November 21, 2024

เศรษฐกิจหลังโควิด ฉบับมองโลกในแง่ร้าย

April 07, 2020 4076

โลกทั้งโลกตอนนี้หยุดชะงัก ธุรกิจการค้าส่วนใหญ่ต้องปิดตัวลงชั่วคราว ไม่มีรายได้ ทั้งในระดับธุรกิจ ครอบครัว บุคคล หรือแม้กระทั่งรัฐบาล แต่รายจ่ายยังเดินอยู่ตลอดเวลา

ทั้งรายจ่ายจำเป็นประจำวัน ประจำเดือน และดอกเบี้ยจากการก่อหนี้ในช่วงที่ผ่านมา

คำถามคือว่า พวกเขาจะจ่ายบิลไหวกันมั้ย ?

ราคาหุ้นคงจะเด้งกลับ เพราะมาตรการอัดฉีดสารพัดของรัฐบาลในโลก และมาตรการ “อุ้ม” กิจการที่กำลังจะตายทั้งหลายในช่วงนี้ให้ผ่านไปให้ได้ก่อนแล้วค่อยว่ากัน (เช่นกระทรวงการคลังอุ้มการบินไทย) แต่เสร็จแล้ว เมื่อนักลงทุนเห็นธาตุแท้ของปัจจัยพื้นฐาน ราคาหุ้นก็จะตกลงมาแรงยิ่งกว่าเก่า
ธุรกิจจำนวนมากจะเจ๊งเพราะรายได้ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย ก่อหนี้เพิ่มลำบาก และใช้หนี้คืนไม่ได้ เพราะระดับการก่อหนี้ที่ผ่านมาสูงเหลือเกิน ส่งผลให้คนงานจำนวนมากตกงาน วงในรัฐบาล คาดกันว่าอาจถึง 20% ด้วยซ้ำ

ธนาคารชาติใหญ่ๆ ต่างพากันพิมพ์เงินออกมาอัดฉีดเพื่อพยุงเศรษฐกิจ แต่ชาติเล็กๆ ที่พิมพ์เงินเองไม่ได้มาก และรายจ่ายสำคัญต้องอาศัยเงินดอลลาร์ไปนำเข้าสิ่งจำเป็น มาบริโภคในประเทศ (เช่นน้ำมัน ปุ๋ย เครื่องจักร ยารักษาโรค เหล็ก รถไฟฟ้า ฯลฯ) อย่างประเทศไทย จำเป็นต้องหาเงินสกุลแข็ง (ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นหลัก) มาอุด

อาจจำเป็นต้องพึ่งพา “กองทุนการเงินระหว่างประเทศ” หรือ IMF  

เงินเหล่านี้ได้มาแล้ว ก็จำเป็นต้องอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ เพื่อสตาร์ทเครื่องระบบเศรษฐกิจของเรา ให้มันจุดติดขึ้นมาอีกรอบ

แต่เมื่อจำนวนเงินมันอัดเข้ามามาก เงินอยู่ในมือคนมากขึ้น ปริมาณเงินเพิ่มขึ้น พวกเขาย่อมต้องใช้จ่ายกันคล่องขึ้น ทว่าผลผลิตยังเท่าเดิม หรือเพิ่มน้อย ข้าวปลูกได้เท่าเดิม มะม่วงเท่าเดิม ผักเท่าเดิม เนื้อเท่าเดิม พริกหอมกระเทียมปลูกได้ในปริมาณเท่าเดิม...มันย่อมจะทำให้ราคาสินค้าบริการแพงขึ้น   ที่เราเรียกว่า “เงินเฟ้อ” หรือ Inflation

แน่นอนว่า เรามีข้าวจานเดียว แต่ทุกคนมีเงินในมือมากขึ้น ข้าวจานนั้นย่อมแพงขึ้น เพราะแต่ละคนที่ต้องกินข้าว จะแย่งกันเสนอราคาข้าวจานนั้นในราคาที่สูงขึ้น เพื่อจะให้ได้ข้าวจานนั้นมาครอบครอง

และแม้ว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นในหน้าร้อนจะทำให้ไวรัสตายไปแยะ แต่เมื่อเข้าหน้าฝนและหน้าหนาว พวกอุบาทว์กาลีโลกพวกนี้ก็จะกลับมาอีก ทั้งจากที่แอบซ่อนอยู่ในพวกเรากันเอง และจากนักท่องเที่ยวที่จะทะลักเข้ามาใหม่หลังจากเราเปิดประเทศ เพราะนึกว่าสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว

ในขณะที่ผู้คนในโลกเริ่มตาสว่างเกี่ยวกับเงินดอลลาร์และเงินยูโรและเงินเยน (หรือแม้กระทั่งหยวน) ซึ่งเป็นเงินสกุลหลักของโลกว่าในช่วงวิกฤติไวรัสนั้น รัฐบาลยักษ์ใหญ่เหล่านี้พิมพ์เงินออกมาในปริมาณมหาศาล

ดังนั้น พวกเขาอาจหมดศรัทธาในเงินสองสกุลนี้ หันไปถือทองคำ ถือบิทคอยน์ ถือสินทรัพย์อะไรก็ตามที่พวกเขาเชื่อมั่นยิ่งกว่า ว่าเงินและเงินเก็บของพวกเขาจะไม่มลายหายไป หรือกลายเป็น “แบงก์กงเต๊ก”

สถานการณ์แบบนั้น ยิ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อของโลกเพิ่มสูงขึ้นไปอีก (เลวร้ายที่สุดอาจเหมือนตอนที่เกิดในเยอรมนี ปี 1923 ใครที่ยังไม่เคยรู้ขอลองให้ไปศึกษาดู)

เมื่อคนเริ่มกลัวว่าเงินของตัวเองจะมีค่าลดลงเมื่อเทียบกับสินค้าและบริการทั้งหลาย (เรียกว่า “ภาวะเงินเฟ้อ” นั่นเอง) อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะมีปัญหา

เอทีเอ็มอาจเติมเงินไม่ทัน เพราะทุกคนต่างต้องการเงินสด เพื่อตุนไว้ซื้อสินค้าจำเป็นซึ่งราคาแพงขึ้นทุกวันๆ

เดือดร้อนถึงธนาคารชาติและรัฐบาลที่ต้องคิดหนักว่าจะกู้เงินมาอัดฉีดเพิ่มดีไหม (หรือจะหักดิบพิมพ์เงินขึ้นมาเองเลย) เพราะหนทางเลือกอื่น เช่นการลดอัตราดอกเบี้ยเป็นไปไม่ได้แล้ว (เพราะลดไปก่อนหน้านี้จนลงมาเกือบถึง 0% แล้ว และที่เป็นอยู่ในขณะนี้ก็ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่แล้ว)

พวกเขาต้องตัดสินใจว่าจะให้เศรษฐกิจรูดลงไปเรื่อยๆ ยอมเห็นทุกคนเจ๊งไปต่อหน้าต่อตา หรือจะหาเงินมาอัดฉีดเข้าไปเพื่อพยุงสถานการณ์เฉพาะหน้าไว้ก่อน...แล้วค่อยไปตายเอาดาบหน้า

เชื่อขนมกินได้เลยว่าภาวะการเมืองแบบนี้ รัฐบาลต้องเลือกหนทางหลัง

ดังนั้น โอกาสที่จะเกิด “Hyperinflation” (คือภาวะเงินเฟ้ออย่างน่ากลัว ที่นอกเหนือการควบคุม) มิใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้

มันเกิดขึ้นมาแล้วที่เวเนซุเอลาเมื่อเร็วๆ นี้ ซิมบับเวก่อนหน้านั้น และเยอรมนีในยุคสาธารณรัฐไวมาร์ (ปี 1923)

ท่านผู้อ่านไปดูเอาเองได้ ว่าราษฎรส่วนใหญ่ของประเทศเหล่านั้น ในช่วงเวลานั้นๆ เจ็บปวดเพียงใด

ราคาสินทรัพย์จะพุ่งสูงขึ้นมาก รวมทั้งราคาหุ้นด้วย แต่ตลาดพันธบัตรและหุ้นกู้จะล่มสลาย เพราะคนจะออกจากตลาดหุ้นกู้มาเข้าตลาดหุ้นแทน

มูลค่าหนี้สินเดิมจะหายมลายไปสิ้นจากผลของภาวะเงินเฟ้อ

คนเคยเป็นหนี้ล้านบาท จะไม่เป็นปัญหาของเขาอีกต่อไป แต่เจ้าหนี้และธนาคารจะอยู่ไม่ได้

สินค้าที่ต้องนำเข้าจะขาดแคลน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นของจำเป็น

ปัญหาสังคมจะเกิดขึ้นทั่วไป

เจ้าหนี้ลูกหนี้ทะเลาะกัน โจรผู้ร้ายชุกชุม การปล้นชิงเป็นเรื่องปกติ สินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าจำเป็นที่ต้องนำเข้าขาดแคลน ต้องปันส่วนกัน ซึ่งคนรวยหรืออภิสิทธิ์ชนจะได้รับสิทธิก่อน และส่วนแบ่งได้ไปมากกว่าแบบเบียดบังเอาเปรียบ โดยที่คนจนหรือคนไร้อำนาจจะเห็นว่าตัวเองถูกเอาเปรียบแบบตำตา

เกิดความขัดแย้งในสังคมระหว่างคนมีกับคนไม่มี

การเมืองต้องประกาศภาวะฉุกเฉินอย่างถาวร ประชาธิปไตยครึ่งใบกลายเป็นเผด็จการ และผู้คนจะไม่เชื่อฟังผู้นำ กฎหมายไร้ความศักดิ์สิทธิ์เพราะผู้รักษากฎหมายส่วนใหญ่นิ่งเฉยที่จะบังคับใช้กฎหมาย

จลาจลเป็นเรื่องปกติเหมือนที่เกิดในเขต 3 จังหวัดภาคใต้เดี๋ยวนี้

แต่ก็ยังมีข่าวดี

ข่าวดีคือ คนที่ยังพอมีความหวัง มองโลกในแง่ดี และมีความคิดสร้างสรรค์ จะแสวงหาหนทางแบบบ้านๆ หรือแบบจริงจัง ในการแก้ปัญหา หรือเสนอ Creative Solutions ให้กับสังคม

เรื่องเหล่านี้คนไทยเก่งอยู่แล้ว

การปรับตัวในภาวะวิกฤติ เราทำมาหลายครั้งแล้ว

เผอิญว่าครั้งนี้ ความคิดสร้างสรรค์และ Innovations ต่างๆ คงจะถูกยับยั้ง หรือเหนี่ยวรั้ง จากผู้มีอำนาจ เพราะคนเหล่านี้จริงๆ แล้วเป็นคนไร้ปัญญา และชอบขัดขวางการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว...แต่ชอบอ้างว่าต้องดูให้รอบคอบ และอ้างกฎหมายกฎเกณฑ์ หรือขั้นตอน Manual ของระบบราชการ

ทำให้คนที่คิดจะเปลี่ยนแปลงเกิดความท้อถอย และทำให้การแก้ไขปัญหาต้องทอดเวลายาวนานไปอีก

เฮ้อ.....

เรื่องที่พูดมานี้ อาจจะเกิดขึ้น หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้

...หรืออาจจะเกิดแต่ไม่ร้ายแรงเท่าที่พยากรณ์ไว้ก็ได้เหมือนกันมันเป็นเรื่องของอนาคต  ซึ่งอนาคต เป็นเรื่องที่เราต้องคอยดู


บทความ: ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว

X

Right Click

No right click