อันเนื่องมาแต่ HOMO DEUS

August 29, 2019 3993

ดูเผินๆ เหมือนกับเด็กที่จำใจต้องจากบ้านมาแล้วคิดถึงบ้านมาก..... 

คุณลุงคนนี้ทำไมถึงกลับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ปล่อยให้ไหลลงอาบสองแก้มโดยไม่อายเจ้าหน้าที่ที่ไปต้อนรับ

ขณะนั่งรถรับรองออกจากสนามบินดอนเมือง ผ่านถนนวิภาวดีรังสิตเข้ากรุงเทพฯ ด้วย?

ทั้งที่อายุอานามก็มากแล้ว คะเนดูน่าจะเลยวัยเกษียณมาพอควร

ที่สำคัญ ลุงแกไม่ใช่คนเล็กคนน้อย แกเป็นตัวแทนส่วนตัวของผู้นำสูงสุดของประเทศเมียนมา ณ ขณะนั้น...นายพลเนวิน

แกจะมาเมืองไทยด้วยธุระอันใด ไม่ใช่เรื่องสำคัญ

เราทราบแต่เพียงว่าแกมีวาระที่จะต้องพบกับคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้นด้วย...คณะที่ปรึกษา “บ้านพิษณุโลก” ของ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

ย้อนไปก่อนหน้านั้นสามปีกว่า คือเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 รัฐบาลเมียนมาได้ประกาศยกเลิกธนบัตรเงินจ๊าด 3 ประเภท คือธนบัตรใบละ 25, 50, และ 100 จ๊าด โดยไม่มีปี่มีขลุ่ย

ทิ้งระยะไปจนถึงสิงหาคมปีต่อมา เพื่อให้เป็นการเฉลิมฉลองในวาระที่ท่านนายพลเนวินอายุครบ 75 ปี รัฐบาลจึงนำธนบัตรใหม่ประเภท 15 จ๊าด และ 35 จ๊าด มาหมุนเวียนในตลาดแทน

เกิดอะไรขึ้นกับราษฎรพม่า (เมียนมา) ระหว่าง 9 เดือนนั้น?

พวกเราไม่มีทางรู้แน่ เพราะตัวเลขเศรษฐกิจของเมียนมาขณะนั้น ไม่มีองค์กรใดรวบรวมและรายงานให้โลกทราบ แต่ถึงรายงานก็ไม่มีใครเชื่อถือ

แต่อย่างหนึ่งที่ยืนยันได้คือบรรดากองกำลังชนกลุ่มน้อยตามตะเข็บชายแดนไทย ไม่ว่าจะเป็นกะเหรี่ยง, มอญ ไทยใหญ่ ว้า รวมถึงบรรดากองทัพน้อยที่คุมโรงงานผลิตและกองลำเลียงยาเสพติดข้ามแดนเหล่านั้น ได้รับผลกระทบน้อยมาก เพราะพวกเขาใช้เงินบาทในการทำธุรกรรมมาตลอด และทุนสำรองของพวกเขาก็หลีกเลี่ยงที่จะคงไว้เป็นเงินจ๊าดแต่แรกอยู่แล้ว

สมัยโน้น พวกเราหลายคนรวมทั้งตัวผู้เขียนเอง ก็นึกสงสัยอยู่ว่าทำไมรัฐบาลพม่าถึงทำแบบนั้น พวกเขามีเหตุผลอันใด หรือเกิดมีความเชื่อถือต่อแนวคิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สำนักไหน จึงดลใจให้พวกเขาทำแบบนั้น?

ผมเก็บความสงสัยนั้นไว้ในใจลึกๆ อยู่ตลอดมาโดยไม่รู้ตัว จนมาได้อ่านงานของ Yuval Noah Harari เรื่อง HOMO DEUS : A Brief History Of Tomorrow

Yuval Noah Harari นำเสนอว่าท่านนายพลเนวิน ท่านเป็นคนเชื่อโชคลางและหมอดูมาก โดยท่านเชื่อว่าตัวเลข “15” และ “35” เป็นเลขมงคลสำหรับดวงของท่าน

ก็เลยเป็นที่มาของธนบัตรใบละ 15 และ 35 จ๊าด

Harari ให้ข้อมูลอีกว่า ช่วงนั้นพลเมืองเมียนมาจนมาก เงินไม่ค่อยมีจะจับจ่ายใช้สอย ทั้งๆ ที่ตอนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พม่า (สมัยนั้นพม่าใช้ชื่อประเทศว่า “Burma” ยังไม่ได้เปลี่ยนมาใช้ “Myanma” เช่นปัจจุบัน) มั่งคั่งเป็นอันดับสอง ในหมู่ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน

รวยกว่าประเทศไทยด้วย!

แต่เมื่อนายพลเนวินขึ้นมาปกครองประเทศด้วยการทำรัฐประหารเมื่อปี พ.. 2505 นับแต่นั้นพม่าก็ยากจนลงเรื่อยๆ เพราะแผนแม่บทเศรษฐกิจ (แผนละ 8 ปี) ของเนวินที่เรียกว่า “Burmese Way To Socialism” สังคมนิยมแบบพม่า

ครั้งหนึ่ง อดีตนายกฯ ชาติชาย เคยเล่าให้คนใกล้ชิดฟังว่า สมัยท่านไปเยือนพม่าเที่ยวหนึ่ง ท่านได้นั่งรถไปกับท่านเนวิน โดยท่านนายพลให้เกียรติเป็นคนขับให้ ระหว่างทางได้ผ่านบ่อน้ำมันที่บริษัทอังกฤษเคยสร้างไว้ ซึ่งท่านนายพลได้กล่าวกับอดีตนายกฯ ชาติชายว่า สิ่งนั้นคืออนุสรณ์สถานอันน่าอัปยศที่ทุนนิยมในยุคอาณานิคมทิ้งไว้ให้กับพม่า

ทีมงานบ้านพิษณุโลกคนหนึ่งซึ่งมีหน้าที่ต้อนรับขับสู้คณะที่ปรึกษาส่วนตัวของท่านนายพลเนวิน…. คนที่ร้องไห้ตอนออกจากสนามบินดอนเมืองนั่นแหล่ะ

เขาเก็บความสงสัยไว้หลายวันว่าทำไมท่านถึงต้องหลั่งน้ำตา

เมื่อเกิดความสนิทสนมกันพอควร สังเกตจากลุงแกยอมให้เรียกท่านโดยมีคำว่า อู นำหน้า

เขาจึงแอบกระซิบถามตรงๆ ว่า "ทำไมท่านลุงต้องร้องไห้ด้วย"

คำตอบที่ได้รับทำให้เขาถึงกับตะลึง

คือท่านลุงแกบอกว่า ตื้นตันใจมากที่ได้เห็นความเจริญของกรุงเทพฯ หลังจากที่ท่านไม่ได้มาเยือนเกือบ 30 ปี

ในขณะเดียวกันท่านก็ทอดถอนใจว่าบ้านเมืองท่านเคยเจริญกว่ากรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยก็ก้าวหน้ากว่า และทีมฟุตบอลสมัยโน้นก็เก่งกว่า

ท่านพูดเพียงแค่นั้น แต่ใครๆ คงเดาได้ว่าท่านทำไมต้องสะเทือนใจ

ราษฎรพม่าในเจเนอเรชั่นก่อนและเจเนอเรชั่นนี้โชคร้าย ที่ต้องถูกบังคับให้อยู่ภายใต้การปกครองของผู้นำ (และคณะผู้นำ) ที่ใช้ไม่ได้ในเรื่องการบริหารเศรษฐกิจ

พวกเขานึกว่าตัวเองรู้เรื่องเศรษฐกิจดี ฉลาดกว่าราษฎร จึงทดลองทำ Social Engineering ด้วยการวางแผนเศรษฐกิจจากศูนย์กลาง แล้วบังคับให้ราษฎรทำตามทุกอย่าง ถ้าใครขัดขืนก็จับขังคุก หรือไม่ก็ถูกทำให้อันตรธานหายไปจากผิวโลกเสีย

ทั้งๆ ที่พวกเขา ไม่ได้เข้าใจโลกเอาเสียเลย

แถมยังเกลียดทุนนิยมและฝรั่ง สร้าง Story จนไม่รู้ว่าอะไรเป็นเรื่องแต่งที่จงใจสร้างขึ้น และอะไรเป็นข้อเท็จจริงของโลก

อีกทั้งยังยึดเอามายาคติ อย่างความเชื่อในเรื่องโชคชะตาและดวงของผู้นำ ว่าเป็นเรื่องจริง และนำเอามาเป็นแนวคิดหลักในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ

คิดๆ ไปแล้วก็เศร้า เพราะไม่ใช่ที่เมียนมาสมัยเนวินที่เดียวซึ่งราษฎรกลายเป็นหนูทดลองแบบนั้น

คนโซเวียตสมัยสตาลิน คนจีนสมัยเหมาเจ๋อตง คนเขมรสมัย พอล พต เจอมาหนักกว่า

แม้กระทั่งคิวบาภายใต้คาสโตร และเกาหลีเหนือภายใต้ครอบครัวคิม ที่เสมือนสตั๊ฟประเทศตัวเองไว้ให้คงสภาพเดิม แถมยังบอนไซความคิดต่างแม้จะเป็นความคิดที่มีประโยชน์

และที่น่าเศร้ายิ่งกว่าก็คือ จนกระทั่งยุคนี้แล้ว ยังมีผู้นำที่คิดกันแบบนี้อยู่ แล้วก็ยังมีราษฎรที่ยังหลงเชื่อและเห็นดีเห็นงามกับเรื่องโกหกของผู้นำ ที่ใช้ชักจูงราษฎรให้เห็นว่าวิธีการดังว่านั้นถูกต้อง


เรื่อง : ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว

X

Right Click

No right click