November 21, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

ประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วม : ความเรียงของรุซโซ Democracy and Participation : Rousseau’s Discourse ตอนที่ 2/3

August 24, 2017 4122

ศ.สมิท กล่าวแก่นักศึกษาว่า ความเรียงเรื่องที่สอง หรือ the Second Discourse ของ รุซโซ เป็นหนังสือที่ไม่เคยเก่าลงเลย (a book that never grow old)

 

ในการบรรยายครั้งก่อน ศ.สมิท ย้ำเรื่องที่รุซโซ เห็นว่าเป็นต้นกำเนิดของความไม่เสมอภาค ได้แก่ การก่อตั้ง “สิทธิในทรัพย์สิน” ซึ่งเป็นรากฐานของสังคมแพ่ง (หรือสังคมบ้านเมือง) แต่ความเห็นดังกล่าวไม่จริงเสมอไป และรุซโซ ก็ตระหนักถึงความจริงข้อนี้ อนึ่ง ถ้ารุซโซเห็นว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดชนชั้นในสังคม รุซโซก็จะไม่ต่างไปจากนักคิดวัตถุนิยม เช่น คาร์ล มาร์ก – แม้ว่ามาร์กจะได้รับอิทธิพลความคิดติดลบเกี่ยวกับสังคมทุนนิยมจากรุซโซก็ตาม

 

ก่อนที่จะก่อตั้งสิทธิในทรัพย์สิน มนุษย์ได้วิวัฒนาการทางความคิดมามาก เป็นวิวัฒนาการเชิงศีลธรรมและจิตวิทยา ที่เอื้อต่อความไม่เสมอภาค เพราะฉะนั้น “ความชั่วร้าย” ที่รุซโซ มองเห็นในความเรียงที่สอง อันเป็นปฐมเหตุของความไม่เสมอภาค คืออะไร?

 

รุซโซเรียกปัจจัยนั้น เป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “Amour-propre” ซึ่งยากที่จะแปลเป็นภาษาอังกฤษ คำนี้จะเกี่ยวข้องกับจิตวิทยาของคน เช่น ความภาคภูมิใจ ความเย่อหยิ่งจองหอง ความเพ้อเจ้อฟุ้งซ่าน (Vanity) ความเห็นแค่ตัวเอง ความเห็นแก่ตัว เหล่านี้ก่อกำเนิดความไม่พอใจ ที่คุกรุ่นอยู่ตลอดเวลาในจิตใจมนุษย์

 

คำว่า Amour-propre จึงไม่จบอยู่แค่ความรักตัว ตามความหมายตามตัวอักษร ความรักตัวเองนั้น รุซโซ เห็นว่าน่าจะใช้คำว่า amour du soi ซึ่งเป็นคุณสมบัติตามธรรมชาติของสัตว์ทุกชนิด ที่จะต้องระมัดระวังรักษาตัวเองให้รอดปลอดภัย สำหรับมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน มนุษย์ก็ต้องการดูแลรักษาตัวเองให้แข็งแรง รู้จักป้องกันภัยที่มาจากผู้อื่น

แต่ Amour-propre ไม่ใช่เพียงแค่นั้น ต่างกันความรักตัวเองในลักษณะของส่ำสัตว์ ที่เรียกว่า amour du soi เพราะว่า Amour proper เป็นความรักตัวที่เกิดจากการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม ที่ทำให้มนุษย์เห็นความสำคัญของตนเอง ยิ่งกว่าคนอื่นๆ ทุกคน ทำให้มนุษย์ชั่วร้าย ในขณะเดียวกันก็เป็นที่มาของเกียรติยศ

 

Evil กับ Honour ปรากฏอยู่ด้วยกันใน Amour Proper ฮอบส์ ก็มีความคิดพื้นฐานด้านจิตวิทยาการเมือง ในหนังสือ เลอไวอาธาน คล้าย ๆ กับ Amour Proper เช่น ความภาคภูมิใจในตัวเอง ความเพ้อฝัน ความทะเยอทะยาน ฮอบส์ เห็นว่า “Pride” (ความภาคภูมิใจในตัวเอง) เป็นลักษณะอันเป็นธรรมชาติของคน ที่จะนำไปสู่การเป็นใหญ่เหนือผู้อื่น

 

แต่สำหรับ รุซโซ แล้ว Amour Proper มาภายหลังจากที่มนุษย์พ้นจากสภาพธรรมชาติมาอยู่กันเป็นสังคมบ้านเมือง ความภาคภูมิใจต้องการการมองของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ถ้าไม่มีคนมามองเราความภาคภูมิใจก็ไม่เกิด ดังนั้น ความรู้สึกนี้จะเกิดไม่ได้ในสภาพธรรมชาติที่มนุษย์อยู่อย่างโดดเดี่ยว

 

รุซโซ เดาว่า Amour Proper เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์ชุมนุมกันในกระท่อม หรือใต้ต้นไม้ และเริ่มรู้สึกว่า ผู้อื่นกำลังมองตน การมองของผู้อื่นคือ ต้นกำเนิดของความภาคภูมิใจ ความเพ้อฝัน รุซโซกล่าวว่า คนที่เต้นระบำเก่ง คนที่ดูงาม คนที่แข็งแรง คนที่คนอื่นๆ ชอบมอง กลายเป็นคนมีค่าสูง และนี่คือเบื้องต้นของความไม่เสมอภาคและความชั่วร้าย ก่อให้เกิดความเพ้อฝันหรือเพ้อเจ้อ ความแข่งดี ความอิจฉาริษยา ความอดสูใจ

 

ซึ่งในที่สุด ปัจจัยเหล่านั้นได้กลายเป็นตัวกำหนดความสุขของคน

 

รุซโซบอกว่า เวลาคนเข้าสมาคม คนก็ต้องการให้คนอื่นเห็นความสำคัญของตัว ไม่มากก็น้อย ความรู้สึกนี้ก็เป็นลักษณะหนึ่งของ Amour Proper รุซโซ เห็นว่า ความต้องการให้ผู้อื่นเห็นความสำคัญของตัวนี้ ทำให้คนเราเกิดความรู้สึกเรื่องความยุติธรรม

 

อย่างไรก็ดี ความต้องการให้ผู้อื่นเห็นความสำคัญของตัว บางทีก็นำไปสู้ความอำมหิต โหดร้าย รุซโซ เขียนไว้ว่า เมื่อคนรู้จักคุณค่าของกันและกัน ความรู้สึกเคารพนับถือก็ก่อกำเนิดขึ้นในจิตใจ แต่ละคนเห็นว่า ตนมีสิทธิที่จะเป็นที่นับถือของผู้อื่น คนที่ขาดเรื่องนี้ก็จะถูกลงโทษ หน้าที่พลเมืองเกิดจากจุดนี้ ความเป็นคนในสังคมก็เกิดที่นี่ คนที่ถูกทำร้ายไม่ได้เจ็บแต่กาย หรือเจ็บตัว ความเจ็บใจก็เกิดขึ้นด้วย บางทีความเจ็บใจมีมากกว่าเจ็บกายเสียอีก

 

ความเจ็บของคนขึ้นอยู่กับความทะนงตนของเขาเอง ถ้าเขานับถือตัวเองสูง ความเจ็บก็สูงด้วย การแก้แค้นที่ตามมาก็จะโหดร้าย และมนุษย์ก็กลายเป็นคนกระหายเลือด บางทีสงครามก็อาจเกิดขึ้นได้

 

 

 

ศ.สมิทยกตัวอย่างเรื่องการ์ตูนในเดนมาร์ก ที่วาดเกี่ยวกับพระมะหะหมัด แล้วเกิดการประท้วงรุนแรง เพราะเห็นว่า คนเขียนการ์ตูนไม่เคารพองค์พระศาสดา ถ้าจะคิดตามรุซโซ เราก็คิดได้ว่า ศาสนิก ผู้เลื่อมใสศรัทธาเห็นว่า การ์ตูนลบหลู่ดูหมิ่นดังกล่าว กระทำต่อหน้าพวกตน เป็นการดูหมิ่นความเชื่อและศรัทธาของพวกเขา รุซโซจะถือว่านี่เป็นปัญหาเรื่อง Amour Proper อันได้แก่ ความต้องการเป็นที่ยอมรับนับถือ เป็นที่เคารพ และเป็นต้นกำเนิดของความสำนึกในความยุติธรรม ขณะเดียวกัน ความรู้สึกนี้ก็อาจมีทางออกที่รุนแรงได้

 

ศ.สมิท เข้าใจว่า รุซโซน่าจะเห็นประเด็นของศาสนิกผู้ประท้วง และเห็นด้วยกับคนเหล่านั้น ซึ่งจะต่างจากจอห์น ลอค หรือโทมัส ฮอบส์ ผู้เป็นนักเสรีนิยมที่อาจจะยักไหล่ให้กับประเด็นนี้ พร้อมกับกล่าวว่า “So what?”

 

ตามแนวคิดเสรีนิยมดังกล่าว ที่ยังมีอิทธิพลในตะวันตกจนทุกวันนี้ เห็นว่า รัฐบาลไม่มีหน้าที่ไปพิทักษ์ความศักดิ์ หรือไม่ศักดิ์สิทธิ ความเชื่อหรือศรัทธาในศาสนาใดๆ นายกรัฐมนตรีเดนมาร์กได้แสดงปฏิกิริยาไปในแนวนั้นคือ ปฏิเสธที่จะขอขมา เพราะเห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล

 

แต่ศ.สมิท ไม่เห็นด้วยกับความคิดข้างบน ศ.สมิทเห็นว่า รุซโซมีประเด็นที่น่าสนใจพึงได้รับการพิจารณาอีกประการหนึ่ง ความอดทนต่อความแตกต่าง(Toleration) เป็นคุณงามความดีในแนวคิดเสรีนิยม ที่เห็นว่าคนจะต้องแยกความนับถือศรัทธาส่วนตัวไว้กับตัวที่บ้าน ครั้นออกมาในสังคมกว้าง หรือออกมาในทางสาธารณะ (Public World) เราจะนำความเชื่อศรัทธาส่วนตัวของเรามาบังคับใช้ในทางสาธารณะ หาได้ไม่

 

อย่างไรก็ดี ความอดทนต่อความแตกต่าง ในปรัชญาตะวันตกมีความหมายเพียงว่า “ไม่ลงโทษ” คือ ไม่ลงโทษความแตกต่าง ปล่อยให้เป็น “ทางใคร ทางมัน” อย่าไปยุ่ง ในทางกลับกัน ความเคารพนับถือศรัทธาของผู้อื่น เราจะต้องเห็นคุณค่าและน้อมคารวะตามไปด้วยหรือ? หรืออย่างไร? ซึ่งเรื่องนี้พวกนักเสรีนิยมจะมองว่า เพียงแค่ยอมรับว่าความแตกต่าง (และไม่ลงโทษ) เท่านั้นพอแล้ว แต่จะให้พลอยเคารพนับถือศรัทธาตามไปด้วย คงจะไม่ได้

 

ศ.สมิท บรรยายต่อไปเรื่องความ “ศิวิไลซ์” หรือการอยู่ร่วมกันเป็นบ้านเมือง มีอารยธรรม ศ.สมิทอ้างศิลปิน วูดดี เอลเลน ซึ่งเคยกล่าวว่า มนุษย์นี้มีอยู่สองสถาน คือ The Horrible พวกน่าเกลียดน่ากลัว กับ The Miserable พวกน่าสังเวช พวกน่าเกลียดน่ากลัว ได้แก่ คนที่ผ่านความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสบางอย่างมา เช่น มีโรคร้ายชนิดรักษาไม่หาย ใกล้จะตาย หรือเจียนตาย ส่วนพวกน่าสังเวช ได้แก่ คนอื่นๆ นอกนั้นทุกคน (นอกไปจากพวกน่าเกลียดน่ากลัว) รุซโซ เห็นว่า มนุษย์มีความสุขที่สุดเมื่อได้อยู่ในสังคมที่เป็นครึ่งทาง ระหว่างสภาพธรรมชาติกับอารยธรรม สังคมครึ่งทางดังกล่าวนั้นสิ้นสุดลง เมื่อมนุษย์รู้จักทำการเกษตรกรรม (เพาะปลูก) และรู้จักโลหะ การเกษตรทำให้เกิดการถือครองที่ดิน และต่อมาก็กลายเป็นความไม่เท่าเทียมกัน การรู้จักโลหะทำให้มนุษย์รู้จักการทำสงคราม และเกิดมีรัฐบาลขึ้นมา เป็นเครื่องมือการปกครองของผู้ที่แข็งแรง เป็นเครื่องมือของคนร่ำรวย ไว้กดขี่คนยากจน รุซโซ รู้สึกสะเทือนใจที่มนุษย์ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเสมอภาคและมีเสรี กลับมายอมรับความ ไม่เสมอภาคและการกดขี่ของผู้แข็งแรง

 

อำนาจทางการเมืองเข้ามาสร้างความชอบธรรม ให้กับความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ รุซโซ ถามว่า ทำไมคนร่ำรวยมีชีวิตที่สะดวกสบาย มีโอกาสได้สุขสันต์หรรษา มากกว่าคนจน

 

การก่อตั้งรัฐบาลเป็นนวัตกรรมทางสังคมประการท้ายสุด ที่เข้ามาสร้างความชอบธรรมให้แก่ความไม่เสมอภาค ที่ร้ายกว่านั้น ตามความเห็นของรุซโซ ได้แก่ ได้เกิดมีมนุษย์พันธุ์ใหม่ขึ้นมาในโลก ที่รุซโซคิดคำใช้เรียกว่า พวก “กระฎุมพี” (Bourgeois) ลักษณะพิเศษของกระฎุมพี ตามความเห็นของ รุซโซ ก็คือ คนพวกนี้ปากอย่าง ใจอย่าง เป็นอย่างแต่ที่จริงเป็นอีกอย่าง อีกนัยหนึ่ง “Seeming” กับ “Being” แตกต่างกัน ดูเหมือนเป็นอย่างหนึ่ง แต่ที่จริงเป็นอีกอย่างหนึ่ง อะไรประมาณนั้น ลักษณะเช่นนี้คือพื้นฐานความชั่วร้ายของกระฎุมพี และเป็นวิกฤตการณ์ชีวิตแบบกระฎุมพี

 

กระฎุมพีมีชีวิตอยู่นอกความเป็นจริงของตัวตนของตนเอง คือ มีชีวิตเต้นไปตามการมองของผู้อื่น (the Gaze of Others) คนอื่นมองว่าตัวน่าจะเป็น ควรจะเป็นอย่างไรจึงจะดี เขาก็จะพยายามมีชีวิตไปตามภาพลักษณ์ชนิดนั้น แกนชีวิตโอนเอนไปตามความคิดเห็นผู้อื่น รุซโซ เห็นว่า ชีวิตเช่นนั้นเป็นชีวิตที่ เสแสร้ง แกล้งทำ ดัดจริต ซึ่งทำให้ชีวิตกระฎุมพี คนเมือง คนในสังคมบ้านเมือง กลายเป็นคนที่ไม่พอใจในชีวิตอยู่ตลอดเวลา กระสับกระส่ายตลอดเวลา ดำรงชีวิตอยู่กับความรู้สึกไม่เพียงพอ อยู่กับความไม่พอใจ

 

รุซโซ บอกว่า นี่คือสิ่งที่อารยธรรม กระทำต่อมนุษย์ แล้วจะให้ทำอย่างไร? ศ.สมิท กล่าวว่า คำถามนี้อยู่ตอนท้ายหนังสือ ศ.สมิท เห็นว่า ผู้วิจารณ์หนังสือความเรียงเรื่องที่สองของรุซโซ ไม่มีคำตอบให้กับปริศนาดังกล่าว และเสนอความคิดที่ค่อนข้าง สิ้นหวัง สำหรับชีวิตในนาครธรรม อย่างไรก็ดี ศ.สมิทเห็นว่า รุซโซได้ชี้ทางไว้เลาๆ ให้เราได้ทราบว่า มีทางออกอยู่สองทาง ทางหนึ่ง ปรากฏอยู่ใน “จดหมายถึงนครเจนีวา” ของ รุซโซ ที่ทำหน้าที่คล้ายคำนำของหนังสือความเรียงเรื่องที่สอง รุซโซ กล่าวว่า สังคมแบบดั้งเดิมมีลักษณะคล้ายสาธารณรัฐเล็กๆ ในชนบท ทำนองเดียวกับเจนีวาในบัดนั้น ซึ่งความรักถิ่นฐานบ้านเกิด ยังไม่ถูกครอบงำด้วย Amour Proper ประชาธิปไตยของรุซโซ ก็คือ ประชาธิปไตยในสาธารณรัฐเล็กๆ แบบชนบทที่คนมีความเสมอภาค

 

อีกทางหนึ่ง เป็นการเดินทางของจิตใจ เป็นการเดินทางภายใน (จิตใจ) ทำอย่างไรเราจึงจะฟื้นฟูความสุขกลับคืนมา หลังจากที่ความสุขแท้จริงของคน ถูกนาครธรรมทำลายลง คนในนาครธรรมคือคนที่อยู่ไม่เป็นสุข รุซโซ กล่าวว่า คนบางคนมีความสามารถที่จะหาความสุขได้ คือ ใช้วิธีเดินทางย้อนกลับไปหาสภาพธรรมชาติที่มีความสุข เช่น พวกศิลปิน กวี เป็นต้น แต่นักคิด นักปรัชญา จะไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ รุซโซ เห็นว่า ความก้าวหน้าของสังคม ของนาครธรรม ของอารยธรรม ทำให้คนไม่มีความสุข ทางออกในเชิงการเมืองการปกครองของปัญหานี้ รุซโซ เขียนไว้ในหนังสือ Social Contract สัญญาสังคม ตีพิมพ์หลังความเรียงเรื่องที่สอง ประมาณเจ็ดปี

 

รุซโซเสนอทางออกไว้หนึ่งทาง แต่นั่นมิใช่ทางออกเพียงทางเดียว อาจจะยังมีทางอื่นๆ อีกหลายทาง หนังสือ Social Contract เปิดฉากด้วยวาทะที่มีชื่อเสียงในวงการปรัชญาการเมืองการปกครอง ได้แก่คำพูดที่ว่า “มนุษย์เกิดมาเสรี แต่มนุษย์กลับถูกตีตรวนอยู่ทั่วไป” (Man is born free, and everywhere he is in chain.) ความชอบธรรมของโซ่ตรวน ที่พันธนาการมนุษย์ไว้ มีไหม? รุซโซตอบว่า “มี” และได้ตอบคำถามนั้นไว้ในหนังสือ “สัญญาสังคม” (Social Contract)

 

หนังสือสัญญาสังคม เสนอภาพบ้านเมืองในอุดมคติ ทำนองเดียวกับ “สาธารณรัฐ” ของ เพลโต ความเรียงเรื่องที่สอง มีประเด็นหลักเรื่องความไม่เสมอภาค โดยเล่าเรื่องสันนิษฐานเกี่ยวกับวิวัฒนาการทางความคิดของคน จากสภาพธรรมชาติสู่นาครธรรม ใช้ภาษาที่มีชีวิตชีวา อิงความรู้ใหม่ๆ ในสมัยนั้นเรื่องชีววิทยา รวมทั้งข้อมูลใหม่เกี่ยวกับพันธุ์สัตว์ที่ค้นพบ เช่น ลิงอุรังอุตัง เป็นต้น ตลอดจนความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของคนพื้นเมืองในทวีปอเมริกา

 

ส่วนหนังสือ สัญญาสังคม เขียนด้วยสำนวนที่แห้งแล้ง เป็นสำนวนภาษากฎหมาย หนังสือมีสร้อยนามว่า the Principle of Political Rights (หลักสิทธิทางการเมือง) เป็นงานที่พูดภาษานามธรรมโดยตลอด 

 

พื้นฐานของ สัญญาสังคม เริ่มจากแนวคิดที่ว่า มนุษย์เกิดมามีเสรี ความสัมพันธ์ทางสังคมหลังจากนั้น เช่น ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ไม่มีอะไรที่จะเป็นธรรมชาติ ล้วนถูกปรุงแต่งขึ้นจากการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมบ้านเมือง เป็นการตกลงร่วมกันเป็น “สัญญาสังคม” จากสมมติฐานว่า มนุษย์เกิดมามีเสรี รุซโซพยายามสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับระบบความยุติธรรม หรือสิทธิทางการเมือง – the Political Rights โดยยึดหลักว่า คนทุกคนมีสติสำนึกในความเป็นอิสระของตนเอง และคนจะพยายามปกป้องเสรีภาพของตน/อิสรภาพของตน เป็นธรรมดา ทั้งสภาพธรรมชาติ และสัญญาสังคม วางอยู่กับสมมติฐานที่ว่า มนุษย์แต่ละคน แข่งขันกันในการรักษาอิสรภาพแห่งตน ปัญหา (ปรัชญา) ก็คือ ระหว่างที่แต่ละคนกำลังพิทักษ์ปกป้องอิสรภาพ/เสรีภาพแห่งตนนั้น ก็จะเกิดเป็นความขัดแย้งขึ้นมากับผู้อื่นทั้งหลาย ซึ่งแต่ละคนต่างก็พยายามจะรักษาอิสรภาพของตนเอง เช่นเดียวกัน ลักษณะนี้ทำให้เกิดสงครามได้

 

ปัญหามีว่า แล้วเราจะรักษาอิสรภาพของเราอย่างไร โดยไม่ไปล่วงล้ำก้ำเกินอิสรภาพของผู้อื่น? คำถามนี้ มีคำตอบอยู่ใน “สัญญาสังคม”

  

 

สรุปเป็นภาษาไทย : Dan Bailéé

 

X

Right Click

No right click