January 23, 2025

High-Tech & Low Touched is the next model

April 03, 2020 3610

ไวรัส COVID-19 ทำให้พฤติกรรมของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปแบบฉับพลันทันที หลายเรื่องด้วยกัน

หนึ่งในนั้นคือความสัมพันธ์ระหว่างกัน

จากที่เคยไปมาหาสู่ใกล้ชิด ทำงานและสังสรรค์เสวนากัน ก็มามีอันต้องเหินห่าง ไม่กล้าเข้าใกล้ชิด ไม่กล้าสัมผัสซึ่งกันและกัน ในนามของ “Social Distancing” และ “Physical Distancing”

ทว่า มนุษย์ย่อมฝืนใจตัวเองในเรื่องนี้ เพราะมนุษย์เป็น “สัตว์สังคม” ที่ต้องอยู่รวมกันเป็นหมู่เหล่า มนุษย์ถึงจะมีความสุข และมีความเจริญ สามารถสร้างสรรค์อารยธรรมให้เจริญและงอกงามขึ้นไปได้

มนุษย์อยู่เพียงลำพังหาได้ไม่

ผลกระทบสำคัญอันเนื่องมาแต่มาตรการ Social Distancing ที่เห็นได้ชัด นอกจากผลสะเทือนในแง่จิตวิทยาแล้ว มันได้ปรากฏให้เห็นทันทีในเรื่องเศรษฐกิจ

เมื่อมนุษย์จำต้องห่างกันแบบต่างคนต่างอยู่ ก็แน่นอนว่ากิจกรรมทางการค้าการธุรกรรมที่ต้องอาศัยการสัมผัสกันแบบ Face to Face ย่อมสะดุดหยุดลง

คนซื้อไม่กล้าไปซื้อ คนขายไม่กล้ามาขาย คนผลิตจำใจต้องหยุดผลิต ธุรกิจห้างร้านและบริการต่างๆ ย่อมต้องหยุดหรือลดขนาดลง คนงานตกงาน เด็กๆ ไม่ได้ไปเรียนหนังสือ ฯลฯ เดือดร้อนถึงรัฐบาลที่ไม่สามารถเก็บภาษีได้ หรือเก็บได้ แต่ก็น้อยลงแยะ

ทว่า “มนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพื่อยอมแพ้” อย่างที่ Ernest Hemingway เคยกล่าวไว้

มนุษย์จึงคิดหาหนทางเอาชนะความอึดอัดขัดข้องตลอดมา และการคิดหาทางออกด้วยความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ย่อมเป็นที่มาของ Innovations ที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับชีวิตมนุษย์เอง

 

ครั้งนี้ก็เหมือนกัน ที่เราได้เห็นความพยายามจำนวนมากและอย่างยิ่งยวด ที่มนุษย์ใส่เข้าไปเพื่อต้องการสยบเจ้าไวรัสตัวร้ายตัวนี้ให้ได้

ผู้คนในทุกวงการได้ทุ่มเทเวลา กำลังกาย กำลังสมอง และทรัพยากรของตัวเข้าไปเพื่อหวังการเอาชนะมันให้ได้

วงการที่คนฝากความหวังไว้มากที่สุดคือ แวดวงที่เราอาจเรียกแบบกว้างๆ ว่า “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” โดยเฉพาะทางด้านการแพทย์ เวชภัณฑ์ ไบโอเทค เฮลท์แคร์ โดยมี AI เป็นตัวเสริมสร้างพลังผนึก เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการค้นคว้าวิจัยและประดิษฐ์สร้าง ให้รวดเร็ว แม่นยำ และทรงประสิทธิภาพขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ล่าสุด เราได้เห็นการเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ที่จะมาแก้ปัญหาทำนองนี้ ของ 2 อภิมหายักษ์แห่งโลกเทคโนโลยี คือ Google และ Apple

สิ่งที่ทั้ง 2 ทำ ล้วนเป็นโครงสร้างพื้นฐาน Infrastructure ที่สำคัญมากสำหรับให้แอปพลิเคชันต่างๆ ได้งอกงามขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหา Social Distancing ให้กับมนุษย์

แน่นอนว่าในยุค COVID-19 และหลังจากนี้ ที่ผู้คนยังมีความทรงจำแย่ๆ เกี่ยวกับการระบาดของมัน พวกเราคงคิดหนักถ้าจะต้องจับหรือสัมผัสกับสิ่งของหรือพื้นผิว ที่เรารู้ว่ามันเคยผ่านการสัมผัสจากคนอื่นๆ จำนวนมากมาก่อน

อย่างเครื่องรูดบัตรเครดิตหรือหน้าจอ ณ จุดจ่ายเงินของร้านค้าและร้านอาหารที่เราจำเป็นต้องเข้าไปเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน หรือเวลารับพัสดุจากบุรุษไปรษณีย์ของ Lazada หรือ DHL และบรรดา Courier Services ที่เราต้องใช้นิ้วมือเซ็นชื่อลงไปบนหน้าจอของเขา เป็นต้น

คนซีเรียสเรื่องนี้กันขนาดไหนให้ดูจากราคาหุ้นของ Square ซึ่งเป็นกิจการ FinTech ที่โตเร็วและประสบความสำเร็จอย่างสูงในการให้บริการจุดจ่ายเงินสำหรับกิจการขนาดเล็กขนาดกลางทั่วสหรัฐฯ (รวมทั้งการปล่อยสินเชื่อรายย่อยให้กับผู้ประกอบการเหล่านั้นด้วย โดย Square เพิ่งจะได้รับอนุญาตให้เป็นธนาคารในช่วงที่ไวรัสกำลังระบาดหนักนั้นด้วย) และ DHL เองก็ประกาศให้การรับส่งพัสดุในช่วงไวรัสระบาด ว่าไม่จำเป็นต้องเซ็นต์รับของอีกต่อไป

ในช่วงไวรัสระบาดหนักนั้น ราคาหุ้นของ Square ลดลงเกือบ 50% จากช่วงพีค

ทว่า ปัญหานี้จะหมดไปหากเราใช้สมาร์ทโฟนระบบแอนดรอยตัวใหม่ ที่มีเรด้าร์เซ็นเซอร์ฝังมาด้วย ซึ่ง Google เพิ่งพัฒนาขึ้น

ใครจะว่ายังไงก็ช่าง แต่สำหรับเราแล้ว เราคิดว่าสิ่งนี้คือ Innovation สำคัญของวงการสมาร์ตโฟน

ทำไม?

ธรรมดา สมาร์ตโฟนในปัจจุบันก็มีความสามารถระดับหนึ่งในการจับความเคลื่อนไหวรอบๆ ตัวมันอยู่แล้ว เช่นเวลาที่เราจับมันเอียง การแสดงผลทางหน้าจอของมันก็เอียงไปตามทิศทางที่เราเอียงนั้นด้วย หรือเมื่อเราหยิบมันขึ้นมาเพื่อจะใช้งาน มันก็รู้ว่าต้องเปิดหน้าจอให้สว่างขึ้นมาด้วย เป็นต้น

เรดาร์เซ็นเซอร์ตัวใหม่นี้จะเพิ่มขีดความสามารถในโหมดนี้ของมัน (โหมด Motion Detection) ให้เราสามารถสั่งงานมันด้วยการเคลื่อนไหวของมือเรา โดยไม่จำเป็นต้องสัมผัสหน้าจอ

จะ Scroll เลื่อนขึ้นเลื่อนลง ซูมหรือย่อ ก็สามารถสั่งได้โดยท่าทางของเรา ไม่ต้องสัมผัส

ทั้งนี้ Google เขาใช้เทคโนโลยี Machine Learning ในการสอนให้ AI Model จดจำ Pattern ของความเคลื่อนไหวนับล้านๆ แบบ จากอาสาสมัครหลายพันคน

แม้กระทั่งเรื่องละเอียดๆ อย่างการเขียนตัวอักษรลงไปบนหน้าจอ เราก็สามารถทำได้ด้วยการใช้นิ้ววาดไปบนอากาศ หน้าตัวเซ็นเซอร์ เพื่อให้จอภาพมันแสดงผลเป็นตัวหนังสือที่เราต้องการ

ลองดูภาพตัวอย่างข้างล่างประกอบ:

แอนดรอยด์สมาร์ตโฟนที่ฝัง Radar Sensor

ที่มา : Google

 

เรดาร์เซ็นเซอร์ฝังอยู่ด้านบนของตัวโทรศัพท์ และตัวอักษรเหล่านั้นก็เขียนโดยการวาดนิ้วไปมาโดยไม่ต้องสัมผัสหน้าจอแต่อย่างใด

เราคาดว่าสิ่งนี้จะเป็นบ่อเกิดของ USE CASE จำนวนมหาศาลที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่เราก็ยังจินตนาการไม่ออกว่ามันจะมีหน้าตาแบบไหนกันบ้าง

นักพัฒนาแอปทั้งหลายทั้งปวง คงจะพากันมาสร้างสรรค์แอปพลิเคชันอีกมากมายได้บนฐานใหม่ของ Google นี้ ทั้งในเชิงเอนเทอร์เทนเม้นต์ ในเชิงธุรกิจ ในเชิงไลฟ์สไตล์ และในเชิงอื่นๆ ที่เราต้องอดใจรอ

อีกไม่นานคงจะมีผู้ผลิตสมาร์ตโฟนรายใหญ่ๆ ของโลก ผลิตรุ่นนี้ออกจำหน่าย แต่มันคงเริ่มจากรุ่นแพงก่อน แล้วก็ค่อยๆ ถูกลงตามสูตร

Digital Innovation แบบนี้ แม้มันจะมาเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของคน แต่มันก็จะช่วยให้ความสัมพันธ์ของมนุษย์กลับมาดีดังเดิมแม้ไม่จำเป็นต้องสัมผัสกัน หลังจากผ่านความทรงจำอันเลวร้ายที่เราต้องห่างเหินกันไปด้วยจำใจต้อง Social Distancing ซึ่งกันและกัน

มนุษย์ย่อมไม่ให้เกิดภาวะ Social Fallout อย่างแน่นอน

ส่วน Apple ก็ไม่มีทางน้อยหน้า

เพราะเขาประกาศแล้วว่า iPad Pro รุ่นใหม่นี้ จะฝังสิ่งที่เรียกว่า “Lidar Scanner” เข้าไปด้วย

สิ่งที่เรียกว่า Lidar มันคือเทคโนโลยีที่สามารถนำเอาภาพจริงๆ ที่อยู่แวดล้อมเรา มาสร้างเป็นภาพ (ส่วนใหญ่จะสร้างเป็นภาพกราฟิก) จำลองแต่เหมือนจริงมากๆ ที่เรียกว่า ‘ภาพ 3 มิติ’ โดย มันช่วยให้เราได้เห็นภาพหลายมุมเหล่านั้น ในแบบที่มันเกิดขึ้นจริงๆ ณ ตอนนั้น บนหน้าจอของเรา

เทคโนโลยีนี้ใช้มากในการทดลองกับรถยนต์ที่ขับเองได้ (Self-Driving Car) เพราะมันจะสามารถสร้างภาพจำลองเหมือนจริงให้เราเห็นว่าข้างหน้า ข้างซ้าย ข้างขวา ข้างหลัง และข้างใต้ท้องรถ ในแต่ละวินาที มีหน้าตาเป็นยังไง (โดยแสดงภาพให้เราเห็นเป็นแบบ 3D) ใครจะแซงเรา หรือเราจะแซงใครหรือเปล่า

สิ่งที่ Apple คิดและสร้าง เป็นโครงสร้างพื้นฐาน รอคอยให้บรรดานักพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันจำนวนมาก มาต่อยอดไปนั้น อันที่จริงมันคือการนำเอาเทคโนโลยีที่เรียกว่า “AR” หรือ Augmented Reality ไปให้คนส่วนใหญ่ได้ลิ้มลองใช้กัน

AR คือเทคโนโลยีที่สามารถสร้างวิดีโอ รูปภาพ และข้อมูลต่างๆ ให้แสดงผลพร้อมกับสิ่งที่เราเห็นจริงๆ ในธรรมชาติ

พูดง่ายๆ คือมันสามารถสร้างกราฟิกทับลงบนภาพธรรมชาติจริงที่เราเห็นอีกทอดหนึ่ง

ตัวอย่างที่คนส่วนใหญ่รู้จักดีคือเกม “Pokemon Go” ที่โด่งดังมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา

Apple แสดงให้เห็น Use Case แบบง่ายๆ ผ่านเกม Hot Lava ซึ่งท่านผู้อ่านที่สนใจอาจคลิกเข้าไปดูได้ว่าเราสามารถแปลงตัวเองเป็นภาคอวตาร เพื่อเข้าไปร่วมเล่นเกมนั้นได้อย่างน่าหวาดเสียวและสนุกสนาน

ลองดูเกมที่ฝัง AR มาด้วยจากลิงก์ต่อไปนี้ https://www.theverge.com/2020/3/18/21185959/ipad-pro-lidar-scaner-augmented-reality-demo-hot-lava-game

 

อย่าลืมว่า หากเจ้ามืออย่าง Apple ยอมลงมาสร้าง Infrastructure ขนาดนี้แล้ว มันจำเป็นและเป็นธรรมดาอยู่เองที่บรรดานักพัฒนาและ Tech Start-Up ทั้งหลาย จะเข้ามาร่วมบรรเลงต่อยอด ทยอยสร้างแอปพลิเคชันต่างๆ ให้พวกเราได้ใช้กันเพลินๆ ในอนาคตอันใกล้ หรือไม่ไกลเกินรอ

เกมเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้นสำหรับ Apple

อีกไม่นานเราคงจะได้เห็นแอปที่สร้างไลฟ์สไตล์ใหม่และเปลี่ยนเกมธุรกิจให้พ้นไปจาก Business Model เดิมๆ อย่างแน่นอน

ยกตัวอย่างเช่น แอปที่เกี่ยวกับการช็อปปิ้งของใช้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือของตกแต่งบ้าน เพราะในยุคไวรัสระบาด คงไม่มีใครอยากออกไปร้านเฟอร์นิเจอร์ แต่แอปที่ทำงานบนระบบ OS ของ Apple สามารถสร้างภาพกราฟิกให้เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ มีขนาดเท่าตัวจริงให้มาปรากฏบนจอมือถือของเรา โดยเราสามารถวาดมือถือเทียบไปตามซอกมุมต่างๆ ในบ้านตัวเอง เพื่อดูว่าของชิ้นนั้นมันจะวางตรงไหนได้เหมาะสมที่สุด และเรายังรู้ด้วยว่าพื้นผิวหรือวัสดุของเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนั้นมันหยาบหรือละเอียดเพียงใด โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่ร้านขายเฟอร์นิเจอร์แม้แต่น้อย

แอปอันนี้จะช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์ก่อนตัดสินใจซื้อได้อย่างแม่นยำ

เช่นเดียวกับแอปขายหรือตัดเย็บเสื้อผ้า ที่เราสามารถลองใส่ก่อนได้โดยใช้ AR ว่ามันฟิตหรือไม่ฟิตเช่นไร ก่อนตัดสินใจซื้อโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่ร้านขายเสื้อผ้าเลย (วิธีการก็โดยวานให้คนอื่นช่วยถ่ายรูปเราให้หน่อย แล้วนำมาทาบกับชุดที่ผู้ขายส่งข้อมูลแบบ AR มาให้เรา โดย iPad หรือ Smart Phone อันนั้นก็จะสร้างภาพเสมือนจริงให้เราได้เห็นว่าชุดนั้นๆ เหมาะกับเราหรือไม่อย่างไร)

การพบแพทย์ก็สามารถทำผ่านแอปแบบนี้ได้เช่นเดียวกัน โดยแพทย์สามารถเห็นอวัยวะและการเคลื่อนไหวทุกส่วนของคนไข้ผ่าน AR application บนมือถือ ไอแพด หรือจอคอมพิวเตอร์ของตน โดยไม่จำเป็นต้องเผชิญหน้ากับคนไข้เลย เป็นการรักษาทางไกลที่เรียกว่า Telehealth หรือ Telemedicine

เราคิดว่า หลังจากที่ Apple นำไอแพดหรือสมาร์ตโฟนที่มีฟังชั่นแบบนี้ออกวางจำหน่ายแล้ว อีกไม่นานเราคงได้เห็นแอปพลิเคชันจำนวนมากมายตามมา

ในแวดวงเทคโนโลยีนั้น ทันทีที่โครงสร้างพื้นฐานถูกออกแบบและวางไว้ดีแล้ว มันย่อมก่อเกิดแอปพลิเคชันงอกเงยต่อยอดขึ้นมาราวดอกเห็ดในเวลาไม่นานนัก

สำหรับพวกเราแล้ว ย่อมเป็นเรื่องดีที่สองยักษ์ใหญ่ได้คิดค้นสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา เพื่อพยุงความสัมพันธ์อันดีของมนุษย์ต่อมนุษย์เอาไว้ ถึงแม้ว่าพวกเราจะไม่ได้พบหน้าค่าตากันก็ตาม

ใช่แล้ว...

มนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพื่อพ่ายแพ้หรือยอมจำนน


บทความ: ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว

X

Right Click

No right click