January 15, 2025
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

พระราชกรณียกิจด้านสังคม

October 25, 2017 17463

“พัฒนมหาราชา” มหาราชาผู้พัฒนา ที่มาของพระราชสมัญญานามนี้ มาจากพระราชกรณียกิจมากมายที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงริเริ่ม ล้วนมีเป้าประสงค์หลัก เพื่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกรชาวไทยให้ดีขึ้น

 

ก่อกำเนิดเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริน้อยใหญ่ มากกว่า 4,350 โครงการ ที่พระองค์ทรงเริ่มต้นดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 จวบจนปัจจุบัน ครอบคลุมอยู่ทุกพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ที่พระบาทสมเด็จ-พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินไป โดยทุกโครงการล้วนนำมาซึ่งความมั่นคง ความเข้มแข็งของชุมชน สภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนอย่างยั่งยืน

 

โครงการในพระราชดำริหลากหลาย พัฒนาคุณภาพชีวิตชาวไทย

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2495 ปีที่ 6 แห่งรัชกาลที่ 9 หลังจากที่พระองค์เสด็จนิวัติประเทศไทยแล้ว หลากหลายโครงการในพระราชดำริได้เริ่มก่อกำเนิดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงแรก ตั้งแต่ปีพ.ศ.2493-2505 พระบาทสมเด็จพระปรมินทร-มหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงปฏิบัติพระราช-กรณียกิจด้านงานพัฒนาสังคม ในรูปแบบของงานด้านสังคมสงเคราะห์หรือประชาสงเคราะห์ อาทิ กิจกรรมการรณรงค์หาทุนเพื่อก่อสร้างอาคารพยาบาลตามสถานพยาบาลหลายแห่ง การหาทุนดำเนินการในลักษณะของโครงการ จัดทำภาพยนตร์ส่วนพระองค์ เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์เพื่อต่อสู้โรคเรื้อนของสถาบันราชประชาสมาสัย กิจกรรมเกี่ยวกับ การป้องกันรักษาโรคโปลิโอ อหิวาตกโรค ไปจนถึงโครงการจัดตั้งโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน 

 

ต่อมา พระองค์ทรงริเริ่มโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะมีอยู่หลายประเภท โดยมีหลักในการดำเนินงานแตกต่างกัน ดังนี้

 

 

หากเป็น โครงการตามพระราชประสงค์ คือ โครงการซึ่งทรงศึกษาและทดลองปฏิบัติ ทรงพัฒนาและส่งเสริม แก้ไขดัดแปลงวิธีการเป็นระยะเวลาหนึ่งเพื่อดูแลผลผลิตทั้งในเขตพระราชฐานและเขตนอกพระราชฐาน โดยทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ในการดำเนินงานทดลองจนกว่าจะเกิดผลดี เมื่อไว้วางพระราชหฤทัยว่าโครงการนั้นๆ จะได้ผลดี เป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริงแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้รัฐบาลเข้ามาร่วมสนับสนุนงานในภายหลัง  

 

ขณะที่ โครงการหลวง เป็นโครงการที่ทรงเจาะจงดำเนินการและพัฒนาบำรุงรักษาต้นน้ำลำธารในบริเวณป่าเขาทางภาคเหนือ เพื่อบรรเทาอุทกภัยในที่ลุ่ม ทั้งภาคเหนือตอนใต้และภาคกลางเพื่อถนอมน้ำไว้เลี้ยงแม่น้ำลำธารของที่ลุ่มในฤดูแล้ง และด้วยพื้นที่เหล่านี้เป็นที่อยู่ของชาวเขาเผ่าต่างๆ พระองค์จึงทรงพัฒนาให้ชาวเขาชาวดอยอยู่ดีกินดี ให้เลิกการปลูกฝิ่น เลิกการตัดไม้ทำลายป่า ทำไร่เลื่อนลอย และเลิกการค้าของเถื่อนผิดกฎหมาย ทรงพัฒนาช่วยเหลือให้ปลูกพืชหมุนเวียนที่มีคุณค่าสูง ปลูกข้าวไร่และเลี้ยงสัตว์ เพื่อบริโภค รวมคุณค่าแล้วให้ได้คุ้มค่าแทนการปลูกฝิ่น เพราะฉะนั้น โครงการหลวงก็คือ โครงการตามพระ-ราชดำริที่ร่วมปฏิบัติผสมผสาน กับหน่วยงานของรัฐบาลในบริเวณดอยต่างๆ ในภาคเหนือเพื่อพัฒนาอาชีพและความเป็นอยู่ของชาวเขา ชาวดอย นั่นเอง 

 

ส่วน โครงการตามพระราชดำริ เป็นโครงการที่ทรงวางแผนการพัฒนา ทรงเสนอแนะให้รัฐบาลร่วมดำเนินการตามพระราชดำริ หน่วยงานร่วมของรัฐบาลนั้นมีทั้งฝ่ายพลเรือนเฉพาะ ทั้งฝ่ายทหารเฉพาะ กระทั่งฝ่ายทหารและพลเรือนร่วมกันก็มี โครงการ ประเภทนี้ ในปัจจุบันมีอยู่ทั่วทุกภาคในประเทศ แต่ถ้าเป็นโครงการในพระบรมราชานุเคราะห์ พระองค์จะพระราชทานข้อแนะนำและแนวพระราชดำริให้เอกชนรับไปดำเนินการด้วยกำลังเงิน กำลังปัญญา และกำลังแรงงาน พร้อมทั้งติดตามผลงานต่อเนื่องโดยภาคเอกชนเอง

 

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีจำนวนมากถึง 2,700 โครงการ ซึ่งประกอบด้วยโครงการหลายประเภทด้วยกัน อาทิ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการเกษตร สิ่งแวดล้อม พัฒนาแหล่งน้ำ การคมนาคม สื่อสาร การส่งเสริมอาชีพ สวัสดิการ และการสาธารณสุข โดยเฉพาะโครงการอันเนื่องมาจากพระ-ราชดำริ ในด้านการสาธารณสุข จากการเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทรงพบว่า ราษฎรจำนวนไม่น้อย ไม่สามารถเข้าถึงการแพทย์ และขาดความรู้ในการดูแลสุขอนามัยอย่างถูกวิธี เป็นที่มาของโครงการแพทย์พระราชทานที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2510 ซึ่งนับแต่นั้น เมื่อมีการเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับแรมเพื่อทรงเยี่ยมราษฎรใน
ท้องถิ่นต่างๆ ก็จะมีคณะแพทย์พระราชทานเดินทางติดตามพระองค์ไปด้วย เพื่อให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชน

 

นอกจากนั้นพระองค์ยังสนพระราช-หฤทัยในการจัดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วไทยมากที่สุด ดังพระราชดำรัสที่ว่า “...ต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำสำหรับทำการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น...เมื่อมีน้ำเสียอย่าง ราษฎรก็จะไม่ละทิ้งถิ่นที่อยู่...”   

 

“ศูนย์ศึกษาการพัฒนา” บูรณาการการพัฒนาสู่ทุกท้องถิ่นแดนไทย

สำหรับแนวพระราชดำริในการสร้าง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนา” เริ่มต้นขึ้นเป็นแห่งแรก ณ ศูนย์ศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2522 เมื่อครั้งที่ พระองค์เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในงานเปิดศาลบวรราชานุสาวรีย์ ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา และราษฎรได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินหมู่ที่ 2 ตำบลเขาหินซ้อน เนื้อที่ 264 ไร่ จึงมีพระราชดำริที่จะใช้ผืนดินนี้เพื่อก่อประโยชน์ต่อการพัฒนาการเกษตรต่อไป โดยให้ส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน กรมพัฒนา ที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกันพัฒนาพื้นที่นี้โดยจัดทำเป็นศูนย์การศึกษาด้านเกษตรกรรมและงานศิลปาชีพ 

 

ในเวลาต่อมา ได้เกิดศูนย์ศึกษาการพัฒนาขึ้นอีกหลายแห่ง โดยแต่ละแห่งล้วนมีจุดประสงค์ในการก่อตั้งเพื่อพัฒนาท้องถิ่นแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ โดยพระองค์พระราชทานแนวทางในการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนา แต่ละแห่ง ว่า 

“...เป็นการสาธิตการพัฒนาเบ็ดเสร็จ หมายถึง ทุกสิ่ง ทุกอย่าง ทุกด้านของชีวิตประชาชนที่จะหาเลี้ยงชีพในท้องที่จะทำ อย่างไร และได้เห็นวิทยาการแผนใหม่ จะสามารถที่จะหาดูวิธีการจะทำมาหากินให้มีประสิทธิภาพ...”

“...ด้านหนึ่งก็เป็นจุดประสงค์ของศูนย์ศึกษาฯ ก็เป็นสถานที่สำหรับค้นคว้าวิจัยในท้องที่ เพราะว่าแต่ละท้องที่สภาพฝนฟ้า อากาศ และประชาชนในท้องที่ต่างๆ กันก็มีลักษณะแตกต่างกันมากเหมือนกัน…”

 

ยกตัวอย่าง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระ-ราชดำริ ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากพระองค์เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในงานพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้า-ตากสินมหาราช ที่จังหวัดจันทบุรี ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2524 และทรงเล็งเห็นว่า อ่าวคุ้งกระเบนเป็นแหล่งการประมงแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของ จังหวัดจันทบุรี บริเวณชายฝั่งก็เป็นเขตสงวนของ ป่าไม้ชายเลนที่สำคัญ แต่ทรัพยากรเหล่านี้ได้เสื่อมโทรมลงทุกด้าน ปริมาณสัตว์น้ำในธรรมชาติลดลงและป่าชายเลนถูกบุกรุกทำลาย พระองค์มีพระราชดำริแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีในขณะนั้น ให้พิจารณาหาพื้นที่ที่เหมาะสมจัดทำโครงการพัฒนาด้านอาชีพการประมงและการเกษตรในเขตพื้นที่ ชายฝั่งตะวันออกของจังหวัดจันทบุรี เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนา เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการศึกษาสาธิต และการพัฒนาในเขตที่ดินชายทะเล ซึ่ง ณ ตอนนี้ ศูนย์ศึกษาพัฒนาแห่งนี้ เป็นแม่แบบให้กับศูนย์ศึกษาพัฒนาชายฝั่งทะเลอีกหลายแห่งทั่วประเทศ

 

 

 

โครงการพัฒนากรุงเทพฯ ตามแนวพระราชดำริ

ไม่ใช่แค่พระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบทเท่านั้น หากแต่ทุกข์คนเมืองจากการจราจรอันติดขัดและน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ พระองค์ก็ทรงเล็งเห็นถึงความทุกข์ยากของประชาชนชาวกรุงเทพ-มหานคร จึงทรงคิดหาวิถีทางในการบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดและป้องกันน้ำท่วม เป็นที่มาของหลากหลายโครงการในพระราชดำริ 

 

เริ่มจากความเดือดร้อนเมื่อปี พ.ศ. 2523 และปี พ.ศ. 2525 ที่ได้เกิดภาวะน้ำท่วม บริเวณพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานครอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และครั้งนั้น พระองค์ทรงพระ-กรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกระแสพระราชดำริแก้ไขสถานการณ์อันมีผลให้เกิดการเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล โดยผ่านแนวคลองต่างๆ ฝั่งตะวันออกต่อมาในช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2526 เกิดน้ำท่วมขังยาวนานถึง 5 เดือน พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงตรวจพื้นที่ด้วยพระองค์เองหลายครั้ง เพื่อพระราชทานคำแนะนำในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับพระตำหนัก ยังทรงเรียกประชุมเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ต่อจนดึกดื่น เพื่อกำหนดมาตรการดำเนินงานแก้ไขความทุกข์ยากของราษฎรให้พ้นไปอย่างรวดเร็ว และเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย พระองค์พระราชทานพระราชดำริเพื่อป้องกันน้ำท่วม อย่าง มาตรการป้องกันการขยายตัวของเมืองอย่างไร้ทิศทาง สร้างระบบป้องกันน้ำในเขตชุมชน ปรับปรุงบึงขนาดใหญ่เป็นที่กักน้ำ และขยายทางน้ำในจุดที่ผ่านทางหลวงหรือทางรถไฟ เป็นต้น

 

ส่วนโครงการในพระราชดำริเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรของกรุงเทพ-มหานคร ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ได้เคยบอกเล่าไว้ว่า 

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระวิสัยทัศน์กว้างไกลมาก ทรงเคยเล่าให้ผมฟังว่า เมื่อประมาณ 40 ปีที่ผ่านมา กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติจะมาถวายของขวัญเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระองค์ทรงขอให้ถวายถนนวงแหวน (Ring Road) ซึ่งก็ได้มาเพียงเส้นทางเดียว คือ ถนนวงแหวนรัชดาภิเษก เพราะพระองค์ทรงคาดเดาได้ว่าจะมีปัญหาจราจรเกิดขึ้นแน่นอน หากมีถนนวงแหวนจะช่วยระบายรถได้มาก ทั้งๆ ที่ในช่วงเวลานั้นยังมีรถไม่มาก ยังไม่จำเป็นต้องมีถนนวงแหวน”

 

นอกจากนั้น พระองค์ยังมีพระ-ราชดำริในการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดด้วยการพระราชทานแนวทางให้มีการปรับปรุงถนน ตรอก ซอย ก่อสร้างสะพานข้ามทางแยก ทั้งนี้ หลายโครงการได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อดำเนินโครงการจำนวนมาก เช่น โครงการก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟ สายธนบุรี โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมถนนเพชรบุรีกับถนนพระรามที่ 9 และโครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนปิ่นเกล้า-บรมราชชนนี เป็นต้น

 

ทั้งนี้แนวทางที่ได้พระราชทานเพื่อแก้ไขปัญหาในแต่ละจุดนั้นทรงมุ่งเน้นวิถีทางที่ใช้เงินน้อย แต่สามารถแก้ไขได้ในวงกว้าง กระจายไปแต่ละส่วนของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีปัญหาการจราจร จากจุดเล็กๆ หลายจุดที่รัฐบาล กรุงเทพมหานคร กรมตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน้อมนำพระราชดำริไปแก้ไขนั้น ก็สามารถครอบคลุมพื้นที่ของกรุงเทพ-มหานครและปริมณฑลทั้งหมดได้ในที่สุด 

 

จากพระราชกรณียกิจที่กล่าวถึงมาทั้งหมดนี้ ย่อมเป็นที่ประจักษ์ในใจของปวงชนชาวไทยทุกคนเป็นแน่แท้แล้วว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มิได้วางพระองค์อยู่ในฐานะพระมหากษัตริย์ และทรงปฏิบัติพระราช-กรณียกิจในฐานะประมุขเท่านั้น ทว่า พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทุกอย่าง เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยให้ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง ดังพระปฐมบรมราชโองการในวันพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 มีพระราชดำรัสว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

 

เรื่อง :  กองบรรณาธิการ

X

Right Click

No right click