ด้วยแนวทางการรักษา และบำบัดในแบบที่เรียกว่า ค้นหาที่สาเหตุ และแก้ไขจากต้นตอ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น คุณหมอเน้นความสำคัญว่าต้องเริ่มต้นจากความรู้ แนวคิด และมุมมอง หากเรายังมองโรคแบบโลกแบน แนวทางแห่งการบำบัดมันก็มันจะแบนราบ มิติเดียว รักษาเพียงอาการที่ปรากฏ แต่ถ้าเราปรับมุมมอง เป็นมองโรค แบบโลกกลม มิติแห่งการรักษาก็จะลึกลงไปถึงที่มา และการรักษาก็จะลงลึกได้ถึงรากเหง้า ลงไปขจัดและปัดเป่าถึงที่มาของอาการ รวบรัดและชัดความในแง่มุมของคุณหมอที่นอกจากการรักษา ผู้เจ็บไข้ความเรื่องความเจ็บป่วยและโรคภัย ยังมีการวางรากฐานความรู้ ความเข้าใจในสาเหตุและแนวทางเพื่อที่จะดูแลสุขภาพแบบยั่งยืนให้คนไข้ในแต่ละราย
การสูญเสียความสมดุลของร่างกายเป็นสิ่งสะท้อนความเจ็บไข้ของคนเรา ถ้าเราแยกคนป่วยจากเชื้อร้าย (disease) ออกส่วนหนึ่ง โรคส่วนใหญ่ที่เจ็บป่วย ก็มักมีที่มาจากสาเหตุที่ร่างกายเกิดบกพร่องไปจากสมดุล โดยเหตุที่ส่งผลให้สมดุลต้องสูญเสียก็พบได้หลายปัจจัย จะด้วยอุบัติภัย พฤติกรรมและวิถีของชีวิตที่ส่งผลต่อร่ายกาย หรืออื่นๆ ก็สุดแล้วแต่ แต่หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สามารถนำมาซึ่งการสูญเสียสุขภาวะที่ดี หรือสมดุลแห่งกายภาพ ก็คือ “เรื่องกิน หรือ อาหาร” ที่แพทย์หญิงลดาวัลย์ สุวรรณกิตติ บอกว่า เป็นเรื่องใหญ่ที่เราๆ ในวันนี้จะไม่รู้คงไม่ได้ โดยเฉพาะในวันและเวลาที่ต้นทุนและมูลค่าของราคาที่ต้องจ่ายเพื่อการรักษาพยาบาลสูงขึ้นมาก และคาดได้ว่าจะสูงขึ้นไปตามการพัฒนาของเทคโนโลยีและพัฒนาการของระบบทุนนิยมแบบก้าวหน้า
4 แนวทาง "กินสร้างสมดุล"
โดยทั่วไป การกินเป็นเรื่องของแต่ละคน แต่ละตัวตน แต่ละที่ แต่ละถิ่น แตกต่างกันไป ไม่เหมือนกันเลย เพราะโครงสร้างร่างกายของแต่ละคนก็แตกต่างกันอยู่แล้ว อายุ ช่วงชีวิต สุขภาพและโรคภัย สิ่งแวดล้อมที่อาศัย ปัจจัยของแต่ละคน ส่งผลให้การกินที่เหมาะสมและที่ใช่ของแต่ละคน ย่อมแตกต่างกันออกไป สิ่งแรกที่สำคัญคือต้องเริ่มจาก กระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในหลักการแห่งดุลยภาพ และเข้าใจในสภาวะของโครงสร้างและร่างกายของตัวเอง เมื่อคนมีความต่างที่ไม่เหมือนกัน หากจะพูดให้ครอบคลุมเรื่อง การกินไว้ทั้งหมด โดยหลักๆ ก็แบ่งได้เป็น 4 แนวทาง คือ
- กินเพื่อสุขภาพในแบบถ้วนหน้า หรือที่เรียกว่า health promotion 2. กินป้องกัน 3. กินรักษา และ 4. คือการกินเพื่อฟื้นฟู โดยการกินในแต่ละแบบมีหลักยึดและข้อคำนึงหลายประการ
ถิ่นฐานและธาตุภูมิ
ความหมายก็คือว่า มนุษย์เราในแต่ละช่วงวัย ช่วงเวลา การกินเพื่อสมดุลย่อมแตกต่างกันออกไป ตอนตั้งครรภ์ เป็นทารก วัยเข้าเรียน ถึงวัยผู้ใหญ่การกินก็ย่อมแยกย่อยในรายละเอียดไม่เหมือนกัน ก่อนจะมาถึงการออกแบบการกินที่สอดคล้องกับสมดุลของแต่ละคน เพื่อปูฐานไปสู่การเข้าใจ ก็จะต้องย้อนกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า คนเรานั้นมาจากไหน? อยู่ที่ไหน? สภาพแวดล้อมยังไง? แล้วคนกินอะไร? กินพืช และกินสัตว์ พืชและสัตว์กินอะไร? ทั้งคน พืช และสัตว์ล้วนสัมพันธ์กันเป็นวงจร โดยมีรากฐานที่ตั้งอยู่บนแหล่งดินและแหล่งน้ำ ดินมีซากพืชและสัตว์ทับถม ย่อยสลายกลายเป็นธาตุอยู่ในดิน ดินจึงเป็นแหล่งอาหารและแหล่งส่งผ่านธาตุและภูมิของวัฏจักรสิ่งมีชีวิตในท้องถิ่นนั้นนั่นเอง ผู้บริโภคในท้องถิ่นจึงมีภูมิและเอนไซม์ในร่างกายที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น หลักการจึงมีอยู่ว่า คนอยู่ที่ไหนถิ่นฐานใด ก็ควรจะกินอาหารในถิ่นฐานนั้น เพราะมันจะสอดคล้องกับโครงสร้างและธาตุภูมิของคนๆ นั้น และที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งคือ ความสดของอาหารและวัตถุดิบในท้องถิ่น ย่อมมีได้มากที่สุด มากกว่าอาหารจากต่างแดนที่ต้องขนย้ายกันเข้ามา
วัฒนธรรมและรากเหง้า
อีกสิ่งที่สำคัญคือเรื่องวัฒนธรรม ที่เป็นรากเหง้า การลองผิดและลองถูก เป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างหนึ่งที่มีมาแต่โบราณโดยเฉพาะของท้องที่ ซึ่งอาหารและการกินก็เป็นส่วนของวัฒนธรรมที่ตกทอดและสืบต่อ มีตัวอย่างที่น่าสนใจ ที่บ้านเรา พอหันไปดูหนังแดจังกึม คนของเราก็หันไปเรียนทำกิมจิ ทั้งที่บ้านเราเองแท้ๆ เป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ตลอดปีทุกฤดู หากเทียบไปแล้ว ตัวเราเอง ก็มีน้ำพริก แค่ว่าน้ำพริกของบ้านเรา ในแต่ละภาคทั้ง เหนือ ใต้ อีสาน ภาคกลาง ก็ยังมีการปรุงน้ำพริก จากวัตถุดิบที่ผลิตได้แตกต่างกันออกไปนับหลายสิบชนิดตามแต่ละท้องที่ กะปิ มะเขือ พริกหนุ่ม มะขาม มะยม มะแว้ง ขิงข่า ตะไคร้ มะอึก มะแว้ง ระกำ สารพัดพืชผักที่ปลูกได้ของท้องที่ และเติบโตได้อย่างสมดุลโดยปราศจากเงื่อนไขของการเร่งรัด ดัดแปลงหรือตัดแต่งสายพันธ์ เพราะเหตุผลแห่งการดัดแปลงหรือตัดต่อยีนที่เรารู้ ย่อมจำเป็นและสำคัญต่อพื้นที่ที่ขาดแคลนแหล่งอาหาร บนเงื่อนไขที่จะต้องผลิตอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงคนปริมาณมากๆ เทคโนโลยีการเกษตรเป็นทางออก แต่ทางออกนั้นย่อมแน่นอนที่หมายถึงการเบี่ยงเบนไปของความสมดุลของธรรมชาติ และถ้าหากเราเลือกได้ แล้วทำไมคนเราจึงไม่เลือกการบริโภคที่สอดคล้องกับโครงสร้างของร่างกายในตัวเราให้มากที่สุด ง่ายๆ นั่นก็คือการกินและบริโภคสิ่งที่ปลูกและผลิตขึ้นได้ในท้องที่ของเรานั่นเอง
กินเปลี่ยนโรค
เมื่อโรคเกิด การกินก็ต้องปรับเปลี่ยน อันนี้มี สองประเด็น คือเป้าหมายเลยต้องการเปลี่ยนโรค จากป่วยต้องการกินให้หายป่วย แต่กลับปรากฏว่าการกินได้เปลี่ยนโรค จากโรคหนึ่งไปสู่อีกโรคหนึ่ง เพราะความไม่รู้จัก โดยเฉพาะเป็นความไม่รู้ในเรื่องโครงสร้างร่างกายของตัวเอง และไม่รู้จักอาหารที่กินเข้าไป กลับกลายเป็นว่า จากที่จะกินเพื่อหวังบรรเทาและรักษากลับกลายเป็นเปลี่ยนโรคนี้ไปสู่โรคใหม่ ดังนั้นการกินของแต่ละคนต้องสอดคล้องกับสมดุลโครงสร้างตัวเองด้วย เพราะอาหารจะต้องถูกดูดซึมไปหล่อเลี้ยงทุกส่วน หากบางส่วนในโครงสร้างของร่างกายมีจุดบกพร่อง หรือมีปัญหาอยู่ การกินอาหารบางอย่างอาจส่งผลให้เกิดโรคภัยโรคใหม่ขึ้นได้
กินเปลี่ยนโลก
การกินไม่ใช่สูตรสำเร็จ จึงควรทำให้เกิดสมดุล กินพืชหลายอย่าง กินผักหลายสี ที่สำคัญจะกินอะไรต้องใช้สติ ต้องเรียนรู้และให้เวลากับตัวเอง การกินที่มีคุณภาพต้องย้อนกลับมาสู่วิถีพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุด ที่ผ่านมาเราขายความรู้ที่มีมาแต่ดั้งเดิมให้คนอื่นแล้วหันไปบริโภคสิ่งใหม่ที่ไม่ใช่ของเราเลย พืชผักผลไม้ อาหารสดเรามี แต่กลับไปบริโภคอาหารเสริม น้ำมันของพื้นบ้านของเรามีน้ำมันมะพร้าวหีบเย็น และน้ำมันรำข้าวที่เวลานี้มีราคาสูงและได้รับการยอมรับในต่างประเทศ เราเองหากินได้ในท้องถิ่นและราคาก็ไม่แพง แต่กลับหันไปกินน้ำมันมะกอก หรือ Olive Oil ซึ่งไปเป็นพืชในต่างถิ่น และไม่เหมาะกับเอนไซม์ของคนไทย และบางครั้งก็นำมาใช้ไม่ถูกวิธี เช่นนำมาผ่านความร้อนซึ่งเป็นความผิดพลาด เพราะจะเปลี่ยนคุณสมบัติที่ดีให้กลายเป็นโทษไปเสียแทน อย่างผลไม้ใน เมืองหนาวกับเมืองเรา การเผาผลาญไม่เหมือนกัน และที่สำคัญเมื่อพืชพันธุ์มันต้องโตในที่ต่างถิ่นฐาน การช่วยเร่งก็ไม่พ้นสารเคมีหรือ ตัวกระตุ้นที่สุดท้ายก็กลายเป็นตัวปัญหาในร่างกาย ดังนั้นถ้าทำได้ การผลิตหรือปลูกเองในท้องถิ่นจึงเป็นสิ่งที่สมดุลเป็นที่สุด อยู่ที่ไหน กินอาหารที่ผลิตในถิ่นนั้น ที่สำคัญการขนส่งและขนย้าย เป็นปัจจัยปล่อยคาร์บอนตัวสำคัญ ทุกวันนี้
บทความจาก นิตยสาร MBA ปี 2558