November 08, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 806

Canon ส่องกล้องสะท้อนโลก

July 28, 2017 3715

หายนะ ความยากลำบาก และความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้คนต้องถีบตัวเองลุกขึ้นต่อสู้เพื่อให้รอดพ้นจากช่วงเวลาแห่งความเลวร้าย และเพื่อการมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม คำปลุกใจสั้นๆ ที่ว่า “จงเอาชนะไลก้า” เป็นพลังผลักให้พนักงานทุกคนของแคนนอนตั้งใจทำงานด้วยสำนึกรับผิดชอบ ภูมิใจในงานของตนเอง ไม่ว่าคนๆ นั้นจะทำงานในส่วนการผลิต การให้บริการ การตลาดระหว่างประเทศก็ตาม 

กว่าจะมาเป็นแคนนอนอย่างทุกวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของบริษัทที่ทั้งตั้งรับ รุก เผชิญกับปัญหาและความท้าทาย การแข่งขันเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาด รวมถึงการฟื้นฟูกิจการหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจตกต่ำทั่วทั้งประเทศ แคนนอนประกาศตัวขึ้นใหม่หลังตุลาคม 1945 ทิ้งเถ้าถ่านของลัทธิฟาสซิสต์ สังคมศักดินา และก้าวเข้าสู่โลกแห่งประชาธิปไตยอย่างเต็มตัว กองทหารอเมริกันทำให้ญี่ปุ่นต้องพบกับความพ่ายแพ้ในสงครามระหว่างประเทศ ทำลายอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นจนย่อยยับ กิจการต่างๆ ของประเทศจึงต้องเร่งฟื้นฟู บทเรียนครั้งนั้นทำให้แคนนอนพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยเล็งเห็นถึงกำลังทรัพย์ของกองกำลังอเมริกันซึ่งจะเป็นคนกลุ่มเดียวในขณะนั้นที่มีรายได้มากพอสำหรับการจับจ่ายใช้สอย โดยชาวอเมริกันนิยมซื้อผ้าไหมกับไข่มุกเป็นของฝากกลับประเทศ แต่ต่อไปจะต้องมี ‘กล้อง’ รวมอยู่ในรายการของฝากด้วย 

ความช่วยเหลือต่อประเทศญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ของพลเอกดักลาส แมคอาเธอร์ ผู้บัญชาการสูงสุดของกองบัญชาการฝ่ายพันธมิตร (SCAP) ได้       คิดแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยให้เงิน     งบประมาณเป็นทุนแก่ญี่ปุ่น และสามารถจ่ายค่าสิ่งของอุปโภคบริโภคที่จำเป็นโดยใช้ผลผลิตจากอุตสาหกรรมญี่ปุ่นมาค้ำประกันสินค้านำเข้าจากอเมริกาและประเทศอื่นๆ ได้ด้วย แคนนอนจึงพลอยได้รับอานิสงส์ให้ส่งมอบผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่บริษัทผลิตให้แก่ SCAP เพื่อฟื้นฟูบริษัท ในช่วงสงครามบริษัทเคยผลิตกล้องถ่ายรูปในระดับ 10 ตัวต่อเดือน คำสั่งซื้อของกองกำลังยึดครองกลับสูงลิ่ว เช่น เดือนกุมภาพันธ์ 1946 กองกำลังยึดครองสั่งให้แคนนอนผลิตกล้องถ่ายรูป 10,000 ตัว ส่งมอบในเดือนมิถุนายน และปีเดียวกัน บริษัทต้องผลิตได้ประมาณ 2,000 ตัวต่อเดือน จึงเป็นการผลิตเพื่อค้ำประกันการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคของชาติในขณะนั้น ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหนึ่ง

แคนนอนเผชิญวิกฤตอีกหลายครั้ง ทว่าปี 1975 หลังจากที่ ริวซาบูโร คากุ (Ryuzaburo Kaku) คณะกรรมการอายุน้อยที่สุดได้แสดงความคิดเห็นในการประชุมต่อคณะกรรมการบริหารของแคนนอน ด้วยเห็นถึงความเฉื่อยชาในการบริหารงานของคณะ-กรรมการอาวุโสที่ยึดติดอยู่กับความคิดแบบเก่าจึงได้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของผู้บริหาร กลับกลายเป็นจุดพลิกผันให้เกิดการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการบริหารงานครั้งใหญ่ในองค์กร การประชุมดังกล่าวทำให้คากุได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารและเกิดความเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรหลายส่วน อย่างเรื่องการบริหารงาน วัฒนธรรมองค์กรที่ยึดติดกับสินค้าหลักคือกล้องถ่ายรูป วัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ และการแสดงความเคารพต่อผู้อาวุโส 

แคนนอนนำระบบการผลิตแบบใหม่ในสไตล์เฉพาะตัวเข้ามาบริหารงาน นับว่าเป็นระบบการผลิตที่มีเอกลักษณ์โดยรวมเอาการควบคุมคุณภาพทั่วทั้งองค์กรในทุกขั้นตอนตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการเงินและบุคลากร เช่น ส่วนการผลิต แคนนอนคิดระบบลดความสูญเสีย 9 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ ขั้นตอนการเตรียมงาน ลดความสูญเสียเนื่องจากสินค้ามีตำหนิ เครื่องอำนวยความสะดวก ค่าใช้จ่าย การบริหาร การออกแบบ ทรัพยากรมนุษย์ การคล่องตัวเลื่อนไหลของการผลิต ความรู้ขั้นตอนการผลิต และการลดต้นทุนการผลิต เหล่านี้คือสิ่งที่แคนนอนนำมาปรับปรุงการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

หลังจากนั้นในปี 1978 บริษัทนำระบบแมททริกซ์เข้ามาจัดการ เพราะก่อนหน้านี้บริษัทเผชิญกับสถานการณ์แบบคอขวดอยู่หลายปี ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการเติบโตอย่างรวดเร็วจากการเป็นบริษัทเล็กๆ ที่มุ่งผลิตสินค้าเพียงผลิตภัณฑ์เดียวไปเป็นผู้ผลิตสินค้าทั่วไปขนาดใหญ่ เพราะโครงสร้างแบบแมททริกซ์เป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพสำหรับการบริหารจัดการความสลับซับซ้อนที่เกิดขึ้นจากการแตกแขนงกิจการอย่างรวดเร็ว เป็นการบริหารงานในลักษณะแนวดิ่ง ซึ่งมีความเป็นนานาชาติ ทำให้องค์กรมีความยืดหยุ่นสูง เห็นได้จากมิติที่ 1 คือการที่บริษัทสาขาจะแยกตัวออกไปตามกลุ่มสายผลิตภัณฑ์ เปิดโอกาสให้การทำงานของหน่วยงานต่างๆ รับผิดชอบในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง มิติที่ 2 การเชื่อมโยงสาขาด้วยรูปแบบคณะกรรมการที่แบ่งความรับผิดชอบตามหน้าที่เพื่อปรับปรุงการผลิตและการตลาด ส่วนมิติที่ 3 การประสานความร่วมมือแบบแมททริกซ์ไปยังภูมิภาคหลัก คือ สำนักงานใหญ่ของแต่ละภูมิภาค เช่น สำนักงานใหญ่ที่ตั้งอยู่ใน       ชิโมมารุโกะ ดูแลญี่ปุ่นและทวีปเอเชียทั้งหมด สำนักงานใหญ่ในกรุงนิวยอร์ก ดูแลทั้งอเมริกา และสำนักงานใหญ่ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ดูแลทั้งยุโรป

สินค้าเกือบทั้งหมดของแคนนอนเป็นผลผลิตจากการบุกเบิกของนายแพทย์ฟูจิโอะ มิตาราอิ (Fujio Mitarai) ซึ่งเป็นหลานชายของทาเกชิ มิตาราอิ (Takeshi Mitarai) ผู้ก่อตั้งแคนนอน ไม่ว่าจะเป็นกล้องเอกซเรย์แบบ  อินไดเร็ค สำหรับใช้ตรวจบริเวณทรวงอกเพื่อช่วยรักษาโรคปอด ซึ่งช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคปอดของคนญี่ปุ่นในขณะนั้น ปี 1961 เป็นปีที่ตลาดขานรับ อิเล็คทริค-อาย จุดประกายให้แคนนอนเปิดตัวกล้องรุ่น   แคนโนเนท ปี 1964 นำเครื่องคิดเลขอิเล็กทรอนิกส์ 10 คีย์ตัวแรกของโลกชื่อ   แคนโนล่า 130 ออกสู่ตลาด 1975 พัฒนาพรินเตอร์ลำแสงเลเซอร์ (LBP) 1981 ประกาศเทคโนโลยีการพิมพ์แบบบับเบิล เจ็ท เป็นครั้งแรกของโลก 

ไม่แปลกใจเลยว่าผลิตภัณฑ์ของแคนนอนทุกชิ้นต่างมีคุณภาพ เพราะแคนนอนไม่ใช่ผู้ผลิตที่ยึดเรื่องราคาขายเป็นหลัก ทว่าสิ่งสำคัญคือการเป็นผู้ผลิตที่เน้นคุณภาพของสินค้า โรงงานผลิตหลายแห่งเป็นโรงงานเพื่อการผลิตอย่างแท้จริง โดยใช้เทคโนโลยีแบบเดียวกับที่ใช้ในญี่ปุ่น เราจึงไม่ต้องกังวลว่าเวลาซื้อสินค้าจากญี่ปุ่นในไทยแล้วจะได้รับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ เพราะแคนนอนไม่ผลิตสินค้าด้อยคุณภาพออกมาอย่างแน่นอน และอีกประการหนึ่ง ชาวญี่ปุ่นมีความชำนาญในการผลิตสินค้าคราวละมากๆ เพราะได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาและทำงานอย่างละเอียดรอบคอบ พนักงานทุกคนจะปฏิบัติตามคำสั่งไปจนถึงรายละเอียดขั้นตอนสุดท้าย สินค้าทุกชิ้นจึงออกมาอย่างถูกต้อง หลักการผลิตที่เน้นคุณภาพยังคงดำเนินมาจนทุกวันนี้

หัวใจสำคัญที่เป็นรากฐานทำให้แคน-นอนเติบโตได้อย่างรวดเร็วคือการยึดหลักการทำงานด้วยแนวคิดเคียวเซ (kyosei) ของริวซาบูโร คากุ ซึ่งเป็นปรัชญาในการบริหารงานให้รวมเอาการใช้ชีวิตเข้ากับการทำงานเพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีสู่สังคม รวมถึงหลักการ 3 j จิฮัตสึ จิคากุ จิชิ (การสร้างแรงจูงใจผลักดันตัวเอง ความรู้ตัว และการบริหารตัวเอง) โดยวางอยู่บนหลักความเชื่อที่ว่า การมีส่วนร่วมของคนงานในบริษัทจะต้องมีส่วนช่วยเอื้อประโยชน์ต่อความรับผิดชอบต่อครอบครัว และพนักงานทุกคนก็ยึดถือหลักปรัชญานี้   สืบต่อเรื่อยมา 

นอกจากหลักปรัชญาดังกล่าวแล้ว ในยุคการบริหารงานของนายแพทย์มิตาราอิก็ยังได้บริหารจัดการงานภายในองค์กรในส่วนทรัพยากรมนุษย์ไว้อย่างชาญฉลาด ยึดแนวคิดมนุษยนิยมและการมีวิจารณญาณเกี่ยวกับคนอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเห็นได้จากวัฒนธรรมที่เปิดกว้างให้พนักงานแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี ความเท่าเทียมกันระหว่างหัวหน้างานกับลูกน้อง โดยแสดงออกผ่านการใช้ภาษา อย่างเวลาที่ลูกน้องเรียกผู้จัดการบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งตามปกติแล้วจะต้องนำหน้าชื่อด้วยคำว่าผู้จัดการ เช่น ผู้จัดการซูซูกิ หรือหัวหน้าแผนกโอกาซากิ แต่ที่แคนนอนกลุ่ม  ผู้บริหารมักได้รับการระบุแค่นาย หรือ นาง นางสาว โดยเรียกคุณซูซูกิหรือคุณโอกาซากิ 

โครงสร้างทางสังคมที่เข้มงวดของญี่ปุ่นที่มีการแบ่งชั้น ยึดถือระบบอาวุโส มีระเบียบแบบแผน ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นนักอนุรักษ์นิยม ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงและยึดถือขนบธรรมเนียมอย่างเคร่งครัดแม้ว่าจะสนใจวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป แต่กระนั้นก็ตามชาวญี่ปุ่นก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติไว้อย่างเหนียวแน่น ดังนั้น การพูดคุยอย่างเปิดเผยโดยไม่เรียกยศ ตำแหน่งของผู้บังคับบัญชาจึงถือเป็นเรื่องไม่สุภาพ แสดงถึงความไม่ให้เกียรติในหลายบริษัท แต่สำหรับบริษัทอย่างแคนนอน วัฒนธรรมขององค์กรมีความเสมอภาค ไม่แบ่งชั้นวรรณะ ทำให้การแสดงออกกับผู้บังคับบัญชาเป็นไปอย่างเปิดเผยและเป็นกันเอง สร้างความสัมพันธ์ที่สนิทสนมระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา 

นอกจากนั้นแล้ว พนักงานทุกคนในแคนนอนล้วนได้รับการถ่ายทอดปลูกฝังหลักการทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเริ่มตั้งแต่สถาบันครอบครัวที่เล็กที่สุด เรื่อยมาจนถึงการเป็นหนึ่งในทีมงาน และสุดท้ายคือการเป็นส่วนหนึ่งของประเทศชาติ นั่นเองที่ทำให้เราเห็นว่าวัฒนธรรมของญี่ปุ่นมีความเหนียวแน่น วัยรุ่นญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่นสืบต่อมาจึงมีการเปรียบเปรยวัฒนธรรมญี่ปุ่นว่าเหมือนขนมคินทาโร (kintarou-ame) ซึ่งไม่ว่าจะตัดตรงไหนก็จะปรากฏภาพของคินทะโรให้เห็น ความเป็นเอกภาพนี้เองมีสาเหตุจากประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศเล็กๆ มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น รูปแบบการดำเนินชีวิตประจำวันอยู่ภายใต้การควบคุมที่เข้มงวดของผู้ปกครองประเทศมาเป็นเวลานาน ชาวญี่ปุ่นได้รับการปลูกฝังและสร้างค่านิยมให้ต้องคิดถึงกลุ่มองค์กรที่ตนสังกัดหรือประเทศชาติมากกว่าตัวบุคคล 

Turning Point ไม่ใช่มีแค่กล้อง

หลังจากที่คากุลุกขึ้นแสดงความคิดเห็นในการประชุมครั้งนั้น ส่งผลให้คณะกรรมการบอร์ดคนอื่นๆ ตกลงใจใช้วิธีการขยายกิจการ ที่จะช่วยส่งเสริมให้แคนนอนเติบโตอย่างรวดเร็วและมั่นคงต่อไปอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งเห็นได้จากนิตยสารฟอร์จูนจัดอันดับบริษัทอุตสาหกรรมชั้นยอดของโลก แคนนอนติดอันดับ 867 ด้วยยอดขาย 401 ล้านดอลลาร์ ซีร็อกซ์อยู่ในอันดับ 80 มียอดขาย 40.94 พันล้านดอลลาร์ ส่วนโกดักได้อันดับที่ 60 ยอดขาย 49.58 พันล้านดอลลาร์ จะเห็นได้ว่าแคนนอนมียอดขายได้ไม่ถึง 1 ใน 10 ของยอดขายทั้งสองบริษัท แต่ปี 1995 ฟอร์จูนจัดอันดับอีกครั้ง แคนนอนอยู่ที่ 60 ด้วยยอดขาย 230.12 พันล้านดอลลาร์ ซีร็อกซ์ได้อันดับ 71 ยอดขาย 189 พันล้านดอลลาร์ โกดักเป็นอันดับที่ 106 ยอดขาย 152 พันล้านดอลลาร์

แคนนอนขยายกิจการโดยเริ่มผลิตสินค้าใหม่ๆ เรียงรายจากแต่ละสายการผลิตตัวแล้วตัวเล่า และด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากว่าเดิม นับจากนั้นไปจนถึงสิ้นศตวรรษที่ 50 แคนนอนลงทุนในกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีใหม่ๆ จากเดิมที่เคยทำธุรกิจกล้องถ่ายรูปและเลนส์ บริษัทพยายามขยายกิจการเข้าไปทำธุรกิจแขนงต่างๆ เข้าสู่วงการอิเล็กทรอนิกส์ด้วยการเปิดตัวเครื่องบันทึกเสียงแบบซินโครรีดเดอร์กับเครื่องคิดเลขอิเล็กทรอนิกส์และพัฒนาสินค้าออกสู่ตลาดเรื่อยมา 

ตลอดเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่ญี่ปุ่นถูกทิ้งระเบิดปรมาณูจนต้องประกาศยอมแพ้อเมริกาในปี 1945 เรียกได้ว่าญี่ปุ่นเต็มไปด้วยบริษัทที่อยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา มีการนำเอาเทคโนโลยีจากต่างประเทศและปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบริษัทของญี่ปุ่นแห่งไหนก็ตาม เหตุผลที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นประสบความสำเร็จหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ ความมุมานะ เต็มใจที่จะทำงานหนัก และผนึกกำลังกันของชาวญี่ปุ่น กลายเป็นมรดกตกทอดทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่าควรแก่การเอาเป็นแบบอย่าง แคนนอนเป็นหนึ่งในบริษัทเหล่านั้นที่เติบโตมาอย่างมั่นคงและธำรงรักษาเอกลักษณ์ความเป็นแคนนอนด้วยยึดหลักการผลิตให้สอดคล้องกับความหมายที่แฝงอยู่ในชื่อ Canon “มาตรฐานสำหรับการกำหนดคุณภาพหรือเกณฑ์การคัดเลือก”   

- 1933 ก่อตั้งพรีซิชั่น ออพติคัล อินสทรูเมนท์ แลบอราทอรีย์ หรือชื่อญี่ปุ่น ไซกิ โคกากุ เคนคิว-โชะ ซึ่งเป็นบริษัทที่ต่อมากลายเป็นแคนนอน 

- 1934 มีการพัฒนากล้อง 3 มม. ในนาม Kwanon

- 1935 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า Canon

- 10 สิงหาคม 1937 ถือเป็นวันก่อตั้งแคนนอน (มหาชน) อย่างเป็นทางการ ด้วยเงินทุน 1 ล้านเยน (28,813 ดอลลาร์) 

- 1940 พัฒนากล้องเอกซเรย์แบบอินไดเร็คตัวแรกของญี่ปุ่น

- 1976 ประกาศแผนสร้างบริษัทชั้นหนึ่งเป็นครั้งแรก

- 1981 ประกาศเทคโนโลยีการพิมพ์แบบบับเบิล - เจ็ท เป็นครั้งแรกของโลก 

- 1988 ประกาศใช้แผนบรรษัททั่วโลก แนะนำปรัชญาเคียวเซ ก่อตั้งศูนย์วิจัยแคนนอนประจำภาคพื้นยุโรป ในสหราชอาณาจักร

 

 

X

Right Click

No right click