ประกอบด้วย อิด (Id), อีโก้ (Ego) และซุปเปอร์อีโก้ (Superego) รวมอยู่ในมนุษย์คนเดียวกัน แต่ส่วนที่แข็งแรงที่สุดมักเป็นอีโก้ ซึ่งทำหน้าที่คอยประนีประนอมระหว่างอิดและซุปเปอร์อีโก้ให้แสดงออกตามความเหมาะสมของสถานการณ์ในขณะนั้น เช่น คอยกดอิดมิให้แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมาเมื่อยังไม่ถึงเวลา หรือคอยดึงซุปเปอร์อีโก้ไว้มิให้แสดงพฤติกรรมที่ดีงามจนเกินไปจนตนเองเดือดร้อน นั่นแปลว่าคนที่มีจิตผิดปกติ เช่น เป็นโรคจิต โรคประสาท คือคนที่อีโก้แตก (Break down) ไม่สามารถคุมอิดและซุปเปอร์อีโก้ไว้ได้ ก็มักจะมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับกาลเทศะและหลักเหตุผล เช่น เกิดอาการคุ้มดีคุ้มร้าย โดยคุ้มดีคือส่วนของซุปเปอร์อีโก้แสดงออกมา คุ้มร้ายคือส่วนของอิดแสดงออกมา ฯลฯ
หรือหากเป็นในทางศาสนา พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสถึงความสำคัญของจิต ไว้ต่างๆ กัน ไม่ว่าจะเป็น ไตรสิกขา (แนวทางการดำเนินกาย วาจา ใจ เพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์) อันประกอบไปด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา ตลอดจนหลัก อิทธิบาท ๔ (หลักธรรมแห่งความสำเร็จ) หากแต่ที่ MBA จะเน้นกล่าวถึงต่อไปนี้ก็คือ เรื่องของการบริหารจัดการจิตวิญญาณของตัวเราเอง ซึ่งล้วนมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์เราเป็นอย่างมาก ในทำนองเดียวกัน หลักธรรมทั้งสองข้อข้างต้นจะสำเร็จสัมฤทธิ์ผลไม่ได้เลย หากไม่มีจิตที่ตั้งมั่นและได้รับการฝึกดีแล้วเป็นส่วนประกอบ
คิด-พูด-ทำ จิตคือนาย กายคือบ่าว
แม้ว่าการพูดถึง จิต จะดูเป็นเรื่องน่าเบื่อและทำให้นึกถึงอะไรที่ดูซ้ำและจำเจ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจิตมีอิทธิพลอย่างชัดแจ้งต่อความเป็นไปของร่างกายของเรา รวมทั้งยังสามารถกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ให้ทำ หรือไม่ทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างเห็นผลเป็นที่ปรากฏชัดเจน ดังนั้น จิต หรือ จิตวิญญาณ จึงมีผลต่อการดำรงชีวิตของเราในทุกขณะอิริยาบถ ไม่ว่าจะนั่ง เดิน กิน ยืน หรือแม้แต่ขณะที่เรานอนหลับ
“ทั้ง สติ จิต และวิญญาณ นั้นเชื่อมโยงกันหมด ซึ่งในที่นี้วิญญาณก็คืออุปนิสัยหรือการที่เราทำอะไรซ้ำๆ นั่นเอง พอพูดเรื่องนี้ขึ้นมาหลายคนอาจจะนึกว่าต้องไปนั่งสมาธิ ต้องไปปฏิบัติธรรมในป่า แต่หมอคิดว่าจิตวิญญาณตัวนี้มันมีความลึกซึ้งมากกว่านั้น จิตนั้นมีตั้งแต่ที่เราอยู่ในครรภ์มารดาเลย ดังนั้นถ้าคนที่เป็นแม่ฝึกฝนจิต และมีพ่อมาช่วยอุ้มชูดูแลประคับประคอง ก็จะมีส่วนช่วยให้เด็กที่เกิดมามีสภาวะจิตที่สมบูรณ์แข็งแรงตามไปด้วย ถ้าเด็กฝึกเรื่อยๆ เขาจะสามารถดำเนินตัวเองให้อยู่ในกฎระเบียบได้” รศ.พญ.ลดาวัลย์ สุวรรณกิติ เลขาธิการมูลนิธิดุลยภาพบำบัดเพื่ออายุและสุขภาพฯ แสดงแนวความคิดเกี่ยวกับจิตไว้อย่างน่าสนใจ
หากย้อนกลับไปในสมัยก่อน ครอบครัวขยายทำให้ ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ฯลฯ นับสิบๆ คน รุมกันเลี้ยงหลานเพียงคนเดียว แต่มาวันนี้ การณ์ได้กลับกลายเป็นว่า พนักงานเนิร์สเซอรี่เพียงหนึ่งคนจำต้องมาดูแลเด็กหลายสิบคนที่แออัดกันอยู่ในเนิร์สเซอรี่ หลายครอบครัวมองหาทางแยกตัวให้ตนเป็นครอบครัวเดี่ยว ขณะที่อีกหลายครอบครัวขาดการบริหารจัดการ ขาดการฝึกสติและอบรมให้สมาชิกอย่างลูกๆ ในครอบครัวดำรงตนอยู่ในศีลธรรมและหลักปฏิบัติอันดีงาม ผู้คนในสังคมกำลังขาดสิ่งยึดเหนี่ยวทางใจที่เป็นเกราะแข็งแกร่ง อันจะช่วยป้องกันความมืดบอดในใจ ตรงกันข้ามเด็กจึงหันไปยึดและจับต้องสิ่งที่มีสัญญะทางวัตถุและค่านิยมในเชิงมูลค่าแทน
เรากำลังหลงทาง เราต้องหันมาคิดกันจริงจังได้แล้ว การที่ตีความว่าเรื่องของจิตนั้นคือการภาวนา นั่งปฏิบัติธรรม แต่เมื่อไหร่ที่เราไม่รู้เท่าทันจิตใจเราเองก็ไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าเรานั่งนิ่งๆ ฝึกสติให้รู้จักคิดที่จะทำสิ่งดีงาม นี่ก็นับว่าดีแล้ว หลังเกิดวิกฤตต่างๆ มามากมาย แต่เราดำรงชีวิตอยู่ตรงนี้ได้ดีก็เพราะเรายังมีการสมานกัน ร่วมมือร่วมใจกัน ไม่ได้โดดเดี่ยว อย่างล่าสุดที่น้ำท่วม ครอบครัวก็ได้มีโอกาสมาอยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตา เราก็จะมีโอกาสได้ฝึกจิตไปด้วย อย่างคิดดี พูดดี ทำดี และให้ความอบอุ่นกับคนในครอบครัว
ปลูกจิตจากบ้านหลังที่สอง
นอกจากครอบครัวแล้ว บุคคลที่มีความสำคัญในการฝึกจิตอีกกลุ่มหนึ่งก็คือครู อาจารย์ที่โรงเรียน ซึ่งจำเป็นต้องมี จิตวิญญาณ ของความเป็นครูที่แท้จริงด้วย เพราะถ้าเด็กและเยาวชนขาดสิ่งนี้ ก็เปรียบเหมือนหน่ออ่อนของสังคมที่พวกเขากำลังฟูมฟักอยู่นั้นเจริญเติบโตโดยขาดการดูแลที่ดี ส่งผลให้ลำต้น ใบ ดอก และผลของสังคมที่โตขึ้นมานั้นขาดความสมบูรณ์ตามไปด้วย สังคมก็จะได้รับผลกระทบที่เลวร้ายตามมามากยิ่งขึ้น
เรื่องการศึกษาก็เช่นกัน มีโรงเรียนทางเลือกเกิดขึ้นมากมาย ตั้งแต่เล็กๆ เด็กก็จะได้ฟังพระสวด บางที่ก็ให้ฟังเพลงไทยเดิม วิทยาศาสตร์ก็สามารถเรียนได้ในวัด คือมันเป็นทางเลือกหนึ่งในการดำรงชีวิตที่เพียบพร้อมบริบูรณ์ คือเราต้องตั้งสติกันใหม่ ทั้งตัวพ่อแม่หรือครูอาจารย์มีความสำคัญมาก หมอเคยเห็นเด็กหิ้วกระเป๋าจนตัวโก่ง เราสงสัยก็เลยถามครู ครูบอกเรามีตารางสอนให้พ่อแม่จัดตามแล้ว เราเลยไปถามพ่อแม่เลยได้ความว่า จัดตารางสอนให้ลูกไปเรียนก็จริง แต่ถึงเวลาครูภาษาไทยคนนี้ไม่มา ครูเลขเลยมาสอนแทน แทนที่เด็กจะได้รับวิชาภาษาไทยในคาบนั้นจะได้เอาการบ้านไปทำ การเรียนรู้มันก็บกพร่องไปแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็จริง แต่ถามว่าเรื่องนี้ใครผิด เด็กหรืออย่างไร เราไม่ตั้งสติกันเลย เราไม่เอาข้อมูลมาใช้ สิ่งเล็กๆ นี้คือสิ่งที่เรามองข้ามไป
นั่นคือต้องมีการประเมินตนเองในหน้าที่ที่เรากำลังรับผิดชอบ ว่าสิ่งที่เรากำลังทำนั้นถูกต้องหรือไม่ ครั้นถึงเวลาเมื่อใดก็ตามที่จิตนิ่ง รศ.พญ.ลดาวัลย์เชื่อว่า มนุษย์จะสามารถระลึกอะไรได้อีกมากมายที่ล้วนเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ทั้งความรู้ ประสบการณ์ รวมทั้งกระบวนการแก้ปัญหา
เมื่อรู้จักปล่อยวาง ก็เหมือนเกียร์ของรถยนต์ที่ว่าง เป็นอิสระจากการบังคับทั้งปวง เราก็จะสามารถพิจารณาอดีต อยู่กับปัจจุบัน และมองไปในอนาคตได้อย่างมีเป้าหมาย
“ตัวอย่างเช่น อุทกภัยที่เกิดขึ้นเองก็ตาม ถ้าเราเข้าใจ เรียนรู้มัน ตรงไหนเป็นทางน้ำไหลก็ปล่อยมัน อย่าไปขวางทางมัน ตรงไหนท่วมเยอะ ก็ค่อยๆ ถมคันกั้น ขุดบ่อดักไว้ คนเราถ้าตั้งเป้าหมายอยู่ตลอด จิตเราจะพาเราไปอยู่ในที่ถูกที่ควรเอง มีการใช้ความรู้และประสบการณ์ที่สมเหตุสมผล รวมทั้งเราจะรู้เองว่าเราต้องไปหาข้อมูลจากไหน จิตวิญญาณของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องที่แปลก ความสุขเกิดได้จากปัจจัยหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือเกิดจากจิตที่สบายและฝึกมาดีแล้ว
นั่นคือการพิจารณาว่า เหตุการณ์นี้เราคิดหรือว่ามันจะเกิด และถ้าเกิดขึ้นแล้ว เราคิดหรือไม่ว่าจะเกิดขึ้นอีก สุดท้ายคือถ้ามันเกิดขึ้นแล้ว และโชคดีที่ไม่เกิดอีก เราจะถือว่าครั้งนี้เป็นบทเรียนและรับมือกับความทุกข์ในรูปแบบอื่นๆ อีกได้ไหม อันนี้แหละคือสติและจิตวิญญาณที่เราต้องมี แต่เรามักไม่ค่อยฝึกกันเลย เราเลยไม่ค่อยคิดต่อยอด แต่นี่ไงล่ะ มันคือจิตวิญญาณที่เราพูดถึง”
Spiritual & Health
ไม่ใช่แค่ขณะที่เรามีความสุขเท่านั้น แต่น่าแปลกอยู่ไม่ใช่น้อยที่เมื่อมนุษย์เราคิดดีและทำดี ร่างกายของเราก็จะหลั่งสารเอนโดรฟินและไคนีนออกมาด้วยเช่นกัน
สุขภาพของเราเริ่มที่ตัวเราอย่างแท้จริง เพราะการนึกคิดที่ดีของเราจะสร้างสารดีออกมา จึงทำให้ร่างกายได้รับผลดี ภูมิต้านทานจึงดีตามไปด้วย ส่งผลให้สุขภาพเราดี ประการที่สองคือ ต้องกระตุ้นคนรอบข้างให้ฝึกคิดดีด้วย ไม่ใช่เฉพาะตัวเรา เพราะทุกการกระทำถูกสั่งการโดยจิต ถ้าจิตไม่สั่งกายก็ไม่ทำ เมื่อเราเองมีความสามารถพอที่จะฝึกจิตและบังคับตัวเองได้ เราก็มีหน้าที่ที่จะต้องกระตุ้นเด็กให้ฝึกด้วยตัวเองได้ด้วย สิ่งนี้เป็นการส่งเสริมสุขภาวะที่สำคัญอีกทางหนึ่ง
ในบทที่ 5 จากหนังสือ New Life by Self-Healing ที่ รศ.พญ.ลดาวัลย์ได้เขียนขึ้นนั้น กล่าวถึงหลักปฏิบัติ 7E ที่จะช่วยสร้างความสมดุลให้ร่างกายและจิตใจ หรือ (The 7E Principles of Equilibropathy) ว่าหลักทั้ง 7 ประการนั้นประกอบไปด้วย Education, Equilibrium, Exercise, Eating, Excretion, Emotion และ Environment ทุกสิ่งเกี่ยวโยงและมีความสัมพันธ์กันอย่างสมดุล
“เราสนใจในสุขภาวะของคน มันเกิดในพฤติกรรมของคนที่เรามีการสะสมมาความรู้ทั้งระบบ จากนั้นค่อยตกตะกอนออกมาเป็นพฤติกรรมที่เรามุ่งศึกษา ตอนนั้นหมอโดนตีเสียแหลกลาญเลย ว่าแผนจีนก็ไม่ใช่ แผนโบราณก็ไม่ใช่ แผนฝรั่งก็ไม่ใช่อีก มันแผนอะไรก็ไม่รู้หมอก็ไม่สนใจ ก็เข้าห้องสมุด อ่านจนตาแฉะ พรินท์ผลการศึกษาออกมาจากทั่วโลก แบบว่า ใช่ๆๆ เราต้องการตัวนี้ แล้วเด็กคนนี้ต้องมาเป็นโรคแบบนี้เพราะอะไร ตอนนั้นไม่เข้าใจเลย แต่เมื่อเราสงสัยหนักขึ้นก็ค้น มันค่อยๆ ลึกลงๆ อ๋อ มันเป็นเช่นนั้นเอง พุทธศาสนาเรียกว่า อิทัปปัจจยตา นั่นคือทุกอย่างเกี่ยวโยงกันหมด และเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน ถ้าตัวเราไม่ตั้งเป้า ตัวเราไม่ยึดมั่น มันสำเร็จไม่ได้ มันซึมซับโดยเราไม่รู้ตัว สิ่งนี้มากกว่าการเรียนรู้ในโรงเรียน”
รูปร่าง ลักษณะ และนิสัยใจคอของคนเราไม่เหมือนกันฉันใด จิตวิญญาณก็ไม่เหมือนกันฉันนั้น การมีสติเพื่อที่จะสามารถรู้เท่าทันสติของตนเองจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น มนุษย์ทุกคนมีสติเป็นของตนเอง ดังนั้นจึงไม่มีใครรู้จักสติของเราเท่ากับตัวของเราเอง เมื่อใดก็ตามที่เรามีสติ และสามารถบังคับให้เป็นไปในทางที่ดีที่ชอบได้อย่างราบรื่นบริบูรณ์ เมื่อนั้นเราก็จะมีสุขภาวะที่ดีและสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข
“หมอว่าสุขภาวะอยู่ในมือของเรา ทุกคนมีสิทธิ์ทำให้สุขภาวะของตัวเองดีได้ ทุกคนทำให้สุขภาวะของตัวเองเลวได้” รศ.พญ.ลดาวัลย์กล่าวทิ้งท้าย
พระธาตุเกตุแก้วจุฬามณี วัดใหม่เมืองสวรรค์
วัดใหม่เมืองสวรรค์ เป็นวัดที่รศ.พญ.ลดาวัลย์และคณะได้ร่วมกันเป็นฟันเฟืองสำคัญในการสมทบทุนเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุเกตุแก้วจุฬามณี พร้อมกับความร่วมมือและแรงศรัทธาของบรรดาผู้นำชุมชนและชาวบ้านในละแวกวัดใหม่เมืองสวรรค์ เนื่องจากมีความทรุดโทรมและเริ่มผุพังลงตามกาลเวลาและจากภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว รวมทั้งการใช้วัสดุในการสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งหลังจากบูรณะใหม่แล้วก็มีความสวยงามมากขึ้น โดยมีปูนปั้นแสดงปีนักษัตรทั้ง 12 ประดับอยู่รายล้อมฐานขององค์พระธาตุด้วย
เรื่อง บทความจากนิตยสาร MBA ฉบับเดือนมกราคม 2555
ภาพ กองบรรณาธิการ