November 21, 2024

ขับเคลื่อนเชิงวิชาการมุ่งสร้างจิตสำนึก พัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม

November 01, 2019 3747

หลังจากที่เราได้เริ่มนำเอายุทธศาสตร์ชาติมาเป็นแบบแผนในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ เป็นระยะเวลาร่วมหนึ่งปี ถือเป็นระยะเวลาที่ทุกภาคส่วนต่างพยายามสร้างความร่วมมือและขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางตรงและทางอ้อม

อย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญที่ถือเป็นประเด็นมาอย่างยาวนานและดูเหมือนว่าจะต้องได้รับการดูแลควบคุมอย่างต่อเนื่องคือ เรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่ง ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธาน คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้เคยกล่าวถึงโครงการ Quick Win ซึ่งเป็นแผนการดำเนินงานในยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนทางด้านวิชาการทั้งหมด 15 ประเด็น

ดร. ธนวัฒน์ ได้เอ่ยถึงปัญหามลภาวะอากาศ เรื่องฝุ่น PM 2.5 ว่าในอดีตแม้จะเคยเกิดขึ้นอยู่บ้างแล้ว แต่ไม่รุนแรงเท่าช่วงที่ผ่านมา ตัวฝุ่นนั้นเรามีส่วนทำให้เกิดขึ้นแต่ปลายปีที่ผ่านยังมีเรื่องของสภาพภูมิอากาศเข้าเกี่ยวข้องด้วย ทำให้ปัญหาเกิดชัดเจนและยาวนานขึ้น เป็นบริบทที่เริ่มแสดงสัญญาณเตือนแล้วว่า ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ปัญหาอาจทวีความรุนแรงขึ้นสองสามเท่า และไม่ใช่แค่เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ แต่ยังรวมไปถึงเมืองใหญ่ๆ อย่างขอนแก่น พัทยาด้วย ยิ่งช่วงนี้คนเริ่มหันมาสนใจเรื่องการออกกำลังกายมากขึ้น ชอบวิ่งตามสวนสาธารณะซึ่งค่อนข้างอันตราย การขับเคลื่อนเชิงวิชาการของยุทธศาสตร์มีการประสานงานร่วมกับทางญี่ปุ่นเพื่อนำ Sensor แบบ Real Time มาใช้วัดค่าฝุ่น เมื่อเกินจุดหนึ่งที่ค่อนข้างอันตรายจะมีตัวเลขเตือนให้หยุดกิจกรรม รวมไปถึงต้องมีการแก้ไขไปถึงต้นเหตุด้วย หลักสำคัญคือไม่ใช่แค่คนในชนบทที่เผาเศษผลผลิตทางการเกษตร คนเมืองใหญ่ก็ใช้เครื่องยนต์ซึ่งถือได้ว่าเป็นสาเหตุหลักและทางอ้อมคือการใช้ไฟฟ้า รวมไปถึงระบบขนส่งมวลชนด้วย ซึ่งแนวทางออกของประเด็นนี้อาจจะต้องหันไปมองดูเรื่องพลังงานสะอาดในอนาคต

การก่อสร้างอาจไม่ใช่สาเหตุหลัก ตัวเลขคิดออกมาคือประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ แต่ส่งผลให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา หลักๆ แล้วมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปเกิดจากการเผาไหม้ ส่วนฝุ่นที่มาจากต่างประเทศนั้นถือเป็นอัตราส่วนที่น้อยมาก ภายในปีหน้าหรืออีก 3 ปี โครงการรถไฟฟ้าทั่วเมืองจะเริ่มเปิดให้ใช้บริการ สถานการณ์ควรน่าจะดีขึ้น เพราะการใช้รถยนต์ส่วนตัวจะน้อยลง จริงๆ เราควรจะพัฒนาเรื่อง Mass Transit กันมาตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน มากกว่าทางด่วน ถ้าวางนโยบายดีๆ คำนึงถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่กับสิ่งแวดล้อม ปัญหาที่เราจะต้องตามแก้ไขก็เบาบางลง

ทั้งนี้ในยุทธศาสตร์ที่ 5 ดร.ธนวัฒน์ ยังหยิบยกประเด็นอื่นที่น่าสนใจอย่างเช่นเรื่อง เจ้าพระยา DATA 2040 เป็นภาพรวมตั้งแต่จังหวัดชัยนาทลงมาจนถึงปลายแม่น้ำบริเวณอ่าวไทย เราพบว่าการพัฒนากิน GDP มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ถ้าสามารถพัฒนาและทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นได้ด้วยในบริเวณนี้ ประเทศก็มีโอกาสเติบโตมากขึ้น โดยมุ่งใน 3 เรื่องหลักๆ คือ หนึ่ง หาทางป้องกันกรุงเทพฯ จม เนื่องจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน สอง คือการแก้ไขไม่ให้เกิดน้ำท่วมอย่างปี พ.ศ. 2554 อีก และสาม  คือเรื่องผังเมืองที่ต้องมีการจัดระเบียบให้เหมาะสมมากขึ้น

และที่สำคัญอย่างมากและไม่อาจข้ามไปได้คือ การบริหารจัดการน้ำในมิติต่างๆ และประสิทธิภาพของการใช้น้ำ การปลูกป่า ปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่ง ปัญหาเรื่องการจำกัดเรื่องการท่องเที่ยวในส่วนอุทยานทางทะเล อย่างอ่าวมาหยา หรืออ่าวพังงา ตลอดจนเกาะล้าน ซึ่ง ดร.ธนวัฒน์ มีความเห็นเป็นส่วนตัวว่า อาจจะต้องมีการจองล่วงหน้า ซึ่งก็หมายความว่าสามารถดึงนักท่องเที่ยวให้อยู่ในพื้นที่อื่นๆ ได้นานขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่ม Value ได้มากขึ้นอีกด้วย หรือแม้กระทั่งการทำประมงอย่างเหมาะสมกับระบบนิเวศ ควรหันมาใช้การเพาะเลี้ยงทดแทน เพราะเรามีประชากรและนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ถ้าไม่เอาเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ ทรัพยากรอาจจะหมดได้ ทำ Big Tank ตามหมู่บ้านชาวประมง จัดกลุ่มสหกรณ์จัดการบริหาร

ดร. ธนวัฒน์ กล่าวปิดท้ายถึงความท้าทายในการจัดการเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมในบ้านเราว่าคือเรื่อง งบประมาณ จิตสำนึก และนโยบาย โดยเรื่องที่ยากที่สุดคือเรื่องการสร้างจิตสำนึก ถ้าอยากจะให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดีต้องผลักดันประเทศให้ก้าวหน้าโดยยังให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมไปด้วย มีการคุยกันระหว่างยุทธศาสตร์ในแต่ละส่วน เริ่มระวังและเล็งเห็นถึงความสำคัญ เมื่อต้องพัฒนาต้องพยายามไม่ให้เกินกว่าศักยภาพที่เราทำได้ โดยการขับเคลื่อนนี้นอกจากภาครัฐ ก็ควรมองไปถึงภาคเอกชนด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดมลภาวะด้วยเช่นกัน ต้องมีการดูแลและทำความร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นโครงการในรูปแบบ CSR ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม และในส่วนของกฎหมายเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ยังขาดเรื่องการเอาจริงเอาจัง การบังคับใช้กฎหมายควรเป็นไปตามจริง และควบคุมที่ต้นเหตุให้ได้ ตราบใดที่เรายังใช้กฎหมายที่มีอยู่ในทางที่ไม่ถูกต้อง ปัญหาก็จะยังคงเป็นอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ และที่สำคัญภาคเอกชน ห้างร้าน รวมถึงซูปเปอร์มาร์เก็ตไม่ควรฉวยโอกาสใช้ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมนำมาหาแสวงหาผลกำไร อย่างการให้ผู้บริโภคซื้อถุงพลาสติกแทนการแจกฟรี รายได้จากการขายส่วนนี้ควรจะต้องนำไปเข้ากองทุนและบริหารจัดการอย่างเหมาะสมลงไปสู่ภาคประชาชนจริงๆ ผู้ประกอบการต้องคิดดี ทำดี และจริงใจ ไม่ใช่ใช้ช่องทางนี้มาเอาเปรียบผู้บริโภค หรืออาจจะต้องมีการเก็บ Tax ตั้งแต่ Packaging เอาเข้ามาในกลุ่มกองกลางสำหรับวัสดุที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และภาคประชาชนเองก็ต้องช่วยกันขับเคลื่อนเสนอความคิดเห็นแก้ปัญหาให้เกิดขึ้นในองค์รวม


เรื่อง: กองบรรณาธิการ

ภาพ: ภัทรวรรธน์ พงษ์บริพันธ์

X

Right Click

No right click