่เร่งด่วนคือ เรื่องศูนย์ดิจิทัลชุมชน ที่จะต้องเร่งสร้างผู้จัดการศูนย์ให้มีความเข้มแข็ง สามารถเป็นผู้แนะนำการใช้งานอินเทอร์เน็ตให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ช่วยให้ประชาชนใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัยและเป็นประโยชน์ต่อชีวิตและเศรษฐกิจของตนเอง 

อีกนโยบายเร่งด่วนคือ รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government) ที่ร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เพื่อพัฒนาการให้บริการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยจะมีการรวบรวมข้อมูลของภาครัฐให้สามารถเชื่อมโยงกันเองได้และในอนาคตจะสามารถแชร์กับภาคเอกชนได้ 

เริ่มจากประเด็นร่วม

เมื่อคุยกันในเรื่องการขับเคลื่อนผลักดันนโยบายให้ออกมาเป็นรูปธรรม วรรณพร อธิบายว่า ด้วยระบบราชการที่มีมายาวนานไม่ใช่เรื่องง่าย ตัวอย่างเช่น เรื่องบิ๊กเดต้าที่เป็นนโยบายที่ควรจะทำสำเร็จแล้ว แต่ก็ยังมีอุปสรรค คือตัวข้อมูลที่มีอยู่แต่ละหน่วยงานมีการเก็บรักษาของตัวเอง และยังไม่สามารถบูรณาการใช้งานร่วมกันได้อย่างเต็มที่ 

การจะขับเคลื่อนนโยบายเช่นนี้เธอมองว่า อาจจะต้องเริ่มจากการทำงานร่วมกันในบางประเด็นก่อน เช่น เรื่องข้อมูลผู้รับสวัสดิการต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ จะไม่สามารถให้ข้อมูลออกไปได้ ทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลมาใช้งานบริหารจัดการ เพื่อกระจายประโยชน์ให้กับประชาชนผู้เดือดร้อนได้อย่างทั่วถึง 

“เชื่อไหมตัวเลขที่ค้นพบ คนหนึ่งมีวีลแชร์ 3 คัน เพราะลงทะเบียนคนละที่ไม่ได้ออนไลน์ เขาฉลาด เขาไปหาที่ต่างๆ เพราะความที่ระบบเราไม่มี นี่คือเรื่องจริง สิ่งนี้ต้องทำ เรื่องเดต้าที่ต้องบอกเขา ต้องมีเป้าว่าเราจะทำเรื่องสวัสดิการ เรื่องคนจน เป้าให้ชัดว่าจะทำเรื่องอะไร ใครเป็นเจ้าของเดต้า และเดต้าเก็บอย่างไรถึงจะมาบอกว่าให้บูรณาการ”

ข้างบนเป็นตัวอย่างของข้อมูลที่ซ้ำซ้อนไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ที่ขาดแคลนตัวจริงไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือ และหากสามารถบูรณาการใช้ข้อมูลร่วมกันก็จะสามารถจัดการปัญหาเช่นนี้ได้ เป็นโอกาสในการสร้างผลักดันนโยบายสู่การปฏิบัติที่วรรณพรยกขึ้นมาให้ฟังระหว่างการสนทนา

วรรณพรบอกว่า สดช. จะเป็นคนทำนโยบายต่างๆ เกี่ยวกับดิจิทัลออกมา แต่วิธีการทำงานที่เธอบอกกับเราคือ จะไม่เน้นการออกนโยบายกว้างๆ แล้วบางครั้งนำมาใช้ไม่ได้ โดยเธอคิดว่าหากจะมีนโยบายอะไรออกมาจะขอให้เป็นลักษณะ Pilot Trial ว่าสามารถทำได้จริง “ถ้าจะทำ
ต้องมีเวิร์กชอปด้วยกันว่าสามารถทำได้จริง มีทดลองจริงๆ ไม่เป็นกระดาษอยู่บนหิ้ง เราจะไม่ทำอย่างนั้น”

 

ไทยสู่ผู้นำดิจิทัล

เมื่อถามว่าเรื่องใดที่ท้าทายวรรณพรมากที่สุด เธอวิเคราะห์ตัวเองก่อนตอบว่า ในด้านเศรษฐกิจและสังคม จากการทำงานคลุกคลีในแวดวงราชการมายาวนานทำให้มีความรู้เรื่องเหล่านี้พอสมควร รวมถึงเรื่องรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ที่เคยดูแลมาก่อน ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานเป็นเรื่องใหม่ที่เธอยังไม่เคยทำมาก่อน ส่วนตัวแล้วเธอจึงมองว่าโครงสร้างพื้นฐานเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องรีบจัดการให้เป็นระบบ

ทั้งนี้เธอให้มุมมองว่า สำนักงานนี้มีทั้งโอกาสและความท้าทายที่ต้องเผชิญ ในฐานะผู้นำองค์กร เธอจึงพยายามสร้างบุคลากรในองค์กรให้มีความรู้ความสามารถที่จะรองรับความท้าทายต่างๆ ปลุกพลังให้ทุกคนมีความรักองค์กร เกิดความรู้สึกอยากจะทำงานเพื่อประเทศชาติอย่างเต็มที่ 

โดยนโยบายที่กำหนดออกมาจะมีพยายามให้เป็นนโยบายที่สามารถเห็นผลได้ด้วยการเริ่มจากโครงการนำร่องต่างๆ ก่อน ภาพที่เธอมองไปในอนาคตเมื่อหน่วยงานอายุปีกว่าๆ นี้สามารถช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลได้ คือ “การให้บริการภาครัฐ Anytime Anywhere สามารถเข้าอินเทอร์เน็ตและอยากทำอะไรก็ได้ และประเทศไทยจะเป็นผู้นำในด้านดิจิทัล เพราะเรากำลังทำเรื่องไฟเบอร์ออปติกที่เชื่อมทางน้ำ ทำ Data Center ด้วย ถ้าทุกอย่างสามารถทำได้เต็มที่ คิดว่าไม่เกิน 5 ปี จะบอก 10 ปีก็มากไป ทุกอย่างประเทศไทยจะเป็นผู้นำด้านดิจิทัลเทคโนโลยีได้เลย” 

“เอกชนจะได้ชัดเจนมาก แต่ก่อนไม่เคยมีนโยบายเรื่องดาวเทียมหรือคลื่นความถี่ แต่ถ้าเราบอกชัดว่านโยบายต่อไปจะเป็นอย่างไร คลื่นความถี่ใครจะจัดสรรอย่างไร ใครจะใช้คลื่นเท่าไร เข้าสู่ 5G แล้ว จะสามารถทำให้เอกชนมีความชัดเจนว่า นโยบายรัฐเป็นอย่างนี้ เขาจะลงทุนตรงไหน เอกชนจะมีความพร้อมถ้ารู้ว่าจะลงทุนอะไร เพราะนโยบายชัดเจน เราจะเป็นคนออกนโยบาย เขาก็จะสามารถลงทุนได้ รายได้ก็จะเกิดขึ้น ความชัดเจนของประเทศไทยในอนาคตก็จะมีขึ้น” 

 

X

Right Click

No right click