Telemedicine Era

April 20, 2020 3483

ในเหล่า "ผู้รู้" หรือ "กูรู" สายทอร์คที่พูดกว้าง มองไกลและฉายภาพอนาคตชัด โดยเฉพาะ ในประเด็นที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและดิสรัปชั่นที่กระหน่ำสร้างความเปลี่ยนแปลงในภาคส่วนๆ

ทั้งต่อภาคอุตสาหกรรม ต่อระบบเศรษฐกิจไปจนถึงภาคสังคมนั่นคือ พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ หรือ ดร.มาร์ช อดีต รองประธานฯ กสทช. ผู้ผันตัวมาสู่การทำงานในภาคการเมือง โดยดำรงตำแหน่งโฆษกพรรคภูมิใจไทย ในปัจจุบัน

"เดิมเลยก็ไม่คิดว่าจะมาทำงานการเมืองเสียทีเดียว" คือเกริ่นแรกของ ดร.มาร์ช อย่างเป็นกันเองกับทีมงานนิตยสาร MBA เมื่อปลายปีที่ผ่านมา และได้เล่าต่อว่า

แต่เมื่อสถานการณ์และไทม์มิ่งมันได้ ก็ต้องตัดสินใจ ซึ่งคิดว่างานในภาคการเมืองก็มีข้อดีเพราะก็เป็นอีกหนึ่งเวทีที่น่าจะสามารถผลักดันความคิด ผลักดันความตั้งใจ และผลักดันเป้าหมายในหลายๆ เรื่องที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง แก้ไขปัญหา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาให้กับสังคมและประเทศ ภายใต้กลไกการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้

หลังจาก อัปเดตความเห็นและแบ่งปันข้อมูลและความรู้ในเรื่อง 5G ที่ ดร.มาร์ช เป็น Contributor ให้กับนิตยสาร MBA อยู่เสมอมานั้น โฆษกพรรคภูมิใจไทยได้เล่าถึงโครงการแรกที่เริ่มผลักดันคืองานพัฒนาระบบสาธารณสุขของไทยด้วยระบบดิจิทัลและเทคโนโลยี ซึ่งได้รับมอบหมายจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ร่วมขับเคลื่อน นั่นคือ นโยบาย Telemedicine เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม

Telemedicine : การแพทย์ทางไกล อนาคตที่ต้องเริ่มทันที

พันเอก.ดร.เศรษฐพงค์ เผยถึงแนวคิดการยกระดับงานของกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการจะบูรณาการทุกภาคส่วนโดยต้องการนำองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรมทางแพทย์ รวมถึงระบบโทรคมนาคม เพื่อรองรับการแพทย์ทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ Telemedicine เพื่อที่จะให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลในเมืองมีโอกาสที่จะได้รับการวินิจฉัย คัดกรองอาการเบื้องต้นที่สถานพยาบาลในชุมชน และมีโอกาสที่จะได้รับการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพและรักษาโรคได้อย่างรวดเร็วและทันการณ์

นอกจากนั้น โครงการแพทย์ทางไกล เป็นกลไกสำคัญของแนวทางการช่วยลดความแออัดที่เกิดจากการกระจุกตัวของผู้ป่วยตามสถานพยาบาลต่างๆ การรอคอยของคนไข้อันแสนยาวนานในโรงพยาบาลในเมืองก็จะเบาบางลง ในขณะเดียวกันประชาชนก็มีโอกาสและสามารถเข้าถึงการรักษาและบริการทางการแพทย์และยาได้มากขึ้น ง่ายขึ้น ซึ่งถือเป็นการกระจายการบริการสาธารณสุขสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง

โครงการ Telemedicine ยังเป็นกลไกที่มีศักยภาพในการที่จะพัฒนาเครือข่ายการให้บริการในส่วนของการรับยาหลังการตรวจรักษา ซึ่งเป็นหนึ่งในขั้นตอนของความล่าช้าของบริการในสถานพยาบาล ด้วยระบบ การแพทย์ทางไกล และ การจ่ายยาทางไกล ซึ่งหมายความว่า ต่อไปผู้ป่วยหรือผู้รับบริการจะสามารถเบิกรับยานอกโรงพยาบาล ที่เป็นเครือข่ายในโครงการของ Telemedicine อาทิ สถานพยาบาลในชุมชน หน่วยจ่ายยาของทางรัฐหรือแม้แต่ร้านขายยาเอกชนที่มีใบอนุญาตตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขและขึ้นทะเบียนอยู่ในเครือข่ายของโครงการTelemedicine ซึ่งส่วนนี้เป็นสิ่งที่กำลังเดินหน้าไปอย่างควบขนานกัน

ทั้งนี้ พันเอก.ดร. เศรษฐพงค์ เผยว่า

ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้ลงนาม MOU กับ กสทช. ไปแล้ว เพื่อวางระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และกำลังลากสายเพื่อติดตั้งระบบ ในระยะเริ่มต้นมี 8 จังหวัดนำร่อง ได้แก่

  • เชียงราย เพชรบูรณ์
  • กำแพงเพชร กาญจนบุรี
  • กาฬสินธุ์ สุรินทร์
  • สุราษฎร์ธานี และ สงขลา

ครอบคลุมสถานรักษาพยาบาล ได้แก่

  • โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จำนวน 15 แห่ง
  • คลินิกหมอครอบครัว (รพ.สต.ขนาดใหญ่) 4 แห่ง
  • โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) จำนวน 5 แห่ง
  • โรงพยาบาลประจำจังหวัด 8 แห่ง
  • ศูนย์เฉพาะทางโรคตา
  • ศูนย์เฉพาะทางโรคผิวหนัง

**โครงการ Telemedicine เปิดให้บริการเริ่มในปี 2562 ที่ผ่านมา

AI เทคโนโลยีตัวช่วยของหมอทางไกล

พันเอก.ดร.เศรษฐพงค์ โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงพัฒนาการในอนาคตของโครงการแพทย์ทางไกลว่า

"ในอนาคตต่อไป แน่นอนว่าจะต้องมีการนำ เทคโนโลยี AI เข้ามาใช้และเข้ามาช่วยในการรักษาของแพทย์ทางไกล ซึ่ง AI จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยประมวลผล เมื่อมีการเก็บข้อมูล และต่อไป AI ก็จะช่วยได้ในการวิเคราะห์และประเมินแนวโน้ม และการรักษาว่าลักษณะแบบนี้ อาการแบบนี้ คืออะไร และแนวทางการรักษา ควรเป็นเช่นไร และข้อมูลเหล่านี้จะทำให้ประเมินได้ว่าผู้ป่วยรายนี้จำเป็นจะต้องเข้ามาโรงพยาบาลศูนย์ หรือถึงเวลาที่ต้องผ่าตัดหรือยัง? เพราะการผ่าตัดที่ตำบลยังทำไม่ได้ การวินิจฉัยที่มีประสิทธิภาพก็จะช่วยกรองคนไข้ให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลได้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับความน่าจะเป็นและความจำเป็น และความสามารถในการรองรับของสถานพยาบาลที่มีจำกัดได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจุดนี้ Telemedicine ของภาครัฐ ที่เห็นว่าช่วยได้เลยทันทีคือ การกรองคนไม่ให้ไปแออัดที่โรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น"

Telemedicine โอกาสใหม่ของ Startup, SMEs ทางการแพทย์

ทั้งนี้ ดร.มาร์ช ยังเผยถึงแนวทางในอนาคตของ Telemedicine ในส่วนของภาครัฐว่า จะเป็นส่วนสำคัญในการพลิกโฉมหน้าของผลิตภัณฑ์ บริการทางการแพทย์ ทำให้เกิดผู้ประกอบการรายย่อยใหม่ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การแข่งขันในธุรกิจทางการแพทย์ ด้านต่างๆ อีกมากมาย และผู้ป่วยหรือผู้ต้องการรับการรักษา หรืออีกนัยในอนาคตก็คือ ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากการแข่งขันดังกล่าว

“ตัวอย่างคือ ที่เราพบเห็นขณะนี้ มีเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดแบบพกพา เครื่องวัดความดันโลหิตแบบพกพา แผ่นตรวจโรคผิวหนังอัตโนมัติ และในอนาคตเราอาจมีเครื่องตรวจวัดดวงตาอัตโนมัติ หรือแอปพลิเคชันการตรวจวัดดวงตา อุปกรณ์หรือ แอพลิเคชั่นวัดการเต้นหัวใจในโทรศัพท์มือถือ อนาคตโทรศัพท์มือถือจะอำนวยความสะดวกในการดูแลสุขภาพของคนไทยได้มากขึ้นไปกว่าการสื่อสารหรือ ฟังก์ชั่นที่ใช้เป็นส่วนใหญ่ในปัจจุบัน แต่หลายสิ่งหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ ต่อไปอาจจะมีโปรแกรมการประมวลผลสุขภาพแบบ Real Time ที่บันทึกการกินอาหาร การดื่มน้ำ การเดิน การออกกำลัง ความดันเลือด การเต้นของหัวใจ และแจ้งผลรวมเตือนไปยังเจ้าของสุขภาพให้ดูแลตนเอง เช่น อาจเตือนว่า วันนี้ท่านดื่มน้ำน้อย หัวใจท่านเต้นผิดปกติ ควรไป พบแพทย์ อย่างนี้เป็นต้น”

นอกจากที่กล่าวมา โฆษกพรรคภูมิใจไทยยังขยายให้ฟังถึงโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อยอื่นๆ ที่ยังมีให้เห็นว่าเป็นไปได้จากโครงการ Telemedicine ในอนาคต อาทิเช่น แอปพลิเคชัน บริการรถรับ-ส่ง ผู้ป่วยแบบครบวงจร โดยมีผู้ช่วยพยาบาลหรือพยาบาลบริการอยู่ภายในรถด้วย คล้ายกับ Grab หรือ UBER

ทั้งนี้ในช่วงเปลี่ยนผ่านของ Telemedicine ยังจะทำให้ธุรกิจการจำหน่ายยาในร้านขายเล็กๆ เติบโตไปด้วย สำหรับร้านขายยาที่มีเภสัชกรสามารถจ่ายยาได้ โดยหมอแค่เขียนใบสั่งยาแล้วคนไข้นำไปรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้านได้เลย ทำให้คนไข้สะดวกขึ้นเพราะร้านยาใกล้บ้าน และลดความแออัดในการรอรับยาจากทางโรงพยาบาล เป็นต้น

เมื่อ 5G เกิดขึ้น

การบริการทางการแพทย์จะรุดหน้าอย่างก้าวกระโดด เพราะ 5G จะทำให้ระบบอินเทอร์เน็ตมีความเร็วเป็น 100เท่าจากระบบเดิม เกิดการเชื่อมต่อ แบบ Real Time รวดเร็ว พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า “5G ที่แท้จริงคือการสื่อสารระหว่าง 'คนกับคน' 'อุปกรณ์มือถือกับคน' 'อุปกรณ์มือถือกับอุปกรณ์ต่างๆ' จนมันรู้จักเราว่าเราต้องการอะไร และเมื่อ 5G เกิดขึ้น สิ่งที่จะตามมาจะเป็นเรื่องเหลือเชื่อ เพราะ 5G จะเป็น IOT Device”

เมื่อถามถึงความคิดเห็นถึงแนวคิดผู้นำและแนวทางการบริหารในยุคนี้ ยุคที่โลกทั้งใบกำลังจะผันไปสู่ยุคที่เรียกว่า Digital On life พึงควรเป็นเช่นไรนั้น

สมาชิกผู้แทนฯ พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ หรือ ดร. มาร์ช ให้ความคิดเห็นว่า “คือต้องเปิดกว้าง และตลอดเวลาต้องแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เพียงเท่านั้นเราก็สามารถที่จะเปลี่ยนตัวเราให้เข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งเป็นยุคใหม่ในอนาคตได้ ในส่วนของการทำงาน คีย์สำคัญหนึ่งคือการเลือกคนที่ต้องเหมาะกับงาน สิ่งนี้เป็นหลักการที่สำคัญมากสำหรับผู้บริหารยุคนี้ วันนี้ประสบการณ์เพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถเอาชนะการเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้ได้ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และยอมรับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา


เรื่อง    กองบรรณาธิการ

ภาพ    อาทิตย์ กัณฐัศว์กำพล

 

X

Right Click

No right click