December 30, 2024

ภาคเอกชนเผยข้อสรุปแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนเวทีเอเปค 2022 ภายใต้แนวทาง ‘Embrace, Engage, Enable’

November 17, 2022 1994

ภาคเอกชนภายใต้การนำของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC)

ผู้รับหน้าที่ประธานและเจ้าภาพการจัดประชุมสภาที่ปรึกษาธุรกิจ 2022 และ APEC CEO Summit 2022 ภายใต้แนวทาง “Embrace, Engage, Enable” พร้อมส่งมอบข้อเสนอแนะและแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแก่ภาคนโยบายผ่านเวทีการประชุมเอเปค 2022 โดยพร้อมกันนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจาก PwC ในฐานะ ‘พันธมิตรด้านองค์ความรู้’ ของงาน APEC CEO Summit 2022 ในการส่งมอบรายงานทางธุรกิจ (Thought Leadership) แก่ภาคธุรกิจ ทิศทางสำคัญต่อการขับเคลื่อนและก้าวข้ามความท้าทายของการดำเนินธุรกิจภาคเอกชนในอนาคตอันใกล้

ข้อเสนอแนะต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค
สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค คือหน่วยงานภาคเอกชนที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1995 ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของภาคเอกชน

ในการส่งมอบข้อเสนอแนะต่อผู้นำเอเปคในการเจรจาประจำปี และให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่เอเปคในข้อกังวลต่างๆ ของภาคธุรกิจ ตลอดจนประเด็นต่างๆ ที่สำคัญของภาคธุรกิจ โดยการประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคจะจัดขึ้น 4 ครั้งต่อปี โดยระหว่างนี้ สมาชิกสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค จะเข้าร่วมการประชุมของเจ้าหน้าที่อาวุโส การประชุมระดับรัฐมนตรีประจำปี และการประชุมระดับรัฐมนตรีรายสาขาของการประชุมเอเปคที่จัดขึ้นตลอดปี

ด้วยช่วงปีที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้เผชิญภาวะการหยุดชะงักครั้งใหญ่ ไม่ว่าจากการแพร่ระบาดของโควิด ความท้าทายด้านสงคราม วิกฤตความมั่นคงด้านอาหาร วิกฤตพลังงาน ภาวะเงินเฟ้อ ฯลฯ การส่งมอบข้อแนะนำจากสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 (ABAC 2022) ภายใต้แนวทาง “Embrace, Engage, Enable” ในปีนี้ จึงนับเป็นมิติใหม่ทางสถานการณ์โลก ที่จะเป็นการเปิดรับโอกาส (Embrace), การสอดประสานความร่วมมือ (Engage) และการร่วมผลักดันสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ (Enable) โดยมีเป้าหมายของการสนับสนุนการเร่งการฟื้นตัว และการกลับมาสร้างแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจใหม่อีกครั้งเป็นประการสำคัญ

นายกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ 2022 กล่าวว่า “คำแนะนำของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคในปีนี้ รวบรวมขึ้นโดยมีฉากหลังของความขัดแย้งและแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกซึ่งมีความเกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้ง เราพบความท้าทายหลายประการ ไม่ว่า ความไม่มั่นคงด้านอาหารและพลังงาน ผลกระทบอย่างต่อเนื่องของการระบาดใหญ่ การหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น อันบั่นทอนความสามารถของภูมิภาคในการบรรลุวิสัยทัศน์ของเอเปค นั่นคือการเป็นชุมชนเอเชียแปซิฟิกที่เปิดกว้าง มีพลัง ยืดหยุ่น และสงบสุขภายในปี 2040 เพื่อความมั่งคั่งของประชาชนและคนรุ่นต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ดี หลังสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ผ่านการประชุมใหญ่มาตลอดปีรวม 3 ครั้ง ไม่ว่าที่สิงคโปร์, แคนาดา และเวียดนาม จนมาถึงครั้งสุดท้ายที่ กรุงเทพฯ ประเทศไทย ระหว่าง 13-16 พฤศจิกายนนี้ ณ วันนี้เราสามารถกล่าวได้ว่า เราได้ข้อสรุปของข้อเสนอแนะรวมทั้งสิ้น 69 ข้อ ภายใต้เป้าหมายใหญ่ 2 แนวทาง นั่นคือ “การส่งเสริมการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและยั่งยืน” และ “การกลับมาสร้างแรงกระตุ้นสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั่วถึง และมีความยืดหยุ่น”  โดยในข้อหลัง ประกอบด้วยการก้าวสู่ความยั่งยืน, การบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยผ่านการทำให้เป็นดิจิทัล โดยคณะทำงานจะทำการส่งมอบรายงานฉบับสมบูรณ์แก่ผู้นำเอเปคในลำดับต่อไป”

ข้อเสนอแนะต่อภาคธุรกิจ

นอกจากข้อเสนอแนะต่อภาคนโยบาย สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ยังรับหน้าที่การเป็นประธานและเจ้าภาพการจัดประชุม APEC CEO Summit 2022 ระหว่างวันที่ 16 – 18 พฤศจิกายน ภายใต้แนวทาง “Embrace, Engage, Enable” อีกเช่นกัน อันนับเป็นการประชุมที่รวมผู้นำเขตเศรษฐกิจ ผู้นำทางความคิด และซีอีโอชั้นนำจำนวนมากในการแลกเปลี่ยนมุมมองทางการค้า การลงทุน และการขับเคลื่อนทางสังคม เพื่อให้ชุมชนเอเชียแปซิฟิคได้ร่วมโอบรับโอกาส สอดประสานความร่วมมือ และการผลักดันสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ระหว่างภาคเอกชนด้วยกัน

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ APEC Business Advisory Council Executive Director 2022 และ APEC Business Advisory Council Thailand Alternate Member กล่าวถึงความสำคัญของการสนับสนุนข้อมูลจากเอกชนต่อภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญยิ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การค้า และลงทุนในเอเชียแปซิฟิกไว้ว่า “แม้บทบาทหลักของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค จะเป็นการส่งมอบข้อเสนอแนะต่อภาคนโยบาย แต่เพื่อให้กลไกของภาคเอกชนขับเคลื่อนอย่างรอบด้านและมีพลวัต เราจึงให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมผู้ประกอบการทุกระดับในอีกช่องทาง ผ่านรายงานที่จะเป็นการให้คำแนะนำต่อภาคธุรกิจในประเด็นสำคัญต่างๆ ดังที่เราต่างพบว่า ภาคธุรกิจกำลังเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ไม่ว่า แรงกดดันจากอัตราเงินที่เฟ้อที่สูงขึ้น การปรับตัวหลังโควิดจากหลายปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่า การปรับตัวสู่ดิจิทัลของธุรกิจและผู้บริโภคที่รวดเร็วขึ้น รวมไปถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศที่ทั้งโลก รวมทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังให้ความสำคัญอยู่ในเวลานี้...เราเชื่อว่าช่วงเวลานี้เช่นนี้ ภาคธุรกิจกำลังต้องการข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ในนำไปเป็นแนวทางในการปรับใช้เป็นการเร่งด่วน”

รายงานดังกล่าว เกิดจากความร่วมมือจาก PwC หรือพันธมิตรด้านองค์ความรู้ (Knowledge Partner) ของการประชุม APEC CEO Summit 2022 ในการส่งมอบข้อมูลเชิงลึกระหว่างการประชุม นายเกษมสิทธิ์ ปฐมศักดิ์ Executive Director, APEC CEO Summit 2022 และ APEC Business Advisory Council Thailand Alternate Member กล่าวถึงการสนับสนุนในครั้งนี้ไว้ว่า “ด้วยสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ยังรับหน้าที่ประธานและการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม APEC CEO Summit 2022 เราจึงเห็นความสำคัญอย่างยิ่งต่อการมีข้อมูลเชิงลึกประกอบการประชุมครั้งประวัติศาสตร์นี้ เพื่อที่สุดแล้ว นอกเหนือจากบทสนทนาที่เข้มข้นที่จะเกิดขึ้นระหว่างการประชุม เราก็ยังมีรายงานที่อัดแน่นด้วยข้อเสนอแนะที่สำคัญแก่ภาคธุรกิจในการไปปรับใช้ เพื่อสร้างกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เหมาะสมต่อไปในอนาคต โดยผู้จัดงานมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ PwC ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านองค์ความรู้ (Knowledge Partner) ของ APEC CEO Summit 2022 ได้ร่วมสนับสนุนในการส่งมอบรายงาน (Thought Leadership) ดังกล่าว เราเชื่อมั่นว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งทั้งสำหรับการประชุมอันทรงคุณค่า และการเป็นแนวทางของภาคธุรกิจในการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป”

ด้าน มร.ศรีดารัน ไนร์ (Mr.Sridharan Nair) รองประธาน PwC ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก  กล่าวถึงการสนับสนุนด้านรายงาน (Thought Leadership) ภายใต้ชื่อ ‘การรับมือต่อโลกแห่งความเป็นจริงใหม่’ (Asia Pacific’s Time: Responding to the new reality) ฉบับนี้ไว้ว่า “ธุรกิจต่าง ๆ ล้วนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตอย่างต่อเนื่องของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและนำพาภูมิภาคนี้ไปสู่อนาคต ในฐานะขุมพลังทางเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่นและยั่งยืน สิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน คือ เปลี่ยนความไม่แน่นอนของความเป็นจริงในวันนี้ให้เป็นโอกาส ผู้นำธุรกิจจำเป็นต้องมีความกล้าที่จะปรับตัวและพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างความไว้วางใจ และร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ซึ่งเราพบว่า มีปัจจัยห้าประการที่มีความสอดคล้องและส่งเสริมกัน ได้แก่ ห่วงโซ่อุปทาน การเติบโตขององค์กรระดับภูมิภาค เศรษฐกิจดิจิทัล กำลังแรงงาน และภูมิทัศน์ของ ESG ซึ่งปัจจัยทั้งหมดนี้ จะช่วยขับเคลื่อนการสร้างความแตกต่างและความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจในภูมิภาคมีความเจริญรุ่งเรืองต่อไป” มร.ศรีดารัน ไนร์ กล่าว

พลังสำคัญแห่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

การส่งมอบข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนต่อภาคนโยบาย (ABAC’s Recommendations) และจากภาคเอกชนต่อภาคธุรกิจ (Thought Leadership) ที่ดำเนินการผ่านสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 นี้ จะเป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ นั่นเพราะภาคธุรกิจคือกลไกหลักในการสร้างความเจริญเติบโตทางการค้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกผ่านเวทีเอเปค และเป้าหมายหลักของเอเปค คือการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค

ภาคเอกชน โดยสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 มีความเชื่อมั่นว่า คำแนะนำดังกล่าวจะช่วยหลอมรวมเอเปคสู่ความเป็นหนึ่ง ในการขับเคลื่อนชุมชนเอเชียแปซิฟิกให้เกิดพลวัตและมีความกลมกลืน โดยสนับสนุนการค้าและการลงทุนที่เปิดกว้างและเสรี ส่งเสริมและเร่งการรวมตัวทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและทางเทคนิค เสริมสร้างความมั่นคงของมวลมนุษย์ และอำนวยความสะดวกในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยและยั่งยืน และทำให้นโยบาย กลายเเป็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและสร้างข้อตกลงที่จับต้องได้อันเป็นประโยชน์ของประชาชนร่วมกัน

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.abac2022.org และ www.apecceosummit2022.com 

X

Right Click

No right click