January 10, 2025
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 809

War On Coal สถานการณ์สงครามถ่านหิน : หาง่าย ตายยาก เหลือเฟือ และถูกจัง

July 18, 2017 4680

สิ่งมีชีวิตเกือบทั้งหมดบนโลกใบนี้ ดำเนินไปได้ด้วยพลังงานจากดวงอาทิตย์พลังงานของดวงอาทิตย์เป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับชีวิต ให้ชีวิตได้มีพละกำลังที่จะขับเคลื่อนดำเนินต่อไปและสืบสายพันธุ์ลูกหลานต่อไปได้เรื่อยๆ บนโลกใบนี้ (หรืออาจจะบนโลกใบอื่นด้วยหรือเปล่าก็ไม่รู้?) ตราบเท่าที่ “ดวงตะวันยังคงส่องแสง”

พูดแบบง่ายๆ คือพืชจะสังเคราะห์แสงจากดวงอาทิตย์ เพื่อเปลี่ยนให้เป็นราก ลำต้น กิ่ง ก้าน ใบ ดอก ผลและเมล็ด
แล้วสัตว์ก็ไปกินพืช โดยมนุษย์และสัตว์อีกบางพวกก็กินพืชและกินสัตว์ (ที่กินพืช) อีกทอดหนึ่ง
นั่นเป็นการถ่ายทอดพลังงานเพื่อการเติบโตและดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตบนโลก (ยกเว้นสิ่งมีชีวิตบางชนิดที่อาศัยอยู่ใต้มหาสมุทรลึกๆ ที่แสงอาทิตย์ส่องไปไม่ถึง พวกเหล่านี้จึงอาศัยพลังงานความร้อนจากพื้นพิภพมาขับเคลื่อนพลังชีวิตของตัวเอง)
พูดให้ยากขึ้นมาอีกนิด คือพืชอยู่ได้ด้วยน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ และแสงอาทิตย์ (และแร่ธาตุอีกบางชนิด) เพื่อให้มีชีวิตและเติบโต แล้วก็คายออกซิเจนให้ชั้นบรรยากาศ
สัตว์และคนกินพืช (และกินสัตว์กินพืช) ย่อยมัน เผามัน แล้วสุดท้ายก็คายคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา เพื่อให้พืชได้นำกลับไปใช้ในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง
แม้เมื่อพืช สัตว์ คน ตายลง หลังจากแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์ทั้งมวล ได้ช่วยย่อยสลายอินทรียสารและคายคาร์บอนไดออกไซด์กลับไปในชั้นบรรยากาศบางส่วนแล้ว ซากพืชซากสัตว์เหล่านั้น ยังทับถมกัน นานวันเข้า ก็กลายเป็นฟอสซิล (ซึ่งมีพลังงานศักย์ของดวงอาทิตย์แฝงอยู่ในนั้นอีกไม่น้อย) ฝังอยู่ใต้ผืนโลก รอคอยให้มนุษย์ได้ใช้เทคโนโลยีไปนำมันขึ้นมาเผากลับ เพื่อใช้เป็นพลังงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมนุษย์ (เช่นน้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ) แล้วค่อยปล่อยคาร์บอนได-
ออกไซด์กลับไปในชั้นบรรยากาศ เพื่อให้พืชได้ใช้ต่อไป

 

มนุษย์ สัตว์ พืช ย่อมอาศัยซึ่งกันและกัน
แม้การเผาฟอสซิลอย่างหนักหน่วงให้เครื่องจักรที่มนุษย์สร้างขึ้นในระยะหลังจะทำให้เกิดความหวั่นใจอย่างมากว่าโลกจะพังทลายด้วยปริมาณของคาร์บอนที่คายออกมาในชั้นบรรยากาศ ทว่า ถ้าพืชมันรู้จักดีใจเสียใจ เราคงเดาได้ไม่ยากว่า พวกมันย่อมดีใจ เพราะยิ่งมีคาร์บอนมาก มันก็จะเติบโตได้มาก
ดังนั้น นอกจากมนุษย์ สัตว์ พืช ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันแล้ว ชีวิตทั้งมวลนั้น ยังจำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานเพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่สืบไปอีกด้วย
พูดแบบยากๆ คือเซลล์ของสิ่งมีชีวิตล้วนมีกลไกสำหรับชาร์จพลังให้ตัวเอง (Biology energy generation) โดยการไหลของโปรตอน (Proton) ซึ่งเป็นอะตอมของไฮโดรเจนที่ชาร์จพลังแล้ว ภายในเซลล์นั้นเอง

อย่างเซลล์ของมนุษย์นั้น เราต้องอาศัยกระบวนการหายใจและย่อยอาหาร ที่ต้องใช้ออกซิเจนเผาผลาญอาหาร เพื่อปั๊มโปรตอนให้ไหลผ่านเซลล์เมมเบรน (Membrane) แล้วนำไปเก็บไว้ในแอ่งเก็บพลังงานที่อีกด้านหนึ่งของเซลล์ เมื่อโปรตอนไหลกลับมาอีกรอบ มันจะทำให้เกิดพลังงานขึ้น เปรียบเหมือนเทอร์ไบที่ใช้ปั่นไฟซึ่งติดตั้งไว้ในเขื่อนที่ใช้พลังน้ำนั่นเอง
กระบวนการไหลของโปรตอนสร้างโมเลกุล ATP (Adenosine Triphosphate) ซึ่งเป็นหน่วยพลังงานของเซลล์สิ่งมีชีวิตทุกเซลล์ ATP ทำงานคล้ายฟังก์ชันของเหรียญที่ต้องหยอดใส่เครื่อง Slot Machine คือพอหยอดไปแล้วเครื่องก็จะทำงาน และพอทำงานเสร็จเครื่องก็จะดับ และเมื่อหยอดเหรียญใหม่ใส่เข้าไป เครื่องก็จะทำงานอีก ฯลฯ
ทีนี้ลองจินตนาการว่าเซลล์ของมนุษย์เราเป็นบ่อนขนาดใหญ่ บรรจุไว้ด้วยเครื่อง Slot Machine ซึ่งก็คือโปรตีน จำนวนมากมายมหาศาล ต่างก็ทำงานของตน ปิด/เปิดโดย ATP แต่ละเหรียญๆ ที่ได้มาจากการเผาผลาญอาหาร และออกซิเจนที่รับมาจากระบบหายใจ
เซลล์ 1 เซลล์ของมนุษย์ ต้องใช้พลังงาน ATP ถึง 10 ล้านโมเลกุลทุกๆ วินาที และร่างกายมนุษย์เรามีเซลล์ทั้งสิ้นประมาณ 40 ล้านล้านเซลล์ ทำให้เราต้องใช้พลังงาน ATP หมุนเวียนต่อวันประมาณ 60-100 กิโลกรัม (ประมาณเดียวกับน้ำหนักตัวของเรา) แต่จริงแล้วเรามี ATP เพียงแค่ประมาณ 60 กรัมเท่านั้น เท่ากับทุกๆ โมเลกุลของ ATP ต้องได้รับการรีชาร์จนาทีละ 1-2 รอบ
ถ้าลองแปลงกลับเป็นหน่วยพลังงานที่เราคุ้นเคยคือ “วัตต์” (Watt) แล้ว เท่ากับมนุษย์เราใช้พลังงานประมาณ 2 มิลลิวัตต์ต่อกรัม คิดเป็นประมาณ 130 วัตต์สำหรับคนที่มีน้ำหนักตัว 65 กิโลกรัม
ดูผิวเผินแล้ว เราใช้พลังงานมากกว่าหลอดไฟมาตรฐาน 100 วัตต์ อยู่นิดหน่อย แต่ถ้าวัดต่อกรัมแล้ว นับว่ามากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 10,000 เท่า
ชีวิตมนุษย์ย่อมไม่ใช่ “แสงเทียนอันริบหรี่” แบบที่กวีชอบเปรียบเปรยไว้ อย่างแน่นอน
นั่นเป็นแนวคิดคร่าวๆ ของพลังชีวิต เป็นการเติมและใช้พลังงานในระดับเซลล์ของสิ่งมีชีวิต ซึ่งผู้สนใจรายละเอียด
ขอแนะนำให้อ่านเพิ่มเติมได้จาก “The Vital Question: Energy, Evolution, and the Origin Of Complex Life” ของ Nick Lane
พลังงานจึงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับสิ่งมีชีวิตเสมอมา
มนุษย์ (อาจรวมถึงสัตว์ด้วย) มักกังวลหรือหวาดกลัวว่า “จะขาดพลังงาน” จึงพร้อมที่จะใช้กำลังแย่งชิงหรือทำสงครามเพื่อแย่งชิงแหล่งอาหารเสมอมา ตลอดระยะเวลาของประวัติศาสตร์
โลกสมัยใหม่ยิ่งหวาดกังวลในเรื่อง “การขาดแคลนพลังงาน”
เพราะพลังงานเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของระบบเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การค้า การขนส่ง การผลิต การสงคราม การพัฒนาเศรษฐกิจ และกระบวนการสร้างความมั่งคั่งของสังคมมนุษย์
การยึดกุมแหล่งพลังงานจึงเป็นหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติสมัยใหม่ ถ้าไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็ต้องเอาด้วยกล
เยอรมนีและญี่ปุ่นลงทุนทำสงครามเพื่อยึดเอาแหล่งพลังงานของคนอื่นมาเป็นของตนด้วยกำลังในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อหวังความยิ่งใหญ่ของชนชาติแห่งตน

มหาอำนาจตะวันตก อาศัยกุศโลบายที่แนบเนียนกว่า ด้วยการใช้บรรษัท
ข้ามชาติของตน ในการตกลงต่อรองชักจูงตลอดจนขู่แกมบังคับ (รวมถึงยัดเงินใต้โต๊ะ) กับชนชั้นปกครองของประเทศที่กุมแหล่งพลังงาน (ซึ่งมักจะเป็นประเทศในโลกที่ 3) เพื่อแลกกับการยึดแหล่งพลังงานในนามของสัมปทาน
ระยะยาว อีกทั้งยังใช้เล่ห์เหลี่ยมสารพัด ในการแทรงแซงราคาพลังงานในตลาดโลก ให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของตน
มหาอำนาจเชิงการผลิตที่เพิ่งขึ้นมาใหม่อย่างจีน ก็อาศัยยุทธวิธีสารพัดแบบ ในการ Secure แหล่งพลังงานให้แก่อุตสาหกรรมของตน ทั้งการเข้ากว้านซื้อในตลาดโลก ทำสัญญาซื้อล่วงหน้าโดยตรงกับผู้ผลิตในโลก เข้าไปลงทุนเองในประเทศต่างๆ ที่พบแหล่งพลังงาน ลงทุนสร้างท่าเรือ ท่อส่ง และถนนหนทาง ในประเทศเพื่อนบ้านที่ตนต้องขนส่งพลังงานผ่านแดน หรือแม้กระทั่ง
ส่งกองทหารเข้าไปคุมเชิงแหล่งพลังงานในทวีปอื่นที่ตนมีผลประโยชน์อยู่
แหล่งพลังงานหลักของมนุษย์ เปลี่ยนแปลงไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแต่ละยุค ข้อจำกัดของพลังงานแต่ละชนิด (เช่นจำนวน Reserve ที่เหลืออยู่ในโลก) ข้อจำกัดเชิงเงินทุนของผู้เลือกใช้ (เพราะพลังงานแต่ละชนิดราคาถูกแพงไม่เท่ากัน) ดีกรีความแคร์ต่อโลก (เพราะพลังงานแต่ละชนิดสร้างมลภาวะไม่เท่ากัน) ตลอดจนแฟชั่นของผู้คนในแต่ละยุคสมัย
เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของโลก (ตลอดจนความมั่งคั่งของสังคมและความสะดวกสบายของมนุษย์ที่มาพร้อมกัน) เติบโตแบบก้าวกระโดดทุกครั้งเมื่อมีการปลดปล่อยข้อจำกัดเชิงพลังงาน
เช่น เมื่อมีการค้นพบถ่านหินและเลิกใช้ฟืนในการขับเคลื่อนเครื่องจักรไอน้ำในอังกฤษ...เมื่อมีการค้นพบน้ำมันและเปลี่ยนเครื่องจักรให้เป็นระบบสันดาปภายในหลังจากกองทัพเรืออังกฤษเริ่มใช้เมื่อปลายสงครามโลกครั้งที่ 1...เมื่อมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นครั้งแรกในนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา (The Pearl Street Station)...เมื่อมีการค้นพบสารกึ่งตัวนำ (Semi-conductor) ที่ต่อมาช่วยให้เกิดการพัฒนาให้แผงวงจรอิเล็ก-ทรอนิกส์จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ สามารถพิมพ์ย่อขนาดลงบนแผ่นซิลิกอนบางๆ ได้ (ตามกฎ Moor’s Law) พร้อมๆ กับแบตเตอรี่ที่มีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ เช่นกัน...เมื่อมีการประดิษฐ์โซลาร์เซลล์ เพื่อใช้แปลงพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้สำเร็จ เป็นต้น

ปัจจุบัน แหล่งพลังงานหลักของโลกมาจาก ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ นิวเคลียร์ น้ำ และพลังงานทางเลือก เช่น แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล คลื่น และไฮโดรเจน
พลังงานแต่ละชนิดเหมาะกับใคร เราไม่รู้และไม่สามารถให้คำตอบได้
มันยัง Make Sense อยู่อีกไหม?
ถ้าจะมีใครสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
หลังจากที่ได้เห็นความเสียหายครั้งใหญ่
ที่เชียร์โนบีลและฟุกุชิมะ มาแล้ว
มันยัง Make Sense อยู่อีกไหม? ถ้าจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าน้ำมันเตา ที่กำลังจะหมดอายุลงในจังหวัดกระบี่
มันยัง Make Sense อยู่อีกไหม? ถ้าจะมีการขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล หลังจากที่เกิดกรณีร้ายแรงที่อ่าวเม็กซิโกและอะแลสกา
มันยัง Make Sense อยู่อีกไหม? ที่ประเทศอย่างสหรัฐฯ ซึ่งร่ำรวยและยึดกุมเทคโนโลยีเชิงพลังงานสมัยใหม่อันก้าวหน้า จะยังคงผูกพันตัวเองอยู่กับน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซ ต่อไป โดยไม่ยอมโยกไปใช้พลังงานสะอาด แต่แพงกว่า ฯลฯ
เหล่านี้ ถามเรา เราไม่รู้ เราไม่ใช่ NGO หรือ กฟผ. ซึ่งอ้างว่ารู้ทุกเรื่องแต่ให้คำตอบคนละอย่าง และเป็นคำตอบที่ตรงข้ามกันแทบทุกเรื่อง เสมอมา
เรารู้เพียงแต่ว่า พลังงานแต่ละชนิด ล้วนมีทั้ง Good News/Bad News, Good Reputation/Bad Reputation, Good PR/Bad PR
และแต่ละอย่างล้วนมี “Good Use” และ “Proper Use” ของตัวเอง

เรารู้เพียงว่า เรื่องราวเกี่ยวกับ “ถ่านหิน” ในรอบหลายปีมานี้ ล้วนเป็นข่าวร้าย และเป็น “Bad PR”

ถ่านหินทำให้เกิดมลภาวะ ทำให้สิ่งแวดล้อมสกปรกที่สุดในบรรดาแหล่งพลังงานด้วยกัน ส่งผลผู้คนเจ็บป่วย หรือกระทั่งล้มตาย ด้วยโรคหอบหืด โรคทางเดินหายใจ และโรคแปลกๆ หรือหาสาเหตุไม่ได้
ถ่านหินปล่อยก๊าซสกปรกสู่อากาศ (คาร์บอนไดออกไซด์และมีเทน) จำนวนมาก (45% ของทั้งหมด) เป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน
โรงไฟฟ้าถ่านหินเลวร้ายยิ่งกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในเรื่องการปล่อยกัมมันตภาพรังสี
การขนส่งถ่านหินทางทะเล เป็นผลให้ระบบนิเวศพัง
โรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นอะไรที่ “Out of Fashion” ไม่มีใครเขาทำกันอีกแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว
หลักเกณฑ์ EPA ใหม่ของสหรัฐฯ (ประธานาธิบดีโอบามาลงนามไปเมื่อปี 2015 แต่ถูกศาลสูงระงับอยู่) จะส่งผลให้โรงไฟฟ้าถ่านหินกลายเป็นสิ่งที่ปล่อยมลภาวะเกินมาตรฐานไปในทันที หลายโรงจะต้องทยอยปิดตัวลงเมื่อหมดอายุ และโรงใหม่ก็จะสร้างได้ยากยิ่งขึ้น (ข้อกำหนดใหม่กำหนดให้ปล่อยคาร์บอนฯ ได้ไม่เกิน 1,100 ปอนด์ต่อ 1 Megawatt Hour ซึ่งโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใช้เทคโนโลยีแบบเดิม มีอัตราปล่อยคาร์บอนฯ ที่ประมาณ 1,768 ปอนด์ต่อ 1 Megawatt Hour)
แม้กระทั่งรัฐบาลจีน ก็ยังเริ่มหันมาเข้มงวดกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้ประกาศความข้อนี้ต่อโลกเมื่อครั้งขึ้นปาฐกถาที่เมือง Davos เมื่อเร็วๆ นี้ ย่อมส่งผลให้การใช้ถ่านหินในจีน (ทั้งในการผลิตไฟฟ้า ในอุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมซีเมนต์ และในการขนส่ง มีแต่อุตสาหกรรมเคมีเท่านั้นที่คาดว่ายังจะบริโภคถ่านหินในอัตราที่เพิ่มขึ้น) ซึ่งปัจจุบันใช้มากที่สุดในโลก ลดน้อยลงอย่างแน่นอนในอนาคต
เทคโนโลยีขุดเจาะสมัยใหม่ช่วยให้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติมีราคาถูกลงมาก ดังนั้นในอนาคต คงไม่มีใครใช้ถ่านหินกันแล้ว
การทำเหมืองถ่านหินเป็นเรื่องที่นักสิ่งแวดล้อมต่อต้านรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แม้เหมืองถ่านหินที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่ เป็นการขุดในระดับพื้นผิว (ในระดับความลึกประมาณ 40 ฟุตเป็นอย่างต่ำ) มิใช่ Deep-Hole Mining

 

แม้ปี 2016 ที่ผ่านมา ยอดนำเข้าถ่านหินของจีน (ซึ่งเป็นผู้บริโภคถ่านหินมากที่สุดของโลก) จะกระเตื้องขึ้น แต่หลายปีก่อนหน้านั้น การนำเข้าถ่านหินของจีนลดลงมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2015 นั้น ลดลงจากปีก่อนหน้าราวๆ 30%
ถ้านับจากดีมานด์ของทั้งโลกแล้ว คาดการณ์กันว่า 20 ปีนับจากนี้ ยอดการบริโภคถ่านหินคงจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยต่อปีเพียง 1.1% เท่านั้น เพราะยังมีความต้องการใช้จากประเทศที่ยังไม่ร่ำรวยมากอยู่ และคาดกันว่ายอดการใช้ถ่านหินจนถึงปี 2035 กว่า 75% น่าจะมาจาก 2 ประเทศเท่านั้น คือ จีน กับ อินเดีย
จากสถิติตั้งแต่ปี 1960 เป็นต้นมา การใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าหลักพื้นฐาน (Primary Energy) ในอุตสาหกรรม ในการขนส่ง และในภาคอื่นๆ ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง (ปัจจุบันถ่านหินยังใช้ผลิตไฟฟ้าถึง 41% ของกำลังไฟทั้งโลก และในอุตสาหกรรมเหล็กนั้น ยังคงพึ่งพิงถ่านหินถึง 70% เมื่อเทียบกับพลังงานชนิดอื่น นับเป็นการบริโภคถ่านหินถึง 14% ของการใช้ถ่านหินทั้งสิ้นต่อปี)
ข่าวร้ายยิ่งกว่านั้นคือ เมื่อวัดเทียบกับยอดการใช้พลังงานชนิดอื่น นับว่ายอดการใช้ถ่านหินลดลงมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลาเกือบร้อยปีแล้ว
และหากมองไปในอนาคตอีกสัก 20 ปี เอาแค่เฉพาะยอดการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าหลักพื้นฐาน น่าจะยิ่งลดลงเป็นอัตราเร่ง เพราะอัตราการลดการใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศจีนน่าจะดึงค่าเฉลี่ยลงไปมาก

DIE HARD
ดูเหมือนข่าวร้ายและภาพลักษณ์เชิงลบของถ่านหินยังมีอีกมาก สาธยายไม่รู้จบ ทว่าถ่านหิน ก็ยังเป็นที่ชื่นชอบของบรรดา Strategist ผู้ซึ่งกุมยุทธศาสตร์พลังงานและความมั่นคงตลอดจนกลไกระดับสูงของประเทศน้อยใหญ่ในโลกอยู่
อย่าลืมว่า ผู้กุมยุทธศาสตร์เหล่านี้โฟกัสไปที่ “ความพอเพียงของพลังงานในระยะยาว” เป็นหลัก ดังนั้นความกลัวอันดับต้นของพวกเขาคือ “พลังงานจะขาดแคลน”
ไม่เชื่อท่านผู้อ่าน ลองฟังคำพูดท่อนนี้ ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดูก็ได้ ว่าระหว่างสิ่งแวดล้อมกับความกลัวว่าพลังงานจะขาดแคลน พวกผู้นำเขาเลือกยืนข้างไหน (โปรดดูประโยคที่เราขีดเส้นใต้ไว้)
ท่านกล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 ว่า “เรื่องพลังงานไฟฟ้า หากจะมีปัญหากับสิ่งแวดล้อม ไปดูว่าเขาแก้ปัญหานั้นได้อย่างไร การนำข้อบกพร่องในอดีตมาเป็นบทเรียนวันนี้ เป็นสิ่งที่ดี การติดตามการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น เป็นอย่างไร ยุคสมัยเปลี่ยน เทคโนโลยีก้าวหน้า สิ่งที่เป็นปัญหาในอดีตอาจไม่ใช่ปัญหาปัจจุบัน เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง วันนี้ไม่มีปัญหาแล้ว ชุมชนรอบโรงไฟฟ้าปัจจุบัน ปัญหาเขาได้รับการแก้ไข ได้รับประโยชน์ที่มากกว่า มีไฟฟ้าใช้ เช่น มีกองทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน ผมอยากให้ลองติดตามและคิดดู การที่บุคคลภายนอก ทั้งเอ็นจีโอ คนนอกชุมชน ไม่ให้เกิดสิ่งต่างๆ เหล่านั้น บางครั้งเป็นการค้านแบบหัวชนฝา อ้างปัญหาเดิมๆ ไม่ไว้วางใจ เอาเทคโนโลยีเดิมๆ มาพูด โดยไม่รับฟังข้อมูลฝ่ายรัฐ เมื่อเกิดความเสียหาย ประชาชนเสียประโยชน์ ประเทศชาติไม่มีความมั่นคงด้านพลังงาน ตัวอย่างเห็นไหม ไฟดับชั่วโมงกว่าในภาคเหนือ ในหลายวันที่ผ่านมา อันตรายมากนะ เราไม่สามารถเพิ่มกระแสไฟฟ้าจากภายนอกได้ทันเวลา ดังนั้น จำเป็นต้องมีแหล่งกำเนิดไฟฟ้าในพื้นที่เป็นพลังงานสำรอง ที่จะทำให้ในพื้นที่ไฟไม่ดับ เป็นระบบสำรอง โครงการต่างๆ เกิดไม่ได้ ถ้าทุกคนยังไม่ช่วยคิดช่วยทำ มันไม่เกิด ทุกคนไม่รับผิดชอบ ดังนั้น ขอให้หาข้อมูลมาหักล้าง ข้อมูลราชการไม่ถูกต้องไม่เป็นจริง เพียงแต่ไม่ตรงใจท่าน ท่านก็บอกว่า ไม่ใช่ แบบนี้ ไม่ถูกต้อง”
“….ถ้าเรายกทุกอย่างมาเป็นปัญหา วันข้างหน้าเราก็คงจะทำอะไรไม่ได้แล้ว เพราะเป็นอุปสรรคไปเสียทั้งหมด แต่ก็อยากได้ อยากมี อยากแก้ปัญหา อยากพัฒนาเหมือนต่างประเทศ ที่เขาพัฒนากันทุกวัน ทำโน่นทำนี่ เราต้องดูว่าเขาไปถึงไหนกันบ้างแล้ว แม้กระทั่งในอาเซียนด้วยกัน เขามีของเก่าเหลืออยู่ เขาทำของใหม่เพิ่มขึ้น หรือพัฒนาของเดิมให้ดีขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ดังนั้น ผมไม่อยากให้พูดแต่ปัญหาเพียงด้านเดียว ควรจะกล่าวถึงผลดี กล่าวถึงการพัฒนาประเทศควบคู่กันไปด้วย จะได้ช่วยกันถ่วงน้ำหนัก หาจุดลงตัว หาทางออกให้ได้เสียที เห็นใจชาวบ้าน และประเทศชาติบ้าง”
เหตุผลสำคัญคือถ่านหินยังคงมีอยู่อย่างมากมายเหลือเฟือในใต้พื้นโลก (German Federal Institute for Geosciences and Natural Resources หรือ BGR ให้ข้อมูลว่าเฉพาะปริมาณสำรองในประเทศสหรัฐฯ เพียงแห่งเดียว ก็สามารถใช้รองรับดีมานด์ของทั้งโลกได้อีกถึง 132 ปี) และยังเข้าถึงได้ง่าย เพราะแหล่งถ่านหินนั้นกระจายตัวไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก อีกทั้งยังง่ายต่อการตักขึ้นมาใช้
ที่สำคัญที่สุดคือ “ราคาถูกมาก”
เมื่อเทียบเป็น BTU แล้ว ถ่านหินให้พลังงานประมาณ 26,000 ต่อตัน (หมายเหตุ : เราคำนวณจากฐานข้อมูล Heat Content ของถ่านหินในประเทศสหรัฐฯ โดยเฉลี่ยของปี 2558 แล้วลองแปลงหน่วยจาก Short Ton มาเป็น Metric Ton) เทียบแล้วเท่ากับน้ำมันเบนซินประมาณ 208 แกลลอน (US Gallon = 3.78541178 ลิตร)
ลองคิดเล่นๆ ดูว่า ถ้าคุณขับ Benz ขนาดเครื่องยนต์ที่กินน้ำมันเฉลี่ยประมาณ 10 กิโลเมตรต่อลิตร และคุณมีน้ำมันเบนซินให้เติม 208 แกลลอน คือเท่ากับประมาณ 787.37 ลิตร คุณก็จะสามารถขับไปได้ 7,873.7 กิโลเมตร คือขับรอบประเทศไทยได้กว่า 2 รอบ
และสมมติว่ารถคุณสามารถเติมถ่านหินลงในถังน้ำมันได้ คือเมื่อเทียบ BTU เท่ากันแล้ว ท่านต้องใช้ถ่านหิน 1 ตัน เพื่อจะให้ได้พลังงานเท่ากับน้ำมันเบนซิน 208 แกลลอนที่กล่าวมา
ทีนี้ลองคำนวณราคาดู ณ วันนี้ (หมายเหตุ: ใช้ราคา Spot ของถ่านหินอินโดนีเซียหรือ Indonesian Coal Price Reference เดือนมีนาคม อ้างอิงจาก www.coalspot.com คือ 81.90 ดอลลาร์ฯ ต่อตัน และยังไม่ได้บวกค่าขนส่งมายังประเทศไทย และอัตราแลกเปลี่ยนที่ 35 บาท) เท่ากับท่านใช้เงินเพียง 2,866 บาท ก็สามารถขับรถรอบประเทศไทยได้กว่า 2 รอบแล้ว เมื่อท่านเติมพลังด้วยถ่านหิน เทียบกับที่ต้องใช้ถึง 26,456 บาท ในกรณีที่เติมพลังด้วยน้ำมัน (หมายเหตุ : เราคำนวณจากราคาเบนซิน 95 ของ ปตท. 33.6 บาทต่อลิตร เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560)
จะเห็นว่าถ่านหินได้เปรียบเรื่องต้นทุนมาก
ทั้งความเหลือเฟือ ความมีอยู่ทั่วไป ความเข้าถึงง่าย และความถูกเมื่อเทียบกับพลังงานชนิดอื่นนี่เอง ที่ทำให้ “ถ่านหิน” ยังคงเป็นพระเอก “DIE HARD” อยู่ในใจของผู้กุมพลังงานฝ่ายรัฐและเอกชนของโลก

ถ่านหินไม่ยอมตาย หรือหายหน้าไปง่ายๆ
นี่ยังไม่นับว่า ถ่านหินยังมีประโยชน์ในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวนมาก สินค้าหรือผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังต้องเกี่ยวข้องกับถ่านหินหรือมีส่วนผสมของถ่านหินอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปูนซีเมนต์ ปุ๋ย และผลิตภัณฑ์เคมีอื่น เช่น Methanol, Ethylene, Naphthalene, Phenol, Creosote, Benzene, Tar, Nitric Acid, Ammonia Gas, พลาสติก และ ใยสังเคราะห์ (Synthetic Fiber) เป็นต้น
นอกนั้นยังมียาบางตัว เช่น แอสไพริน สบู่ สารหล่อลื่น เรยอน ไนลอน ซิลิกอน เครื่องสำอางบางชนิด แชมพู ยาสีฟัน ตลอดจนผลิตภัณฑ์กรองอากาศ และคาร์บอนไฟเบอร์

ข่าวดีของถ่านหิน
ไม่กี่วันก่อน 29 มีนาคม 2560 มีข่าวดีชิ้นสำคัญของถ่านหินตีพิมพ์และฉายให้เห็นทางทีวีทั่วโลก
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยืนเคียงข้างกับคนงานเหมืองถ่านหิน และรองประธานาธิบดีเพนซ์ และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานพิทักษ์รักษาสิ่ง-แวดล้อมของสหรัฐฯ หรือ EPA (Environ-mental Protection Agency) หลังจากลงนามในคำสั่งประธานาธิบดี ที่เรียกว่า “Energy Independence Executive Order” ให้ทบทวนคำสั่งและแผนงานในเรื่องพลังงานสะอาด หรือ “Clean Power Plan” ของประธานาธิบดีคนก่อน
ทรัมป์เห็นว่าแผนยุทธศาสตร์พลังงานเดิมที่กำหนดมาตรฐานการปล่อยก๊าซคาร์บอนและมีเทนสูงนั้นมันทำลายอุตสาหกรรมถ่านหินของชาติ ส่งผลให้คนงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้ตกงาน และทำให้เศรษฐกิจของอเมริกาเกิดความเสี่ยงโดยใช่เหตุและเป็นภาระทางเศรษฐกิจของประเทศ (Put the American economy at risk and are burdensome to the American economy.) และทำให้คนงานอเมริกันลดค่าลง (Devalued American Workers)
ทรัมป์กล่าวอย่างองอาจตามสไตล์เขาว่า “We love our coal miners, great people,....I made them this promise: we will put our miners back to work.”“Today, I’m taking bold action” to follow through on that promise. My administration is putting an end to the war on coal,”
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล ได้ให้ความเห็นเสริมเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ประธานาธิบดีไม่ต้องการเห็นนโยบาย
สิ่งแวดล้อมที่สร้างความเสี่ยงให้กับระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ เขาต้องการให้นโยบายใหม่นี้บรรลุทั้งสองเป้าหมายไปพร้อมกัน คือทั้งทางด้านการผลิตพลังงาน และทั้งสิ่งแวดล้อมสะอาด โดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าช่วยด้วย คือแม้จะเป็นถ่านหิน แต่ก็จะเป็นถ่านหินที่สะอาด
“We’re going to have clean coal, really clean coal.” ประธานาธิบดีกล่าวเสริม
ทุกคนที่ศึกษาเรื่องพลังงาน ย่อมทราบดีว่าถ่านหินถูกกว่าก๊าซและน้ำมัน โดยน้ำมันก็ถูกกว่าพลังงานแสงอาทิตย์และลม อีกทอดหนึ่ง
พลังงานก็เหมือนกับสินค้าและบริการทั่วไป ที่เหมาะกับฐานะของผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม
พูดง่ายๆ คือ คนรวยใช้ของแพงได้ แต่คนจนย่อมใช้ของที่สมกับฐานะตน
ต่อเมื่อรวยขึ้น มั่งคั่งขึ้น มั่นคงขึ้น ก็ค่อยเปลี่ยนไปใช้ของแพงได้ โดยไม่ทำให้ตัวเองและครอบครัวเกิดความเสี่ยงทางการเงิน
TESLA, BMW, BENZ ที่ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ลิเทียมกักเก็บประจุไฟฟ้าหรือขับเคลื่อนด้วยพลังไฮโดรเจน ย่อมขายได้ในกลุ่มคนรวยเท่านั้น เพราะราคามันแพงมาก
ฉันใดก็ฉันนั้น Solar Farm, Wind Mill Generator, Deep-Sea Drilling ย่อมเหมาะกับกิจการหรือประเทศที่มั่งมีระดับหนึ่ง
ประเทศหรือกิจการที่ยังจนอยู่ หรือคิดว่าตัวเองจน หรือคิดว่าตัวเองกำลังจะจน ย่อมต้องเลือกส่วนผสมของถ่านหินเป็นธรรมดา ตราบเท่าที่ราคาของพลังงานคู่แข่งเหล่านั้น ยังไม่ลงมา ในระดับที่พวกเขารับได้ หรือคิดว่าจะรับได้
ถามว่าไทยเรารวยพอหรือยัง รวยพอที่จะสลัดถ่านหินทิ้งอย่างไม่ไยดีแล้วหรือ?
เราไม่รู้

เรื่อง : กองบรรณาธิการ

X

Right Click

No right click